ขอบคุณความผิดพลาด

ขอบคุณความผิดพลาด

 


                   หากไม่มีความผิดพลาดมาก่อน  เราอาจไม่มีวันที่โชคดีอย่างวันนี้ก็ได้  หากชีวิตเต็มไปด้วยความสุขความราบรื่นมีแต่สิ่งที่ดี  เราอาจไม่ได้รับรางวัลชีวิตที่ประเสริฐและพบคนบางคนที่แสนดี ซึ่งมีแต่ชีวิตที่ผ่านอุปสรรคและผ่านความผิดพลาดมาแล้วเท่านั้นจึงจะมีสิทธิ์ได้รับ

 
                    ความผิดพลาดเป็นสิ่งที่มีมาคู่กันกับความสำเร็จ  ต้องเคยผิดพลาดมาก่อน  ความสำเร็จอันแท้จริงจึงจะมีได้  คนที่ประสบความสำเร็จในชีวิตหรือยิ่งใหญ่ทั้งหลาย  ในเบื้องหลังความสำเร็จหรือยิ่งใหญ่เหล่านั้น  ล้วนผ่านความผิดพลาดและผ่านความล้มเหลวมามากกว่าคนธรรมดาแทบทั้งสิ้น


                   บุคคลใดที่เอาแต่หวาดกลัวว่าจะผิดพลาด  ย่อมไม่อาจประสบความสำเร็จและก้าวหน้าในสิ่งใดได้   คนที่ประสบความสำเร็จก็คือคนที่กล้าเสี่ยง กล้าตัดสินใจ  เป็นคนที่พร้อมจะกล้ารับผิดชอบในสิ่งที่ตนตัดสินใจทำลงไป  แม้ว่าผลที่ตามมาหลังจากนั้นจะดีหรือเลวในสายตาของใครหรือไม่ก็ตาม


                   ลักษณะของมนุษย์ผู้มีหัวใจเข้มแข็งประการหนึ่ง ก็คือการไม่ย่อท้อต่ออุปสรรคและไม่ใส่ใจว่าคนอื่นจะคิดอย่างไรในสิ่งที่ตนเองทำลงไป  เป็นผู้มีน้ำใจกล้าหาญไม่สนใจคำวิพากษ์วิจารณ์ของใครที่ไม่ได้มาร่วมรับผิดชอบ  ยอมให้ใครต่อใครด่าว่าเป็นคนไม่เอาใคร  มีหัวใจมุ่งตรงต่อสิ่งที่ตั้งใจไว้ให้สำเร็จด้วยความแน่วแน่เท่านั้นเพียงอย่างเดียว


                    การกล้าที่จะรับผิดชอบ  กล้าที่จะเผชิญความจริงในสิ่งที่ตนเองตัดสินใจทำลงไป  ไม่หวั่นไหวต่อผลลัพธ์ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตด้วยความมีสติเช่นนั้น เป็นการปฏิบัติธรรมอันสำคัญที่น้อยคนนักจะปฏิบัติได้  และนี่คือการปฏิบัติธรรมในชีวิตจริงที่หลายคนมองข้ามไป  เป็นสิ่งที่ผู้คนส่วนใหญ่ไม่เคยนึกเฉลียวใจว่าการทำเช่นนี้เป็นการปฏิบัติธรรมอย่างหนึ่ง


                   จิตที่ประกอบด้วยความความเด็ดเดี่ยว กล้าหาญ กล้ารับผิดชอบ กล้าตัดสินใจ ด้วยความมีสติและความรู้ตัวในขณะนั้น  เป็นสติปัฏฐานหรือเป็นวิปัสสนาที่ฉับไวไร้รูปแบบ จิตขณะนั้นประกอบด้วยหลักธรรมที่ชื่อว่า "พละ ๕"อยู่ในตัว คือมีทั้ง ศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ ปัญญา คุณภาพอันยอดเยี่ยมของจิตเช่นนั้นจึงเกิดขึ้นได้  "อินทรีย์ ๕" ก็มีในขณะนั้นด้วย  เป็นการอบรมจิตให้มีอินทรีย์แก่กล้าขึ้นอย่างเป็นธรรมชาติ  หากไม่มีศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ ปัญญาในขณะนั้น จิตของบุคคลนั้นจะไม่มีประสิทธิภาพพอในการที่จะเกิดความเด็ดเดี่ยว กล้าหาญ และกล้าตัดสินใจในขณะนั้นโดยไม่หวั่นไหวได้เลย


                       ขณะใดที่ดวงจิตมีคุณภาพเช่นนี้เกิดขึ้น  จงทราบว่านี้คือผลแห่งการปฏิบัติธรรมอันเกิดจากการเจริญสติได้อย่างถูกต้องและสม่ำเสมอ  การปฏิบัติธรรมของเราเดินทางมาถูกทางแล้ว


                       คนที่มีสติ สมาธิ  ปัญญาในขณะนั้นไม่เพียงพอ  กำลังจิตจะอ่อนแอ ไม่สามารถที่จะกล้ารับผิดชอบหรือกล้าตัดสินใจในเรื่องใดได้  จิตที่ขาดพลังสมาธิจะทำให้เต็มไปด้วยความลังเลสงสัยและเต็มไปด้วยความวิตกกังวล จิตขณะนั้นจะถูกครอบงำด้วยนิวรณ์ ๕ อย่างใดอย่างหนึ่ง โดยเฉพาะประการสุดท้ายคือ วิจิกิจฉานิวรณ์


                        การขาดความเข้าใจในเรื่องนี้  นักบวชและนักปฏิบัติธรรมส่วนใหญ่  จึงถูกมองว่าเป็นพวกอ่อนแอ เป็นพวกที่ไม่ค่อยกล้าตัดสินใจและไม่กล้ารับผิดชอบอะไรในสายตาของชาวโลก

 
                        สิ่งเหล่านี้เกิดจากความเข้าใจผิดหรือมีทัศนคติที่ผิดประการหนึ่งที่ปลูกฝังกันมาว่า "เป็นนักปฏิบัติธรรม ต้องไม่ทำอะไร" ซึ่งเป็นผลมาจากการปฏิบัติธรรมของพระภิกษุหรือนักบวชที่ต้องการบำเพ็ญสมาธิให้ได้อัปปนาสมาธิเสียก่อนจึงค่อยเจริญวิปัสสนา  ซึ่งในคัมภีร์วิสุทธิมรรคอันเป็นคัมภีร์หลักของฝ่ายเถรวาทท่านกล่าวไว้ในส่วน"สมาธินิเทศ"ว่า ผู้ปฏิบัติสมาธิต้องตัดปลิโพธ ๑๐ อย่างเสียก่อนจึงจะปฏิบัติสมาธิได้สำเร็จ


                        เราทั้งหลายต้องมีความเข้าใจพื้นฐานไว้ประการหนึ่งว่า การอบรมจิตหรือการเจริญภาวนามีสองแนวทางด้วยกัน คือการใช้สมาธิอบรมปัญญา กับการใช้ปัญญาอบรมสมาธิ


                       การอบรมจิตตามที่ท่านกล่าวไว้ในคัมภีร์วิสุทธิมรรค คือการใช้สมาธิอบรมปัญญาโดยตรง อันเหมาะกับชีวิตพระภิกษุหรือนักบวชทั่วไปที่ไม่ต้องมีภาระในการประกอบอาชีพหรือทำการงานอะไร ผู้ปฏิบัติต้องเลิกเกี่ยวข้องกามารมณ์เหมือนไม้ที่ยกขึ้นจากน้ำ  หลังจากนั้นต้องรักษาศีลให้สะอาดหมดจด ไม่สะสมวัตถุสิ่งของ หยุดการดิ้นรนทะเยอทะยานและไม่ยุ่งเกี่ยวกับการงานทั้งปวง  การบำเพ็ญสมาธิจึงเกิดขึ้นได้ง่าย อันเป็นการปฏิบัติที่เหมาะกับชีวิตของพระภิกษุหรือนักบวชผู้สละความยินดีทางโลกแล้ว


                       สำหรับผู้ที่ยังใช้ชีวิตในทางฆราวาส หรือผู้ที่ยังต้องทำการงานและต้องเกื้อกูลเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับผู้คน จะต้องใช้หลักการอบรมจิตแบบ "ปัญญาอบรมสมาธิ"จึงจะเป็นการปฏิบัติธรรมที่ถูกต้องและเหมาะสมสอดคล้องในชีวิตจริง


                        หลักการของปัญญาอบรมสมาธิ เป็นการปฏิบัติธรรมที่ไม่ต้องอาศัยรูปแบบหรือการกำหนดท่าทางและระยะเวลา  คือการเจริญสติรู้ตัวในขณะนี้เผชิญกับทุกอารมณ์ตามความเป็นจริงในขณะนี้ไปทีละน้อย  จนกระทั่งสติแก่กล้าขึ้นตามลำดับ  เหมาะสำหรับผู้ที่มีหน้าที่รับผิดชอบและต้องตัดสินใจหรือจัดการงานต่างๆที่เป็นอยู่จริงในชีวิตประจำวัน


                          การปฏิบัติธรรมโดยไร้รูปแบบเช่นนี้  ภายนอกอาจจะดูเหมือนไม่ได้ปฏิบัติอะไร  แต่ภายในนั้นเคร่งครัดด้วยความมีสติ คือเห็นจิตในจิตอยู่เสมอโดยมีตัวเองเป็นพยาน


                          การดำเนินจิตเช่นนี้  จิตจะมีความแววไว มีไหวพริบปฏิภาณ มีความกล้าหาญในการที่จะตัดสินใจในเรื่องราวหรือเหตุการณ์ต่างๆอันเกิดขึ้นเฉพาะหน้า  จิตใจจะเกิดการพัฒนา กล้าที่จะรับผิดชอบต่อหน้าที่และการงานโดยไม่ย่อท้อ  เมื่อถึงจุดหนึ่งสมาธิอันสงบรำงับจะเกิดขึ้นมาเอง โดยไม่มีการพยายามหรือไม่มีการคาดหมายไว้ล่วงหน้า


                      การบำเพ็ญสมาธิในลักษณะนี้จะเป็นที่รู้จักกันดีในพุทธศาสนานิกายเซน  พระเซนในประเทศจีน เกาหลี ญี่ปุ่น ก็คือผู้รู้จักสมาธิชนิดนี้  ส่วนการบำเพ็ญแบบสมาธิอบรมปัญญาที่กล่าวมาในตอนแรกนั้น  จะนิยมปฏิบัติและรู้จักกันในพุทธศาสนาแบบเถรวาท  หากเราเข้าใจเช่นนี้จะได้หายสงสัยและมีกำลังใจปฏิบัติธรรมให้เหมาะสมกับอุปนิสัยและจริตของตน


                       ผู้ที่มีความเข้าใจตามหลักการใช้ปัญญาอบรมสมาธิ  ผู้ปฏิบัติจะมีคุณสมบัติที่เด่นชัดอย่างหนึ่งที่ต่างจากนักปฏิบัติธรรมโดยทั่วไป คือจะไม่กลัวความผิดพลาด  จิตใจจะองอาจและยิ่งใหญ่ไม่หวั่นเกรงต่อปัญหา  ไม่หวาดหวั่นต่อผลลัพธ์ที่จะเกิดขึ้นตามมา  เพราะมั่นใจในสัจธรรมข้อที่ว่า "ทุกสิ่งเปลี่ยนแปลงได้เสมอ ทั้งสุขและทุกข์ไม่มีสิ่งใดจีรังยั่งยืน"  ดังนั้น เมื่อสะดุดล้มก็ลุกขึ้นมาใหม่  เมื่อพลาดแล้ว ก็ทำในสิ่งที่ถูกต่อไป  ไม่มีสิ่งใดต้องยึดมั่นถือมั่นไว้ได้  สุดท้ายทุกสิ่งก็คือความว่างและต้องปล่อยวางในทุกเรื่องราว


                        หัวใจชนิดไหนจะยิ่งใหญ่ไปกว่าหัวใจที่ไม่หวั่นไหวต่อความผิดพลาด มนุษย์ทั้งหลายล้วนเศร้าหมองอ่อนแอและพากันหมกจมอยู่กับความผิดพลาดในอดีตแทบทั้งสิ้น   ส่วนบุคคลที่ไม่กลัวต่อความล้มเหลวหรือความผิดพลาด  จะไม่เสียใจต่ออดีตที่ผ่านมา  บุคคลเช่นนั้นย่อมควรแก่การกราบไหว้บูชาแม้ว่าอยู่ในมิติใดๆ


                           หัวใจของบุคคลนั้นย่อมเป็นหัวใจที่ยิ่งใหญ่  สามารถเป็นที่พึ่งทั้งแก่ตนเองและเป็นที่พึ่งให้แก่คนอื่นได้ในทุกสังคม  บุคคลเช่นนี้แหละที่โลกต้องการตลอดมาทุกยุคทุกสมัย


                            จงขอบคุณความผิดพลาดที่เราประสบมาในชีวิต  บุคคลที่ไม่เคยผิดพลาด ย่อมคือคนที่ไม่เคยทำอะไรให้เกิดประโยชน์เท่านั้น  ยิ่งเกี่ยวข้องกับผู้คนยิ่งมีจิตเกื้อกูลมีเมตตามาก  ย่อมมีความผิดพลาดบกพร่องมากเป็นเงาตามกัน  เพราะนั่นแสดงถึงว่าเราได้ประกอบการงานและสร้างสรรค์ประโยชน์ต่อโลกนี้มาไม่น้อยทีเดียว


                         ความผิดพลาดทั้งปวงล้วนมีคุณต่อเรา  อย่างน้อยก็ทำให้เรารู้ขึ้นมาว่าความถูกต้องนั้นคืออย่างไร แล้วเราก็ก้าวเดินต่อไป   ความผิดพลาดคือสิ่งที่อยู่คู่กับชีวิตของผู้ประสบความสำเร็จในชีวิตทุกคน


                          เพียงเรากล้าหาญและไม่กลัวความผิดพลาด  หัวใจของเราจะองอาจและยิ่งใหญ่ จนสามารถขอบคุณได้แม้กระทั่งความผิดพลาดทั้งปวง


                         หลังจากนั้น  หัวใจของเราย่อมไม่มีสิ่งใดให้ต้องหวั่นเกรงอีก เราไม่กลัวอุปสรรคและปัญหาใดๆอีกแล้ว  เราย่อมสามารถยกมือไหว้หัวใจที่กล้าหาญและมั่นคงของเราด้วยตัวของเราเอง  เพราะหัวใจเช่นนั้ย่อมน่ากราบน่าไหว้น่าเคารพบูชาอย่างที่สุด

 

                                                                                  คุรุอตีศะ
                                                                           ๔  เมษายน  ๒๕๕๗