ข้อคิดคติธรรม
- รายละเอียด
- หมวด: LanDharma
ข้อคิดคติธรรม
๑. การพร่ำสอน อบรม หรือการพากเพียรอธิบายชี้นำเพื่อให้เกิดความเข้าใจ เป็นเพียงความเมตตากรุณาของผู้ที่รู้จักเส้นทางที่เคยเดินมาแล้วชี้ทางให้แก่ผู้ที่กำลังจะเริ่มต้นเดินทาง
ส่วนการจะกล้าตัดสินใจออกเดินตามคำพร่ำสอนเหล่านั้นหรือไม่ ย่อมเป็นหน้าที่และความรับผิดชอบของผู้เดินทางนั้นเอง หากผู้เดินไม่ยอมเดิน ผู้สอนก็มีหน้าที่ต่อไปเพียงอย่างเดียว คือปล่อยวางด้วยจิตอุเบกขา หาใช่ความเมตตากรุณาหรือแบกภาระดังตอนแรกไม่
๒. คำว่า”ศาสนา” คือสิ่งอันเป็นที่พึ่งทางใจ เป็นเข็มทิศนำทางให้ผู้ที่ศึกษาและปฏิบัติสามารถรอดพ้นจากอันตรายทางจิตใจและความทุกข์ทั้งปวง
ตัวศาสนา ไม่ใช่วัตถุหรือวัดวาอารามใหญ่โต ไม่ใช่การอวดบริวารว่ามีพระมีโยมมากหรือมีโบสถ์ใหญ่โตมีทรัพย์สินมากกว่าคนอื่น ซึ่งเป็นนิสัยของชาวโลก ไม่ใช่การมียศมีศักดิ์มีตำแหน่งแบบข้าราชการขุนนางทั้งหลาย อันเป็นสิ่งที่เจ้าชายสิทธัตถะและพระอริยสาวกของพระองค์ท่านคายทิ้งดุจการบ้วนก้อนเขฬะมาแล้ว ท่านเหล่านั้นล้วนเดินออกจากปราสาทราชวังมุ่งหน้าสู่ความเป็นผู้ไม่มีอะไร ดุจนกอิสระที่มีเพียงปีกและขนหางบินไปในนภากาศ
แต่เดิมมา วัตถุสิ่งของ ลาภสักการะ ยศตำแหน่งในทางศาสนา เป็นเพียงสิ่งสมมุติที่มารองรับศาสนธรรมอันมีอยู่ในตัวของผู้ที่มีคุณธรรมภายในแล้ว ดุจเปลือกและกะพี้ของต้นไม้ที่ห่อหุ้มเนื้อและแก่นของต้นไม้ไว้เท่านั้น หาใช่การไปแสวงหา ยกย่อง สรรเสริญเปลือกและกะพี้ โดยที่ข้างในไม่มีเนื้อและแก่นของต้นไม้เหลืออยู่เลย ศาสนวัตถุจึงเป็นเพียงตัวรองรับศาสนธรรมและศาสนบุคคล นี้คือหลักการอันสำคัญยิ่งที่ทำให้พระพุทธศาสนาเจริญรุ่งเรืองยั่งยืนยาวนานมาจนถึงทุกวันนี้
๓. การยังนิยมยินดีในวัตถุสิ่งของและบุคคลต่างๆ ย่อมเกิดขึ้นตราบเท่าที่จิตยังยึดติดว่าสิ่งเหล่านั้นมีค่า เมื่อใดที่จิตเกิดแสงสว่างแห่งปัญญา ย่อมมองเห็นได้ด้วยตัวเองว่า แท้จริงแล้วสิ่งเหล่านั้น เปรียบประดุจก้อนเขฬะหรือน้ำลายที่เราหลงอมไว้ในปากไม่ยอมบ้วนทิ้งเสียทีเสียเวลามาตั้งนาน อุปาทานความยึดมั่นถือมั่นของวิสัยชาวโลกก็เป็นเช่นนั้นเอง
๔. การศึกษาและปฏิบัติธรรมะเพียงเพื่อหาความสบายใจ ย่อมเปรียบเหมือนคนป่วยไข้เปิดทีวีดูละครที่ถูกใจเพื่อลืมความเจ็บป่วยของตนชั่วคราว
การป่วยไข้ก็ต้องกินยาหรือไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาล และปฏิบัติตามคำสั่งของแพทย์และพยาบาลอย่าเคร่งครัดโรคภัยจึงจะหาย การจะเข้าถึงธรรมะอย่างแท้จริง จึงต้องละพยศ ละทิฐิมานะของตนแล้วเข้าหาครูบาอาจารย์ สละความอวดดีดื้อรั้น และหัดนิสัยให้เป็นคนว่าง่ายอยู่ในโอวาทของท่านอย่างเต็มใจ ธรรมะที่แท้จริงจึงหลั่งไหลซึมซับเข้าสู่ดวงใจ การฟัง การอ่าน การคิดพิจารณาธรรมามลำพังตัวเองเพียงอย่างเดียว ยังไม่เพียงพอต่อการจะเข้าถึงและสัมผัสตัวธรรมที่แท้จริง
๕. กำลังใจที่ได้รับจากคนอื่น เป็นเพียงที่พึ่งอันฉาบฉวยเพียงครั้งคราว แต่กำลังใจที่เราสร้างขึ้นมาได้ด้วยตัวเองคือ การพากเพียรอดทนหมั่นบำเพ็ญบารมีสร้างบุญกุศล จะเป็นกำลังใจอันมั่นคงถาวร ซึ่งจะเป็นที่พึ่งให้แก่ตนและยังเป็นผู้สามารถให้กำลังใจคนอื่นได้ด้วยกำลังใจเช่นนี้คือกำลังใจที่ประเสริฐที่สุด
๖. การเข้าถึงธรรมะ หาใช่เป็นแบบการเข้าถึงวิชาการทั้งหลายดังที่คนทั่วไปมักเข้าใจไม่ การเรียนวิชาการต้องใช้สมองและการวิเคราะห์แยกแยะด้วยเหตุด้วยผลเพื่อทำความเข้าใจ
ส่วนการเข้าถึงธรรม ต้องอาศัยใจที่บริสุทธิ์ธรรมชาติ ที่เลยพ้นการวิเคราะห์วิจารณ์วิจัยขึ้นไป เป็นใจที่ไร้เงื่อนไขหรือข้อแม้ใดๆ เพียงมอบใจให้ซึมซับและสัมผัสความรักความดีงามของโลกและสรรพชีวิต นั่นคือประตูแห่งการเข้าสู่ธรรมะ นั่นคือสมาธิภาวนา
ฤาษีอินทราทิตย์