กว่าจะข้ามพ้นโคลนตม

กว่าจะข้ามพ้นโคลนตม

 


              สำหรับผู้มีวาสนาเกิดมาเพื่อมุ่งบำเพ็ญเพียรทางจิตสู่ความหลุดพ้นในชาตินี้  ธรรมะที่จะเกื้อกูลแก่วาสนาบารมี ต้องมีโอกาสได้สดับพระธรรมที่ทำให้เห็นทุกข์โทษของกามและเห็นอานิสงส์ของการออกบวช  จิตจึงจะน้อมไปในการมองเห็นทุกข์โทษของการครองเรือน


               การปฏิบัติพระกรรมฐานในสายเถรวาท โดยเฉพาะในแถบประเทศไทย ลาว พม่า กัมพูชา และศรีลังกา ครูบาอาจารย์ส่วนใหญ่จะมุ่งสอนธรรมะไปสู่ความหลุดพ้น โดยเน้นให้ผู้ที่ออกบวชได้มองเห็นทุกข์โทษของกาม  จนจิตเบื่อหน่ายคลายจางจากโลกียวิสัยและปรารถนาที่จะหลุดพ้นไปจากการเวียนว่ายตายเกิดในวัฏฏสงสารในที่สุด


               หลวงปู่มั่น  ภูริทัตโต  ผู้เป็นปรมาจารย์สายพระธุดงคกรรมฐาน  คือตัวอย่างของพระมหาเถระในยุคนี้ ที่มีปฏิปทาในการปฏิบัติที่มุ่งสู่ความหลุดพ้นโดยตรง  เส้นทางของท่านคือ "ทุกขาปฏิปทา" คือต้องปฏิบัติอย่างทุกข์ยากลำบาก ต้องเข้มแข็งเด็ดเดี่ยวเอาชีวิตเข้าแลก ดวงจิตจึงจะยอมละพยศและคุ้นเคยกับความไร้อัตตาของสรรพสิ่งที่มีมาแต่เดิม แต่เพราะอุปาทานความยึดมั่นจึงทำให้เกิดความสำคัญมั่นหมายว่าเป็นตัวเราของเราขึ้นมา อันเป็นต้นเหตุของความทุกข์ทั้งมวล


              หลวงปู่มั่น  ท่านบรรลุพระอนาคามีเมื่อประมาณปี พ.ศ.  ๒๔๖๐ ที่ถ้ำสาริกา  จังหวัดนครนายก  เมื่ออายุได้  ๔๘  ปี  และบรรลุพระอรหันต์จิตพ้นจากอาสวะอย่างเด็ดขาด  ณ  ถ้ำดอกคำ  จังหวัดเชียงใหม่  เมื่อปี พ.ศ.๒๔๗๘  ในขณะที่ท่านอายุได้  ๖๖  ปี


             วันนี้เป็นวันพระแรม ๘ ค่ำ  เดือน ๗  จึงอยากให้ทุกคนระลึกนึกถึงชีวิตของปวงเหล่าพระอรหันต์ทั้งหลาย ทั้งสายหลวงปูมั่นและสายอื่นที่มิได้เอ่ยนามครูบาอาจารย์ผู้หลุดพ้นเหล่านั้นในที่นี้  ขอให้น้อมใจของเราให้มีความปลอดโปร่งจากความรักความใคร่ความเสน่หา ที่มีอิทธิพลรัดรึงพันธนาการและบีบคั้นหัวใจให้ต้องสูญเสียน้ำตามาชาติแล้วชาติเล่า แม้ว่าชีวิตจริงของเราขณะนี้จะเป็นคนมีครอบครัวหรือไม่มีครอบครัวก็ตาม


             แม้ดวงจิตของเรายังไม่อาจหลุดพ้นไปได้ตามอย่างพระอรหันต์ทั้งหลายในตอนนี้  แต่เราก็จะพากเพียรบำเพ็ญเนกขัมมะบารมี  เว้นห่างจากกามารมณ์ในบางโอกาสโดยเฉพาะในวันพระตามวิถีอันเร้นลับของภูมิปัญญาแห่งบรรพกาล  เพื่อให้ดวงจิตของเรามีอานุภาพสูงขึ้น


              แม้เราจะไม่อาจละเว้นได้สำเร็จเด็ดขาดทั้งกายและใจ เหมือนท่านผู้มีภูมิจิตถึงขั้นพระอนาคามีแล้ว  แต่อานิสงส์แห่งจิตที่ผ่องแผ้ว อันเกิดจากเจตนาอันเป็นกุศล ที่เรางดเว้นในสิ่งที่งดเว้นได้ยากของฆราวาสวิสัย ก็จะมีอานิสงส์อันยิ่งใหญ่ติดตัวไปในภายหน้า


            อย่างน้อยจะทำให้คู่สามีภรรยาเกิดความเคารพและมีความเมตตาต่อกันมากขึ้น เกิดความรู้สึกไว้เนื้อเชื่อใจกัน ไม่ต้องมีความระแวงสงสัยให้หัวใจของเราต้องเป็นทุกข์  เทวดาก็จะคุ้มครองรักษาบุคคลทั้งสอง คุ้มครองครอบครัวและวงศ์ตระกูลอีกด้วย  นี้คืออานิสงส์ของเนกขัมมะบารมี สำหรับผู้ที่ยังยินดีในการครองเรือนซึ่งไม่ค่อยมีใครกล่าวถึงให้เรารู้ถึงอานิสงส์ข้อนี้เท่าใดนัก


              ในวันพระเช่นนี้  เราควรถือเป็นโอกาสในการยกจิตของเราให้สูงขึ้นด้วยเนกขัมมะบารมี  จิตใจของเราจะปลอดโปร่งและสงบเหมือนเป็นพระพรหมชั่วคราว  จิตที่ปลอดโปร่งจากกามฉันทะนิวรณ์เช่นนี้แหละที่คนเราในสังคมปัจจุบันน้อยคนจะรู้จักและได้สัมผัส เราจึงพากันมีแต่ความวิตกกังวลและหม่นหมองซึมเศร้าให้เห็นกันอยู่เป็นส่วนมาก  เราจึงมีความทุกข์จากความรักความเสน่หากันมากมายอยู่ทั่วไปทั้งวัยรุ่น หนุ่มสาว ผู้ใหญ่ หรือแม้แต่คนสูงอายุแล้วบางคนก็เป็นทุกข์เพราะสิ่งนี้


             ครูบาอาจารย์ในสมัยโบราณ ท่านมักอบรมพระภิกษุด้วย "อุปมาโทษของกาม"บ่อยๆเนืองๆ  พระภิกษุยุคสมัยที่ผ่านมาท่านจึงน่าเคารพน่ากราบน่าไหว้  เพราะท่านได้รับการฝึกฝนจิตมาอย่างดีจากอาจารย์ผู้ทรงภูมิจิตภูมิธรรม  เวลาท่านสอนพระหนุ่มๆท่านจะพร่ำสอนอุปมาโทษของกาม ๑๐ อย่างไปพร้อมกับการฝึกสมาธิภาวนา  โดยท่านจะยกพระสูตรว่าด้วยอุปมาโทษของกาม ๑๐ ประการมาแสดงให้ฟัง  โดยท่านจะยกเปรียบเทียบให้เห็นทุกข์โทษของกามว่ามีคุณน้อยและมีทุกข์โทษมากกว่า ดังนี้


                  ๑. กามเปรียบเหมือนท่อนกระดูกเปล่า  ไม่มีเลือดและเนื้อติดอยู่
                  ๒. กามเปรียบเหมือนชิ้นเนื้อที่แร้งหรือเหยี่ยวคาบบินมา
                  ๓. กามเปรียบเหมือนคนถือคบเพลิงที่ทำด้วยหญ้าลุกโพลงเดินทวนลมไป
                  ๔. กามเปรียบเหมือนหลุมถ่านเพลิงอันร้อนแรง
                  ๕. กามเปรียบเหมือนความฝัน
                  ๖. กามเปรียบเหมือนสมบัติที่ยืมเขามา
                  ๗. กามเปรียบเหมือนต้นไม้มีผลดกอยู่ในป่า
                  ๘. กามเปรียบเหมือนเขียงสับเนื้อ
                   ๙. กามเปรียบเหมือนหอกและหลาว
                  ๑๐. กามเปรียบเหมือนหัวงูพิษ


              ธรรมะเช่นนี้ย่อมมีแต่พระภิกษุผู้ออกบวชประพฤติพรหมจรรย์แล้วเท่านั้นจึงจะได้ฟัง  ด้วยเหตุนี้พระภิกษุที่ออกบวชตั้งแต่ยังเป็นหนุ่ม  แต่เมื่อท่านเป็นผู้มีบุญวาสนาบำเพ็ญมาดีแต่อดีตชาติและได้พบครูบาอาจารย์ผู้ทรงภูมิจิตภูมิธรรม  ท่านจึงมีวาสนาบรรลุปฐมฌานหรือไม่เยื่อใยในกามารมณ์  หลังจากนั้นท่านก็ยกจิตเข้าภูมิวิปัสสนา จนดวงจิตรู้แจ้งแทงตลอดเข้าสู่ภูมิของพระอริยบุคคลต่อไป

 

             บางองค์บางท่านแม้จะเข้าสู่อริยมรรคเบื้องสูงยังไม่ได้  แม้บรรลุเพียงชั้นพระโสดาบันบุคคล  แต่ท่านจะมีความมั่นคงในพระศาสนาและเข้าถึงความรักแท้แห่งพุทธะ ที่ความรักแบบทางโลกไม่สามารถดึงท่านลงสู่ที่ต่ำได้อีก


            กว่าดวงจิตของปุถุชนคนหนึ่งจะก้าวข้ามโคลนตมคือกาม ไปสู่ผู้พ้นแล้วจากกามทั้งหลาย  เป็นสิ่งที่ทำได้ยากยิ่งและน้อยคนนักจะมีวาสนาเช่นนั้น  ด้วยเหตุนี้เราทั้งหลายจึงพากันน้อมกราบเทิดทูนบูชาปวงเหล่าพระอริยเจ้าทั้งปวงเพื่อน้อมเอาคุณธรรมของท่านเข้ามาสู่ชีวิตจิตใจของเราทีละน้อย


          วันนี้เรายังเป็นอย่างนี้อยู่  เราก็มีชีวิตอยู่ในความเป็นจริงและหมั่นเจริญสติภาวนาไป  เมื่อถึงวันหนึ่งทุกสิ่งได้เหตุได้ปัจจัย  อานิสงส์ของการเจริญสติไว้  ก็จะทำให้เรากลายเป็นพระอริยบุคคลในวันหนึ่ง


          ท่านที่เกิดมามีวิถีชีวิตเฉพาะที่จะต้องเป็นครูบาอาจารย์  ท่านจำต้องเรียนรู้ ต้องผ่านอุปสรรคและต้องมีคุณสมบัติมากมายหลายอย่างเพื่อการทำงานอุทิศให้พระศาสนา  แต่สำหรับบุคคลธรรมดา  ย่อมไม่จำเป็นต้องทำอะไรหนักหน่วงมากมาย เหมือนชีวิตของท่านที่เกิดมาเพื่อเป็นครูของคนอื่นแบบนั้นแต่อย่างใด


         หน้าที่ของเราไม่ใช่การไปทำอะไรเลียนแบบหลวงปู่มั่นหรือครูบาอาจารย์บางท่าน  เพราะเราไม่ใช่หลวงปู่มั่นหรือครูบาอาจารย์เหล่านั้น ที่บัดนี้ยุคสมัยและสภาพสังคมสิ่งแวดล้อมต่างกันอย่างมาก  แต่หน้าที่ของเราคือ ระลึกรู้ตัวอยู่เสมอและทำหน้าที่ในชีวิตประจำวันตามความเป็นจริง


          ท่านผู้หลุดพ้นแล้วท่านพ้นแล้วจากความรักและความชัง  แต่ในชีวิตจริงของเราทั้งหลายยังยินดีในความรักและความใคร่  หน้าที่ของเราจึงคือการเจริญสติและพัฒนาความรักที่มีอยู่ให้สะอาดและงดงามยิ่งขึ้นไป  นั่นคือเป้าหมายและหลักชัยในการปฏิบัติธรรมตามความเป็นจริงของเรา


           
                                                                    ดาบสนิรนาม
                                                              ๒๐  มิถุนายน  ๒๕๕๗