ปรารภธรรม:ชีวิตนี้ยังมีหวัง

 ชีวิตนี้ยังมีหวัง

 

 

                    เมื่อชีวิตพบกับมรสุม จงอย่าร้อนรนและหวาดหวั่นต่อคลื่นกำลังถาโถมเข้ามา จงตั้งสติไว้แล้วดูใจตัวเองอย่าเพิ่งสนใจใครทั้งสิ้น จะทำให้จิตสูญเสียสมาธิ จงตัดทุกสิ่งทุกอย่างทิ้งไป ให้สติรู้อยู่ที่กายที่ใจของตัวเองเป็นหลัก จนกว่าจิตใจจะตั้งหลักได้และเกิดแรงบันดาลใจขึ้นมา จึงค่อยทำสิ่งอื่นด้วยความมีสติรู้ตัวต่อไป


                    ในยามที่แต่ละคนมักมีปัญหาชีวิตกันเป็นส่วนใหญ่ หลังจากที่เขียนธรรมะให้อ่านกันมากแล้ว หลวงพ่ออยากจะเล่าชีวิตส่วนตัวสู่กันฟัง เมื่อครั้งยังเป็นหลักของครอบครัวในฐานะที่เป็นลูกชายคนโตของบ้าน เพื่อเป็นเพื่อนและเป็นแง่คิดแก่ทุกคนในยามนี้


                    ย้อนหลังไปเมื่อ ๒๖ ปีที่แล้ว ช่วงนั้นหลวงพ่ออายุประมาณยี่สิบสี่ปียังไม่ได้บวช พอได้รับรับคำสั่งย้ายจากดอนเมืองไปอยู่ประจวบคีรีขันธ์ สภาพครอบครัวที่กำลังง่อนแง่นอยู่แล้วก็ต้องหักสะบั้นลง

 

                   จะต่างจากคนทั่วไปก็ตรงที่ครอบครัวที่หักสะบั้นลงนี้ไม่ใช่ครอบครัวที่แบบสามีภรรยา แต่คือครอบครัวที่มีพี่ชายคนโตเป็นหัวหน้าครอบครัว แล้วมีพ่อ แม่ น้องชาย น้องสะใภ้ น้องสาวที่กำลังจะจบม.๖ และน้องสาวฝาแฝดที่ไม่สมประกอบทางสมอง รวมแล้วทั้งหมด ๘ ชีวิต ต้องตัดสินใจขายบ้านแล้วพากันอพยพย้ายจากสระแก้วไปอยู่ในกองบิน ๕


                    เมื่อไปถึงประจวบคีรีขันธ์วันเริ่มต้นชีวิตใหม่ที่ทุกคนต่างกำลังเสียขวัญ น้องสาวได้ถามว่า “ตอนนี้พี่มีเงินติดตัวเท่าไหร่” ก็ตอบน้องไปตามตรงว่า “มีอยู่ ๑๕๐ บาท” น้องตกใจว่าแล้วจะอยู่กันอย่างไร ก็ตอบน้องพร้อมทั้งปลอบใจทุกคนว่า “อีกไม่กี่วันเงินเดือนก็ออกแล้ว”


                    สมัยนั้นพ่อยังเป็นคนขี้เมา เพราะความเสียใจเมื่อครั้งปู่ตายใหม่ๆพ่อประสบกับความผิดหวังครั้งใหญ่  ส่วนแม่นั้นตอนหลวงพ่อไปเรียนโรงเรียนจ่าอากาศใหม่ๆ แม่กำลังภูมิใจว่าลูกชายที่แม่เคี่ยวเข็ญให้เรียนหนังสือตั้งแต่เด็กแต่งเครื่องแบบมาเยี่ยมบ้าน ความสุขของแม่มีอยู่เพียงสองเดือน ต่อมาก็ได้รับจดหมายจากแม่ว่ามีคนมาลักควาย ไม่มีควายทำนาแล้ว


                    เนื้อความในจดหมายที่แม่รำพันให้นักเรียนจ่าอากาศปีที่ ๑ ฟังในตอนนั้น ผู้อ่านทุกท่านจะเชื่อไหมว่า มีเนื้อความคล้ายกับเพลงลูกทุ่ง “จดหมายจากแม่”ที่กำลังดังในช่วงนั้นพอดี เสียดายไม่เคยคาดคิดมาก่อนว่าจะได้มาเป็นอาจารย์สอนใคร มิฉะนั้นจะเก็บจดหมายฉบับนั้นไว้เพื่อเป็นหลักฐานในการถ่ายทอดธรรมะและคติชีวิตเช่นในวันนี้


                    ความทุกข์ใจในตอนนั้น ถึงขั้นจะลาออกจากนักเรียนจ่าอากาศกลับมาอยู่เป็นเพื่อนแม่ ติดอยู่ตรงที่ไม่มีเงินเสียค่าปรับให้แก่กองทัพอากาศจึงลาออกไม่ได้  พอดีได้ไปอ่านประวัติของนโปเลียน โปนาปาร์ตที่เคยประสบกับความยากเข็ญในตอนที่มีอายุ ๑๖ ปี เหมือนตัวเอง ก็ได้อาศัยกำลังใจจากชีวิตของนโปเลียนสร้างขวัญให้ตัวเอง แล้วเขียนจดหมายตอบแม่ไปว่า “ความทุกข์ของแม่ในวันนี้ แม้ลูกจะยังทำอะไรไม่ได้ แต่วันหนึ่งข้างหน้าลูกชายคนนี้จะขอเป็นหลักชัยให้แม่ จะนำเกียรติยศมาสู่ชีวิตของแม่ ให้แม่พ้นจากหุบเหวแห่งความทุกข์ให้ได้ แล้วหลังจากนั้นลูกจะขอออกบวชในพระศาสนา”(ได้อ่านประวัติหลวงปู่มั่น ก็ในช่วงนั้นพอดี)


                    หลังจากนั้นเป็นต้นมาที่บ้านก็ถูกลักควายอีกเป็นครั้งที่สอง จนแม่กลายเป็นคนป่วยทางจิตใจมาตั้งแต่อายุของหลวงพ่อได้ ๑๖ ปี หลวงพ่อจึงกลายเป็นหัวหน้าครอบครัวไปโดยปริยายนับตั้งแต่ปี ๒๕๒๓ คือพอเป็นนักเรียนจ่าอากาศก็กลายเป็นหัวหน้าครอบครัวในทันที


                    เบี้ยเลี้ยงและเงินเดือนของนักเรียนทหารไม่เคยได้ใช้ มีเท่าไหร่ก็ส่งไปบ้าน ส่วนตัวเองจะรับจ้างซักและรีดเครื่องแบบในวันเสาร์อาทิตย์ให้เพื่อนที่กลับไปเยี่ยมบ้าน  ส่วนตัวเองไม่ได้กลับเพราะไม่มีค่ารถ จึงรับซักรีดและรับจ้างอยู่เวรเพื่อหาเงินซื้อขนมของตัวเอง  ตอนบวชใหม่ๆเวลาเห็นขวดนมไวตามิลค์และถั่วปากอ้าครั้งใด จะนึกถึงความลำบากสมัยรับจ้างอยู่เวรผลัดตีหนึ่งถึงตีสามสมัยอายุ ๑๖ ปี ทุกครั้ง เพราะกว่าจะได้กินก็ต้องอดนอนรับจ้างอยู่เวร


                    สายตาสั้นพร้อมกับการติดยศมาจนถึงทุกวันนี้ ก็เพราะแอบอ่านหนังสือในยามอยู่เวรผลัดดึกในที่แสงสว่างไม่พอ เพราะเหงาคิดถึงบ้าน คิดถึงพ่อ คิดถึงแม่ คิดถึงน้อง อยากกลับบ้านวันละร้อยเที่ยว จึงอ่านหนังสือเป็นเพื่อน ต้องแอบอ่าน กลัวจ่าเวรและนายทหารเวรมาเจอเพราะผิดวินัยทหาร นั่นคือเหตุผลที่หลายคนอาจสงสัยว่าเหตุใดหลวงพ่อจึงเป็นหัวหน้าครอบครัวทั้งที่ไม่ได้แต่งงาน


                    สิ่งที่ช่วยประคับประคองจิตใจของหลวงพ่อเรื่อยมา ก็คือธรรมะที่เคยอ่านในห้องสมุดสมัยเรียนอยู่ ม.ศ. ๑ และประวัติชีวิตบุคคลสำคัญในห้องสมุดโรงเรียนจ่าอากาศ พร้อมกับได้เพื่อนดีคอยสนับสนุนคอยให้กำลังใจ สิ่งสำคัญคือการมีสติคอยดูใจและอยู่กับชีวิตความเป็นจริงพร้อมทั้งรับผิดชอบในภาระหน้าที่อย่างสุดความสามารถตามอัตภาพไปแต่ละวัน


                   ในช่วงที่ชีวิตพบกับวิกฤติแต่ก็มีโอกาสได้พบกับวัดหนองบัว ซึ่งเป็นสาขาหนึ่งของวัดสังฆทาน โดยการแนะนำของพี่ผู้หญิงสองคนที่ไปวัดนั้นอยู่ประจำซึ่งเป็นผู้มีคุณธรรมและมีน้ำใจดีมาก นั่นคือจุดเริ่มต้นที่ทำให้ได้นั่งสมาธิเต็มตามรูปแบบจนกระทั่งนั่งได้ ๒ ชั่วโมงเป็นเรื่องธรรมดา สามารถสวดมนต์ทำวัตรเช้า – ทำวัตรเย็นแปลโดยไม่ต้องดูหนังสือได้ตั้งแต่ตอนนั้น สำนักเล็กๆแห่งนั้นที่พระและแม่ชียังอยู่กุฏิหญ้าคา ทุกวันนี้มีกฏิร้อยหลังแล้ว นี้คือคุณของพระศาสนาที่ได้ปลูกฝังสิ่งดีงามให้แก่หลวงพ่อ ยังคิดถึงคุณของแม่ชีรุ่นเก่าๆจนทุกวันนี้


                    ต่อมาหลังจากลาออกจากทหารเมื่อเรียนจบปริญญาตรีจากรามคำแหง ชีวิตก็รุ่งเรืองอย่างรวดเร็ว สอบ ก.พ. ในตำแหน่งนิติกร ก็สอบได้ที่สามของประเทศ สอบอะไรก็สำเร็จหมดทุกอย่าง บางครั้งก็ฝันเห็นข้อสอบก่อนก็มี รับราชการมาทั้งหมด ๓ กระทรวง จนกระทั่งได้พบครูบาอาจารย์ท่านเตือนว่า “โยมไม่ได้เกิดมาเพื่อทางโลกนะ โยมเกิดมาเพื่อทางธรรม” จึงเกิดสติระลึกได้ถึงปณิธานเดิมที่ตั้งไว้เมื่ออายุ ๑๖ ปี จึงตัดสินใจสละทางโลกออกบวช


                    แม้บวชแล้วชีวิตก็ยังพบกับมรสุมสารพัด ทั้งการก่อตั้งสำนักและเรื่องพ่อแม่น้องๆ  ยี่สิบปีผ่านไปปัญหาทุกอย่างจึงค่อยๆคลี่คลาย หลานชายที่เกิดมาท่ามกลางความทุกข์ยาก ที่หลวงพ่อเป็นคนพาน้องสะใภ้ไปฝากครรภ์และตั้งชื่อด้วยตัวเองจนพยาบาลด่าเอา ด้วยความเข้าใจผิดว่าทำไมจึงแจ้งชื่อสามีคนไข้เป็นชื่ออื่นไม่ใช่ชื่อตัวเอง บัดนี้ก็เรียนจบปริญญาโทแล้ว


                    ส่วนพ่อที่เมาตลอดมา แม้ตอนตั้งสำนักแล้ว  ขณะเทศน์สอนคนอยู่บนศาลาและนั่งอ่านบาลีเพื่อสอบประโยค ๓ ใต้ต้นมะม่วงอยู่ สมัยนั้นพ่อก็ยังเมาเป็นที่รู้กันไปทั่วแดน ต่อมาเมื่อท่านอายุได้ ๕๙ ปี  ขณะนั้นหลวงพ่อกำลังนั่งแปลบาลีอยู่  พ่อก็เดินมาบอกว่า “อยากจะบวช จะบวชให้ได้ไหม” ได้ฟังแล้วถึงกับตกใจไม่เชื่อหูตัวเอง เหมือนกับว่าตัวเองได้ขึ้นสวรรค์ทั้งเป็นทีเดียว


                    พ่อบวชท่ามกลางการรอคอยของผู้คนว่า “ไม่นานก็คงสึกแล้วกลับไปเป็นขี้เมาตามเดิม” แม้แต่อดีตเจ้าคณะจังหวัดท่านก็ยังเย้าเอาว่า “ไม่คิดถึงหลวงพ่อแก้วหรือ?” (แก้วเหล้า)ตอนแรกท่านก็ขอบวชเป็นเณรผู้เฒ่าก่อน พอรู้สึกว่าบวชต่อไปได้ก็จึงขอญัตติอุปสมบทเป็นพระภิกษุในเวลาต่อมา


                    วันเวลาผ่านไป ๑๗ ปี ชายผู้เป็นขี้เมามาตั้งแต่เป็นหนุ่มจนอายุ ๖๐ ปี บัดนี้ได้กลายเป็น “พระครูกิตติธรรมาภิบาล เจ้าอาวาสชั้นโท” กำลังจะไปเข้าพิธีรับผ้าไตรและพัดยศที่วัดพระธาตุพนม จังหวัดนครพนมปลายเดือนนี้แล้ว นี่แหละหนอชีวิตของคน ที่โบราณท่านว่า “ชีวิตของบางคน ต้นคด ปลายตรง” หรือ “ชั่วเจ็ดที ดีเจ็ดหน” เป็นเช่นนี้เอง


                    ความทุกข์อันแสนสาหัสที่หลวงพ่อต้องรับภาระครอบครัวมาตั้งแต่อายุ ๑๖ ปี สิ่งที่ทุกข์ใจที่สุดก็คือเรื่องพ่อกับแม่ ปัญหาเหล่านั้นมาจบลงเมื่อหลวงพ่ออายุ ๕๑ ปี นับเวลาที่มรสุมชีวิตได้พัดผ่านและถาโถมมาอย่างยาวนานถึง ๒๕ ปี แล้วในที่สุดมรสุมชีวิตก็ผ่านไป


                    ขอให้สิ่งที่เล่ามานี้จงกลายเป็นขวัญและกำลังใจแก่ท่านทั้งหลายที่กำลังเผชิญกับมรสุมอยู่

 

                    ขอฝากไว้ประการหนึ่งว่า แม้พายุร้ายจะผ่านมารุนแรงเพียงใด จงถือเอาความซื่อสัตย์สุจริตไว้เป็นที่ตั้ง  จงมีสติคอยระวัง แม้ว่าจะทุกข์เจียนตายก็จงรักษาธรรมให้มั่นคงไว้


                    แม้จะยากจนข้นแค้นถึงขั้นต้องกินข้าวกับน้ำปลา ก็จงอย่าลักขโมยฉ้อโกงใคร แม้มีศัตรูมีคนเบียดเบียนคอยทำลาย ก็จงมีขันติอดทนอดกลั้นไว้อย่าโต้ตอบเบียดเบียนหรือคิดร้ายทำลายเขา

 

                    จงนึกถึงพระอริยเจ้าและพระโพธิสัตว์เจ้าเพื่อเป็นหลักชัยของหัวใจ แล้วชีวิตของเราจะผ่านพ้นภัยอันตรายและถึงฝั่งแห่งความสำเร็จสมดังปรารถนาอย่างแน่นอน

 


                    ขอให้ทุกคนจงผ่านพ้นอุปสรรคและปัญหาทั้งปวงโดยทั่วหน้ากันเทอญ

 

 

                                                                         คุรุอตีศะ
                                                                  ๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๘