เมืองลับแล

 เมืองลับแล

 

 

                    มีเรื่องจริงที่ได้รับการเล่าขานจากท่านผู้หนึ่งเมื่อหลายสิบปีมาแล้ว  ท่านผู้นี้ไม่ได้บวชเป็นพระภิกษุ แต่ออกบำเพ็ญพรตรักษาศีล ๘ นุ่งขาวห่มขาวเป็นปกติ  ท่านใช้บาตรไม้เล็กๆออกเดินบิณฑบาตคล้ายพระ  พอได้อาหารยังชีวิตเพื่อประพฤติธรรมไปวันๆ  สมัยนั้นการออกประพฤติธรรมของพระภิกษุสามเณรและนักบวชนักพรตต่างๆ ยังมีอิสระและมีแต่ผู้ตั้งใจจริง


                     ท่านผู้นี้ได้เดินธุดงค์ในชุดขาวคนเดียวไปจนถึงจังหวัดหนึ่ง รอยต่อระหว่าภาคอีสานตอนบนกับภาคเหนือตอนล่าง  ท่านใช้วิธีอุ้มภาชนะเล็กๆใบนั้นออกขออาหารชาวบ้านในยามเช้า หลังจากพระในหมู่บ้านบิณฑบาตผ่านไปสักระยะหนึ่งแล้ว  ก็ได้อาหารอิ่มท้องทุกวัน


                     ในช่วงหนึ่งท่านเดินพลัดหลงเข้าไปในป่าแห่งหนึ่งโดยไม่ได้ตั้งใจ  วันรุ่งขึ้นจึงไม่มีหมู่บ้านที่ใกล้เคียงพอที่จะขอบิณฑบาตแบบนั้นได้  ท่านจึงตัดสินใจงดเรื่องการแสวงหาอาหารนั่งสมาธิภาวนาโดยไม่สนใจเรื่องอาหารเหมือนทุกวัน


                      ท่านนั่งสมาธิด้วยความสงบและมีปีติจนเวลาล่วงเลยไปมาก  มาคลายจากสมาธิและรู้สึกตัวอีกทีก็เมื่อเหมือนมีคนมานั่งอยู่เยื้องทางด้านซ้ายสักสามวา   เป็นสตรีสาวสองคนรูปร่างหน้าตาผิวพรรณสวยงาม  แต่งตัวเรียบๆใส่เสื้อแขนทรงกระบอกแบบคนรักษาศีลหรือแบบคนไทยโบราณ  ที่แปลกก็คือแขนของเธอกลมกลึงและไม่มีกระดูกข้อมือเหมือนมนุษย์ทั่วไป   ใบหน้าสดใส  อิ่มเอิบ สวยแบบไร้เครื่องสำอาง  ดูมีอาการเคารพผิดจากชาวบ้านทั่วไป


                     สตรีคนหนึ่งเหมือนเป็นหัวหน้า อีกคนมีท่าทีคล้ายๆคนติดตาม  คนที่เป็นหัวหน้าซึ่งมีสง่าราศีกว่า ได้เอาอาหารห่อด้วยใบไม้แปลกๆมาวางไว้ตรงหน้า  อาหารนั้นมีแต่ข้าว ไม่มีกับข้าว  แต่เมล็ดข้าวจะมีลักษณะแปลกกว่าข้าวสวยที่เราพบเห็นกันอยู่ทั่วไป  เมล็ดใหญ่ๆคล้ายข้าวโพด แต่ก็คือเมล็ดข้าว  มีสีขาวๆนวลๆสีเหลืองอ่อนๆ มีกลิ่นหอมชื่นใจมาก


                      ท่านได้นั่งสมาธิต่อไปเพราะจิตกำลังเสวยปีติในทุติยฌาน  หญิงทั้งสองเมื่อวางอาหารไว้แล้วก็พากันหายลับไปหลังพุ่มไม้  ประมาณสักอึดใจก็พากันมากราบท่าน  ท่านจึงเอ่ยขึ้นว่า “เธอทั้งสองเป็นใครหรือ  เราไม่เห็นหมู่บ้านคนแถวนี้เลย  และมาหาเราเจอได้อย่างไร?”


                       หญิงคนที่เป็นหัวหน้าได้ประณมมือขึ้นแล้วตอบขึ้นว่า “ดิฉันเป็นชาวเมืองลับแล ได้สังเกตเห็นท่านเดินเข้ามาในเขตของเราตั้งแต่เมื่อวานแล้ว  แต่ยังไม่แน่ใจว่าท่านเป็นผู้ปฏิบัติธรรมที่แท้จริงหรือไม่  จึงทดสอบท่านดูก่อน  จนแน่ใจดีแล้ว   จึงขออนุญาตกราบท่านอาจารย์และช่วยเมตตาไปเทศน์โปรดญาติมิตรในเมืองของดิฉันด้วยเถิดเจ้าค่ะ”


                        ท่านบ่ายเบี่ยงอยู่สักครู่ เพราะตัวเองไม่ใช่พระและก็ไม่เคยได้เทศน์สอนใครมาก่อน  เธอผู้นั้นก็บอกว่าท่านมีธรรมะกว่าพระภิกษุบางรูปที่ผ่านมาแถวนี้เสียอีก  ซึ่งเธอก็ไม่ได้สนใจ  ปล่อยท่านเหล่านั้นปักกลดแล้วก็เดินธุดงค์ต่อไป  โดยพวกเธอไม่ได้แสดงตัวให้รู้แบบนี้


                         ท่านเองท่านไม่รู้สึกว่าตัวเองมีธรรมะอะไร  ที่จาริกไปในป่าก็เพราะวิเวกสงัดดีท่านจึงถามว่า “แล้วพวกเธอรู้ได้อย่างไรว่าตัวเรามีคุณธรรมพอที่จะเทศน์สอนพวกเธอได้?”

 
                       เธอตอบว่า “เพราะท่านไม่ค่อยสนใจในอาหาร ท่านเห็นพวกดิฉันในตอนแรก ก็ไม่ได้มีจิตยินดีในความเป็นสตรีเหมือนบุรุษโดยทั่วไป และยังมีแสงสว่างออกรอบกายท่านซึ่งดิฉันสัมผัสได้  ดิฉันและญาติมิตรรอคอยผู้มีบุญบารมีมาโปรดเป็นเวลานานมากแล้ว  แต่ก็ไม่มีสักที  จนกระทั่งท่านผ่านมาที่นี่  จึงขอให้ท่านอาจารย์ช่วยเมตตาสงเคราะห์ด้วยเถิดเจ้าค่ะ”


                         หลังจากฉันอาหารพิเศษมื้อนั้นซึ่งต่างจากอาหารในเมืองมนุษย์  ซึ่งแม้เป็นก้อนข้าวเล็กๆปริมาณเพียงทัพพีเดียว พอหมดแล้วก็รู้สึกอิ่มพอดี ความเหนื่อยล้าทั้งหมดได้หายไป  มีแต่ความปีติแช่มชื่นสบายกาย สบายใจ  สมองก็ปลอดโปร่งแววไวมีทั้งไหวพริบและปฏิภาณ


                        ท่านได้แสดงธรรมโปรดชาวลับแลเหล่านั้นพอสมควรแก่เวลาแล้ว  เขาก็พากันมาส่งท่าน  พอท่านเดินไปสัก ๔ – ๕ ก้าว  แล้วหยุดยืนเหลียวหลังกลับไป  เมืองทั้งเมืองและผู้คนที่มีอยู่มากมายหลายพันนั้นก็หายไป  เหลือแต่ป่ารกและต้นไม้สูงสล้างที่เกิดอยู่ตามป่าเหมือนตอนที่ท่านเดินพลัดหลงเข้ามา


                        ในมิติอันเร้นลับเช่นนี้  ตามวิธีทางวิทยาศาสตร์ย่อมไม่อาจนำมาพิสูจน์ได้  จึงมีทั้งคนเชื่อบ้าง  ไม่เชื่อบ้าง  บางคนก็โจมตีว่าเป็นความเชื่องมงาย  แล้วแต่การศึกษาอบรม สิ่งแวดล้อม หรือภูมิจิตภูมิธรรมของแต่ละคนที่มีการสั่งสมอบรมกันมาหลากหลายต่างๆ


                           แต่เมื่อว่าตามผู้ที่ท่านมีญาณหยั่งรู้  หรือผู้มีบุญกรรมสัมพันธ์กับสิ่งเหล่านี้ท่านเล่าให้ฟัง  ท่านล้วนยืนยันว่า  เมืองบังบดลับแลนั้น  เขามีอยู่ในอีกมิติหนึ่งที่ซ้อนเหลื่อมอยู่กับโลกมนุษย์ของเรานี้จริงๆ


                            ชาวบังบดลับแลนั้น  คือผู้ที่สมัยยังเป็นมนุษย์  เป็นผู้ที่รักษาศีล ๕ อยู่เป็นนิจและชอบทำบุญสร้างกุศล  เป็นพวกที่ถือสัจจะอย่างเคร่งครัด  แต่เนื่องจากส่วนใหญ่เป็นการทำบุญตามโอกาส ทำตามประเพณี  ไม่ค่อยคิดริเริ่มสร้างบุญที่แรงถึงขึ้นที่ทำให้เกิด “ความปีติและอิ่มเอิบฟูใจ”  เมื่อตายจากความเป็นมนุษย์ จึงยังไปเป็นเทวดาไม่ได้ เพราะแรงบุญยังไม่พอ


                             การรักษาศีล ๕ และถือสัจจะอย่างเคร่งครัดสมัยเป็นมนุษย์  จึงทำให้ชาวลับแลบังบดมีความเป็นกายสิทธิ์จะให้ใครเห็นก็ได้หรือหายตัวก็ได้ แต่เพราะไม่มีผู้สอนกรรมฐานให้เจริญสติ ไม่ได้เป็นผู้มีศีลห้าจนถึงขั้นเป็นพระโสดาบันบุคคล  จึงทำให้ดวงจิตถูกขวางกั้นด้วยกรรมบางอย่าง  ทำให้ไปปฏิสนธิอยู่ในภูมิที่อยู่ในลักษณะกึ่งมนุษย์ กึ่งผี กึ่งเทวดา


                             พวกเขาที่อยู่ในภูมินั้นทุกคนต่างก็รอคอยเวลาว่า “เมื่อไหร่หนอจะมีผู้มีบุญญาธิการมาโปรด” เพื่อพวกเขาจะได้ฟังธรรมและได้อนุโมทนาบุญ  บุญนั้นจะได้เป็นแรงส่งให้เขาเลื่อนภพภูมิสูงขึ้นไปสู่สรวงสวรรค์ดังต้องการ


                            การที่ครูบาอาจารย์บางรูปบางองค์ท่านเดินทางจาริกธุดงค์  ก็ไม่ใช่ท่านจาริกธุดงค์เพื่อแสวงหาทางพ้นทุกข์เสมอไป  เพราะท่านรู้หนทางในจิตแล้ว  แต่บางรูปท่านก็มีเหตุผลบางอย่างหรือบางรูปท่านก็ไปโปรดชาวเมืองลับแลตามบารมีสัมพันธ์กันก็ได้  เหมือนอาจารย์ท่านนี้ที่ท่านมีประสบการณ์ตรง  และเมืองลับแลแห่งนั้นถึงคราวที่บุญจะหนุนส่งให้พ้นกรรมบางอย่างเพื่อเลื่อนภพภูมิที่สูงขึ้น  จึงทำให้อาจารย์ท่านนี้มีเหตุพลัดหลงเข้าไป  ต่อมาก็มีครูบาอาจารย์ผู้ทรงภูมิธรรมหลายท่านผ่านเข้าไป    และบัดนี้เมืองลับแลตรงนั้นก็หายไปแล้ว


                            การทำบุญที่จะทำให้ไม่ต้องไปอยู่ในภูมิของเมืองลับแล  ต้องรู้จักการเจริญสติสมาธิภาวนาพร้อมกับการให้ทานเพื่อค้ำจุนพระศาสนา และรักษาศีลเพื่อส่งเสริมอริยมรรค


                           การเจริญสติไว้จนกลายเป็นอุปนิสัย จะทำให้ประคองจิตได้ในช่วงลมหายใจสุดท้าย  ผลบุญจะส่งให้ไปเกิดเป็นเทวดาหรือไม่ก็กลับมาเกิดเป็นมนุษย์ได้สร้างบารมีต่อไป

 

 

                                                                             คุรุอตีศะ
                                                                   ๑๓  พฤษภาคม  ๒๕๕๘