การภาวนาในชีวิตจริง

การภาวนาในชีวิตจริง

 

         
                การทำสมาธิภาวนาตามรูปแบบที่ครูบาอาจารย์รุ่นก่อนท่านสอนไว้  ส่วนใหญ่เป็นการสอนสมาธิภาวนาให้แก่พระภิกษุหรือบุคคลที่พร้อมที่จะใช้ชีวิตในอารามแล้ว


               หากเป็นฆราวาสยังไม่บวชเป็นพระภิกษุ ก็ต้องรักษาศีลแปดและไม่ประกอบอาชีพการงานให้เป็นปลิโพธความกังวลแก่จิตใจ เมื่อไม่มีอาชีพและภาระใดๆ สมาธิของท่านจึงเกิดง่าย เพราะสภาพแวดล้อมและการดำเนินชีวิตเป็นสัปปายะและเกื้อกูลแก่การปฏิบัติธรรม


              การปฏิบัติธรรมแบบนั้น  เป็นการปฏิบัติตามหลักไตรสิกขา อันได้แก่ ศีล สมาธิ ปัญญา  ซึ่งเป็นหลักปฏิบัติสำหรับพระภิกษุผู้ซึ่งไม่มีอาชีพภาระใดๆให้ต้องกังวลโดยตรง ผู้ปฏิบัติต้องรักษาศีลหรือทรงพระวินัยให้บริสุทธิ์สะอาดหมดจด  ถ้าเป็นพระภิกษุต้องบำเพ็ญอภิสมาจารเพื่อเกื้อกูลแก่สติพร้อมดำรงข้อวัตรปฏิบัติอย่างเคร่งครัด  ซึ่งพระกรรมฐานสายวัดป่าจะมีความเด่นชัดในการปฏิบัติและเป็นแบบอย่างได้อย่างดีดังที่ปรากฏอยู่


               เมื่อปฏิบัติข้อวัตรและรักษาพระวินัยอย่างเคร่งครัด  ศีลอันหมดจดจะทำให้สมาธิเกิดได้ง่ายเมื่อได้ปัจจัยอันสมควรและถึงพร้อม  เมื่อได้รับการอบรมและฟังธรรมเกี่ยวกับพระไตรลักษณ์ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา  ก็จะเกิดปัญญาและวิปัสสนาญาณก็จะเกิดขึ้นตามลำดับจนกระทั่งโสดาปัตติมรรคทำหน้าที่ตัดสังโยชน์เบื้องต่ำได้สามประการกลายเป็นพระอริยบุคคล


             สำหรับพวกเราในยุคสมัยปัจจุบันทุกวันนี้  เราอยู่ในช่วงกลียุคที่ผู้คนในสังคมน้อยคนจะสามารถประคองตนอยู่ในศีลได้อย่างหมดจดเหมือนยุคสมัยเมื่อห้าสิบปีก่อน  ผู้คนส่วนใหญ่ตกเป็นทาสของวัตถุแรงยั่วยุทางกามารมณ์และเทคโนโลยีความทันสมัย  ยากที่จะประคองกาย ประคองใจให้อยู่ในครรลองของศีลห้า  เราจึงต้องปรับตัวการทำสมาธิภาวนาโดยรู้เท่าทันยุคสมัย ด้วยการรู้จักประคองจิตรักษาคุ้มครองด้วยการเจริญสติธรรมชาติให้มากขึ้น


           การภาวนาเพื่อประคองชีวิตและจิตใจของเรา ให้อยู่รอดปลอดภัยจากกระแสคลื่นของกิเลสและกระแสของความสับสนวุ่นวายของโลกในช่วงเวลาระยะนี้   ไม่ว่าท่านที่เป็นบรรพชิตที่ต้องมีภาระหน้าที่หรือเป็นฆราวาสผู้ยังมีภาระครอบครัวอาชีพการงาน ขอให้เน้นเรื่องสติการตื่นรู้ในทุกอิริยาบถในชีวิตประจำวันเป็นหลัก   การเจริญสตินี้จะเป็นที่พึ่งทั้งในยามสมหวังหรือผิดหวัง


             การเจริญสติอย่างเป็นธรรมชาติในชีวิตประจำวัน  ย่อมทำได้ทั้งพระและฆราวาส หากเป็นพระแม้ไม่ได้เคร่งพระวินัยและข้อวัตรแบบพระกรรมฐานก็สามารถปฏิบัติได้  แม้ผู้ยังอยู่ในวิถีฆราวาสมีภาระครอบครัวก็สามารถใช้สติตัวนี้ช่วยประคองรักษาใจ  การปฏิบัติวิธีนี้ไม่จำเป็นต้องรักษาศีลแปดก็ได้  เพียงประคองตนให้อยู่ในศีลห้าไปแต่ละวัน จิตใจก็ร่มเย็นแล้ว


           การรักษาศีลหรือพระวินัยอย่างเคร่งครัด ก็เพื่อการบรรลุอัปปนาสมาธิอันเป็นองค์ฌาน เป็นการปฏิบัติที่เหมาะสำหรับพระภิกษุผู้ไม่มีความรับผิดชอบภาระการงาน และโยคี ดาบส ฤาษี ผู้หลีกเร้นอยู่ตามถ้ำตามป่า  พระป่าสายปฏิบัติทั้งหลายจึงต้องเคร่งครัดในพระวินัยเพื่อบรรลุสมาธิชนิดนี้


          ส่วนผู้ที่ยังมีภาระหน้าที่การงาน หรือชีวิตของฆราวาสที่ยังต้องเกี่ยวข้องกับกามารมณ์  แม้จะพากเพียรนั่งสมาธิเดินจงกรมปฏิบัติตามที่ท่านพรรณนาไว้สักเพียงใด  ก็ยากจะเกิดสมาธิแบบนั้นได้ เพราะสภาพแวดล้อมและชีวิตจริงในแต่ละวันไม่เป็นสัปปายะและเกื้อกูลแก่การเกิดขึ้นของอัปปนาสมาธิ สภาวะอันได้แก่ วิตก วิจาร ปีติ สุข เอกัคคตา อันเป็นองค์ประกอบของปฐมฌาน ย่อมไม่สามารถเกิดได้กับผู้ที่ยังใช้ชีวิตที่เต็มไปด้วยปลิโพธความกังวล


           อีกอย่างหนึ่งที่อยากกล่าวไว้ในที่นี้ เพื่อสำหรับบางท่านที่บำเพ็ญปฏิบัติพระกรรมฐานมานาน  หากวันใดเกิดได้สมาธิถึงขั้นอัปปนาสมาธิ  ต้องระวังอย่าได้เกี่ยวข้องทางการมารมณ์กับคู่ครองหรือกับใครในระหว่างนั้นจนกว่าสมาธิจะคลายตัวมาอยู่อารมณ์ปกติ ทางที่ปลอดภัยควรขออนุญาตคู่ครองไปรักษาศีลแปดอยู่ในวัดเพื่อประคององค์ฌานไว้  หากไม่เข้าใจในเรื่องนี้ฆราวาสผู้ได้อัปปนาสมาธิอาจเกิดสภาวะวิปลาสได้ เพราะร่างกายและจิตใจปรับตัวไม่ทัน

 
          การปฏิบัติธรรมที่จะไม่พบกับความวิปลาสและปลอดภัยมีแต่คุณอย่างเดียว  ซึ่งเหมาะสมอย่างยิ่งทั้งแก่พระภิกษุผู้เป็นคามวาสีและฆราวาสผู้ครองเรือน  ก็คือการเจริญสติสมาธิภาวนาที่พยายามถ่ายทอดมาสู่ท่านทั้งหลายตลอดหนึ่งปีเศษมานี้  เพราะผู้ที่มาอ่านธรรมะทางอินเทอร์เน็ตส่วนใหญ่คิดว่าน้อยนักที่จะเป็นพระป่าสายกรรมฐานที่ปฏิบัติตามแนวศีล สมาธิ ปัญญาอยู่ในป่า  ดังนั้นจึงเน้นการสอนและถ่ายทอดการเจริญภาวนา ให้เหมาะกับจริตนิสัย สภาพแวดล้อม และการดำเนินชีวิตตามความเป็นจริงของแต่ละคนที่ใช้ชีวิตอยู่ในสังคม


                หากบรรพชิตหรือผู้ที่ใช้ชีวิตในอารามอย่างเรียบง่าย  หมั่นปฏิบัติตามแนวการเจริญสติตามธรรมชาติดูจิตดูใจไป  การอยู่ในอารามที่สงบไม่ค่อยได้วุ่นวายกับใคร ยิ่งจะทำให้สติเจริญงอกงามเข้มแข็งรวดเร็วยิ่งขึ้น

 
               ที่สำคัญอย่างยิ่ง จะทำให้การปฏิบัติธรรมของผู้นั้นเป็นไปอย่างเป็นธรรมชาติและเบาสบาย  ไม่มีความเคร่งเครียด จะมีความแจ่มใสประกอบด้วยเมตตาจิต สามารถประกอบกิจการงานตามสมควรเพื่อช่วยเหลือเกื้อกูลคนอื่นและงานพระศาสนาได้อย่างดีอีกด้วย


              ความแววไวแห่งสติย่อมทำให้จิตควรแก่การงานและนุ่มนวลไปตามลำดับ  เมื่อสติเพิ่มพูนจนได้ที่ อัปปนาสมาธิจะเกิดขึ้นพร้อมกับโสดาปัตติมรรคทำหน้าที่ละสังโยชน์เบื้องต่ำสามประการในทันที

 

              การปฏิบัติแบบนี้คือมัชฌิมาปฏิปทาหรือทางสายกลางสำหรับผู้มีปัญญาเด่นกว่าศรัทธา  ผู้ที่มีจริตนิสัยชอบใช้สติปัญญาและมีศีลอยู่เป็นปกติ ควรปฏิบัติวิธีนี้ จะทำให้พบกับความสงบร่มเย็น รู้ ตื่น เบิกบานอยู่ภายใน  ทั้งยังปฏิบัติได้เสมอตลอดทั้งวันอีกด้วย


             การปฏิบัติธรรมตามแนวนี้  ภาระการงานหรือการเกี่ยวข้องกับกามารมณ์ตามวิสัยของสามีภรรยาย่อมไม่เป็นอุปสรรคต่อการปฏิบัติ  เพราะไม่ได้มุ่งเอาอัปปนาสมาธิแบบพระภิกษุผู้อยู่ป่าหรือดาบสโยคีฤษีผู้บำเพ็ญฌาน  จึงไม่ต้องใช้หลักการรักษาศีลหรือพระวินัยอย่างเคร่งครัดเพื่อเป็นบาทฐานแห่งสมาธิ  แต่คือการเจริญสติให้เพิ่มพูนทีละน้อยดุจการจับด้ามมีด  ซึ่งเมื่อจับหรือถือใช้งานบ่อยๆเข้า  ด้ามมีดก็ค่อยๆสึกหรอไปตามลำดับ ความเจริญงอกงามของสติก็ทำนองเดียวกันนั้น


            คนที่บกพร่องเรื่องศีลหรือรู้สึกว่าตัวเรานี้ไม่ค่อยจะมีความดีอะไร  ก็สามารถเจริญสติได้โดยหัดดูความทุกข์และความเศร้าหมองใจที่กำลังเกิดขึ้นในขณะนี้  ร้องไห้ก็รู้ตัวว่าร้องไห้  น้อยใจก็รู้ว่าน้อยใจ  เสียใจก็รู้ว่าเสียใจ  ค่อยๆทำอย่างนี้เรื่อยไป  สติจะค่อยๆเกิดขึ้น ส่วนบุคคลใดที่ประพฤติตนดีมีศีลอยู่แล้ว  สติก็จะยิ่งคมชัดและเกิดง่ายและจะพบกับความสงบได้ทุกวัน


                คนสมัยนี้ที่ใช้ชีวิตอยู่ท่ามกลางความสับสนวุ่นวาย สมควรอย่างยิ่งที่จะต้องหันมาปฏิบัติวิธีนี้ จิตใจจึงจะเกิดภูมิต้านทานต่อมรสุมของชีวิตและความหม่นหมองทั้งหลาย  เพราะเมื่อสติมีมากขึ้น  จิตจะนุ่มนวลอ่อนโยนมากขึ้น ความชั่วความผิดพลาดบกพร่องที่เคยมีจะเริ่มลดถอยลงไป คุณงามความดีจะเริ่มไหลเข้ามาสู่จิตใจ บุคคลนั้นจะกลายเป็นคนใหม่ที่มีหัวใจสดใสกว่าเดิม


              การเดินจงกรม นั่งสมาธิ ตามหลักไตรสิกขา โดยปกติแล้วย่อมเหมาะสำหรับพระหรือนักบวชผู้ไม่มีอาชีพภาระการงานใดๆ  ส่วนผู้ที่ยังมีภาระหรือยังใช้ชีวิตตามความเป็นจริงอยู่ในโลก จงหันมาปฏิบัติสติธรรมชาติแล้วเดินตามหลักของ ทาน ศีล ภาวนา  ซึ่งการภาวนาของท่านในที่นี้ ก็คือการประคองใจอยู่ในกุศลและการเจริญสติในชีวิตประจำวันตามความเป็นจริงนั่นเอง


             ขอให้จำไว้เป็นหลักประการหนึ่งว่า การทำสมาธิภาวนาด้วยการเพ่งหรือเอาจิตไปจดจ่อสิ่งใดสิ่งหนึ่งเพื่อให้จิตนิ่ง สงบ หยุดคิด  อาการเช่นนั้นยังอยู่ในขั้นของสมถภาวนา ต้องอยู่ในสำนักหรือใกล้ชิดครูบาอาจารย์เพื่อคอยแก้อารมณ์หรือแก้ไขจิต เพื่อป้องกันความวิปลาสหรือวิปัสสนูปกิเลสที่อาจเกิดขึ้น  การปฏิบัติแบบนั้นต้องมีศีลหมดจดและเคร่งครัด ต้องอยู่ในที่สงัดวิเวกหรือห่างไกลจากผู้คนและสิ่งอันเป็นปลิโพธต่างๆ  สมาธิอันเป็นองค์ฌานจึงจะเกิด


              สำหรับการปฏิบัติโดยวิธีการเจริญสติอย่างเป็นธรรมชาติ  ในภายนอกผู้ปฏิบัติอาจจะเหมือนไม่ได้ปฏิบัติ  แต่ภายในจิตใจของผู้นั้นย่อมมีการปฏิบัติอยู่ตลอดเวลา  สมดังที่หลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต ที่ท่านเคยเมตตาตักเตือนพระเณรสมัยที่ท่านยังทรงสังขารอยู่คำหนึ่งว่า “อยู่ที่ไหนก็ขอให้ปฏิบัติ  สติมีอยู่ในที่ใด  ความเพียรย่อมมีในที่นั้น  เมื่อใดไม่มีสติ แม้เดินหรือนั่งแค่ไหน ก็ยังไม่ใช่ความเพียร” นี้คือคำสอนของผู้บรรลุถึงฝั่งแห่งพระนิพพานแล้วมีความเมตตาต่อผู้ปฏิบัติ


            ในประวัติของหลวงพ่อชา สุภทฺโท สมัยที่ท่านยังเป็นพระหนุ่มแสวงหาครูบาอาจารย์และออกปฏิบัติ  ที่ท่านได้เล่าถึงปฏิปทาของหลวงปู่กินรีว่าไม่เห็นท่านเดินจงกรมหรือนั่งสมาธิ แล้วหลวงปู่กินรีรู้วาระจิตกล่าวออกมาว่า “เราปฏิบัติอยู่ตลอดเวลา เธอไม่เห็นหรือ?” ความหมายก็คือท่านมีสติอยู่ตลอดเวลา  พระผู้บรรลุแล้วท่านจึงไม่จำเป็นต้องนั่งสมาธิอีก นอกจากเวลาที่ท่านต้องการเข้าสมาบัติหรือธิษฐานจิตด้วยเหตุผลอย่างใดอย่างหนึ่ง


                    ดังนั้น  หลักของการเจริญภาวนาในชีวิตความเป็นจริง  จึงได้แก่การเจริญสติดูกาย ดูใจไว้เสมอไม่ว่าจะยืน เดิน นั่งนอน การเจริญสติจะไม่ต้องเผชิญกับนิมิตอันน่ากลัวหรือมีสิ่งมาหลอกหลอนให้หวาดหวั่นวิตก   อาการเพี้ยนหรือจิตวิปลาสที่คนส่วนใหญ่หวาดกลัวกัน ย่อมเกิดกับการเพ่งจิต การพยายามควบคุมบังคับจิต การสะกดจิตหรือการทำสมาธิเพื่อให้ได้นิมิตเท่านั้น  สิ่งดังกล่าวจะไม่มีทางเกิดขึ้นได้เลยแก่ผู้เจริญสติปัฏฐานอย่างถูกต้องตามความเป็นจริง


                   การเจริญสติจะไม่มีการประสบกับความวิปลาส  แต่การเจริญสติมีแต่จะแก้ความวิปลาสได้อย่างดีเยี่ยม  ด้วยเหตุนี้จึงชักชวนท่านทั้งหลายให้หันมาเจริญสติตามธรรมชาติตั้งแต่เริ่มต้นเขียนธรรมะลงเว็บไซต์เกพลิตานี้ตลอดหนึ่งปีเศษที่ผ่านมา


                   ขอให้ท่านทั้งหลายจงมีชีวิตอยู่ในขณะนี้ตามความเป็นจริง จงเรียนรู้ตัวเองและเข้าใจตัวเองตามความเป็นจริง สติอันบริสุทธิ์นี้จะเป็นดุจแก้วสารพัดนึกที่ทำให้เราเข้าถึงอาณาจักรแห่งความรักและความงดงามของสรรพสิ่ง  เข้าถึงความสุขอันลึกซึ้งและมีชีวิตอยู่กับความจริง  เข้าถึงพุทธะที่แท้จริงคือความรู้ ตื่น เบิกบานตลอดไป

 

                                                                                       คุรุอตีศะ
                                                                                ๓  กันยายน  ๒๕๕๗