ความรู้สึกผิด

ความรู้สึกผิด

 

                 ความสำนึกผิด เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นเมื่อรู้ตัวว่าได้ทำผิดพลาด ทำบาป ทำไม่ดีในสิ่งใดสิ่งหนึ่งลงไป แล้วตั้งใจจะทำในสิ่งที่ถูกต้อง ทำสิ่งที่เป็นบุญ ทำความดีต่อไป  แต่หลังจากนั้น เราอาจมี"ความรู้สึกผิด"อยู่เรื่อยไป  หวนคิดถึงความผิดหรือสิ่งที่ตนเองทำบาป ทำไม่ดีไว้นั้นอยู่บ่อยๆ กลายเป็นปมด้อยอยู่ในใจ เมื่อคิดถึงสิ่งที่ตนเคยทำไว้  ก็เกิดความไม่สบายใจอยู่เสมอ  ความรู้สึกอย่างนี้เรียกว่า "ความรู้สึกผิด"

 

                 ความรู้สึกผิด (guilty)นี้  เป็นความทรมานใจอย่างหนึ่งที่เผาลนจิตใจของมนุษย์  มักเกิดกับคนดี คนที่มีศีลธรรมประจำใจ  ใฝ่ต่อความดีงาม  แต่ต้องผิดพลาดหลงไปกระทำผิด ทำบาปกรรม ทำในสิ่งที่ไม่ดีบางอย่าง  จนทำให้เกิดตราบาปอยู่ในใจ  คนส่วนใหญ่ในสังคมปัจจุบันมักจมอยู่กับความรู้สึกผิดนี้ พวกเราส่วนใหญ๋จึงไม่ค่อยมีความสบายใจ  ไม่มีความปลอดโปร่งหัวใจ  เพราะความรู้สึกผิดคอยหลอกหลอนเราตลอดเวลา

 

                ลูกที่ต้องไปทำงานห่างไกลจากพ่อแม่  รู้สึกผิดที่ตนเองไม่มีโอกาสดูแลพ่อแม่  หญิงสาวผู้มีสำนึกที่ดี รู้สึกผิดที่ไม่อาจรักษาความบริสุทธิ์ไว้ได้จนกระทั่งถึงวันแต่งงาน  พยาบาลผู้มีเมตตาและมีจิตใจที่ดีงาม รู้สึกผิดที่ระงับอารมณ์ตนเองไม่อยู่ ต้องไปดุด่าคนป่วยผู้ขาดที่พึ่งทางใจ  คนใจบุญ รู้สึกผิดที่ขอทานมาขอเงินแล้วไม่ได้ให้เพราะมัวติดธุระบางอย่าง  คนใฝ่ใจในธรรมะ รู้สึกผิดที่ไม่ได้จอดรถรับพระภิกษุที่โบกรถอยู่ข้างทาง  เพราะตนรีบร้อนต้องไปธุระหรือมีความไม่สะดวกบางอย่างที่จะรับท่านขึ้นมานั่งรถของตน  ฯลฯ

 

                   คนดี คนที่ใจละเอียดอ่อน คนที่มีคุณธรรมประจำใจ  มักรู้สึกผิดและไม่สบายใจได้บ่อยๆ  เพราะจิตสำนึกที่ดีงามคอยย้ำเตือน   คนที่ทำความดีและมีคุณธรรมประจำใจ  จึงมีความทุกข์อันละเอียดลึกซึ้งที่ยากจะอธิบายได้  ซึ่งก็มาจากความรู้สึกผิดในสิ่งที่ตนเองทำผิดพลาดไปนี้เอง

 

                 เป็นคนดี เป็นคนใจบุญ หรือเป็นคนใฝ่ในคุณธรรมอย่างเดียว  จึงยังไม่เพียงพอที่หัวใจของเราจะปลอดภัยจากความทุกข์ ความวิตกกังวล หรือความหม่นหมองอันเกิดจากความรู้สึกผิดได้ ด้วยเหตุนี้พระพุทธองค์จึงทรงสอนให้เวไนยสัตว์ ต้องเรียนวิชาที่สูงขึ้นไป คือวิชาการทำจิตใจให้ปลอดโปร่งแจ่มใสหรือการเจริญภาวนาเพื่อรักษาคุ้มครองหัวใจของตน

 

                  ทำความดี ทำคุณประโยชน์ มีจิตใจเกื้อกูลมีเมตตาต่อผู้อื่น  แม้ในท่ามกลางการทำความดีหรือช่วยเหลือเกื้อกูลผู้คนนั้น  เรามีสิทธิ์ที่จะทำความความผิดพลาดในเรื่องใดเรื่องหนึ่งขึ้นมาก็ได้  เพราะขึ้นชื่อว่าความผิดพลาดบกพร่อง ย่อมเป็นของมีอยู่ประจำตัวมนุษย์ทั่วไป  แม้จะตั้งใจทำดีแค่ไหน  ก็ยังมีสิทธิ์พลาดพลั้งจนได้ไม่เรื่องใดก็เรื่องหนึ่งอย่างแน่นอน

 

                      เพียงแค่ "สำนึกผิด" ก็เป็นการเพียงพอแล้ว  อย่าให้ "ความรู้สึกผิด"เผาลนหรือบั่นทอนหัวใจของเราให้ยาวนานเกินไปนัก  ยังมีสิ่งอะไรอื่นอีกมากมายให้เราได้สร้างสรรค์ความดีงามประดับไว้ในโลกนี้  เรื่องอะไรจะให้ความรู้สึกที่ดีของเราถูกบั่นทอนลงไปเพียงแค่ความผิดพลาดอันนอกเหนือความตั้งใจของเรา

 

                    ไม่มีใครอยากทำผิด ทำบาป ทำในสิ่งที่ผิดพลาด  แม้แต่คนบาปที่สุด หากเขาย้อนเวลาและชีวิตกลับไปได้  เขาก็อยากทำดี ทำในสิ่งที่เป็นบุญหรือสิ่งที่ถูกต้องทั้งนั้น  แม้คนดีที่พยายามที่สุดที่จะไม่ทำร้ายน้ำใจใคร  ก็ยังอดเผลอสติทำให้ผู้อื่นเสียใจไม่ได้  เพราะต่างตกอยู่ภายใต้ความเป็นอนัตตาที่ไม่อาจบังคับบัญชาสภาพธรรมทั้งหลายให้ทุกสิ่งเป็นดั่งใจของตน

 

                     แม้จะตั้งใจทำความดีสักแค่ไหน  แต่ก็ไม่พ้นความเป็นอนัตตาที่อาจผิดพลาดได้เสมอ  ดีแล้วชั่ว  ชั่วแล้วดีสลับกันไป  จะหมายมั่นว่าชีวิตนี้จะต้องดีและเพียบพร้อมร้อยเปอร์เซ็นต์ไม่มีความผิดเลย  นั่นเป็นชีวิตของพรหมผู้อยู่ในฌานสมาบัติ  ไม่ใช่ชีวิตของมนุษย์ผู้ยังต้องสาละวนกับความดีความชั่วเช่นตัวเรา

 

                      มีนักปราชญ์กล่าวไว้ว่า "ความรู้สึกผิด ไม่ได้ติดตัวมาตั้งแต่เกิด  มันไม่ใช่ธรรมชาติที่แท้จริงของตัวเรา  ความรู้สึกผิด เป็นผลผลิตที่มาจากสังคม"

 

                      การสร้างมาตรฐานว่าอะไรผิดอะไรถูก  ย่อมขึ้นอยู่กับสภาพสังคมและสิ่งแวดล้อม  ขึ้นอยู่กับกฎหมาย จารีตประเพณี วัฒนธรรม ลัทธิศาสนาในท้องถิ่นนั้นเป็นตัวกำหนด  เพื่อควบคุมคนหมู่มากที่มีปัญญาไม่เท่ากัน ให้มีความประพฤติและมีความเชื่อที่เหมือนกัน  การกระทำบางอย่างอาจเป็นความผิดในสถานที่แห่งหนึ่ง  แต่อาจไม่ใช่ความผิดในอีกสถานที่แห่งหนึ่งก็ได้

 

                        ในศาสนาชินะหรือศาสนาเชนในประเทศอินเดีย  การที่ใครจะลุกขึ้นมาดื่มน้ำในตอนกลางคืนจะถือเป็นความผิดหรือเป็นบาปอย่างมาก  หากใครทนไม่ไหวลุกมาแอบดื่มน้ำในตอนกลางดึกเพราะความกระหาย  จะมีความรู้สึกผิดติดอยู่ในใจเรื่อยไป  จะคอยตอกย้ำตัวเองว่าเป็นคนบาป  คนที่นับถือศาสนาอิสลามหากไปรับประทานเนื้อหมู  จะรู้สึกว่าผิดและเป็นบาปอย่างมาก  แต่คนจีนหากวันใดไม่มีเนื้อหมูให้รับประทาน  จะรู้สึกว่าอาหารมื้อนั้นไม่สมบูรณ์และตนเองช่างมีบุญน้อยนัก

 

                          ความรู้สึกผิด  ไม่ใช่ธรรมชาติที่แท้จริงของมนุษย์  จิตเดิมแท้เป็นความบริสุทธิ์ไม่มีผิดไม่มีถูก  แต่เพราะมนุษย์ไปกิน "ผลไม้ดีชั่ว" หลังจากนั้นบรรดาลูกหลานของอาดัมกับอีฟจึงเต็มไปด้วยบาป เพราะอุปาทานการเข้าไปยึดมั่นถือมั่นในดีและชั่ว  มนุษย์ทั้งหลายจึงเป็นคนบาปเพราะความรู้สึกผิดนั้นคอยหลอกหลอนจิตใจ

 

                      ปริศนาธรรมในศาสนาคริสต์ที่กล่าวถึง "ผลไม้แห่งความดีความชั่ว"  แท้จริงแล้วก็คือการที่จิตเกิดอุปาทานยึดมั่นในดีในชั่ว ในถูกในผิด  มนุษย์ทั้งหลายจึงเป็นคนบาปคือมีแต่ความทุกข์กันทั้งโลก   พระพุทธองค์จึงทรงตรัสว่า "ความวิตกกังวลหรือความทุกข์ใจ  มาจากอุปาทานคือความยึดมั่นถือมั่น"

 

                      ความรู้สึกผิด เป็นผลผลิตทางสังคม  ทำให้การพัฒนาตนเองเป็นไปด้วยความยากลำบาก  เพราะต้องคอยปกปิดตัวตนที่แท้จริงของตัวเองไว้ด้วยเปลือกนอก แล้วต้องเสแสร้งแสดงออกไปตามที่สังคมกำหนดให้กระทำ  การทำเช่นนั้นจึงเป็นการบั่นทอนความเป็นตัวของตัวเอง  เมื่อมนุษย์สูญเสียความเป็นตัวของตัวเองมากเพียงใด  เขาย่อมประสบความทุกข์ทางจิตใจและมีชีวิตที่เต็มไปได้ด้วยความวิตกกังวลเพียงนั้น

 

                       การที่สังคมหรือผู้เป็นใหญ่ต้องการควบคุมคนหมู่มากที่มีสติปัญญาไม่เท่ากัน ให้มีความประพฤติเหมือนกันและมีความเชื่อไปในทำนองเดียวกัน  เพื่อให้ง่ายต่อการปกครอง  จึงทำให้ต้องสร้างกฎหมายขึ้นมาเพื่อควบคุมความประพฤติของผู้คน  กฎหมายเหล่านั้นก็เปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆตามยุคตามสมัย  ในยามใดต้องการเพิ่มจำนวนประชากร ก็บังคับหรือส่งเสริมให้คนแต่งงานตั้งแต่เยาว์วัยแล้วมีลูกให้มากที่สุดก็จะได้รับรางวัล  ในยามใดที่ต้องการควบคุมประชากรไว้ไม่ให้มีมากเกินไป  ก็บังคับหรือรณรงค์ให้คนคุมกำเนิดและอย่ามีลูกเกินสองคน  ใครมีลูกเกินกว่านั้นก็จะรู้สึกผิดที่ทำไม่ได้ตามนโยบาย

 

                      ด้วยเหตุนี้นักปราชญ์หรือผู้ทรงปัญญาเข้าใจความลึกซึ้งของชีวิต  จึงกล่าวว่า "ความรู้สึกผิด  เป็นผลผลิตมาจากสังคม" หากคนในศาสนาชินะหรือศาสนาเชนในประเทศอินเดียมาเกิดเป็นคนไทย การลุกขึ้นมาดื่มน้ำในตอนกลางคืนย่อมไม่ใช่ความผิดหรือเป็นบาปอะไร  ความรู้สึกผิดในเรื่องนั้นย่อมไม่ติดอยู่ในใจแม้แต่น้อย   นี้คือสิ่งที่พระพุทธองค์ตรัสว่า "ความทุกข์เกิดจากอุปาทานคือความยึดมั่นถือมั่น"

 

                      ความรู้สึกผิด  เป็นผลมาจากอุปาทานคือความยึดมั่นถือมั่นในเรื่องนั้นๆ  คนดีมีศีลธรรมทั้งหลายที่ทุกข์ระทมกันเพราะความรู้สึกผิดนี้มิใช่น้อย  ในโอวาทปาฏิโมกข์อันเป็นคำสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลายทุกพระองค์จึงไม่ได้สอนให้ละชั่วทำดีเพียงอย่างเดียว แต่ให้เจริญภาวนาคือการทำจิตใจให้ขาวรอบ มีความสะอาด สว่าง สงบและสดใสประกอบกันจึงจะครบบริบูรณ์

 

                          การที่ท่านวางหลักการครองชีวิตไว้ที่ทาน ศีล ภาวนา ก็เพราะท่านเข้าใจความเป็นไปของโลกดีว่า มนุษย์ผู้ทำความดีจะต้องมาเผชิญกับความทุกข์อันเกิดจาก"ความรู้สึกผิด"ที่ติดอยู่ในใจนี้กันเป็นจำนวนมาก การทำความดีทำกุศลอย่างเดียวจึงยังไม่เพียงพอ  ต้องรู้จักภาวนาคือขจัดความรู้สึกนี้ออกไปจากจิตใจของเราด้วย ชีวิตนี้จึงจะก้าวเดินต่อไปอย่างสง่างาม

 

                         ละวางความรู้สึกผิดที่ติดอยู่ในใจเสียแต่วันนี้   จงตั้งใจทำความดีและดำรงสติไว้เสมอ ผิดไปแล้วก็แล้วไปไม่เก็บเอามาเป็นปมในใจ  ยังมีสิ่งอะไรตั้งมากมายให้เราได้มีโอกาสประกอบกรรมดี

 

                          อย่าปล่อยให้หัวใจของเราหมกจมอยู่กับอดีตที่ผิดพลาดไปแล้ว  จงลุกขึ้นยืดอกแล้วก้าวเดินต่อไปอย่างไม่หวั่นไหว  ปล่อยให้ความผิดความถูกลอยไปกับสายลมหรือสายน้ำผ่านชีวิตของเราให้เร็วไว  สิ่งที่ยิ่งใหญ่ในเวลานี้คือเอาความรู้สึกที่ดีๆกลับคืนมา

 

                          ความรู้สึกผิดเป็นเพียงผลิตผลจากอุปาทาน  เป็นผลมาจากการยึดมั่นถือมั่นในดีในชั่ว การสร้างมาตรฐานว่าอะไรผิดอะไรถูกเป็นเรื่องของสังคมหรือเป็นเพียงโลกของปุถุชน  แต่สำหรับผู้ทรงปัญญาที่เข้าถึงจิตวิญญาณและเป้าหมายอันแท้จริงของการเกิดเป็นมนุษย์  ย่อมมองเห็นกฎแห่งความจริงของสิ่งทั้งปวง  ยิ่งกว่ากฎหมายหรือกฎเกณฑ์ในสังคมที่มนุษย์เขียนขึ้นมา

 

                          สลัดความรู้สึกผิดออกจากหัวใจตั้งแต่วันนี้  แล้วเริ่มต้นสู่ชีวิตใหม่ด้วยการมีสติรู้ตัวอยู่เสมอ  จะผิดจะถูก จะดีจะชั่วแค่ไหนเพียงไร  สุดท้ายแล้วสรรพสิ่งก็คือความว่าง ต้องปล่อยวางทั้งดีและชั่ว ทั้งความถูกความผิดอยู่นั่นเอง

 

                        มีแต่จิตเดิมแท้ที่รู้ ตื่น เบิกบานอยู่ภายในขณะนี้เท่านั้น  ที่ไม่เคยจากเราไปไหนตลอดกาล

 

 

                                                                             คุรุอตีศะ

                                                                      ๕  เมษายน  ๒๕๕๗