ความทุกข์ของคนดี
- รายละเอียด
- หมวด: LanDharma
ความทุกข์ของคนดี
ผู้คนส่วนใหญ่มีความสนใจและเข้าใจดีว่า คนที่ทำชั่ว ทำผิดพลาด ต้องประสบกับความทุกข์และมักให้ความเห็นใจแก่ผู้คนที่ทำผิดเหล่านั้นอยู่มากมาย แต่คนดีอีกหลายคนที่ไม่ได้เบียดเบียนใคร บางทีต้องทนต่อแรงกดดันอะไรมากมาย ต้องได้รับผลจากการกระทำของคนอื่น แต่ก็มีน้อยนักที่จะมีคนเห็นใจ มองเห็นหัวอกและความทุกข์ของคนดีเหล่านั้น
เรามักเห็นใจคนชั่ว คนเลวที่มีทุกข์ แต่คนที่ทำความดีมาตลอด กลับไม่มีใครสนใจในความทุกข์และเห็นใจในความอดทนอดกลั้นของคนดีมีศีลธรรมและเสียสละเหล่านั้น
การทำความชั่ว ความเลว ทำในสิ่งที่ผิดพลาด เป็นสิ่งที่ทำได้โดยง่าย จะทำเวลาใดก็ได้ และคนส่วนใหญ่มักมีใจน้อมที่จะทำความชั่วกันอยู่แล้ว ดังนั้น คนทั้งหลายจึงเข้าใจหัวอกคนชั่วได้ง่ายกว่าการจะเข้าใจในหัวอกของคนดี
คนเกเร คนอันธพาลจะมีเพื่อนมาก จะมีคนเข้าใจได้ง่าย แต่วันใดคนที่เคยเกเรเคยเป็นอันธพาลคนนั้นกลับตัวกลับใจหันมาสนใจในบุญกุศลและคุณธรรมความดี เพื่อนของเขาจะหายหน้าไป เขาจะเริ่มโดดเดี่ยวไม่มีเพื่อนมากมายเหมือนแต่ก่อน
เพราะคนส่วนใหญ่กลัวการไม่มีเพื่อน กลัวจะต้องอยู่อย่างโดดเดี่ยว จึงมักจะเลือกที่จะอยู่ท่ามกลางคนชั่วด้วยกันมากกว่าที่จะเลือกคุณธรรมความดี ทั้งที่ๆทุกคนก็รู้แก่ใจดีว่าอะไรดี อะไรไม่ดี แต่ก็มักเลือกที่จะทำในสิ่งที่ไม่ดีตามคนอื่นเพราะกลัวจะไม่มีเพื่อนไม่มีคนเข้าใจนี้นั่นเอง
การทำความชั่ว เป็นสิ่งที่ทำได้โดยง่าย จะทำตอนนี้ก็ได้เพราะไม่ต้องใช้ความอดทนหรือฝืนใจอะไร ดุจการปล่อยให้เรือหรือสวะลอยไปตามกระแสน้ำ เราไม่จำเป็นต้องใช้ความสามารถอะไรมากมายนักก็ทำความชั่วได้สำเร็จแล้ว
การทำความดี คือการพายเรือทวนกระแส จึงเป็นสิ่งที่ทำได้โดยยากและเป็นสิ่งที่ต้องใช้กำลังใจอย่างมากจึงจะทำได้สำเร็จ ในโลกนี้จึงมีคนทำความดีน้อย มีคนทำชั่วมากกว่า และที่เคยทำดีตลอดมา ก็พลัดตกลงไปทำความชั่วเหมือนคนอื่นก็มีอีกมาก คนในโลกส่วนมากจึงไม่อยากทำความดีเพราะเหตุนี้
ไม่ว่าเราจะเลือกทำความชั่ว ปล่อยตัวหรือปล่อยชีวิตให้ลอยไปตามกระแส ตามคนอื่น หรือตามสังคมสักเพียงใด แต่ผลสุดท้ายสักวันหนึ่ง เราและเขาเหล่านั้นก็ต้องตัดสินใจพายเรือทวนกระแสน้ำกลับขึ้นไปสู่ฝั่งวันยังค่ำ คือสุดท้ายก็ต้องกลับตัวกลับใจมาทำความดี แล้วเหตุใดเราจึงไม่รีบตัดสินใจละจากความชั่วแล้วรีบเร่งทำความดีเสียแต่วันนี้ ก่อนที่เรือลำนี้จะจมลงใต้น้ำและสายเกินไป
ด้วยเหตุนี้ จึงมีคำสุภาษิตว่า "ทางเตียนเวียนลงนรก ทางรกวกขึ้นสวรรค์" หมายความว่า หนทางที่จะนำเราไปพบความวิบัติ ความทุกข์ความหม่นหมอง นำไปสู่นรกนั้น ผู้คนทั้งหลายพากันเดินไปมากมายจนหนทางเตียนโล่งไปหมดทุกเมื่อเชื่อวัน
ส่วนเส้นทางที่จะขึ้นไปสู่สวรรค์ ที่จะพบกับความสุขความรื่นรมย์ในบั้นปลายนั้น เต็มไปด้วยป่ารกเพราะไม่ค่อยมีคนเดิน คนที่ตั้งใจทำความดีหรือที่จะได้ไปสวรรค์จึงจำต้องเดินสวนทางกับคนอื่นที่กำลังเดินอยู่มากมายเหล่านั้น และต้องมีสติปัญญาอันแยบคายที่รู้ทันว่า ทางขึ้นสวรรค์นั้นซ่อนอยู่ในป่ารกที่คนทั่วไปมองไม่เห็นและไม่ค่อยมีใครเดิน ผู้ที่มีปัญญาอันลึกซึ้งอย่างนี้เท่านั้นจึงจะพบทางขึ้นสวรรค์ได้สำเร็จ
โจรย่อมเข้าใจและเห็นอกเห็นใจโจรด้วยกัน โจรย่อมไม่มีความเห็นใจตำรวจและเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองเป็นธรรมดา วันใดที่โจรเข้าใจและเห็นใจเจ้าหน้าที่ วันนั้นเขาย่อมเลิกเป็นโจรแน่นอน
บุคคลผู้ใฝ่ดีหรือตั้งใจทำความดีทั้งหลาย จึงต้องมีสติปัญญาอันแยบคายในการดำเนินชีวิตประการหนึ่งว่า ทางแห่งความดีหรือทางไปสวรรค์นั้นถูกซ่อนอยู่ในที่รกเพราะนานๆทีจึงจะมีคนเดิน ส่วนทางที่เตียนโล่งผู้คนพากันเดินฉุยฉายหัวเราะร่ากันอยู่นั้น เขากำลังพากันเดินลงเหวไปสู่นรก แต่เขาพากันคิดว่าทางนั้นเป็นทางไปสวรรค์ด้วยความหลงผิดเท่านั้น เราอย่าไปให้ค่าหรือใส่ใจต่อคนที่กำลังประมาทเหล่านั้นจนตัวเองเกิดความหวั่นไหว แต่จงรีบพายจ้ำทวนกระแสน้ำขึ้นไปสูฟากฝั่งที่ปลอดภัยดีกว่า การตั้งหน้าตั้งตาประคองสติมั่นในการพายเรือเพื่อให้ถึงจุดหมายต่างหากคือภาระหน้าที่ของเราขณะนี้โดยตรง
ทางแห่งความดีนั้น ย่อมทำยากในตอนแรกเหมือนการตัดสินใจพายเรือทวนกระแสน้ำ ความยากอันดับแรก คือการละจากความชั่ว ทำอย่างไรใจจึงจะเข้มแข็งพอในการที่จะละเว้นจากความชั่วเหล่านั้นได้ ความยากในขั้นต่อไป คือการทำความดีให้เต็มที่เต็มกำลัง ทำอย่างไรจึงจะมีกำลังใจทำความดีอย่างไม่มีการท้อแท้เบื่อหน่าย จนหัวใจเต็มไปด้วยความปีติและภูมิใจว่าเกิดมาชาตินี้เราได้ทำความดีอย่างเต็มที่แล้ว
ความยากประการสุดท้าย คือการทำอย่างไรที่จะให้ใจดวงนี้ไม่หวั่นไหว มีความผ่องใส ไร้ความวิตกกังวล ไม่ต้องเป็นคนดีที่มีความทุกข์ อันเป็นความดีที่พิเศษที่ยืนอยู่เหนือดีเหนือชั่ว เหนือกว่าชาวโลกทั่วไป ความดีประเภทนี้เองที่ชาวโลกจะรู้จักได้ ก็ต่อเมื่อมีพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามาตรัสรู้เท่านั้น
หากไม่มีพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พวกเราทั้งหลายจะรู้จักแต่คำสอนที่สอนว่า "ไม่ให้ทำความชั่ว ให้ทำแต่ความดี" แต่คนที่ทำความดีแล้ว ยังมีความยึดมั่นถือมั่น มีความวิตกกังวลนั้นจะทำอย่างไรต่อไป ยกเว้นแต่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว จะไม่มีใครสอนวิชาเหนือดีเหนือชั่ว เพื่อให้คนดีเหล่านั้นทั้งหลายอิสระจากความทุกข์ ความคับแค้นและความบีบคั้นในหัวใจได้เลย
การจะเข้าถึงคำสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ต้องเริ่มต้นที่การละจากความชั่วเหมือนการล้างเหงื่อไคลล้างตัวให้สะอาดเสียก่อน หลังจากนั้นก็ทำความดีให้ถึงพร้อมเหมือนการปะแป้งแต่งตัวให้สวยงามอย่างเต็มที่ ต่อจากนั้นก็ฝึกฝนจิตใจให้ดีให้มีความผ่องใสไร้กังวลเหมือนคนที่ออกสังคมนอกจากแต่งตัวสวยแล้วยังมีมารยาทและจิตใจงามพร้อมอีกด้วย ชีวิตเช่นนี้จึงจะมีความสุขและสมบูรณ์
ความทุกข์ของคนดีแทบทั้งหมด เกิดมาจากความยึดมั่นถือมั่น เมื่อตนเองทำความดีแล้วก็อยากบังคับหรือบงการให้คนอื่นเขาทำเหมือนตนเองด้วย เห็นคนเขาเดินบนทางโล่งๆแต่เรารู้ว่าเขาจะพากันไปตกเหวตาย จึงพยายามจะเคี่ยวเข็ญให้เขามาเดินเส้นทางนี้ที่ตนกำลังเดิน แต่บังเอิญทางนี้เป็นทางรกมากแทบมองไม่เห็นทาง ผู้คนเหล่านั้นนอกจากจะไม่ยอมเดินแล้วเขายังตะคอกใส่หน้าตัวเองอีกด้วยว่า "แกนี่ช่างโง่เขลา ทางที่เตียนโล่งกลับไม่เดินเหมือนคนอื่น กลับมาทำในเรื่องที่โง่เง่า มาเดินอะไรในป่ารกแบบนี้ นึกว่าจะมีสติปัญญา แต่กลับมาทำอะไรในสิ่งไร้ประโยชน์ ช่างเป็นคนสิ้นคิดอะไรเช่นนี้"
ฝ่ายคนที่ตั้งอกตั้งใจประพฤติความดีมาเป็นเวลานาน บางคนทนไม่ไหวก็หอบเสื้อผ้ากลับบ้าน กลับไปเดินทางเตียนเป็นเพื่อนกับพวกนั้นดีกว่า บางคนก็ยังใจแข็งและมั่นคงอยู่ได้แต่ก็ต้องเสียน้ำตา ด้วยความเสียใจว่า "เราทำแต่ความดีไม่ได้เบียดเบียนใครแท้ๆ แต่ทำไมมีแต่คนมาทำร้ายจิตใจเรา"
นักปราชญ์ทั้งหลายในโลกท่านบอกผู้คนมาทุกยุคทุกสมัยว่า การทำความดีหรือการสร้างกุศลสร้างบารมีนั้น ย่อมเหมือนการพายเรือทวนกระแสน้ำ ตอนแรกก็ต้องพบกับความลำบากและต้องผ่านความทุกข์ยากเป็นธรรมดา แต่เมื่อผ่านความเชี่ยวกรากของสายน้ำขึ้นไปได้แล้ว ก็จอดเรือวางฝีพายไว้ริมฝั่งแล้วนอนพักได้อย่างสบาย ขอเพียงออกแรงแข็งใจพายขึ้นไปอีกสักหน่อยก็ถึงจุดหมายแล้ว
โลกมนุษย์ของเรานี้ เปรียบเหมือนชุมทางใหญ่ซึ่งเป็นที่รวมของเส้นทางทุกสายแบบสถานีรถไฟหัวลำโพงหรือสถานีขนส่งผู้โดยสารหมอชิต เป็นภพภูมิกลางๆที่ใครจะเลือกเดินไปทางไหนก็ได้ ใครจะเลือกเดินทางเพื่อไปเป็นเทวดาก็ทำได้ หรือใครจะเลือกไปเป็นสัตว์เดรัจฉาน ไปเป็นเปรต ไปเป็นอสุรกาย หรือเป็นสัตว์นรก ก็สามารถเลือกได้ตามใจทั้งสิ้น
หากต้องการไปเกิดเป็นเทวดาบนสวรรค์หรือได้กลับมาเป็นมนุษย์อีก ก็เลือกเส้นทางที่รกคือหมั่นอดทนอดกลั้นต่อการสร้างบุญกุศลและการบำเพ็ญบารมี หากอยากไปเกิดเป็นสัตว์เดรัจฉาน สัตว์นรก เปรต อสุรกาย ก็ทำได้ง่ายคือเดินทางที่เตียนโล่งซึ่งใครๆก็เดินกันอยู่แล้ว คือหมั่นมีความโลภมากๆ โกรธแค้นอาฆาตพยาบาทมากๆ ลุ่มหลงมัวเมาให้มากเข้าไว้ รับรองว่าได้ไปเกิดในสถานที่เหล่านั้นสมใจ แต่จะได้กลับมาเกิดเป็นมนุษย์อีกได้เมื่อไหร่ ข้อนี้ไม่มีใครกล้าพยากรณ์หรือรับรอง
พระพุทธองค์ทรงตรัสเตือนพวกเราว่า "เมื่อทำความดีแล้ว จงรักษาคุณความดีของตนไว้ ดุจเกลือรักษาความเค็ม" แสดงว่าการทำความดีนั้นต้องมีสติอยู่เสมอ อย่าให้สิ่งใดหรือบุคคลใดมาทำลายความดีที่ตนอุตส่าห์ประพฤติบำเพ็ญ เหมือนเกลือที่รักษาคุณค่าความเค็มของเกลือไว้อย่างมั่นคง
ความทุกข์ของคนดีคือความทุกข์จากความยึดมั่นในความดีแล้วเกลียดคนชั่ว การทำความดีอย่างเดียวจึงยังไม่เป็นการเพียงพอ ต้องรู้จักการเจริญสติในชีวิตประจำวันด้วย สติจะได้เป็นปราการคุ้มครองใจไม่ให้ถือสาต่อความผิดพลาดและความชั่วของใครที่เขายังใช้ชีวิตด้วยความประมาทอยู่
คนดีที่รู้จักเจริญสติอย่างเป็นธรรมชาติ จะมีความมั่นคงในการรักษาคุณงามความดีของตน จะรู้จักอดทนในสิ่งที่ควรอดทน รู้จักที่จะใช้ความกล้าหาญในการแก้ปัญหาและอุปสรรค จะมีความรักความเข้าใจและมีความเห็นอกเห็นใจคนอื่น ไม่อยากซ้ำเติมคนที่ทำความผิดพลาดและสำนึกผิดแล้ว จะเป็นผู้สามารถให้กำลังใจแก่คนที่กำลังทำความดี มีความเห็นอกเห็นใจคนที่ทำผิดทำชั่วหรือมีความผิดพลาดในชีวิต คนดีเช่นนี้จะเป็นที่พึ่งที่พักพิงให้แก่ผู้คนได้อย่างกว้างขวางทั้งคนดีและคนชั่ว
สำหรับคนที่ทำความผิดพลาดในชีวิตมาแล้ว ขอจงมีกำลังใจและเลิกสนใจอดีตเสียแต่วันนี้ จงเชื่อมั่นและเข้มแข็งในการที่จะเริ่มต้นชีวิตใหม่ เพียงแข็งใจลุกขึ้นอีกนิดเดียว เราก็จะพบชีวิตใหม่ที่สดใสแล้ว
ขอให้ผู้ที่ตั้งใจทำกุศลคุณความดีทั้งหลาย จงมีกำลังใจและบากบั่นทำความดีต่อไป บุคคลใดเป็นผู้สูงส่งด้วยคุณธรรมความดีอยู่แล้ว ขอจงรักษาความสูงส่งของตนไว้ อย่าให้สิ่งใดดึงเราลงสู่ที่ต่ำเป็นอันขาด จงรักษาคุณความดีของตน ดุจเกลือคงไว้ซึ่งความเค็มไม่มีการเปลี่ยนแปลงตลอดกาล
คุรุอตีศะ
๒๗ มีนาคม ๒๕๕๗