พลังสร้างสรรค์
- รายละเอียด
- หมวด: LanDharma
พลังสร้างสรรค์
พลังสร้างสรรค์เกิดจากใจที่มีความสุข และใจดวงนั้นไม่ได้คิดแค่ว่าตนเองมีความสุขก็พอแล้ว แต่ยังมีน้ำใจและปรารถนาจะแบ่งปันความสุขและสิ่งดีๆให้กับผู้อื่นอีกด้วยจึงอยากสร้างสรรค์สิ่งดีงามไว้ให้คนอื่นได้มีความสุขและอยากให้โลกใบนี้เต็มไปด้วยความสุข หลังจากนั้นพลังสร้างสรรค์จึงเกิดขึ้นตามมา ใจที่ได้สัมผัสความสุขและสัมผัสคุณค่าของชีวิตแล้วอยากให้คนอื่นได้รับแบบตนบ้างนั่นเอง ที่ทำให้เกิดพลังสร้างสรรค์ในจิตใจและในชีวิตของคนๆหนึ่ง
การที่จะเกิดพลังสร้างสรรค์ในชีวิตของคนๆหนึ่งมิใช่จะเกิดขึ้นได้โดยง่าย บางคนต้องให้มีเหตุการณ์สำคัญในชีวิตเกิดขึ้นเสียก่อนจึงจะเกิดพลังตัวนี้ บางคนตลอดชีวิตไม่เคยเกิดพลังสร้างสรรค์เลย
ผู้คนส่วนใหญ่ไม่ค่อยได้ทำอะไรที่เกิดจากพลังสร้างสรรค์อย่างแท้จริง ชีวิตของคนทั่วไปมักต้องให้เกิดความจำเป็นหรือเกิดภาระขึ้นในชีวิตเสียก่อน จึงจะดิ้นรนทะเยอทะยานหรืออยากจะทำอะไรขึ้นมา เช่นเมื่อมีลูกมีครอบครัว จึงจะมองเห็นความจำเป็นในการต้องรีบหาทางประกอบอาชีพ เพื่อจะได้เลี้ยงครอบครัวได้ เพื่อจะได้มีฐานะมั่นคง ไม่อายเพื่อนบ้าน ไม่ให้ใครมาดูหมิ่นเหยียดหยาม เพื่อจะได้พ้นจากความต่ำต้อยยากจน เป็นต้น คนทั้งหลายจึงเต็มไปด้วยภาระความหนักอกหนักใจ และไร้พลังสร้างสรรค์
คนส่วนใหญ่ถ้าจะมีพลังสร้างสรรค์ ก็มักจะเป็นพลังสร้างสรรค์อยู่ในระดับนี้แทบทั้งสิ้น คือเพื่อลูก เพื่อครอบครัว เพื่อเพื่อนฝูงหรือญาติพี่น้องของตนเอง ซึ่งก็จัดว่าเป็นความดีในระดับหนึ่ง อย่างน้อยก็ยังดีกว่าคนไม่รู้จักสร้างตัวเองหรือคอยคิดแต่พึ่งคนอื่น แต่พลังสร้างสรรค์ที่เกิดจากความจำเป็นในการสร้างฐานะครอบครัว หรือการทำสิ่งใดเพื่อให้เทียมหน้าเทียมตาชาวโลกลักษณะนี้ ยังไม่ถือว่าเป็นพลังสร้างสรรค์ที่แท้จริง
พลังสร้างสรรค์ย่อมไม่เกิดแก่คนที่รักสบาย พลังสร้างสรรค์ย่อมไม่มีแก่คนที่คิดแต่ว่าตัวเองมีแต่ความทุกข์ คนที่เอาแต่รักตัวกลัวตาย กลัวแต่ตัวเองจะลำบาก กลัวแต่ตัวเองจะเดือดร้อน ย่อมไม่รู้จักพลังสร้างสรรค์ใดๆ การอยากจะรวยยิ่งกว่าคนอื่น การอยากมีอำนาจวาสนายิ่งกว่าคนอื่น ไม่ใช่พลังสร้างสรรค์ แต่คือพลังแห่งความทะเยอทะยานเพื่อเอาทุกสิ่งเข้ามาสู่ตัวเอง เป็นพลังฝ่ายต่ำที่จะฉุดรั้งให้ชีวิตของบุคคลนั้นตกต่ำลงมาไม่วันใดก็วันหนึ่ง
แต่สำหรับบางคนมีเจตนาที่อยากร่ำรวยหรือมีอำนาจ เพื่อจะได้มีกำลังทรัพย์ในการช่วยเหลือบุคคลอื่น ช่วยเหลือประเทศชาติบ้านเมือง เพื่อจะได้ค้ำจุนพระศาสนา อย่างนี้ต่างหากจึงจะเป็นพลังฝ่ายสูง เป็นพลังบวก เป็นพลังสร้างสรรค์ บุคคลใดที่เกิดพลังแบบนี้ขึ้นมาภายใน แม้ชีวิตเดิมของบุคคลนั้นจะต้อยต่ำมาก่อนสักเพียงใด แต่พลังอันยิ่งใหญ่ที่เป็นพลังสร้างสรรค์ จะค้ำจุนชีวิตของเขาไว้ในยามตกระกำลำบาก แล้วจะเกิดอานุภาพให้เขาผ่านอุปสรรคความทุกข์ยากและพบกับความสำเร็จได้เป็นที่อัศจรรย์
อับราฮัม ลินคอล์น ขณะอายุประมาณสามสิบปี เป็นคนขายแรงงานเป็นกุลีมีหน้าที่คอยแบกของให้กับเศรษฐีในตลาดเพื่อแลกค่าจ้างเลี้ยงชีพ วันหนึ่งในขณะเตรียมแบกของใส่บ่าเพื่อนำไปใส่รถม้าตามคำสั่งของนายจ้าง มีชาวนิโกรผิวดำที่เป็นทาสหลุดออกมาทั้งที่มีโซ่ล่ามขา วิ่งหนีผู้เป็นนายทาสเข้ามาในตลาด เมื่อมองไม่เห็นใครพอจะเป็นที่พึ่งได้ ทุกสายตาต่างรังเกียจไม่อยากมอง ไม่อยากยุ่งเกี่ยวด้วย ทาสผู้นั้นไม่ทราบจะวิ่งไปหาใคร จึงวิ่งไปทรุดลงกอดขาลินคอล์นพร้อมกับร้องวิงวอนอย่างน่าเวทนาว่า “นาย ช่วยผมด้วย!.. นาย ช่วยผมด้วย!..”
ลินคอล์นคนซื่อซึ่งมีอาชีพเป็นกุลีแบกของให้เศรษฐี มีความรู้แค่ ป.๓ เรียนหนังสือก็ไม่จบ ป.๔เพราะแม่ตาย พ่อเลยให้ออกจากโรงเรียน ไม่มีปัญญาจะทำอะไรได้ ได้แต่ยืนมองทาสผู้นั้นที่กำลังกอดขาร้องไห้เต็มไปด้วยสายตาวิงวอน แต่สุดท้ายนายเงินก็วิ่งมาฉวยโซ่ลากทาสชายผู้นั้นล้มลุกคลุกคลานพรากออกจากลินคอล์นไปต่อหน้าต่อตา ในขณะที่มีเสียงตะโกนร้องให้ช่วยจากทาสคนนั้นว่า “นาย ช่วยผมด้วย! นาย ช่วยผมด้วย!..” จนกระทั่งลับสายตาจากฝูงชนและลับสายตาของลินคอล์น
อับราฮัม ลินคอล์นยืนอยู่ขณะนั้น จึงได้ตั้งใจมั่นเป็นแรงอธิษฐานขึ้นมาว่า “ข้าพเจ้าจะพากเพียรอดทน จนกระทั่งก้าวสู่ตำแหน่งประธานาธิบดีของประเทศสหรัฐอเมริกานี้ให้จงได้ และจะเลิกการมีทาสให้หมดสิ้นไป ให้ผู้คนในแผ่นดินนี้จะเป็นคนผิวขาวหรือผิวดำ ก็ขอให้ได้รับความยุติธรรมและได้รับความเท่าเทียมกันในฐานะและศักดิ์ศรีในความเป็นมนุษย์ ข้าพเจ้าจะขจัดการมีทาสให้จงได้”
นับแต่นั้น ผู้คนทั้งหลายจะเห็นลินคอล์นที่เคยร่าเริงสนุกสนาน กลับกลายเป็นคนอ่านหนังสืออย่างหนัก ลินคอล์นตัดสินใจท่องตัวบทกฎหมายบนหลังม้าขณะเดินทางไปต่างเมือง ยามค่ำคืนที่ผู้คนต่างพากันพักผ่อนนอนหลับ แต่ลินคอล์นจะใช้แสงจันทร์ในยามข้างขึ้นเป็นแสงสว่างในการอ่านหนังสือและท่องกฎหมาย จนชาวบ้านแถบนั้นต่างเป็นห่วงและบางคนก็ว่าลินคอล์นเป็นบ้า ยี่สิบปีต่อมาหลังจากลินคอล์นใช้ความพากเพียรมาและอดทนมาอย่างต่อเนื่อง หลังจากเขาสำเร็จวิชากฎหมายที่พากเพียรเรียนมาด้วยตนเอง เขาเข้าสมัครรับเลือกตั้งเริ่มตั้งแต่ระดับท้องถิ่น จนได้เป็นผู้แทนรัฐ จนกระทั่งเข้าสู่สภาครองเกรส และในที่สุดเขาได้กลายเป็นประธานาธิบดีคนที่ ๑๖ ของสหรัฐอเมริกาในขณะอายุได้ ๕๒ ปี
นี้คือการที่ชีวิตของคนๆหนึ่ง ที่เกิดแรงบันดาลใจและเกิดพลังสร้างสรรค์ที่จะช่วยคนหมู่มากให้พ้นจากความเป็นทาส นี้คือพลังสร้างสรรค์อันแท้จริง ชีวิตอย่างนี้คือวิสัยของพระโพธิสัตว์
พลังสร้างสรรค์ย่อมสามารถเกิดได้แม้กับคนที่มีชีวิตยากไร้ต่ำต้อยก็ได้ หากบุคคลนั้นมีน้ำใจเสียสละ เห็นอกเห็นใจผู้อื่น เหมือนอย่างประธานาธิบดีอับราฮัม ลินคอล์นนี้ ท่านก็ไม่ได้มามัวโทมนัสน้อยใจว่าตนเองต่ำต้อยน้อยวาสนา มีอะไรทำได้ก็ทำไป มีชีวิตร่าเริงแจ่มใสเพราะรู้จักหาความสุขได้ในขณะปัจจุบัน
เมื่อเป็นกุลีแบกของรับจ้างเขา ก็ทำอย่างเต็มที่ บางทีลินคอล์นก็แบกให้ฟรี สำหรับคนแก่หรือคนไม่ค่อยมีเงิน ใครเดือดร้อนอะไรที่พอจะช่วยได้ ลินคอล์นจะเข้าช่วยทันทีไม่มีลังเล บางทีลินคอล์นก็ไปช่วยผ่าฟืนให้บางบ้านที่ขาดคนแข็งแรง เพราะลินคอล์นจะมีสุขภาพร่างกายแข็งแรงเนื่องจากชอบผ่าฟืนเป็นประจำ แม้ตอนเป็นประธานาธิบดีแล้ว บางคืนลินคอล์นก็ผ่าฟืนออกกำลังกาย คนที่มีน้ำใจเป็นมหาบุรุษเช่นนี้ จะไม่รู้สึกว่าตัวเองมีความทุกข์ยากอะไร มีแต่จิตใจอยากช่วยเหลือผู้อื่นอยู่เสมอ จึงเป็นผู้มีความสุขและมีความแจ่มใสได้ไม่ว่าจะอยู่ในสถานการณ์ใด คนอย่างนี้ไม่ต้องไปปฏิบัติกรรมฐานอะไร เพราะเขามีกรรมฐานประจำใจของเขาแล้วคือ กรรมฐานหมวดพรหมวิหาร ๔ คือมีเมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขาอยู่ประจำในหัวใจ เป็นนักกรรมฐานที่มีความแจ่มใสและเบิกบาน และมีพลังสร้างสรรค์ตลอดชีวิต
คนเราทุกวันนี้หลายคนก็ไม่ได้ยากจนเท่ากับท่านลินคอล์นในวัยหนุ่ม ไม่ได้ต้องไปแบกของเลี้ยงชีพขนาดนั้น แต่เหตุใดจึงบ่นว่าทุกข์ว่าเศร้ากันหนักหนา ก็เพราะว่าเราไปมุ่งไขว่คว้าเอาแต่สิ่งภายนอก และได้แต่ทะเยอทะยาน ทั้งที่ใจของเราป่วย ใจที่กลัวตัวเองจะอด กลัวตัวเองจะป่วย กลัวตัวเองจะตาย กลัวตัวเองจะจน กลัวตนเองจะไม่เทียมหน้าเทียมตาเขา กลัวลูกเราจะสู้คนอื่นไม่ได้ ฯลฯ นั่นแหละคือใจที่ป่วย แต่เราส่วนใหญ่ไม่เคยใส่ใจ ทั้งที่เป็นเรื่องใหญ่กว่าการไปตรวจเช็คสุขภาพร่างกายหลายเท่า
หมั่นน้อมนึกถึงชีวิตของพระโพธิสัตว์เจ้า มหาบุรุษ วีรบุรุษ วีรสตรี ที่เสียสละและหาญกล้าดูบ้าง ใจของเราจะมีกำลังใจขึ้น เมื่อพบว่าท่านเหล่านั้นยากลำบากสักเพียงใดเพื่อหน้าที่อันยิ่งใหญ่ ในการยังประโยชน์แก่มหาชนกว่าจะพบความสำเร็จ บางทีพลังสร้างสรรค์อาจบังเกิดขึ้นมาในใจของเรา
โลกใบนี้ ยังมีผู้คนผู้ทุกข์ยากอยู่ทั่วทุกมุมโลก เราอาจเป็นผู้หนึ่งที่มือน้อยๆของเรามีส่วนในการช่วยค้ำจุนโลกใบนี้ก็ได้ พระพุทธองค์ตรัสว่า “โลโกปตฺถมฺภิกา เมตตา ความเมตตาเป็นธรรมช่วยค้ำจุนโลก”
คุรุอตีศะ
๑๔ พฤษภาคม ๒๕๕๖