ใจที่ไร้อุปสรรค

ใจที่ไร้อุปสรรค

 

              หากไม่ต้องการเปลืองตัว ไม่กล้าจัดการลงโทษคนชั่ว คนทำผิด มีวิถีชีวิตให้เลือกสองอย่างคือ การเป็นพระอริยบุคคลเป็นโยคีฤาษีชีไพรอยู่ในป่า กับการอยู่เป็นคนธรรมดาที่ไม่มีอำนาจหรือบทบาทอะไรในสังคมหรือองค์กรนั้นๆ   

 

               คุณธรรมของนักปกครองนักบริหาร ที่ต้องมีเหนือกว่าคนธรรมดาทั่วไปอย่างหนึ่งก็คือ การมีความกล้าหาญที่จะจัดการคนชั่ว คนเกเร คนผิดคนเลวตามสมควรแก่ความผิด โดยไม่มีอคติและคงไว้ซึ่งพรหมวิหาร  ซึ่งสิ่งนี้เป็นสิ่งที่ทำได้ยาก เพราะต้องใช้กำลังใจอย่างสูงและต้องมีอำนาจบารมีในตัวเอง จึงจะทำการได้สำเร็จลุล่วงและเป็นไปด้วยความเรียบร้อย

 

                บุคคลใดไม่มีความกล้าหาญและมีน้ำใจเด็ดเดี่ยวมั่นคงพอในการจะทำในสิ่งนี้  หากไปเป็นนักปกครองนักบริหาร เพราะความทะเยอทะยานหรือมักใหญ่ใฝ่สูงในตำแหน่งเพียงอย่างเดียว  จะทำให้องค์กร หน่วยงาน หรือสถาบันนั้นๆล้มเหลวหรือล่มสลาย  เพราะการเอาแต่รักษาน้ำใจคนทำผิดหรือคนเลว กลัวคนพาลจะโกรธ  กลัวตัวเองจะเดือดร้อน จึงไม่กล้าเปลืองตัว ไม่กล้าจัดการอะไรในทางที่ถูกที่ควร  สุดท้าย  การไปใจดีกับคนทำผิดทำความชั่วความเลว  จะเป็นการทำลายหน่วยงานหรือองค์กรนั้นๆให้ล่มสลายลงด้วยนักปกครองหรือนักบริหารผู้อ่อนแอและขาดจิตสำนึกแห่งการเสียสละเช่นนั้นในวันหนึ่ง

 

                 ดังนั้น  หากใครจะต้องทำหน้าที่ในทางปกครองหรือต้องรับหน้าที่บริหารงานในหน้าที่หนึ่งหน้าที่ใด  ต้องมีความกล้าหาญในการจัดการลงโทษคนทำผิดคนทำชั่ว  และต้องกล้าปกป้องคุ้มครองคนดี คนสุจริต คนมีคุณธรรม  นี้คือคุณธรรมอันยิ่งใหญ่ซึ่งคนที่มีหัวใจธรรมดาจะทำไม่ได้  แต่คือวิสัยและอำนาจบารมีเฉพาะตัวของการเป็นนักปกครองหรือนักบริหารโดยตรง

 

                  หลักการบริหารการปกครอง  ต้องใช้หลัก " จัดการคนชั่ว อภิบาลคนดี" ไม่ใช่ไปใช้หลักปล่อยวางความดีความชั่วแบบพระอริยเจ้า  การบริหารการปกครองต้องใช้หลักของปุถุชน  คือต้องชี้ผิดชี้ถูก อะไรดีอะไรไม่ดี  ต่างจากการดำเนินจิตอันเป็นเรื่องภายในส่วนตัว  ต้องวางจิตอยู่เหนือดีเหนือชั่วและปล่อยวาง

 

                ด้วยเหตุนี้พระอริยเจ้าในสายวัดป่าส่วนใหญ่ ท่านจึงมักให้ลูกศิษย์ที่ไว้ใจได้ให้รับหน้าที่เป็นเจ้าอาวาสเพื่อรับหน้าที่ปกครองบริหารจัดการงานแทน ส่วนท่านจะดำรงตนอยู่ในฐานะเป็นประธานเพื่อเป็นขวัญกำลังใจของทุกฝ่าย  ไม่ต้องไปคอยชี้ผิดชี้ถูกแก่ใคร  มีแต่แสดงธรรมโปรดผู้คนทั่วไปเสมอหน้ากันทั้งคนดีคนชั่ว  ส่วนการจัดการคนชั่ว  อภิบาลปกป้องคนดี ก็มีลูกศิษย์ที่ท่านไว้ใจในการช่วยบริหารงาน

 

                   นี้คือหลักการบริหารงานพระศาสนาซึ่งต่างจากการบริหารงานของชาวโลก  หากใครไม่เข้าใจหลักการนี้  จะเข้าใจผิดโดยการเอาเรื่องการปล่อยวางไปใช้ในการบริหารงานบริหารบุคคล  ใครทำผิดก็ไม่กล้าจัดการตักเตือนลงโทษ  โดยคิดว่าวางเฉยดีกว่าเป็นการรักษาความมีคุณธรรมของตนไว้ ให้ผู้คนมองว่าตนเป็นคนดีมีคุณธรรมสูง  แต่หาไม่รู้ว่าบางเรื่องบางกรณี กลายเป็นเรื่อง "ไร้คุณธรรม"ที่ไม่ปกป้องคนสุจริต คนดี แล้วปล่อยให้คนทำผิดทำชั่วเหิมเกริมและลอยนวลไม่มีความยำเกรงสิ่งใด

 

                      เมื่อเรารับหน้าที่ในการบริหารจัดการหรือรับหน้าที่ทางการปกครอง  เราต้องรักษาคุณธรรมที่เหนือกว่าคนทั่วไป โดยการกล้าจัดการคนทำผิดทำชั่ว  พร้อมทั้งคอยปกป้องคนสุจริตคนดีไม่ให้อยู่ท่ามกลางความหวาดกลัว  เราต้องทำสองสิ่งนี้จึงจะได้ชื่อว่านักบริหารนักปกครองที่มีคุณธรรม

 

                     บุคคลใดที่ดำรงไว้ซึ่งความกล้าหาญทางจริยธรรมเช่นนี้  อำนาจจิตของบุคคลนั้นจะเปลี่ยนจากดวงจิตของคนธรรมดา  กลายเป็นดวงจิตของเทพเจ้าฝ่ายปกครองในสวรรค์ ซึ่งต้องใช้ความบากบั่นในการสร้างตบะบารมีมามากกว่าเหล่าเทวดาชั้นสามัญ  เพราะไม่ใช่สั่งสมแต่บุญกุศลเพียงอย่างเดียวเท่านั้น  แต่ได้บำเพ็ญตบะเดชะมายิ่งยวดจึงจะดำรงฐานะเป็นเทพเจ้าฝ่ายปกครองได้  และตบะบารมีที่บำเพ็ญได้ยากกว่าการเป็นแค่เทวดาทั่วไป ก็คือการกล้าจัดการคนชั่วและอภิบาลคนดีนี้นั่นเอง

 

                      เส้นทางของพระอริยเจ้าคือการปล่อยวางทั้งความดีความชั่ว  แต่ถ้าหากพระอริยเจ้ารูปนั้นท่านจำเป็นต้องมาทำหน้าที่ในการปกครองหรือบริหารงานในบางครั้งบางกรณี  ท่านก็ยังต้องน้อมจิตลงมาจัดการคนชั่วและปกป้องคนดีตามสมมุติของชาวโลกเพื่อรักษาธรรมเนียมอันดีงามของโลกไว้  นี้คือดวงจิตที่เหนือโลกที่ปุถุชนยากจะหยั่งถึงและยากจะเข้าใจ

 

                       หากจิตดวงนี้ไม่ยึดติดทั้งดีและชั่วเป็นพื้นฐานของจิต   จิตเดิมแท้รู้ชัดว่าไม่มีอะไรยึดได้ทั้งดีและชั่ว  แต่เมื่อต้องทำหน้าที่ตามสมมุติโลกก็จัดการทุกอย่างไปตามเหตุการณ์เฉพาะหน้าโดยดำรงสติไว้ได้ไม่หมองมัว  จะยกย่องคนดีหรือจัดการคนชั่วก็ทำไปตามเหตุตามปัจจัย

 

                      ดวงจิตใดดำเนินและเป็นไปเช่นนั้น  ดวงจิตนั้นย่อมไร้ซึ่งอุปสรรคทั้งปวง  แม้จะมีปัญหามากมายเพียงใด แต่ใจดวงนั้นย่อมไม่รู้สึกว่าสิ่งต่างๆเหล่านั้นคืออุปสรรคอีกแล้ว

 

 

                                                                             คุรุอตีศะ

                                                                      ๒  เมษายน  ๒๕๕๗