ยอยกพระพุทธศาสนา

ยอยกพระพุทธศาสนา

 


              เมื่อครั้งพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก สถาปนากรุงรัตนโกสินทร์และสร้างพระราชวังในฝั่งพระนครในปัจจุบันเสร็จสิ้นแล้ว ทรงมีพระราชดำริว่า พระพุทธศาสนาทรุดโทรมอย่างหนัก ไม่มีพระเถระที่จะเป็นหลักชัยของพระศาสนาได้ในตอนนั้น ต้องทรงอาราธนาพระเถระผู้ทรงธรรมทรงวินัยขึ้นมาจากเมืองนครศรีธรรมราช เพื่อช่วยพระองค์ชำระพระศาสนา


              หลังจากที่พระองค์ได้ทรงเป็นองค์อุปถัมภ์ในการสังคายนาพระไตรปิฎกและวางระบบอันเกื้อกูลต่อพระศาสนาจนเรียบร้อยมั่นคงดีแล้ว  พระองค์ได้ประกาศต่อหน้าคณะสงฆ์หมู่ใหญ่ในครั้งนั้นว่า “บัดนี้การพระศาสนาจากที่เคยทรุดโทรมผุกร่อนมาช้านาน โยมนี้ได้จัดการช่วยพระคุณเจ้าจนเรียบร้อยดีแล้ว  นับแต่นี้ไป ในส่วนอาณาจักรขอเป็นภาระของโยม สำหรับพุทธจักรขอจงเป็นภาระของพระคุณเจ้าช่วยดำรงพระศาสนาให้เจริญรุ่งเรืองต่อไปเถิด”


               พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก เมื่อครั้งยังเป็นสามัญชน สมัยยังเป็นหนุ่มได้บวชในพระศาสนาอยู่ระยะหนึ่งก่อนจะเข้ารับราชการ  พระภิกษุทองด้วงกับพระภิกษุสิน (คือสมเด็จพระเจ้าตากสินในเวลาต่อมา)ได้เคยเดินบิณฑบาตด้วยกัน จนกระทั่งวันหนึ่งซินแสมาพบพระภิกษุสองรูปเดินบิณฑบาตอยู่  ได้หยุดยืนดูแล้วทำนายว่า “พระสองรูปนี้ต่อไปจะได้เป็นกษัตริย์ทั้งคู่” ทำให้ภิกษุทั้งสองหัวเราะออกมาด้วยความไม่เชื่อในคำทำนายแต่ต่อมาก็เป็นจริง


               พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ทรงทุ่มเทพระองค์ทุกอย่างเพื่อพระพุทธศาสนา  ทรงพยายามอุทิศเวลาหลังจากว่างจากพระราชภารกิจเพื่อ “บอกบาลี”ให้แก่พระภิกษุสามเณรเพื่อให้มีความรู้ในการศึกษาพระไตรปิฎก พระองค์ทรงมีพระปรีชาสามารถและมีความแตกฉานในภาษาบาลีกว่าพระภิกษุส่วนมากในยุคนั้น  หากเราเข้าไปชมวัดพระแก้วในทุกวันนี้ ก็จะเห็น “หอมณเทียรธรรม” นั่นแหละคือสถานที่บอกบาลีตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๑  จึงเป็นประเพณีในการทรงมอบพัดยศเปรียญธรรม ๙ ประโยคเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน


              การเรียนบาลีในสมัยก่อนยากกว่าสมัยนี้มาก ต้องแปลกันสดๆด้วยปากเปล่าต่อหน้าพระที่นั่งซึ่งมีพระเจ้าแผ่นดินทรงประทับนั่งเป็นประธานในการสอบ  หากไม่มีความรู้จริงหรือไม่มีความแตกฉานจริง  ถ้ากรรมการให้แปลประโยคแรกแล้วแปลไม่ได้ต้องอับอายไปทั้งวงศ์ตระกูล


              ด้วยเหตุนี้จึงมีเรื่องเล่าในสมัยรัชกาลที่ ๕ เมื่อครั้งทรงเสด็จไปประทับนั่งเป็นประธานในการสอบบาลี  ปรากฏว่ามีสามเณรปลดจากวัดเบญจมบพิตร สามารถตอบข้อสอบได้อย่างคล่องแคล่วจนสอบไล่ได้ถึงประโยค ๙  สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงทรงดีพระทัยจนถึงกับทรงลุกจากพระราชอาสน์ไปทรงแบกสามเณรน้อยขึ้นประทับบนอังสา(บ่า)ของพระองค์  แล้วตรัสด้วยความโสมนัสยิ่งนักว่า “สามเณรตัวน้อยแค่นี้เก่งจริงๆ  สามารถสอบได้ถึงประโยค ๙ เหมือนกับพระอย่างนี้ก็มีด้วย”


                จึงทรงจัดรถยนต์หลวงให้ไปส่งถึงวัด จนกลายเป็นประเพณีในการจัดรถยนต์หลวงส่งพระเปรียญธรรม ๙ ประโยค ในวันรับพัดยศจากพระบรมมหาราชวังจนถึงวัดมาจนทุกวันนี้


                วัดเบญจมบพิตรจึงเป็นวัดประจำรัชกาลที่ ๕  และภายหลังสามเณรรูปนั้นก็ได้เป็นถึงสมเด็จพระสังฆราชองค์ที่ ๑๔ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ในเวลาต่อมา


                 เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี พ.ศ. ๒๔๗๕ มาเป็นระบอบประชาธิปไตย พระพุทธศาสนาที่มีรูปแบบบริหารการปกครองที่อิงอยู่กับพระมหากษัตริย์ ความจริงแล้วก็ต้องเปลี่ยนไปด้วย แต่เนื่องจากคณะราษฎร์ผู้เปลี่ยนแปลงการปกครอง ซึ่งเป็นคนหนุ่มทันสมัยสำเร็จการศึกษามาจากฝรั่งเศสเป็นส่วนใหญ่ กำลังหลงใหลกลิ่นไอของการปฏิวัติในฝรั่งเศส แต่ขาดความรู้ความเข้าใจในเรื่องพระพุทธศาสนา  จึงได้มองข้ามหลักการในเรื่องพระพุทธศาสนาไป


                 ปัญญาชนในยุคนั้นมักเข้าใจผิดคิดว่า พระพุทธศาสนาจะเป็นแบบเดียวกับคริสต์ศาสนาในฝรั่งเศสที่เป็นศัตรูกับนักปราชญ์ นักคิด หรือนักวิทยาศาสตร์สมัยนั้น  ต่างคิดว่าพระพุทธศาสนาคือกาฝากของสังคม พวกเขาคิดว่าชีวิตของพระภิกษุก็คงเป็นแบบเดียวกันกับบาทหลวงในฝรั่งเศสหรือในยุโรปสมัยนั้น  นี้คือช่วงรอยต่ออันสำคัญที่ทำให้พระพุทธศาสนาง่อยเปลี้ยเสียขา  ตกอยู่ภายใต้การครอบงำของสถาบันอื่นและอยู่ตามประสามาถึง ๘๐ ปี


                เมื่อเปลี่ยนแปลงการปกครองในทางบ้านเมือง  ความจริงแล้วระบบการปกครองของคณะสงฆ์ก็ต้องเปลี่ยนแปลงไปด้วยเพื่อความสอดคล้องตามความเป็นจริงแห่งยุคสมัย  เราเคยมีพระราชบัญญัติคณะสงฆ์  พ.ศ. ๒๔๘๔  ซึ่งเหมาะสมที่สุดกับการเปลี่ยนแปลงการปกครองของไทย  แต่ก็ต้องถูกยกเลิกไปด้วยพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. ๒๕๐๕ เพื่อรวบอำนาจเข้าสู่ส่วนกลางตามแบบสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์  ทำให้การปกครองของคณะสงฆ์ซึ่งเป็นต้นแบบประชาธิปไตยมาแต่โบราณ  กลายเป็นรูปแบบของขุนนางข้าราชการอย่างที่เห็นอยู่นี้


               ใคร่ขออาราธนาพระเถรานุเถระและฝากไปถึงผู้มีอำนาจในบ้านเมือง ที่มีใจสุจริตหวังความรุ่งเรืองและมุ่งประโยชน์ต่อพระพุทธศาสนา  ขอจงอย่ามัวแต่ไปไล่จับพระสึก ประโคมข่าวเรื่องพระกับสีกาหรือมัวแก้กฎหมายเล็กๆน้อยๆเอาใจชาวโลกไปวันๆอยู่เพียงแค่นั้น เพราะนั่นคือการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ ที่แทบไม่เกิดผลดีต่อพระพุทธศาสนาอย่างแท้จริงแต่อย่างใด


               ในเมื่อในตอนนี้ใครๆต่างก็เรียกร้องหาประชาธิปไตย  ก็จงแก้กฎหมายของคณะสงฆ์เสียใหม่ให้สอดคล้องกับยุคสมัย ด้วยการกระจายอำนาจให้พระสงฆ์และญาติโยมในแต่ละท้องถิ่นเขาช่วยกันทำนุบำรุงพระศาสนาแบบก่อนจะมีพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. ๒๕๐๕   จึงจะเป็นการจรรโลงรักษาพระพุทธศาสนา ด้วยเรี่ยวแรงและสติปัญญาของชาวบ้านที่มีความเลื่อมใสศรัทธา ซึ่งเหมาะสมกับยุคสมัยใหม่ อันเป็นยุคประชาธิปไตยอย่างแท้จริง


              ขอฝากถึงผู้มีอำนาจในบ้านเมืองทั้งหลาย  ต่อไปนี้ขอจงเลิกนโยบายเอาคนติดคุก ติดยาเสพติดเข้ามาบวชในพระศาสนา  เขาเหล่านั้นจิตใจพังยับเยินมามากพอแล้ว จงช่วยเขาอย่างอื่นให้เขาได้กินได้เที่ยวตามประสาปุถุชนที่ใจเขาโหยหามาเป็นเวลานาน จะให้เขามาบวช อันเป็นสิ่งที่ทำได้ยาก มาอดอยากในหลายสิ่งหลายอย่างนั้นย่อมเป็นความทุกข์ทรมานของเขา


             ยกเว้นบุคคลที่ออกจากจากคุกแล้วใจของเขาเกิดความสลด มองเห็นโทษความไม่แน่นอนของชีวิตแล้วเขามีศรัทธาอยากบวช  อย่างนั้นแหละคือคนที่สมควรบวชและไม่ควรปิดกั้นบารมี


            คนที่เคยเกเร เคยเป็นโจรผู้ร้ายเข้ามาบวชในศาสนา แล้วสามารถเปลี่ยนจิตเปลี่ยนใจในภายหลังได้นั้น เป็นเพราะวัดในสมัยก่อน พระทั้งวัดส่วนใหญ่ท่านมีใจมั่นคงและมีสติมีสมาธิได้ฝึกฝนจิตมาพอสมควร เมื่อมีคนประพฤติไม่ดีมาก่อนหนึ่งคนบวชเข้ามา  พระในวัดอีก ๑๐ รูปซึ่งท่านฝึกจิตจนมีภูมิต้านทานมาอย่างดีแล้ว ท่านก็ย่อมสามารถช่วยกันเป็นพี่เลี้ยงช่วยกันขัดเกลาให้เขากลายเป็นคนดีได้  เหมือนกับน้ำใสจำนวน  ๑๐ ลิตร มีน้ำโคลน ๑ ลิตร ก็ยังใสได้


            พระส่วนใหญ่ในวัดทุกวันนี้  ตัวท่านเองก็มีภูมิคุ้มกันอันน้อยนิด  เมื่อมีเชื้อโรคเพิ่มสมาชิกเข้ามาใหม่  สุดท้ายนิสัยเก่าที่สะสมไว้ บวกกับของใหม่ที่เจริญเติบโตอย่างฉับไว ท่านก็ต้องมีอันทนไม่ไหว ในที่สุดก็ต้องยอมปล่อยตัวเองให้ว่ายตามกระแสน้ำไป ไม่สามารถมีเรี่ยวแรงและแข็งใจ ในการที่จะว่ายทวนกระแสน้ำตามอย่างที่พระพุทธองค์ท่านพร่ำเตือน


            ใครที่คิดอยากจะบวชแต่ยังไม่ได้บวชในตอนนี้  จึงควรรอไปอีกสักสามปีสถานการณ์ต่างๆจึงจะเอื้ออำนวยต่อการประพฤติธรรมในศาสนา  ส่วนพระหนุ่มเณรน้อยที่บวชเข้ามาแล้ว  หากเป็นพระป่าก็อย่าเอาแต่ดูหมิ่นปริยัติ เพราะแทบทุกวัดมีโทรศัพท์มือถือแล้ว เป็นพระบ้านก็อย่าไปสนใจอยากได้แต่ปริญญา เพื่อลดปมด้อยของตนเองแข่งกับชาวโลกจนเคร่งเครียดวิตกกังวล

 
           ควรหันมาสนใจการบำเพ็ญสมถภาวนาและวิปัสสนาภาวนา เพราะต่อไปพระที่มียศมีปริญญาจะไม่ได้รับความนับถือเท่ากับพระหลวงตาภูธรบ้านนอก ที่ท่านรู้จักภาวนาเหมือนคนโง่ไปวันๆ  เพราะท่านมีโอกาสได้ปริญญาภายใน อันเป็นปริญญาที่ประเสริฐและแท้จริงของพระพุทธเจ้า


             ฆราวาสผู้ครองเรือนก็ไม่ควรตำหนิติเตียนพระสงฆ์ให้ตัวเองเกิดอกุศลจิต เพราะจะมีผลต่อชีวิตและครอบครัวของเราที่เรายากจะหยั่งถึงได้  พระศาสนาเมื่อมีการเสื่อมโทรมก็ต้องมีผู้มีบุญบารมีเกิดมาช่วยค้ำจุนต่อไป  ท่านใดที่ผิดพลาดและล้มลงไป เราควรตั้งสติสลดใจในอิทธิพลของกิเลสและตระหนักในการที่สัตว์โลกทั้งหลายย่อมเป็นไปตามกฎแห่งกรรม


            จงเลิกการป่าวประกาศโพนทะนาความชั่วของคนอื่น  จงเอาความผิดพลาดเหล่านั้นมาเป็นบทเรียนเพื่อเราจะได้ไม่พลาดพลั้งหรือก้าวพลาดเหมือนอย่างเขา


            สิ่งทั้งหลายที่เราเห็นทุกวันนี้ ความจริงแล้วก็ไม่ใช่มีแต่ในยุคเรา ต้องไปอ่านพระวินัยปิฎกเราจะเห็นว่าสิ่งเหล่านี้มีมาแต่โบราณแล้วไม่ใช่เรื่องแปลกแต่อย่างใด  ทุกอย่างกำลังวิวัฒนาการไปสู่การกระทำสังคายนาครั้งใหญ่ภายหลังการขึ้นครองราชย์ของรัชกาลที่ ๑๐


            เราเกิดมามีชีวิตอยู่ร่วมกันในสมัยที่เรียกว่า “กลียุค” จึงต้องได้เห็นแต่การพูดถึงความชั่วความเลวของคนอื่นและการด่าทออย่างหยาบคายกันสารพัดในไลน์ ในเฟซบุ๊คสนุกสนาน  การด่ากันแบบนี้ก็จะเริ่มหายไปในอีกไม่นาน  เมื่อหัวใจของแต่ละคนเริ่มเกิดความเมตตาสงสารและมีความรักอันงดงามต่อเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน


            จงรักษาวาจาใจอย่าไปทำเหมือนอย่างเขา  จงรักษาใจของเราให้ผ่องใสทำแต่ความดีสำนึกคุณต่อสรรพสิ่ง  จงเคารพตนเองเคารพคนอื่น มีชีวิตอยู่อย่างมีสติและใช้ชีวิตอยู่ในความจริง จงยกย่องพระพุทธศาสนาไว้ในที่สูง อย่าเผลอเหยียบย่ำดูหมิ่นไปตามกระแสของสังคม


             จงน้อมนึกถึงความเหนื่อยยากของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก  ที่สมัยนั้นบ้านเมืองทรุดโทรมอย่างหนักแทบจะหาพระสงฆ์เป็นหลักในพระศาสนาไม่ได้ แม้กระนั้นพระองค์ก็ทรงบากบั่นวางรากฐานพระศาสนาโดยไม่ย่อท้อพระราชหฤทัย  ดังที่มีพระราชปณิธานจารึกไว้ตั้งแต่ต้นกรุงรัตนโกสินทร์ซึ่งปรากฏความสำคัญตอนหนึ่งว่า


                                 “ตั้งใจจะอุปถัมภก       ยอยกพระพุทธศาสนา
                                ป้องกันขอบขัณฑสีมา   รักษาประชาชนและมนตรี”

 

                                                                           คุรุอตีศะ
                                                                   ๒๕  ตุลาคม  ๒๕๕๗