กล้าที่จะจน

กล้าที่จะจน

 


                ในยามสถานการณ์ไม่ปกติ การทำมาหากินฝืดเคืองเงินทองไม่พอใช้จ่าย สิ่งที่จะคอยเป็นภูมิคุ้มกันให้หัวใจของเราได้อย่างดีก็คือ "ความกล้าที่จะจน"


                การปล่อยให้เหตุการณ์ภายนอกมาบีบบังคับให้เราต้องอยู่อย่างยากจน คือความทุกข์ระทมขมขื่น เพราะไม่ได้เตรียมใจไว้ ไม่ได้ปรับตัวไว้ก่อน เป็นความจำนนต่อสิ่งต่างๆอย่างไม่เต็มใจ ความทุกข์และความผิดหวังจึงบีบคั้นหัวใจมาก


                สำหรับผู้ดำเนินชีวิตด้วยปัญญา เมื่อมองเห็นเหตุการณ์ล่วงหน้าแล้วว่าต่อจากนี้ชีวิตจะไม่สมบูรณ์พูนสุขและมีความสะดวกสบายเหมือนก่อน ก็จะตัดสินใจปรับแผนการใช้ชีวิตใหม่ แทนที่จะปล่อยให้ความจนมาบีบคั้นจิตใจอย่างจำนน ก็ใช้ความกล้าหาญในการดำเนินชีวิตด้วยการ "กล้าที่จะจน" ซึ่งเป็นการอยู่กับความจนอย่างมีความเต็มใจอย่างมีสติ


                การไม่เคยเตรียมใจที่จะอยู่อย่างยากจนและยอมรับความจริงไม่ได้ จะทำให้ชีวิตอยู่อย่างระทมขมขื่นและอยู่อย่างผู้มีหัวใจแหลกสลายดุจพระเจ้าธีบอและพระราชินีศุภยาลัต ซึ่งเป็นกษัตริย์องค์สุดท้ายแห่งราชบัลลังก์พม่า

          
                การต้องถูกพันเอกสลาเดนบังคับให้เตรียมตัวเพียงสิบนาที เพื่อออกจากราชบัลลังก์แห่งกรุงมัณฑะเลย์โดยไม่เคยคาดคิดมาก่อนและเตรียมใจไว้  ย่อมไม่มีใครจะทำใจได้ พระองค์ต้องจากพระราชวังอย่างไม่ทันตั้งตัว กลายเป็นคนยากจนอย่างไม่ได้ตั้งใจ จึงเป็นความระทมขื่นอย่างยากจะบรรยาย ทำให้พระนางศุภยาลัตผู้เคยเป็นสตรีที่เปี่ยมด้วยอำนาจและเข้มแข็งอย่างที่สุดมาก่อน ต้องอยู่ในฐานะผู้มีหัวใจแหลกสลายไปจนวาะสุดท้ายของชีวิต


               กลายเป็นบาปกรรมครั้งใหญ่ของอังกฤษ ที่ได้ทำไว้ต่อชาวเอเชียอย่างดูหมิ่นเหยียดหยาม ทำให้จากที่เคยยิ่งใหญ่เรืองอำนาจสมัยพระนางเจ้าวิกตอเรีย กลายเป็นหมดอำนาจลงเรื่อยๆเพราะการเหยียบย่ำพระพุทธศาสนาในพม่าและย่ำยีทำลายราชบัลลังก์ของคนอื่น


               นับตั้งแต่นั้นราชบัลลังก์ของอังกฤษ ก็เริ่มมีชะตากรรมไม่ต่างจากประเทศทางแถบเอเชีย ที่ตนใช้กำลังอำนาจเหนือกว่าไปบีบคั้นประเทศเล็กๆในแถบนี้เพื่อการเผยแผ่ศาสนา โดยสำคัญว่าศาสนาของตนดีกว่าประเสริฐกว่า และมุ่งล่าอาณานิคมเพื่อนำความร่ำรวยกลับคืนสู่เมืองแม่ หลังจากกระทำต่อประเทศไทยในสมัยรัชกาลที่ ๕ หลังจากนั้นราชบัลลังก์อังกฤษก็เริ่มสั่นคลอนและเสื่อมลง ทำให้กษัตริย์ต้องคายอำนาจเปลี่ยนเป็น "ระบอบประชาธิปไตย" ที่กษัตริย์ต้องอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญอย่างสมบูรณ์ในปัจจุบัน


               อังกฤษที่เคยยิ่งใหญ่ หลังจากมาบีบคั้นเบียดเบียนประเทศไทยและกระทำย่ำยีทำลายราชบัลลังก์ของพม่า ซึ่งทั้งสองประเทศเป็นดินแดนแห่งพระพุทธศาสนาและประเทศไทยก็ไม่เคยได้ไปเบียดเบียนใคร หรือมุ่งไปบังคับให้ใครหรือประเทศใดให้หันมานับถือพระพุทธศาสนาอย่างที่อังกฤษและฝรั่งเศสชอบทำกับเมืองอื่นประเทศอื่น


               บาปกรรมที่ประเทศอังกฤษทำไว้ต่อดินแดนแห่งพระพุทธศาสนา นับแต่นั้นเป็นต้นมาอังกฤษจึงเป็นประเทศที่หมดบารมีจากที่เคยมีสมญานามว่า"ดินแดนแห่งพระอาทิตย์ไม่เคยตกดิน" ในกาลก่อน กลายเป็นเหลือเพียงเกาะอังกฤษที่แม้แต่สกอตแลนด์ก็ยังพยายามจะแยกตัวออกไปในปัจจุบัน


              ลองถามตัวเองว่าหากเราต้องถูกคนมีอำนาจกว่าเรามาก มาบีบให้เราออกจากราชบัลลังก์และต้องไปอยู่ในประเทศอื่นตั้งแต่อายุ ๒๘ พรรษา และต้องอยู่อย่างอัปยศและไร้พระเกียรติเช่นนั้นจนกระทั่งเสียชีวิตลงในต่างแดนเมื่อพระชนมายุ ๕๘ พรรษา โดยไม่ได้กลับแผ่นดินเกิดอีกเลย เราจะดำรงจิตและวางจิตอย่างไร?


              พระเจ้าธีบอนั้นพระองค์เคยบวชเป็นพระภิกษุมาสามพรรษา ก่อนจะมีผู้วางแผนให้พระองค์ขึ้นเป็นพระเจ้าแผ่นดิน ด้วยหวังจะใช้พระองค์เป็นหุ่นเชิดและใช้อำนาจนั้นไปตามอำเภอใจ พระองค์เป็นพระเจ้าแผ่นดินโดยไม่ได้ตั้งใจและเตรียมใจ และก็หมดอำนาจจากฐานะของกษัตริย์ไปแบบไม่ได้เตรียมใจและตั้งใจอีกเหมือนกัน


               เมื่อไปอยู่ที่เมืองรัตนคีรี ทางตอนใต้ของประเทศอินเดีย สิ่งที่ประคองใจของพระองค์ไว้ก็คือการสวดมนต์เช้าเย็นและแผ่เมตตาให้สรรพสัตว์มิได้ขาด


               พระเจ้าธีบอพระองค์ไม่เหมาะที่จะเป็นกษัตริย์ แต่เหมาะที่จะบวชเป็นพระตลอดไปมากกว่า ดังเช่นในกรณีที่พระองค์ถูกพระนางศุภยาลัตถามว่า "แผ่เมตตาให้สรรพสัตว์นั้น แผ่ให้พวกอังกฤษด้วยหรือเปล่า?" พระองค์ตอบว่า "ก็แผ่เมตตาให้ทั้งหมดเพราะเป็นเพื่อนร่วมทุกข์เกิดแก่เจ็บตายเหมือนกัน" พระนางไม่พอใจเพราะมีความอาฆาตต่ออังกฤษที่พระนางถือว่าได้มาทำลายทุกสิ่งทุกอย่าง ดังนั้น พระนางจึงบังคับพระเจ้าธีบอว่า "แผ่เมตตาให้ใครก็ได้ ยกเว้นคนอังกฤษ"  ตามพระอุปนิสัยที่ชอบบังคับพระราชสวามีที่เคยชินมาตั้งแต่อยู่ในกรุงมัณฑะเลย์


               ขึ้นชื่อว่าชีวิตของมนุษย์ย่อมมีดีมีชั่ว มีผิดมีถูก มีโอกาสได้ทำทั้งบุญและบาปด้วยกันทั้งนั้น จะยิ่งใหญ่สักแค่ไหนก็ต้องแตกดับหรือล่มสลายในสักวัน สิ่งสำคัญจึงไม่มีอะไรยิ่งใหญ่กว่าพระธรรมอันจะช่วยประคองหัวใจของเรา


               ตอนรุ่งเรืองอยู่ดีมีความสุข ย่อมเป็นธรรมดาของมนุษย์ที่จะมองศาสนาหรือธรรมะไม่มีความหมาย แต่สุดท้ายในบั้นปลายทุกชีวิตจะต้องมีวันหนึ่งที่ต้องร้องเรียกหาพระ การศึกษาหรือปฏิบัติธรรมก็คือการเตรียมฝึกฝนวิชาอันสำคัญของชีวิตไว้เพื่อใช้ในยามจำเป็น แต่การรอให้ชีวิตล่มจมเสียก่อนจึงจะสนใจธรรมะ ย่อมยากนักที่จะทำใจได้เพราะหัวใจไม่พร้อมที่จะอยู่อย่างต้อยต่ำหรืออยู่อย่างยากจน  พระพุทธองค์จึงตรัสว่า "การบวชเป็นของยาก  การยินดีในการบวชก็เป็นของยาก" เพราะต้องดำรงสติในการทวนต่อกระแสกิเลสตลอดเวลา


              ชีวิตของการบวชเป็นพระภิกษุ คือการกล้าที่จะอยู่อย่างยากจนอย่างตั้งใจและเต็มใจ นั่นคือเส้นทางอันยิ่งใหญ่ที่พระพุทธองค์ทรงพาดำเนินมาแล้ว ทรงยอมพลัดพรากจากสิ่งอันเป็นที่รักคือพิมพาราหุล พระราชวงศ์และพระราชวังอย่างตั้งใจเสียก่อน ก่อนที่สิ่งเหล่านั้นจะพลัดพรากจากพระองค์ไป โดยพระองค์ไม่เต็มใจและไม่เคยเตรียมใจแบบพระเจ้าธีบอ


              การบวชที่ท่านพรรณนาว่ามีอานิสงส์มาก ก็เพราะเป็นการตัดใจและเสียสละอันยิ่งใหญ่ เป็นหัวใจที่ตัดขาดจากสิ่งที่ชาวโลกหมายมั่นยึดถือและยากจะตัดใจได้ การบวชคือการจากสิ่งอันเคยเป็นที่รักที่เคยพันธนาการ มาอยู่อย่างยากจนด้วยความเบิกบาน อย่างตั้งใจและเต็มใจ ซึ่งต่างจากการสูญสิ้นบัลลังก์ไปแบบไม่ตั้งใจแบบอดีตกษัตริย์ธีบอ


                การตกจากตำแหน่งอันสูงส่งลงมาสู่ฐานะอันสามัญ ดุจการตกลงจากฟากฟ้าลงมาสู่พื้นดิน ย่อมคือความอัปยศอดสูใจยิ่งนัก ชีวิตเช่นนั้นย่อมเป็นการเจ็บปวดและระทมขมขื่นมาก


                แต่การยากจนแบบหลวงปู่สรวง เทวดาเดินดินแห่งศรีสะเกษ ที่นอนบนพื้นไม้กระดานสามแผ่นในกระท่อมร้างกลางทุ่งนา ไม่มีฝา ไม่มีผ้าห่ม คือความจนที่ประเสริฐและยิ่งใหญ่  ที่ผู้คนทั้งหลายพากันกราบไหว้บูชา  เป็นความยากจนที่เหนือความเป็นกษัตริย์และความร่ำรวยอื่นใด เป็นคนจนผู้ยิ่งใหญ่ที่ทั้งมนุษย์และเทวดาต่างพากันก้มศีรษะให้ด้วยความปีติและยินดี


               เป็นความจนที่แสนอิสระและเบิกบานใจ เป็นความยากจนที่น่าอัศจรรย์ใจที่คนรวยขับรถเบนซ์ลุยไปกลางป่ากลางทุ่งนา เพื่อให้หลวงปู่ผู้ยากไร้บางครั้งก็แทบไม่มีจีวรไม่มีเสื้อผ้า ให้ช่วยปัดเป่าความทุกข์ร้อนให้และยังขอโชคลาภขอความร่ำรวยจากหลวงปู่ผู้ไม่มีทรัพย์สมบัติอันใดแม้แต่กุฏิก็ไม่มี  จะหาสิ่งใดน่าอัศจรรย์เท่านี้ไม่มีอีกแล้ว


              เมื่อเราอินทรีย์ยังไม่แก่กล้าพอที่จะบวชในพระศาสนาหรือใช้ชีวิตอยู่ในวัด ก็จงลองฝึกหัดหัวใจให้ "กล้าที่จะจน" ตั้งแต่วันนี้


              พระพุทธองค์ท่านวางหลักให้พระอุปัชฌาย์คู่สวด สอนพระบวชใหม่ในโบสถ์ที่สละชุดนาคออกไปแล้วครองผ้ากาสาวพัสตร์อย่างเต็มตัวไว้ตั้งแต่วินาทีนั้นแล้วว่า "บัดนี้เธอบวชแล้ว เรื่องอาหารประทังชีวิต หากไม่มีอติเรกลาภ เธอก็จงถือภาชนะขอทานเขากินไปด้วยปลีแข้งของเธอ หากไม่มีใครสร้างกฏิให้อยู่อาศัย เธอก็จงนอนตามโคนไม้ไป หากไม่มีใครถวายจีวรให้ ก็จงไปหาเก็บเอาผ้าห่อศพหรือผ้าเปื้อนฝุ่นที่เขาทิ้งไว้ไปซักย้อมเพื่อนุ่งห่ม หากไม่มีใครถวายยารักษาโรค ก็ฉันลูกสมอสมุนไพรที่ดองไว้ในน้ำปัสสาวะของตนรักษาโรค"

 

                นี้คือหลักสำหรับบุคคลที่จะกล้าจน ที่พระองค์มอบเป็นมรดกไว้ให้ แก่ผู้ที่จะออกบวชใช้ชีวิตการประพฤติพรหมจรรย์ในเพศพระภิกษุ


                จงกล้าที่จะจน จิตใจของเราจะเกิดความหนักแน่นอดทนและแข็งแกร่งมาก ชีวิตที่กล้าจนอย่างยิ่งใหญ่ก็คือชีวิตของพระภิกษุและบุคคลที่เลือกชีวิตดำเนินจิตของตนมุ่งไปสู่ความเป็นพระอริยเจ้า

 

                ชีวิตของพระธุดงค์ก็คือผู้กล้าที่จะสละวัดและความสะดวกสบาย กลายเป็นคนยากจนที่มีแต่จีวรกลดและบาตร ค่ำไหนนอนนั่นดุจนกขมิ้นเหลืองหม่น  รุ่งอรุณก็บิณฑบาตคือขอทานเขากินเพื่อยังชีวิตให้เหลืออยู่เพื่อประพฤติธรรมต่อไป จนดวงจิตเกิดการพัฒนา จากที่ยากจนในภายนอก  ค่อยๆรวยขึ้นมาข้างใน  จากเคยเท้าบางแต่มีกิเลสมาก กลายเป็นเท้าหนาแต่กิเลสหมดไป  กลายเป็นผู้ยากไร้สมบัติภายนอก แต่หัวใจไม่ขาดแคลนสิ่งใดอีกเลย


                

                 นี้คือวิถีแห่งความจนที่ต่างจากฆราวาสปุถุชนที่ยากจนโดยทั่วไป ความจนเช่นนี้กลับเต็มเปี่ยมและนำมาซึ่งความสุขและเบิกบานใจ เป็นชีวิตที่พระอริยเจ้าทั้งหลายท่านเลือกเดิน พระอรหันต์ทั้งปวงก็คือผู้เลือกวิถีแห่งความยากจนลักษณะนี้


               ชีวิตแห่งความเป็นผู้กล้าที่จะอยู่อย่างยากจนอย่างเต็มใจ จะมีพลังอันยิ่งใหญ่ เป็นชีวิตที่ดูยากจนแต่ภายนอก แต่ภายในหัวใจนั้นช่างยิ่งใหญ่และเป็นมหาเศรษฐีเหนือกว่าใคร  เราจงหมั่นเจริญสติเพื่อเดินตามรอยของท่านเหล่านั้น  ซึ่งชีวิตของท่านมีความเต็มเปี่ยมอยู่ภายในตลอดกาล

 

 

                                                                                      คุรุอตีศะ
                                                                               ๒๔ ตุลาคม ๒๕๕๗