เข้าหาครูบาอาจารย์

เข้าหาครูบาอาจารย์

 


                 ยามชีวิตถึงทางตัน  หาทางออกไม่ได้  จิตใจสับสนวุ่นวายจนทำอะไรไม่ถูก ในช่วงเวลานั้นกำลังสติจะอ่อนมากกว่าเวลาปกติ  เมื่อสติอ่อนหรือสติไม่เกิด  ปัญญาในการวินิจฉัยปัญหาและการตัดสินใจในเรื่องต่างๆ ก็จะผิดเพี้ยนและไม่ถูกต้องตามที่ควรจะเป็น  ในภาวะเช่นนั้นคนส่วนใหญ่จึงมักจะทำอะไรด้วยอารมณ์หรือประชดประชันมากกว่าที่จะใช้เหตุผล


                ในยามที่ชีวิตประสบกับภาวะเช่นนั้น  อย่าเอาแต่หมกมุ่นครุ่นคิดด้วยความกลัดกลุ้มอยู่คนเดียว  แต่จงเข้าหาครูบาอาจารย์หรือผู้ที่มีคุณธรรมที่เราเคารพนับถือ แล้วบอกเล่าความอัดอั้นตันใจ ความเคร่งเครียด ความกระวนกระวาย ที่กำลังเผาลนจิตใจอยู่นั้นให้ท่านได้รับรู้รับทราบความทุกข์ของเรา

 
              ท่านจะได้ช่วยขจัดปัดเป่า หรือช่วยแผ่เมตตาให้ปัญหาเหล่านั้นได้ผ่อนจากหนักเป็นเบา เพราะครูบาอาจารย์ผู้ทรงคุณธรรมย่อมมีความเมตตาและความกรุณาต่อผู้ที่มีความทุกข์อยู่แล้ว อันเป็นปกติวิสัยของท่าน  การที่ท่านได้รับรู้ปัญหาของเรา ท่านอาจมีวิธีช่วยตามวิธีของท่าน  โดยเรานั้นอาจไม่รู้ว่าท่านช่วยก็ได้  เรื่องราวบางอย่างอาจคลี่คลายไปอย่างเรานึกไม่ถึง


             การเข้าหาครูบาอาจารย์  เป็นวิสัยและเป็นหน้าที่ของศิษย์ที่ควรปฏิบัติยามที่เรามีความทุกข์ร้อน  การมีปัญหาหรือมีความทุกข์แต่ไม่ยอมเข้าหาครูบาอาจารย์  บางทีก็เป็นทิฐิมานะประการหนึ่ง  ซึ่งส่วนใหญ่แล้วจะตัดสินใจทำในสิ่งที่ผิดพลาด  เพราะทิฐิมานะคืออกุศลจิต  มารจะได้ช่องในการดลจิตให้เห็นกงจักรเป็นดอกบัว  คนมีทิฐิมานะจึงมักมีเหตุชักจูงให้หลงผิดหรือทำในสิ่งที่ไม่ควรกระทำ  ทั้งนี้ก็เป็นเพราะมีวิบากกรรมที่ถือทิฐิมานะนั่นเอง


             การเข้าหาครูบาอาจารย์  เป็นสภาพจิตที่เต็มไปด้วยความเคารพอ่อนน้อม  จิตในขณะนั้นจะเป็นบุญประเภทหนึ่ง เรียกเป็นภาษาบาลีว่า "อปจายนมัยบุญ" (อะ-ปะ-จา-ยะ-นะ-ไม-บุน) เป็นกุศลจิต  จะมีอานิสงส์คือเกิดกำลังใจและคลายความหนักอกหนักใจทันตาเห็น  เพราะใจเป็นบุญอันเกิดจากความเคารพอ่อนน้อมถ่อมตนและลดละทิฐิมานะของตนได้  ทำให้มีพลังด้านบวกสามารถคลี่คลายวิบากกรรมที่กำลังถาโถมเข้าและเป็นการสะเดาะเคราะห์แบบพุทธวิธี


               การลดละทิฐิมานะยอมเข้าหาครูบาอาจารย์เป็นมงคลชีวิต  เป็นกุศลจิต เทวดาจะคุ้มครองรักษาด้วยความเต็มใจ  แม้ผู้นั้นจะเป็นคนสมัยใหม่ไม่เชื่อว่ามีเทวดาก็ตาม

 
              ส่วนการที่บุคคลเอาแต่รอว่าเมื่อไหร่ครูบาอาจารย์จะเมตตา จะช่วยเหลือ หรือใช้เจโตปริยญาณช่วยเหลือเรา  โดยไม่ยอมเอ่ยปากหรือไม่ยอมเข้าหา การคิดเช่นนั้นจัดเป็นทิฐิมานะ เป็นอกุศลจิต  ไม่เป็นผลดีที่จะก่อให้เกิดเมตตาจิตแก่ชีวิตของตนเอง


             บุคคลนั้นแม้ครูบาอาจารย์บางท่านจะมีเจโตปริยญาณจริง  ท่านก็มักวางเฉยเป็นอุเบกขาแม้ว่าบางเรื่องจะสามารถช่วยเหลือเขาได้ เนื่องจากเขายังมีวิบากกรรมคือความอวดดีท้าทายหรือยังมีทิฐิมานะไม่ยอมร้องขอหรือเอ่ยปาก  ท่านก็ปล่อยให้เป็นไปตามกรรมของสัตว์โลก  แทนที่เขาจะซื่อตรงกับตัวเองแล้วเอ่ยปากกับท่าน อันแสดงถึงจิตที่อ่อนโยนและอ่อนน้อมควรแก่ความเมตตา  เขากลับไม่ทำ  คนเช่นนั้นจึงพลาดโอกาสที่ดีๆในชีวิตไปมากมาย


             นี้คือสาเหตุใหญ่ของผู้คนสมัยนี้ที่มักหาทางออกให้แก่ชีวิตไม่ได้  เพราะมักมีทิฐิมานะหรือมั่นใจในตัวเองมากเกินไป  พยายามจะแก้ปัญหาด้วยตนเอง  ทั้งๆที่ในสภาวะเช่นนั้น  สติปัญญาของตนแทบไม่เหลือแล้ว ทั้งกำลังใจก็อ่อนแอ  แม้จะเคยเป็นคนเข้มแข็งตัดสินใจอะไรได้ฉับไว แต่ก็จะกลายเป็นคนขี้ลังเลตัดสินใจอะไรไม่ค่อยได้ เนื่องจากบุญกุศลที่เคยค้ำจุนชีวิตเริ่มอ่อนแรงริบหรี่  บุคคลเช่นนี้แหละที่สมควรอย่างยิ่งที่จะเข้าหาพระผู้รู้หรือครูบาอาจารย์ แล้วชีวิตจะดีขึ้น


            การไปวัด  ไม่ใช่เพียงแค่การเอาสิ่งของหรือเงินทองไปทำบุญบริจาค  แต่คือการสร้างโอกาสให้แก่ตัวเอง  ในการที่จะได้มีที่พึ่งทางใจในยามที่เราอ่อนแอหรือขาดความมั่นใจในชีวิต สิ่งเหล่านี้ต่างหากคือสิ่งสำคัญของการไปวัด ที่พุทธบริษัทในยุคนี้มักมองข้ามไป


              ยิ่งยามใดที่เราไม่ค่อยมีเงินหรือมีปัญหาชีวิตรุมเร้ามาก  เรายิ่งต้องไปวัด  ไปรักษาศีล ฟังธรรม  แม้ไม่มีเงินติดตัวสักบาท  วัดก็เป็นที่พึ่งให้แก่เราในยามยากได้เสมอ


             ครูบาอาจารย์ที่แท้จริงนั้น  โดยปกติแล้วท่านไม่ได้หวังวัตถุเงินทองสิ่งของจากเรา นอกจากจะอบรมสั่งสอนให้เราใช้ชีวิตไปในทางที่ถูกต้อง  และหวังให้ทุกคนมีความสุขความเจริญรุ่งเรือง

 

             ส่วนการทำบุญหรือการบริจาคสิ่งของเงินทอง  ถือเป็นสิ่งรองลงไป เมื่อเรามีกำลังทรัพย์พอที่จะทำได้และเกิดความเลื่อมใสศรัทธาอยากจะทำบุญเพื่อความชื่นใจของตัวเราเอง


               ในยามทุกข์ร้อนหรือมีปัญหา  จงกล้าที่จะเข้าหาครูบาอาจารย์และบอกกล่าวเรื่องราวที่หนักอกหนักใจให้ท่านได้รับรู้ ขอให้เข้าใจไว้ว่า ในยามที่ชีวิตของเราพบทางตันหรือมืดมนเช่นนั้น  ในช่วงเวลานั้นไม่เรียกว่าเป็นการรบกวนครูบาอาจารย์แต่อย่างใด


              การที่เรามีปัญหาหรือมีความทุกข์ร้อนแล้วไม่ยอมบอกท่านเสียอีก  บางครั้งหรือบางเรื่องราวกลับจะเป็นการขาดความเคารพต่อท่านด้วยซ้ำไป  การดันทุรังทำในบางสิ่งต่อไปตามอารมณ์หรือตามความคิดนึกของตัวเอง ส่วนใหญ่จะเป็นความผิดพลาดมากกว่าที่จะเป็นผลดีแก่ชีวิตของตัวเอง


              ให้ถือเป็นหลักว่า การอยากเข้าหาครูบาอาจารย์ที่ไม่ใช่การมุ่งเอาแต่ได้ เอาแต่ใจหรือดันทุรังด้วยทิฐิมานะเอาตัวเองเป็นใหญ่ หากการเข้าหานั้นเกิดจากใจที่มีความเคารพยำเกรงเป็นพื้นฐานของจิตแล้ว  การเข้าหาครูบาอาจารย์เพื่อให้ช่วยคลายความทุกข์ร้อน  จะเป็นมงคลแก่ชีวิตอย่างคาดไม่ถึงเลยทีเดียว


              อย่าไปวัดเพียงแค่ไปทำบุญบริจาค  แต่ควรเพิ่มบุญบารมีของตัวเองด้วยการกล้าสละทิฐิมานะยอมให้ท่านอบรมสั่งสอน  อย่าไปวัดเพียงแค่หวังทำกิจกรรมเพื่อความมีหน้ามีตาหรือพอใจแค่การทำพิธีกรรมไปตามประเพณี  แต่การไปวัดคือการไปสร้างสมบุญบารมีและไปฝึกฝนจิตใจให้เราได้พบที่พึ่งอันประเสริฐต่างหาก


              ยามที่ชีวิตของเรามีความสุข มีความเจริญรุ่งเรืองตามปกติ  การทำบุญบริจาคเพื่อการค้ำจุนพระศาสนาและบำเพ็ญทานบารมี  เราก็ทำได้อย่างเต็มกำลังไม่มีความย่อท้อ


             ในยามใดที่เราประสบปัญหาหรือมีความทุกข์ร้อนหาทางออกให้แก่ตัวเองไม่ได้  อย่าลืมว่ายังมีครูบาอาจารย์ที่จะคอยเป็นหลักชัยให้แก่เราในยามที่เรากำลังเคว้งคว้างหรือซวนเซ


             พระศาสนาที่ดำรงมาได้นับแต่โบราณกาลจนถึงพวกเราทุกวันนี้  แต่แรกเริ่มเดิมที พระศาสนาอันประเสริฐนี้อยู่ในฐานะผู้ให้ มิใช่ผู้รับ         คือการเป็นมิ่งขวัญกำลังใจและการเป็นที่พึ่งเป็นที่พำนักของสัตว์โลก นี้คือความศักดิ์สิทธิ์และความยิ่งใหญ่ของพระศาสนาตลอดมา


               ในยามที่เรามีความสุขมีความรุ่งเรืองมีเงินมีทอง เราก็ทำบุญหรือบริจาคเพื่อเปลี่ยนทรัพย์ธรรมดาให้กลายเป็นอริยทรัพย์ อันเป็นทานบารมีซึ่งจะติดตามเราไปในภายภาคหน้า


               ส่วนเมื่อถึงยามใดที่เรามีความทุกข์ร้อน มีปัญหาหรือมีคราบน้ำตา ขอให้เราจงรับรู้ว่า ครูบาอาจารย์ย่อมเป็นที่พึ่งให้แก่เราในยามยากได้เสมอ  ขอจงดำรงศรัทธาเช่นนี้ไว้เพื่อความเป็นมงคลในชีวิตและเป็นกำลังใจตลอดไป

 

                                                                                             คุรุอตีศะ
                                                                                      ๖  ตุลาคม  ๒๕๕๗