จงรักษาศรัทธาไว้
- รายละเอียด
- หมวด: LanDharma
จงรักษาศรัทธาไว้
ขอให้ท่านทั้งหลายจงพากันหมั่นทำบุญทำทานไว้เถิด อย่าปล่อยชีวิตให้ล่องลอยเตลิดหรือหมกจมอยู่กับสิ่งที่พาชีวิตให้เศร้าหมอง ในประเทศไทยของเรานี้ยังมีพระผู้ปฏิบัติดีอีกมากมาย เพียงแต่เราอย่ามองศาสนาในแง่ลบหรือมองพระภิกษุสงฆ์ในแง่ร้ายจนบั่นทอนจิตใจ ชีวิตของเราจะพ้นจากหุบเหวปัญหาและความลำบาก แล้วจะได้พบชีวิตใหม่ดังต้องการ
เมื่อพบพระภิกษุสงฆ์ผู้ครองผ้ากาสาวพัสตร์ ขอจงอัญชลีประณมหัตถ์และกราบไหว้ อย่าเลือกแต่จะกราบพระอริยสงฆ์ แม้ท่านเป็นพระผู้ยังเป็นปุถุชนยังขาดการสำรวมบ้าง ก็จงไหว้จงกราบเพื่อลดทิฐิมานะลดความมีอัตตาของเราลงไป
จงสละวัตถุทาน หัดบริจาคไว้บ่อยๆจนเป็นนิสัย เพื่อกำจัด “มัจฉริยะ”คือความตระหนี่ถี่เหนียวหรือความหวงแหนที่คอยเผาลนอย่างเงียบๆอยู่ในใจ แล้วความสุขความสบายใจจะเกิดขึ้นภายในครอบครัวมากกว่าเดิม
เป็นฆราวาสจงหัดสละวัตถุทานเพื่อกำจัดความตระหนี่ และขจัดความคับแคบของจิตใจไว้บ่อยๆ อันเป็น “โสตาปัตติยังคะ” คือองค์ประกอบที่จะทำให้บรรลุโสดาบันประการหนึ่ง แม้ผู้นั้นจะใช้ชีวิตท่ามกลางบุตรธิดาภรรยาสามี ไม่เคยนั่งสมาธิได้ถึงขั้นอัปปนาสมาธิเหมือนอย่างที่ครูบาอาจารย์ท่านเล่าไว้ ทานบารมีที่กระทำสม่ำเสมอจะทำให้เกิดความชุ่มชื่นใจ แม้สติจะไม่ค่อยเกิดสักเท่าไหร่ ปัญญาก็ยังน้อย แต่ความสุขใจจะเกิดมีขึ้นเพราะพลังแห่งศรัทธา
เห็นพระเดินตากแดดฝ่าไอร้อนและฝุ่นผงอยู่ริมทาง หากขับรถผ่านไปเจอท่านก็จงถวายน้ำให้ท่านดื่มคลายร้อนเถิด แม้บางรูปท่านอาจเป็นเพียงพระบ้านที่ท่านใส่จีวรสีกรักแบบพระธุดงค์และไม่มีครูบาอาจารย์ฝึกหัดพระวินัยและวิธีแห่งธุดงควัตรที่แท้จริงมาก่อน
แต่ถ้าหากเรารีบไปธุระจำต้องขับผ่านเลยไป ก็ไม่ต้องเสียใจหรือนึกสาละวนให้ต้องวุ่นวายทั้งคันรถแต่อย่างใด แม้ท่านอาจไม่ใช่พระธุดงค์ที่แท้จริงตามมาตรฐาน แต่ท่านก็ยังแบกกลดท่ามกลางแดดร้อนบำเพ็ญตบะขันติบารมี ซึ่งก็ดีกว่า ประเสริฐกว่า น่าเลื่อมใสกว่าพระที่ดูวิดีโออยู่ในห้องแอร์ในวัดหลายเท่านัก (แม้ท่านที่อยู่ตามวัด ก็ยังได้ดูแลวัดวาอาราม)
หากท่านเป็นพระที่ใส่สีกรักแบบพระธุดงค์และแบกกลดสะพายบาตร แต่ยังขาดครูบาอาจารย์ผู้ทรงคุณอบรมพระวินัยที่ถูกต้อง เมื่อเราถวายน้ำดื่มท่านแล้ว เกิดท่านมาขอปัจจัย ขอจีวร ขอสิ่งนั้นสิ่งนี้กับเรา เพราะเห็นว่าเราขับรถคันโก้ดูโหงวเฮ้งแล้วช่างมีสง่าราศีน่าจะเป็นผู้มีอันจะกินเป็นแน่แท้
หากเราไม่สะดวกหรือไม่มีศรัทธา เราก็ปฏิเสธท่านไปได้ทันทีไม่ต้องไปอึดอัดหรือลังเลแต่อย่างใด เพราะตามวินัยพุทธบัญญัตินั้น พระพุทธองค์ทรงอนุญาตให้พระภิกษุเอ่ยปากขออาหารหรือปัจจัยสี่ได้จาก “ญาติและผู้ปวารณาหรือโยมอุปัฏฐาก”เท่านั้น นอกนั้นทรงห้ามมิให้พระภิกษุผู้เป็นสาวกพูดเลียบเคียง ประจบคฤหัสถ์ หรือเอ่ยปากขอผู้ใด การขอโดยมิต้องเอ่ยปากก็คือสิ่งที่เราทั้งหลายพบเห็นและเข้าใจกันเป็นอันดี สิ่งนั้นก็คือ "การบิณฑบาต" ที่เราทั้งหลายในเมืองพุทธต่างพบเห็นกันอยู่จนชินตา
แม้แต่ “คุรุอตีศะ”ในสมัยที่ยังชอบจาริกไปในสถานที่ต่างๆ ก็ยังเคยเดินไปตามถนนรูปเดียวแล้วหิวน้ำแทบเดินต่อไปไม่ไหว เพราะน้ำในกระติกที่เตรียมไว้หมดไปแล้ว หิวน้ำตั้งแต่สองโมงเช้าจนเลยเพลไปแล้วก็ยังไม่ได้ฉันข้าว ไม่ได้ดื่มน้ำแต่อย่างใด เดินผ่านร้านค้าข้างทางมองเห็นน้ำดื่มในตู้แช่แล้วหิวน้ำแทบขาดใจ แต่ก็ไม่แวะเข้าไปเนื่องจากไม่มีใครนิมนต์
แข็งใจเดินต่อไปผ่านร้านค้าออกสู่ถนนที่เป็นทุ่งกว้าง ปลงใจแล้วว่าหากต้องเป็นลมอยู่ข้างทางก็จะยอมให้เป็นไปแล้วแต่อะไรจะเกิด ก็พอดีมีรถเก๋งยี่ห้อดีคันหนึ่งมาจอดที่ด้านหลังแล้วมีเสียงเปิดประตูรถ ได้ยินเสียงผู้หญิงกึ่งเรียกกึ่งตะโกนขึ้นมาว่า “นิมนต์เจ้าค่ะท่านอาจารย์” พอหันหลังกลับไปมองจึงได้เห็นคู่สามีภรรยาลักษณะมีบุญทั้งคู่ขอถวายอาหารและถวายน้ำ ทำให้วันนั้นได้ฉันข้าวและรอดตาย พอตกเย็นวันนั้นจิตก็หยั่งสู่ความสงบและเกิดปีติอย่างมากมายอย่างน่าอัศจรรย์
พออายุเลย ๔๕ ปี ก็ไม่ค่อยได้ไปตามลำพังอย่างนั้นอีก เนื่องจากมีเหตุปัจจัยหลายอย่างที่ไม่อาจทำแบบนั้นได้อีกแล้ว แต่เมื่อไปกับญาติโยมที่ขับรถ บางทีพบพระที่ท่านสะพายกลดสะพายบาตรเดินข้างทาง ก็มักจะให้เขาจอดรถลงไปถวายน้ำเองบ้าง บางทีก็ให้โยมเอาอาหารไปใส่บาตรแล้วประณมมืออยู่ในรถ นึกน้อมเหมือนได้ใส่บาตรพระอรหันต์และผู้ที่ท่านมุ่งกำจัดกิเลสกำลังเดินตามรอยพระอริยเจ้า ทำแล้วก็สบายใจดีและเป็นบุญกุศลซึ่งไม่ทราบจะอธิบายอย่างไร การเดินทางที่ไกลแสนไกลก็รู้สึกปลอดโปร่งตลอดเส้นทาง
มีอยู่ครั้งหนึ่ง กำลังเดินทางด้วยรถจากจังหวัดตาก ระหว่างที่กำลังสู่เขตจังหวัดกำแพงเพชร มองเห็นพระภิกษุหนุ่มรูปหนึ่งแต่ไกล กำลังเดินสะพายถุงบาตรและในมือกำลังอุ้มบาตรเมื่อตะวันเริ่มสายแล้ว
จึงเอาอาหารที่โยมซื้อเตรียมไว้ถวายตัวเองในมื้อนั้น บอกให้เขาจอดรถแล้วเปิดประตูเดินลงไปขอใส่บาตรท่าน ตอนแรกท่านมองเห็นหน้าแล้วทำท่าเหมือนตกใจ จึงใส่บาตรแล้วพูดกับท่านว่า “ขอให้ท่านบวชสืบอายุพระศาสนาไปเรื่อยๆ อย่าสึกออกมาเลยนะ” ท่านตะลึงไปพักหนึ่งแล้วทำตาแดงๆเรื่อๆเหมือนไปพูดอะไรโดนใจ แล้วท่านก็รับคำว่า “ครับผม” เมื่อรถค่อยๆเคลื่อนผ่านหน้าท่านไป พระหนุ่มรูปนั้นก็ยังยืนมองตะลึงอยู่อย่างนั้นจนลับสายตา
ไม่ว่าสังคมและบ้านเมืองจะเป็นเช่นไร ขอให้ท่านทั้งหลายจงรักษาศรัทธาของเราไว้ เพราะบางครั้งบางช่วงการเจริญสติหรือการทำกรรมฐาน ในความเป็นจริงนั้นก็ไม่ใช่จะคืบหน้าหรือสติก็ใช่จะเกิดขึ้นแววไวทุกครั้งหรือทุกวันเสมอไป ในบางช่วงที่ชีวิตกำลังเสวยวิบากกรรมบางอย่าง การเจริญสติก็อาจจะทำไม่ค่อยได้ ส่วนปัญญาก็อับจนทั้งที่แต่ก่อนก็ฉับไว จำต้องอาศัยพลังแห่งศรัทธาประคองใจไว้จนกว่าจะพ้นวิบากกรรม แล้วสิ่งใหม่ๆหรือสิ่งที่ดีๆจะตามมา
ประเทศไทยของเรานี้ ยังมีพระอริยเจ้าอีกจำนวนมาก ท่านเหล่านั้นอาจยังไม่ปรากฏชื่อเสียงหรือยังไม่ได้แสดงความสามารถ ท่านก็ดำรงอยู่ตามฐานะจนกว่าจะถึงเวลาที่ท่านจะรับหน้าที่เมื่อได้เหตุได้ปัจจัย บางรูปบางองค์ท่านก็ช่วยโลก ช่วยประเทศชาติบ้านเมืองในทางมิติที่เร้นลับที่คนทั่วไปไม่อาจรู้ได้ การที่โหรทั้งหลายทำนายเรื่องภัยพิบัติคลาดเคลื่อนนั้น บางกรณีก็เป็นเพราะท่านผู้ทรงอภิญญาพยายามประคองสถานการณ์อย่างถึงที่สุดอยู่ก็มี
ขอให้เราทั้งหลายอย่าเอาความเป็นวิทยาศาสตร์ ไปวินิจฉัยเรื่องลี้ลับจนเกินไปนัก จงเคารพต่อมิติที่เร้นลับที่ตอนนี้วิทยาศาสตร์ยังเอื้อมไม่ถึงให้มาก ในยามที่ผู้คนขาดที่พึ่ง ขาดขวัญกำลังใจ จงให้เขาได้อาศัยสิ่งต่างๆในการช่วยพยุงจิตใจ บางกรณีนั้นธรรมะหรือหลักแห่งสติปัญญาตรงๆจะช่วยผู้คนที่กำลังใจอ่อนแอไม่ค่อยได้ผลเท่าไหร่ ต้องให้เขาได้มีศรัทธาในวัตถุหรือสิ่งของบางอย่างไว้แม้บางครั้งอาจดูงมงาย เมื่อสติเข้มแข็งขึ้นมาแล้วในระดับหนึ่ง เขาจึงจะสามารถฟังธรรมอย่างได้ผลแล้วเกิดปัญญาเข้าใจในชีวิตต่อไป
การใช้เหตุผลหรือการตัดสินผิดถูกมากเกินไป ย่อมทำให้หัวใจกระด้างเย็นชาและรุนแรงก้าวร้าว จงหันมาใช้ความรักความเมตตาและความมีศรัทธา จะทำให้ชีวิตมีความสุขและอ่อนโยนนุ่มนวลมากยิ่งขึ้น
ไม่มีอะไรที่ทำให้โลกใบนี้ดูงดงามและน่าอยู่ เท่ากับพลังแห่งความรักความเมตตา ทั้งคนถูก คนผิด คนดี คนชั่ว ก็ล้วนต่างมีคราบน้ำตา จงรู้จักให้อภัยและเลิกเคียดแค้นกัน
อะไรจะสูญเสียไปบ้าง ก็สูญเสียไปเถิด แต่อย่าให้ศรัทธาของเราต้องเสื่อมถอยหรือสูญเสียไป ผู้ที่มีศรัทธานั้นคือผู้มีอริยทรัพย์อันยิ่งใหญ่ ที่จะไม่ใช่ผู้ยากจนอีกเลยตลอดชีวิต
คุรุอตีศะ
๑๑ พฤษภาคม ๒๕๕๘