อัฐิกลายเป็นพระธาตุ

อัฐิกลายเป็นพระธาตุ

 

 

 

                     ความเป็นพระอรหันต์เป็นสิ่งเกินวิสัยที่คนทั่วไปจะหยั่งรู้  แม้แต่พระอริยบุคคลรองลงมา คือพระอนาคามี  พระสกิทาคามี  และพระโสดาบัน  ก็เป็นการยากมากแล้วที่คนทั้งหลายจะหยั่งและทราบได้ว่า ท่านใดทรงภูมิธรรมความเป็นอริยบุคคลขั้นใดได้อย่างแท้จริง


                     หากใช้การวิจัยวิจารณ์ในทางวิชาการหรือทางปรัชญา  ย่อมเป็นธรรมดาที่ยิ่งคิดวิจัยวิจารณ์ก็จะยิ่งสับสนและเต็มไปด้วยความลังเลสงสัย  เหตุที่เป็นเช่นนั้นก็เพราะว่า “ความเป็นพระอรหันต์” เป็นสิ่งอยู่เหนือภาษาและสมมติบัญญัติ   จึงไม่อาจขจัดความสงสัยด้วยการคิดหรือการวิจัยวิจารณ์ได้  แต่จะหมดสิ้นความสงสัยได้เด็ดขาดก็ต่อเมื่อได้เข้าถึงความเป็นพระอรหันต์  หรือต้องละสังโยชน์เบื้องต่ำได้เด็ดขาดทรงภูมิจิตเป็นพระโสดาบันขึ้นไปเป็นอย่างต่ำ


                      บางคนสงสัยว่า “เหตุใดเป็นถึงพระอรหันต์จึงถูกยิงตายกลางพื้นดิน ?”


                     เรื่องนี้อธิบายได้ว่า เพราะพระอรหันต์ท่านมีจิตอยู่เหนือสมมติ  ไม่มีใครดีใครเลวในสายตาของท่าน  นอกจากจะกำหนดจิตรับรู้สมมติบัญญัติเพื่ออบรมสั่งสอนเกื้อกูลไปตามสภาพ  เวลาท่านพูดว่าใครเลว ใครดี  ใครถูก ใครผิดนั้น จิตของท่านจะรู้สึกยึดมั่นว่าดีว่าเลวจริงๆจังๆอย่างที่พวกเราทั้งหลายรู้สึกอย่างนั้นจริงๆก็หาไม่  ส่วนความกลัวตายนั้นย่อมไม่มีในจิตของท่านอีกแล้ว


                    การจะทอดทิ้งร่างกายนี้ไว้ที่ไหน  ก็ไม่เป็นปัญหาสำหรับท่าน  เปรียบเหมือนการได้ปลงถาดน้ำมันที่หนักอึ้งบนศีรษะมานาน  หากมีใครมาช่วยปลงลงให้ก็สบายดี  แต่ความรู้สึกว่าอยากตายแบบปุถุชนก็ไม่มีในจิต  คือความอยากมีชีวิตอยู่ก็ไม่มีอยู่ในจิต   ความรู้สึกว่าอยากตายก็ไม่มีอยู่ในจิต  ดังนั้นการจะถูกยิงตายหรือจะตายแบบไหน  จะตายกลางดิน กลางป่า ก็ไม่มีความหมายอะไรสำหรับท่านอีกแล้ว   นี้คือจิตของท่านที่พ้นโลกแล้วและยืนอยู่เหนือสมมติทั้งปวง


                      บางคนก็ไม่ยอมรับว่าท่านเป็นพระอรหันต์หรือเป็นพระอริยเจ้า  บางคนก็ถึงกับปรามาสท่านว่า “เป็นพระอรหันต์ทำไมถึงมีสมุดเงินฝาก มีเงินในบัญชี ?”  เรื่องนี้ก็อธิบายได้ว่า หากท่านอยู่แต่ในป่า  ไม่ต้องมีภาระในการดูแลวัดวาอารามและสงเคราะห์ผู้คน  สมุดเงินฝากก็ไม่มีความจำเป็นอะไรสำหรับท่าน เพียงมีอาหาร มีกุฏิที่อยู่อาศัยก็ย่อมเพียงพอแก่ชีวิตของพระภิกษุตามที่เข้าใจนั่นก็ถูกต้องแล้ว


                       แต่ถ้าท่านมีเหตุจำเป็นต้องดูแลส่วนรวมเพื่ออนุเคราะห์เกื้อกูลผู้คนและศาสนา  เมื่อญาติโยมผู้มีความเคารพเลื่อมใสศรัทธา จะเปิดสมุดบัญชีเงินฝากให้ท่านเพราะมองเห็นความจำเป็นบางอย่าง  ท่านก็ไม่จำเป็นต้องแสดงว่า “ฉันเคร่งครัด  ฉันจะต้องไม่จับปัจจัย” อันความคิดอย่างนี้ก็ไม่มีอยู่ในจิตของท่าน  เพราะจิตของท่านพ้นจากมารยาที่คิดรักษาพระวินัยเพื่อให้คนมาเลื่อมใสศรัทธาไปแล้ว     จิตของพระอรหันต์ไม่มีคำว่าเคร่งครัดหรือไม่เคร่งครัดอีกแล้ว  แต่ถ้าต้องอบรมสั่งสอนศิษย์ท่านจะต้องสอนให้เคร่งครัดในพระวินัยไว้เป็นมาตรฐาน


                        ถามว่า “ท่านอายุเพียง ๔๘ ปี  จะบรรลุเป็นพระอรหันต์ได้เร็วขนาดนั้นหรือ ไม่น่าเป็นไปได้  บางรูปบางองค์บวชจนอายุ ๗๐ ปี ก็ยังไม่เห็นบรรลุอะไรเลย ?” เรื่องนี้ตอบได้ว่า ขึ้นชื่อว่าการรู้แจ้งหรือการบรรลุธรรม  เป็นอกาลิโก ไม่มีอะไรกำหนดหมายว่าคนอายุน้อยจะบรรลุทีหลังคนอายุมาก  ไม่มีอะไรกำหนดหมายว่าพระที่ยังเป็นหนุ่มมีผมดำสนิท  จะมีภูมิธรรมน้อยกว่าพระเถระผู้มีพรรษสูงหรืออยู่ในปูนวัยชรา  ด้วยเหตุนี้ พระพุทธองค์จึงทรงตรัสเตือนพุทธบริษัทไว้ว่า “อย่าดูหมิ่นภิกษุหนุ่มยังผมดำสนิทผู้มีพรรษายังน้อยว่าจะไม่มีภูมิธรรมอะไร”


                      ผู้ที่มีบารมีแก่กล้า  เพียงได้เห็นคนเกิด คนแก่ คนเจ็บ คนตาย  แล้วเกิดความสลดใจ  ละทิ้งหน้าที่การงานอันมีเกียรติในทางโลกได้ แล้วออกบวชประพฤติพรหมจรรย์ตั้งแต่เป็นหนุ่ม  เมื่อได้ฟังธรรมจากครูบาอาจารย์ที่ทรงภูมิธรรมอันแท้จริง  ได้มีโอกาสเดินธุดงค์และแสวงหาความวิเวกอยู่ตามป่าเขา ตามวิสัยพระปฏิบัติสายธุดงค์กรรมฐานอันเคร่งครัด  ก่อนที่ท่านจะมารับภาระในการเป็นเจ้าอาวาสเมื่ออายุพรรษาสูงขึ้น ทั้งยังอุทิศตนในการช่วยเหลือคนอื่นด้วยจิตที่ประกอบด้วยเมตตาธรรมตามวิสัยของคนที่เคยเป็นแพทย์มาก่อน  ใครจะไปรู้ว่าสติที่เพิ่มพูนอยู่ตลอดเวลาเพราะพลังแห่งศรัทธาและปัญญา และปีติสุขอันเกิดจากการได้ช่วยเหลือกิจของสงฆ์และผู้คนตลอดเวลา  มรรคสมังคีของท่านจะเกิดขึ้นตอนไหน   และตามวิสัยของผู้ที่ท่านบรรลุจริงนั้น  สติของท่านจะเพียบพร้อมบริบูรณ์ จะไม่มีการลังเลสงสัยในอริยมรรคอริยผล  และจะไม่มีความอยากให้ใครรู้แม้แต่นิดเดียว  นี้คือ ปัจจัตตัง  วิญญูหิ  ผู้รู้ย่อมรู้ได้เฉพาะตน


                       ด้วยเหตุดังกล่าวมา  ครูบาอาจารย์ท่านจึงพยายามเตือนว่า อย่ามัวแต่เที่ยววิ่งหาพระอรหันต์กันอยู่เลย  เพราะบางทีพระอรหันต์อยู่ใกล้ๆ  เราเองก็ไม่อาจรู้ได้  เพราะตาเนื้อตามธรรมดาของเราย่อมไม่อาจมองเห็นหรือหยั่งถึงได้  ในทำนองผู้ที่ยังยากจนหาเช้ากินค่ำ ย่อมเป็นการยากที่จะเข้าใจชีวิตของเศรษฐี  ยิ่งถ้าเป็นเศรษฐีประเภทผ้าขี้ริ้วห่อทองด้วยแล้ว ยิ่งเข้าใจยากหลายเท่า


                      อย่างเช่นกรณีของครูบาอาจารย์บางท่าน ใครจะไปนึกว่าท่านอายุยังน้อย ลูกศิษย์บริวารก็ยังไม่มีมากนัก ออกเดินบิณฑบาตในแต่ละวันก็มักเดินเพียงรูปเดียวอันเป็นวิสัยของบุรุษอาชาไนยผู้ไม่มีความระแวงภัย แต่เมื่อกรรมในอดีตชาติมาส่งผล  ต้องทิ้งสังขารไปด้วยการถูกฆาตกรรม  ซึ่งในสายตาชาวโลกย่อมดูเหมือนไม่งามไม่น่าเลื่อมใสเท่าใดนัก  แต่พอทำพิธีประชุมเพลิงศพผ่านไปเพียง ๓  วัน  อัฐิของท่านได้แปรสภาพกลายเป็นพระธาตุอย่างรวดเร็ว  นี้คือชีวิตของท่านผู้ทรงคุณอันประเสริฐเหนือโลกโดยแท้  นับว่าท่านเป็นผู้หลุดพ้นอย่างแท้จริง


                  ชีวิตของท่านเช่นนี้แหละที่ทางพระปริยัติท่านเรียกว่า “สุขาปฏิปทา ขิปปาภิญญา เป็นผู้ปฏิบัติสะดวก  แล้วบรรลุเร็ว” ตามบทสวดปัฏฐะนะฐะปะนะคาถาที่เราสวดกันอยู่


                   ตามหลักพระปริยัติธรรมท่านกล่าวถึงปฏิปทา คือทางดำเนินไปสู่ความหลุดพ้นหรือการรู้แจ้งว่ามี ๔ ปฏิปทา  คือ ๑. ทุกขาปฏิปทา ทันธาภิญญา  ปฏิบัติลำบาก  บรรลุช้า  ๒.ทุกขาปฏิปทา  ขิปปาภิญญา  ปฏิบัติลำบาก บรรลุเร็ว  ๓. สุขาปฏิปทา  ทันธาภิญญา   ปฏิบัติสะดวก  บรรลุช้า  ๔. สุขาปฏิปทา  ขิปปาภิญญา ปฏิบัติสะดวก  บรรลุเร็ว


                    การที่ท่านเป็นแพทย์ได้เห็นคนระดับสูงของกรมตำรวจป่วยเป็นมะเร็ง แล้วเกิดความสลดสังเวชมองเห็นความไม่มีสาระของชีวิต จนกระทั่งตัดสินใจออกบวชได้ขณะอายุเพียง ๒๘ ปี  ซึ่งแพทย์และพยาบาลอีกมากมายแม้จะเห็นคนเจ็บและคนตายมากมายในแต่ละวัน แต่ก็ไม่เกิดปัญญามองเห็นความไม่จีรังของชีวิตเหมือนอย่างที่ท่านมองเห็น  นี้คือความแก่กล้าของบารมีทางธรรมซึ่งน้อยคนนักจะมีดวงปัญญามองเห็นสัจธรรมของชีวิตได้ลึกซึ้งได้ถึงขั้นนี้   ท่านอาจเป็นพระโสดาบันประเภทเอกพีชีกลับมาเกิดใหม่เพื่อปฏิบัติธรรมเจริญกรรมฐานต่อก็ได้


                     บุคคลที่ออกบวชในลักษณะเช่นนี้  ถือว่ามีปัญญาคมกล้าใกล้ต่อการรู้แจ้ง  ส่วนใหญ่จึงเป็นประเภท “สุขาปฏิปทา ขิปปาภิญญา ปฏิบัติสบาย  แต่ก็บรรลุเร็ว” ครูบาอาจารย์ประเภทนี้บางท่านเป็นพระอริยบุคคลขั้นต้นมาแล้ว  จึงมีโอกาสเข้ามาบวชเมื่ออายุเลย ๕๐ ปี ท่านก็ไม่จำเป็นต้องไปเดินธุดงค์แต่อย่างใดเนื่องจากสภาพสังขารร่างกายไม่อำนวย  แต่ก็มีภูมิธรรมสามารถสอนธรรมะและมีชื่อเสียงไปทั่วประเทศได้ในเวลาอันรวดเร็ว


                   นี้คือความเป็นผู้มีวาสนาบารมีเฉพาะตน ที่แตกต่างกันไปของครูบาอาจารย์แต่ละท่าน    ซึ่งหากพระพุทธองค์ไม่ทรงวางหลักปริยัติไว้  ผู้คนในชั้นหลังจะสับสนและเข้าใจผิดได้


                       สำหรับพระอริยเจ้าที่อัฐิได้แปรสภาพเป็นพระธาตุในเวลาต่อมานั้น  พึงเข้าใจว่า  มักปรากฏเฉพาะพระผู้บรรลุแบบเจโตวิมุติ  ส่วนผู้บรรลุแบบปัญญาวิมุติ  อาจไม่แปรสภาพเป็นพระธาตุก็ได้   พระกรรมฐานสายวัดป่าท่านมักได้วิชชา ๓  เมื่อมรณภาพอัฐิจึงมักแปรสภาพกลายเป็นพระธาตุ


                      การปฏิบัติในสายธุดงค์กรรมฐานหรือเราเรียกกันโดยทั่วไปว่า “สายหลวงปู่มั่น” การปฏิบัติในสายนี้เรียกว่า “เตวิชโช” คือ พระอรหันต์ผู้ได้วิชชา ๓  คำว่า”วิชชา ๓” คือนอกจากบรรลุความหลุดพ้นแล้ว ยังได้“ปุพเพนิวาสานุสสติญาณ”(ปุบ-เพ-นิ-วา-สา-นุด-สะ-ติ-ยาน) ระลึกชาติได้  และได้ “เจโตปริยญาณ”(เจ-โต-ปะ-ริ-ยะ-ยาน)  รู้ใจผู้อื่น  รวมกับอาสวักขยญาณ(อา-สะ-วัก-ขะ-ยะ-ยาน)  เป็นสามอย่าง จึงเรียกว่า “เตวิชโช ผู้ได้วิชชา ๓”


                       ดังนั้น  ท่านจึงไม่ให้ไปปรามาสครูบาอาจารย์บางองค์บางท่าน ด้วยการตัดสินว่า “อัฐิท่านไม่ได้กลายเป็นพระธาตุ ท่านคงไม่ได้เป็นพระอรหันต์”  เพราะพระอรหันต์มี ๔ ประเภทด้วยกัน  ยิ่งถ้าเป็นประเภทสุกขวิปัสสโก  โอกาสที่อัฐิของท่านจะกลายเป็นพระธาตุมักมีน้อยเพราะชีวิตประจำวันของท่านไม่ค่อยได้อยู่กับสมาบัติ  และพระอรหันต์ประเภทนี้ก็มีจำนวนมากกว่าประเภทเจโตวิมุติหลายเท่า  แต่หากท่านใดอัฐิได้แปรสภาพเป็นพระธาตุ  ก็ย่อมเป็นรูปธรรมที่ชัดแจ้งที่ไม่ต้องลังเลสงสัยในคุณธรรมของท่านอีกต่อไป   ซึ่งส่วนใหญ่ท่านจะมีปฏิปทาเคร่งครัดและมีความสุขกับสมาธิ  ซึ่งสมาธิของท่านจะมีอยู่ตลอดเวลาแม้ไม่ได้นั่งสมาธิ


                    ชีวิตของพระอรหันต์เป็นสิ่งที่เราทั้งหลายรู้ได้ยาก  ที่กล่าวมานั้นก็เป็นเพียงความรู้อันเล็กน้อยที่พอจะแบ่งปันให้ท่านทั้งหลายได้   จุดประสงค์สำคัญก็เพื่อช่วยปกป้องครูบาอาจารย์ผู้ละสังขารจากโลกนี้ไปแล้ว อัฐิของท่านได้กลายเป็นพระธาตุให้ทุกคนได้บังเกิดความอัศจรรย์ใจ จะได้ไม่พากันไปปรามาสท่านว่าอายุยังน้อยและก็ตายด้วยเหตุอันสะเทือนใจ จะมีคุณวิเศษชั้นสูงได้อย่างไร  คนโบราณท่านจึงสั่งสอนให้เรา “กราบผ้ากาสาวพัสตร์”ไว้  ก็เพื่อไม่ให้เราไปพลาดพลั้งล่วงเกินพระอริยบุคคลหรือพระอรหันต์ที่ทรงเพศพรหมจรรย์โดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์นั่นเอง


                     หากมีคำถามว่า “หากท่านเป็นพระอรหันต์จริง  ทำไมจึงไม่ใช้ฤทธิ์ป้องกันตนเองให้แคล้วคลาดจากอันตรายเช่นนั้นเสีย  จะได้ทรงสังขารไว้เพื่อดำรงพระศาสนาต่อไป?”


                    เรื่องนี้นับเป็นเรื่องเฉพาะตัวของท่านที่ยากนักจะหยั่งได้  แต่พึงเข้าใจว่า ยิ่งถ้าเป็นผู้ทรงภูมิธรรมเบื้องสูงอันแท้จริงแล้ว  ท่านจะยิ่งรังเกียจการใช้อิทธิปาฏิหาริย์  แต่ท่านจะมุ่งเชิดชูพระธรรมคำสอนของพระผู้มีพระภาคเจ้าเหนือสิ่งอื่นใด  จะไม่ใช้อิทธิฤทธิ์เพียงเพื่อประโยชน์ในการปกป้องตัวเองอย่างที่คนส่วนใหญ่มักเข้าใจว่าน่าจะทำเช่นนั้น  ยิ่งหากท่านระลึกชาติได้จนรู้กรรมในอดีตและรู้ว่าตนถึงคราวสิ้นอายุขัย  ท่านก็พร้อมจะปล่อยวางชีวิตนี้ไปอย่างปราศจากความลังเล


                    ท่านผู้บรรลุเป็นพระอรหันต์  ท่านยิ่งมีความซื่อสัตย์และเคารพต่อ “กฎแห่งกรรม”อย่างสนิทใจ  ท่านย่อมเป็นลูกหนี้ชั้นดีที่พิเศษสุด  หากเห็นโอกาสใช้หนี้ได้ ท่านย่อมยินดีใช้หนี้กรรมที่ทำมาแต่อดีตชาติสมัยยังเป็นปุถุชนผู้หลงผิด อย่างปราศจากความลังเลเลยทีเดียว


                     ในท่ามกลางความวิกฤติในวงการของพระพุทธศาสนา  ท่านพระอาจารย์บัณฑิต  สุปณฺฑิโต  แห่งวัดป่าตอสีเสียด จังหวัดอุดรธานี ซึ่งบัดนี้ได้ละทิ้งสังขารและอัฐิของท่านได้กลายเป็นพระธาตุ แม้ผู้คนทั้งหลายจะมีความคิดความเห็นไปในทำนองเช่นใดก็ตาม  แต่สำหรับในทางส่วนตัวแล้ว ขอน้อมกราบในองค์คุณของท่านด้วยความเลื่อมใสศรัทธาและด้วยความปีติยิ่งนัก


                      ท่านคือตัวอย่างของบุรุษอาชาไนยที่หาได้ยากยิ่ง  ท่านคือผู้ทรงพระศาสนาของพระศาสดาอย่างแท้จริงในท่ามกลางสังคมที่สับสนและเหล่าปุถุชนผู้มีดวงตามืดบอดทั้งหลาย


                      ท่านคือสงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้า ที่เชิดชูอนุสาสนีปาฏิหาริย์เหนือกว่าอิทธิปาฏิหาริย์อย่างไม่มีความพรั่นพรึงต่อความตาย  ท่านคือพุทธบุตรอันแท้จริงอันจะทำให้มีผู้บรรลุธรรมตามอย่างท่านอีกมากมายในยุคสมัยต่อไป  นี้คือความยิ่งใหญ่สมกับเป็นศิษย์ของพระตถาคตเจ้าโดยแท้


                        สาธุ  สาธุ  สาธุ  อนุโมทามิ


                      
                                                                             คุรุอตีศะ
                                                                      ๑๒  มีนาคม  ๒๕๕๘