ชีวิตปรองดองสองศาสนา
- รายละเอียด
- หมวด: LanDharma
ชีวิตปรองดองสองศาสนา
ยามอรุณรุ่ง...ในพื้นที่ที่ผู้คนโดยทั่วไปใช้ชีวิตอยู่ในภาวะ "ไม่ปกติ" อย่าง จ.ปัตตานี การครองตัวครองตนแต่ละคน จึงต้องดำเนินไปอย่างแยบยลปนเครียดทุกฝีก้าว
"ในดีอาจมีร้าย ในร้ายอาจมีดี" ฉันใด ฉันนั้น
ภาพ "เปาะจิ" หรือพ่อเฒ่าผู้สูงวัย สวมหมวกกะปิเยาะห์ ปั่นรถสามล้อเก่าๆ อย่าง "อุเซ็ง แวหลง" หรือ "บังเซ็ง" ชาวมุสลิมผู้มากด้วยอารมณ์ขันวัยร่วม 78 ปี ผู้คอยทำหน้าที่เป็นสารถี ระแวดระวังภัยให้แก่ "พระสงฆ์" วัยชราใกล้เคียงกันคือ "พระวีระ จิตตธัมโม" วัย 74 ปี จากวัดตานีนรสโมสร ขณะออกบิณฑบาตในชุมชนและย่านตลาดใกล้เคียงวัดตานีนรสโมสร เขตเทศบาลเมือง จ.ปัตตานี
เป็นภาพอันเจนตาผู้คนที่หาดูไม่ง่ายนัก ณ ดินแดนปลายด้ามขวานแห่งนี้ กลายเป็นภาพที่สร้างรอยยิ้มกว้างให้แก่ผู้คนในพื้นที่ได้ดีทีเดียว
ความสัมพันธ์อันแน่นแฟ้นของ "กัลยาณมิตร" ต่างศาสนา ตอกย้ำความสมานฉันท์ได้อย่างไร้รอยต่อจริงๆ
"พระวีระ" บอกจุดเริ่มต้นของความผูกพันฉันพี่น้องระหว่างเพื่อนต่างศาสนาว่า ในช่วงที่ออกบิณฑบาตมีญาติโยมทำบุญกันมาก ทำให้ข้าวของล้นมือหอบหิ้วลำบาก ประกอบกับร่างกายไม่สมบูรณ์นัก ต้องเดินกะโผลกกะเผลกเป็นข้อจำกัดอย่างมาก ทำให้ "บังอุเซ็ง" ที่บังเอิญขี่รถสามล้อผ่านมาเห็น จึงมีน้ำใจเข้ามาช่วยเหลือหอบหิ้วสิ่งของทำบุญวางไว้บนรถตลอดเส้นทางบิณฑบาต ก่อนที่จะใจดีให้ขึ้นรถพาไปส่งถึงที่วัด
เรื่องราวโดยบังเอิญตั้งแต่เช้าวันนั้น...
คืนวันผันผ่านวันแล้ววันเล่า จวบจนวันนี้ที่กลายเป็นภารกิจที่ร่วมกันปฏิบัติมานับทศวรรษ
"ก่อนหน้านี้อาตมามีคนช่วยถือของให้ทุกเช้า แต่เนื่องจากเขาไม่สบายจึงหายไปหลายวัน กระทั่งมีบังเซ็งเข้ามาช่วยเหลือจากสัปดาห์ละไม่กี่วันเท่าที่มีโอกาสก็ขยับเป็นทุกวัน โดยไม่ได้นัดหมาย อาศัยความเข้าใจและเห็นใจ ประกอบกับเป็นคนวัยเดียวกัน เมื่อรวมอายุกันแล้วก็เกิน 150 ปี ทำให้เข้าใจกันในทุกๆ เรื่อง" พระวีระเล่าปนรอยยิ้ม
ด้วยวัยที่ใกล้เคียงกัน จะแตกต่างกันก็แค่ศาสนา...ทว่าทุกศาสนาล้วนสอนให้คนทำดีทั้งสิ้น
น่าสนใจว่าแม้จะมีความต่างจาก "อัตลักษณ์" ของพื้นที่ ทว่ามีนัยสะท้อนว่าเป็นเมืองแห่งวัฒนธรรมอันหลากหลายสานสัมพันธ์อันดีงามมาช้านาน ย่อมประจักษ์จากหลักฐานที่อยู่ร่วมกันได้อย่างกลมกลืน ทั้งวัดช้างให้, ศาลเจ้าแม่ลิ้มก่อเหนี่ยว และมัสยิดกรือเซะ
"บังอุเซ็ง" ปกติถนัดพูดภาษามลายูท้องถิ่น หรือภาษายาวี ขณะที่ "พระวีระ" ใช้ภาษาไทยในการสื่อสารหลัก แต่ทั้งคู่ก็มีรูปแบบการสื่อสารที่รับรู้ร่วมกันได้ โดยเฉพาะการใช้ภาษากาย โดยเฉพาะอาการเปื้อนยิ้มของ "สหาย" ขณะได้พบพานกัน
"บังเซ็ง" เล่าอย่างอารมณ์ดีว่า พูดภาษาไทยได้แค่นิดหน่อย แต่ก็พอรู้เรื่องหากสื่อสารกันแบบช้าๆ ทุกเช้าจะออกจากบ้านมารับพระวีระไปบิณฑบาต ทำแบบนี้มานานนับสิบปีแล้ว จนทำให้สนิทสนมกันทั้งๆ ที่แต่ละวันไม่ค่อยได้คุยอะไรกันมากนัก เพราะต่างฝ่ายต่างทำหน้าที่ของตัวเอง ทำให้รู้ว่าช่วงเวลาไหน ต้องทำอะไรบ้าง
"บังมาช่วยขับรถให้เฉยๆ ไม่มีใครสั่งให้ทำ แต่อยากทำเองเพราะทำแล้วมีความสุข ทำแบบนี้มาเป็น 10 ปีแล้ว จนรู้ว่าทุกเช้าต้องไปหาพระที่ตรงจุดไหน จากนั้นจะขับรถไปส่งที่จุดใดต่อจนกว่าจะเสร็จแล้วนำไปส่งถึงวัด" บังเซ็ง เล่าอย่างอารมณ์ดีก่อนจะขอตัวไปทำหน้าที่อย่างรู้ทัน
มิติประทับใจในมุมของ "ถมยา ศรีประสม" ผู้อำนวยการสำนักพระพุทธศาสนาจังหวัดปัตตานี สะท้อนว่า นับเป็นภาพความประทับที่เกิดขึ้นในพื้นที่จังหวัดปัตตานี ซึ่งชาวบ้านทุกคนภูมิใจและดีใจที่เห็นภาพเหล่านี้ จึงไม่แปลกที่ทุกๆ เช้าจะมีผู้คนมารอใส่บาตรในเส้นทางบิณฑบาตเป็นประจำ โดยทุกคนไม่ต้องพูดอะไรก็สามารถรับรู้และสื่อถึงความปลื้มปีติได้เป็นอย่างดี
ความผูกพันที่เกิดขึ้นไม่ได้เป็นเพียงแค่คู่นี้เท่านั้น แต่เป็นการสะท้อนให้เห็นถึงเรื่องราวในอดีตที่ทุกคนอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข ไม่มีการแบ่งแยก หรือขัดแย้งเพียงเพราะการนับถือศาสนาที่ต่างกัน
แม้วันนี้สถานการณ์ความไม่สงบจะส่งผลต่อวิถีหลายอย่างเปลี่ยนไป แต่ในหลักพระพุทธศาสนา การบิณฑบาตคือกิจของสงฆ์ที่ต้องปฏิบัติ แต่อาจพิจารณาตามความเหมาะสมเพื่อความปลอดภัย เช่น วัดใดมีความพร้อมสามารถบิณฑบาตได้ตามปกติ หรือใช้รูปแบบการเดินบิณฑบาตโดยมีพุทธศาสนิกชนนำภัตตาหารมาใส่บาตรภายในวัด หรือถวายเป็นลักษณะแกงเวรตามความเหมาะสม
"บังเซ็งเป็นคนอารมณ์ดี ยิ้มแย้มแจ่มใสและคอยช่วยเหลือพระตลอดช่วงที่มีญาติโยมมาทำบุญใส่บาตรอย่างคล่องแคล่ว ยิ่งตอกย้ำให้ผู้ร่วมทำบุญทุกคนปลื้มไปด้วยทุกครั้ง" ถมยากล่าว
จากต้นธารแห่งสายสัมพันธ์นี้ ทำให้ "พระสิริจริยาลังการ" เจ้าอาวาสวัดตานีนรสโมสร รองเจ้าคณะจังหวัดปัตตานี จึงมีดำริร่วมกับกรมการศาสนา กระทรวงวัฒนธรรมจัดโครงการอบรมภาษามลายูเพื่อการสื่อสาร โดยใช้มิติทางศาสนาเป็นเครื่องมือเชื่อมโยงจิตใจประชาชนในพื้นที่ ซึ่งนับถือศาสนาที่ต่างกันได้สื่อสารกันด้วยความเข้าใจมากขึ้น
"ความงดงามทางวัฒนธรรมที่หลากหลายบ่งบอกได้ถึงความรัก ความกลมเกลียวของพี่น้องชาวไทยทั้งพุทธและมุสลิมที่สามารถอยู่ร่วมกันได้ภายใต้หลักสมานฉันท์อย่างสันติสุข ดังนั้นการเรียนรู้ภาษามลายู หรือภาษายาวีเป็นเรื่องที่จำเป็นเพื่อจะได้สื่อสารและเข้าใจกันมากขึ้น"
การดำเนินการดังกล่าว ถือว่ามีแต่ได้กับได้ จากข้อมูลยังพบว่า ปัจจุบันประชากรในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ 80%พูดภาษายาวี ยิ่งเมื่อมีการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในปี 2558 ก็ย่อมมีชาวอินโดนีเซีย, มาเลเซีย, ฟิลิปปินส์ และสิงคโปร์เข้ามามากขึ้น หากสื่อสารกันไม่รู้เรื่องก็จะทำให้เกิดปัญหาในอนาคตได้
ภาพจริงที่เกิดขึ้นในทำนองนี้ หาใช่เป็นภาพเชิงซ้อนลวงตาใดๆ จึงอยากให้สังคมได้ล่วงรู้แก่นความจริงว่า สิ่งดีๆ ยังดำรงอยู่
ที่นี่ปัตตานี....!! "ต่างศาสนาแต่ใจเดียวกัน"
ความแตกต่างอย่างลงตัวของผู้คน 2 ศาสนา แม้จะเป็นเพียงสิ่งเล็กๆ ที่เกิดขึ้นในพื้นที่นี้ แต่กลับได้ขยายความประทับใจสู่โลกกว้างในช่องทางต่างๆ มากขึ้น ยิ่งเมื่อมีศิลปินกลั่นออกมาเป็น "ภาพวาด"
กลายการสร้างความประทับใจในอิริยาบถต่างๆ ผ่านโลกโซเชียลมีเดีย
"สุไลมาน ยาโม" ช่างเขียนภาพอิสระชาวปัตตานี หนึ่งในศิลปินที่วาดภาพสีน้ำมันลงบนผืนผ้าใบเพื่อถ่ายทอดเรื่องราวของความสัมพันธ์ของเพื่อน 2 สถานะ บอกที่มาที่ไปว่า ประทับใจในความสัมพันธ์ของเพื่อน 2 ศาสนา ที่เอื้ออาทรต่อกัน จึงตั้งใจวาดภาพนี้ขึ้นมาด้วยความเต็มใจ เพื่อถ่ายทอดเรื่องราวในมุมดีๆ ให้สังคมภายนอกได้ร่วมรับรู้สิ่งสวยงามทางความรู้สึกในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ผ่านภาพวาดบันทึกเรื่องราวของ "เปาะจิ" และ "พระ" ให้ออกมาดีที่สุดด้วยความปลื้มปีติ
"ภาพชายแก่สวมหมวกกะปิเยาะห์ไม่บอกก็รู้ว่าเป็นมุสลิม ซึ่งชาวบ้านในพื้นที่เรียกกันว่า "เปาะจิ" ปั่นจักรยานให้พระสงฆ์นั่ง เป็นความประทับใจที่สามารถสื่อความหมายได้ทุกห้วงอารมณ์ ทั้งความรัก,สามัคคี, ไม่แบ่งแยกและสร้างรอยยิ้ม เป็นภาพที่หาดูยากในสังคมปัจจุบัน ท่ามกลางความรุนแรงจนทำให้วิถีชีวิตเปลี่ยนไป"
อย่างน้อยภาพและการกระทำของทั้งคู่ คือบทสะท้อนชัดยิ่ง
"แม้ต่างศาสนาแต่หัวใจเดียวกัน" !!
(หมายเหตุ : ชีวิต'ปรองดอง'2ศาสนา 'ไม่มีใครสั่ง..ทำแล้วมีสุข' : สุพิชฌาย์ รัตนะ..เรื่อง ภูชิสส์ พิรุณละออง..ภาพรายงาน)...
@@@@@@@@@@@@@@@@@@
ได้อ่านเรื่องนี้แล้วเกิดความประทับใจ จึงพยามคัดลอกมาให้ทุกคนได้อ่านด้วย เป็นเรื่องราวที่แสดงถึงความไร้ช่องว่างระหว่างจิตเดิมแท้ของมนุษยชาติที่งดงามอยู่ในตัวเองยิ่งนัก
เมื่อได้อ่านเรื่องนี้แล้ว ทำให้รำลึกถึงเหตุการณ์สมัยเมื่อ ๗ ปีที่แล้ว ที่มีโยมผู้มีชื่อเสียงท่านหนึ่งและคณะ ได้มีศรัทธานิมนต์ให้ลงไปแสดงธรรมที่จังหวัดยะลา เมื่อปลายปี ๒๕๕๑
เมื่อตอนเดินทางกลับ โยมเจ้าภาพได้ขับรถจากจังหวัดยะลาไปส่งขึ้นเครื่องบินที่สนามบินหาดใหญ่ ขณะเข้าแถวเช็คอินตามระเบียบท่าอากาศยานอยู่นั้น มีสตรีมุสลิมคนหนึ่งอายุไม่เกินสี่สิบปี ต้องหอบหิ้วของพะรุงพะรังหลายอย่างพร้อมกับการเช็คกระเป๋าเดินทางอย่างทุลักทุเล ส่วนคนอื่นนั้นเขาจะมีกระเป๋าเพียงใบหรือสองใบกำลังต่อคิวอยู่เบื้องหลังของเธอ
ในระหว่างนั้นจะมีเฉพาะผู้โดยสารที่ถือตั๋วในมือ สามีของเธอและญาติได้กลับออกไปหมดแล้ว เธอจะละจากเคาน์เตอร์ขณะนั้นก็ไม่สะดวก เหลียวหน้าเหลียวหลังกระสับกระส่ายพะวักพะวน เนื่องจากมีของอีกกองหนึ่งวางอยู่ไกลหลายเมตร
พอดีเธอมองมาที่เราด้วยสายตาวิงวอนเหมือนอยากให้ช่วย แต่ก็ไม่กล้าเอ่ยปากเพราะเกรงใจว่าเป็นพระ
เราเห็นเธอทุกข์ร้อนทำอะไรไม่ถูกก็เลยเดินไปหยิบของใช้แบบชาวบ้านมุสลิม เป็นถุงยาวๆเกือบสองเมตร ส่งไปให้เจ้าหน้าที่เป็นการช่วยเหลือเธอด้วยความเต็มใจ ทำให้ทุกคนรวมทั้งเจ้าหน้าที่กำลังเคร่งเครียดต่างพากันยิ้มออกมาได้ในทันที
พอนึกถึงเหตุการณ์วันนั้นทีใร ก็รู้สึกอิ่มใจที่ได้ทำ "เวยยาวัจจนมัยบุญ" แก่สตรีแม่บ้านมุสลิมผู้หอบข้าวของพะรุงพะรังขึ้นเครื่องบินคนเดียวในครั้งนั้น
สมจริงดังคำที่พระอริยเจ้าทั้งปวงสอนไว้ว่า "บุญ"ย่อมเกิดขึ้นได้เสมอ ทุกกาลและทุกกสถานที่่ หากหัวใจดวงนี้มีความเป็นบุญ มีเมตตา และไร้การแบ่งแยกใดๆต่อทุกสรรพสิ่ง
ขอพรแห่งความรักและความเมตตาจงแผ่ไปสู่หัวใจของมนุษยชาติทั่วทั้งโลกด้วยเทอญ
คุรุอตีศะ
๒๑ มีนาคม ๒๕๕๘