การเจริญสติกับการนั่งสมาธิ

การเจริญสติกับการนั่งสมาธิ

 


                  นักปฏิบัติธรรมส่วนใหญ่ยังเข้าใจคลาดเคลื่อนว่า  การเจริญสติเป็นเรื่องเดียวกันกับการนั่งสมาธิหรือการหลับตาภาวนา  ซึ่งหากพิจารณาอย่างละเอียดแล้ว การเจริญสติย่อมต่างจากการนั่งหลับตาทำสมาธิอย่างที่เรามักติดภาพลักษณ์เช่นนั้นว่าคือการปฏิบัติธรรมโดยทั่วไป


                 การเจริญสติคือการระลึกรู้ไปที่อาการทางกาย  อาการทางความรู้สึก  อาการที่จิตกำลังคิด  โดยใช้ความรู้สึกตัวทั่วพร้อม  ไม่ใช่เพ่งจิตให้แนบแน่น ณ จุดใดจุดหนึ่ง  แต่ปล่อยให้ทุกสิ่งทุกอย่างรอบตัวเกิดขึ้นตามความเป็นจริง  ไม่มีการควบคุมหรือปรุงแต่งสิ่งใด  แต่คือการปล่อยให้สติระลึกรู้สิ่งที่ปรากฏทางกาย  สิ่งที่ปรากฏทางใจ ตามแต่สติจะเกิดขึ้นและระลึกได้ตามความเป็นจริง  การเจริญสติคือการเผชิญอารมณ์รอบตัวตามความเป็นจริงไปทุกขณะ


                  การทำสมาธิคือการเพ่งจิตให้แนบแน่นเป็นหนึ่ง โดยอาศัยวัตถุภายนอกหรือคำบริกรรมเป็นตัวควบคุมจิตไม่ให้วอกแวกไปรับรู้อารมณ์ภายนอก  การทำสมาธิต้องใช้การบริกรรมเพื่อรวมจิตให้เป็นหนึ่งจนเกิดอุคคหนิมิตและปฏิภาคนิมิต จนจิตหยุดความคิดทั้งปวงหยั่งลงสู่อัปปนา


                การทำสมาธิต้องใช้กสิณหรือคำบริกรรม จิตจึงจะรวมได้ง่าย และต้องอาศัยสถานที่เงียบสงบปราศจากเสียงมนุษย์และเทคโนโลยีทั้งปวง จิตจึงจะเข้าถึงอัปปนาสมาธิได้ง่าย   การทำสมาธิต้องนั่งเพ่งกสิณจนภาพติดตา หรือไม่ก็ต้องอยู่กับคำบริกรรมภาวนา จนกว่าจิตจะเข้าถึงเอกัคคตารวมเป็นหนึ่ง ที่ไม่รับรู้อารมณ์ใดๆที่เป็นวิสัยของชาวโลก  จิตจะสงบลอยเด่นอยู่อย่างนั้นไม่รับรู้อารมณ์และความเป็นไปของชาวโลก  จนกว่าพลังของฌานจะเสื่อมลงไป


               การอธิบายแบบที่กล่าวมา คือคำอธิบายแบบครูบาอาจารย์รุ่นเก่าท่านอธิบายไว้  แต่สำหรับพวกเราซึ่งส่วนใหญ่เป็นพวกหัวสมัยใหม่  ฟังแล้วอาจไม่ค่อยเข้าใจเพราะเต็มไปด้วยศัพท์แสงทางภาษาบาลีจำนวนมาก  จึงต้องอาศัยวิชาการร่วมยุคสมัยมาช่วยอธิบาย ซึ่งอาจทำให้เข้าใจและมองเห็นภาพได้ชัดเจนมากขึ้น


               พูดอธิบายแบบสมัยใหม่  ก็ต้องบอกว่า  การเจริญสติต่างจาการนั่งสมาธิหลับตา  เพราะการเจริญสติเป็นการรู้สึกตัวทั่วพร้อม  กำหนดสติไปที่อาการทางกายทางใจตามความเป็นจริง  ไม่ใช่การเพ่งสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ไม่ใช่การบริกรรมเพื่อให้จิตหยุดคิด  ไม่ใช่การพยายามทำให้จิตนิ่งสงบไม่คิดอะไร


                ในทางการแพทย์  การกำหนดสติไปที่อาการ  จะทำให้สมองหลั่งสารชนิดหนึ่งออกมา  คือสารโดพามีน  ซึ่งเป็นสารสื่อประสาทที่ทำให้เกิดสติปัญญา  ไหวพริบ  ปฏิภาณ  และความเฉลียวฉลาด  นอกจากนั้นโดพามีนยังทำให้เกิดความกระฉับกระเฉงและความมีชีวิตชีวา  นี้คือผลจากการเจริญสติในชีวิตประจำวัน  ซึ่งบุคคลนั้นไม่จำต้องนั่งสมาธิหรือเดินจงกรมก็ได้ หากมิได้ใช้ชีวิตเป็นนักบวชผู้ไม่มีการงานอาชีพภายนอก  มีแต่งานภายในคือการฝึกอบรมจิต  เพราะทุกอารมณ์ไม่ว่าดีหรือร้าย อารมณ์ถูกใจหรืออารมณ์ไม่ถูกใจ ล้วนเป็นกรรมฐานของผู้รู้วิธีเจริญสติทั้งหมด


                ในทางตรงกันข้าม  ผู้ที่กำหนดสมาธิไปที่รูปภายนอกจนสมาธิแนบแน่น เช่นเพ่งกสิณ  เพ่งดวงแก้ว  ใช้คำบริกรรมให้จิตนิ่ง  ร่างกายจะหลั่งสารเอนดอร์ฟิน  ทำให้รู้สึกเคลิบเคลิ้ม  มีความสุข  แต่ขาดปัญญา


                คนทำสมาธิจะไม่อยากยุ่งเกี่ยวกับการงาน  ไม่อยากสมาคมกับใคร  และไม่อยากทำการงานเกื้อกูลผู้คนรอบข้าง   เพราะติดอยู่ในความสุขและความสงบจึงอยากจะประคองจิตให้อยู่กับความสงบนั้นไว้ตลอดเวลา


                 เพราะเหตุผลดังกล่าว การเจริญสติกับการนั่งสมาธิจึงต่างกันถึงในระดับการผลิตฮอร์โมนของสมองเลยทีเดียว


                  ที่สำคัญคนที่เจริญสติกับคนที่ทำสมาธิยังต่างกันทางบุคลิกภาพอีกด้วย คือ  คนที่มุ่งทำสมาธิจะมีบุคลิกสงบเชื่องช้าอันเป็นบุคลิกของนักบวช  ไม่ค่อยมีไหวพริบปฏิภาณแววไวในการทำงานหรือการดำเนินชีวิตในทางโลกตามความเป็นจริง


                 ด้วยเหตุนี้ จึงมุ่งสอนธรรมะโดยมุ่งให้พวกเราทั้งหลายซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้มีชีวิตในความเป็นจริง ยังต้องวิ่งไปตามเพลงชีวิตของชาวโลก  ให้รู้จักการเจริญสติเพื่อดับทุกข์ดับโศกที่เกิดขึ้นในแต่ละวันไปทีละน้อย  เพื่อเราจะได้มีดาบที่คมในการฟันฝ่าอุปสรรคและปัญหาโดยไม่หวั่นไหวต่อสิ่งใด  พร้อมกันนั้นเราก็ยังได้ปฏิบัติธรรมด้วยการเจริญสติภาวนาในชีวิตจริงของเราอีกด้วย


                การเจริญสติในชีวิตประจำวันอย่างถูกต้อง  เราจะไม่เป็นคนศรัทธาและเชื่อมั่นในสิ่งใดจนงมงายและสุดโต่ง  แต่สติที่เจริญงอกงามในแต่ละวัน  จะทำให้จิตที่เคยอ่อนแอกลายเป็นหัวใจที่เกิดความเชื่อมั่นและเกิดแรงบันดาลใจ เกิดพลังสร้างสรรค์อย่างไม่เคยเป็นมาก่อน


               พลังแห่งสตินั้น  จะทำให้สมองตื่นตัว  มีพลัง  กระฉับกระเฉง  มีสมาธิมากขึ้น  ไวต่อความรู้สึกรอบตัว  หัวใจจะสัมผัสกับความรักและความงดงาม  นี้คือต้นลำธารของความรักแห่งพุทธะคือ ความรู้  ตื่น  เบิกบาน  ที่ทำให้เสมือนหนึ่งว่าชีวิตของเราได้เกิดใหม่


              ขอให้เจริญสติไปเถิดไม่ว่าชีวิตของเราจะอยู่ในเพศคฤหัสถ์หรือบรรพชิต  เพราะผู้ที่มุ่งมั่นเอาแต่ทำสมาธิ อาจติดในความสงบหรือติดสมาธิ จนยากที่ถอนจิตออกมาเจริญสติตามความเป็นจริงก็ได้


             ส่วนผู้ที่พากเพียรเรียนรู้อาการของสติและเจริญสติในแต่ละขณะเรื่อยไป  สุดท้ายสมาธิที่ไม่เคยคิดว่าจะได้ที่ท่านบรรยายไว้  อาจลอยมาทางหน้าต่างพร้อมกับสายลมอันสดชื่นในวันหนึ่ง  โดยไร้การกำหนดหมายและไร้การพยายามใดๆ

 

                                                                                คุรุอตีศะ
                                                                        ๒  กรกฎาคม  ๒๕๕๗