การประพฤติพรหมจรรย์
- รายละเอียด
- หมวด: LanDharma
การประพฤติพรหมจรรย์
คนเราเมื่อกระทำบำเพ็ญคุณงามความดีด้วยทาน ศีล ภาวนาอย่างเป็นไปตามขั้นตอนและด้วยความสม่ำเสมอแล้ว จะเกิดวิวัฒนาการของชีวิตขึ้นมาในทางที่งดงามและสูงส่งขึ้นอย่างเป็นธรรมชาติ จิตจะก้าวสู่ความเจริญงอกงามด้วยคุณธรรมภายใน ทำให้เกิดความรู้สึกอยากประพฤติธรรมให้เคร่งครัดและประณีตสูงขึ้นถึงในขั้น "การประพฤติพรหมจรรย์" อันเป็นมงคลประการที่ ๓๒ ในมงคล ๓๘ ซึ่งพระสงฆ์จะนำมาสวดในพิธีเจริญพระพุทธมนต์ในงานมงคลเพื่อทำน้ำมนต์ทุกงานที่ได้รับอาราธนานิมนต์
การประพฤติพรหมจรรย์ คือ การประพฤติอย่างพรหม การมีชีวิตอย่างประเสริฐอย่างพรหม เป็นการประพฤติตามคุณธรรมต่างๆในทางพระพุทธศาสนาให้เคร่งครัดยิ่งขึ้น เพื่อไม่ให้กิเลสฟูกลับขึ้นมาอีก
ตามธรรมดาของปุถุชน แม้จะทำความดีและมุ่งมั่นในการปฏิบัติธรรมสักเพียงใด เมื่อถึงจุดหนึ่ง หากเกิดความประมาทกิเลสก็ฟูกลับขึ้นมาได้ กลายเป็นคนหันหลังให้กับการทำความดีหรือเลิกประพฤติธรรม ซึ่งเรามักพบเห็นได้ทั่วไป ที่บางคนเคยไปวัดรักษาศีลมีลักษณะของผู้ใฝ่ในการประพฤติธรรมอย่างเคร่งครัด ต่อมาภายหลังเขากลับหันหลังให้กับการประพฤติธรรมกลายเป็นคนทำตัวไหลไปตามกระแสกิเลสแบบชาวโลกทั่วไป ที่เป็นเช่นนั้นก็เพราะว่า เขาประมาทไม่รีบประพฤติพรหมจรรย์ให้ยิ่งขึ้นไป ในขณะที่จิตใจกำลังเต็มเปี่ยมด้วยกุศลธรรมความดี ชีวิตของเขาจึงตกต่ำลงไปอย่างที่เห็น
ชาวสวนชาวไร่ หลังจากแผ้วถางป่า เผาหญ้ากำจัดวัชพืชเรียบร้อยแล้ว ต้องรีบปลูกพืชผักผลไม้ลงไป ก่อนที่หญ้าและวัชพืชจะงอกระบาดขึ้นมาใหม่ คนเราเมื่อบำเพ็ญตบะด้วยทาน ศีล ภาวนา ทำความเพียรในการก่อสร้างกุศลบารมีจนกิเลสในใจเบาบางแล้ว ก็ต้องรีบปลูกฝังคคุณธรรมต่างๆลงในใจด้วยการประพฤติพรหมจรรย์ เพื่อยกระดับจิตใจให้สูงขึ้น ก่อนที่กิเลสจะฟูกลับขึ้นมาใหม่อีก
ในมงคลสูตรหรือที่เรามักได้ยินบ่อยๆว่า "มงคล ๓๘" ท่านจึงกล่าวถึงมงคลข้อที่ ๓๒ ว่าด้วยการประพฤติพรหมจรรย์นี้ว่าเป็นมงคลอันสูงสุดประการหนึ่งในบรรดามงคลทั้ง ๓๘ ประการ เพราะจะทำให้บุคคลที่อุตส่าห์บำเพ็ญกุศลความดีด้วยความเหนื่อยยากพากเพียรตลอดมานั้น ไม่มีวันต้องตกต่ำหรือถอยหลังกลับในการทำความดีอีก เหมือนคนที่ผ่านด่านสำคัญของชีวิตที่มีแต่จะก้าวหน้าไปอย่างเดียว
การประพฤติพรหมจรรย์นั้น ท่านแบ่งออกเป็น ๓ ระดับ ตามความเข้มแข็งของจิตใจหรืออินทรีย์ของแต่ละคน แล้วแต่ว่าบุคคลนั้นๆจะปฏิบัติได้ในพรหมจรรย์ขั้นไหนในชีวิตจริงของตน ใครปฏิบัติได้ในระดับใด ก็ย่่อมปลอดโปร่งหัวใจและมีความสงบสุขร่มเย็นในชีวิตของตนตามภูมิจิตนั้นๆ
พรหมจรรย์ชั้นต้น สำหรับผู้ครองเรือน ก็ให้ประพฤติพรหมจรรย์ด้วยการพอใจเฉพาะคู่ครองของตนเท่านั้น พรหมจรรย์ชั้นต้นนี้ ก็คือการรักษาศีล ๕ ไม่นอกใจภรรยาสามี ภาษาบาลีท่านใช้คำว่า "สทารสันโดษ" (สะ-ทา-ระ-สัน-โดด) ใครปฏิบัติได้ในข้อนี้ ท่านก็ยกย่องว่าบุคคลนั้นได้ประพฤติพรหมจรรย์เหมือนกัน เพราะต้องเป็นผู้มีสติและมีจิตใจที่เข้มแข็งหนักแน่นจึงจะประพฤติและปฏิบัติได้ นี้คือการปฏิบัติธรรมอันสำคัญสำหรับผู้ครองเรือน อันเป็นการประพฤติพรหมจรรย์ในชั้นต้น
พรหมจรรย์ชั้นกลาง สำหรับผู้ครองเรือนอีกเช่นกัน แต่ประพฤติปฏิบัติให้สูงขึ้นไปอีกและใช้กำลังใจที่สูงกว่า คือนอกจากรักษาศีล ๕ แล้ว ก็ให้รักษาศีล ๘ เป็นคราวๆไปและหมั่นฝึกจิตใจให้มีพรหมวิหาร ๔ พรหมจรรย์ชั้นนี้หากใครปฏิบัติได้ คู่สามีภรรยาจะเริ่มพัฒนาจากความเป็นสามีภรรยาธรรมดา กลายเป็นคู่บารมีและเกิดความรักความเคารพกันยิ่งขึ้น หากยังไม่สิ้นกิเลสไปเกิดและพบกันในชาติใหม่ ก็จะเป็นคู่สร้างคู่สมพากันสร้างความดีต่อไป กรรมจะจัดสรรให้เกิดในวัยและอายุที่มีความเหมาะสมกัน และตราบใดที่ยังไม่พบคู่ที่แท้จริงของตน ก็จะไม่สับสนในการเลือกคู่เหมือนปุถุชนคนอื่น
พรหมจรรย์ชั้นสูง สำหรับผู้ไม่ครองเรือน ถ้าเป็นฆราวาสอย่างน้อยก็รักษาศีล ๘ ตลอดชีวิต โดยมีจุดหมายประจำดวงจิตที่จะไม่ยุ่งเกี่ยวกับเรื่องทางเพศเลย หรือออกบวชเป็นพระภิกษุ เจริญสมาธิวิปัสสนา ปฏิบัติธรรมตามหลักไตรสิกขาคือ ศีล สมาธิ ปัญญา เพื่อความเจริญงอกงามในพระพุทธศาสนาอย่างเต็มที่ การประพฤติพรหมจรรย์ในชั้นนี้นั่นเองที่เราเข้าใจกันโดยทั่วไป
ความสุขในภูมิชั้นของโลกียภูมิ ย่อมมีทั้งสุขและทุกข์คละเคล้ากันไป ความสุขในชั้นนี้ย่อมมีการยักย้ายถ่ายเทขึ้นลงได้ตลอด เอาอะไรแน่นอนไม่ได้ มีลูกมีครอบครัวก็คิดว่าจะสุข พอมีเข้าจริงก็มีเรื่องให้กลุ้มใจให้ทุกข์จนได้ คนที่ยังหาคู่ไม่ได้ ก็มักคิดว่าหากแต่งงานวันไหน ชีวิตนี้จะมีความสุข พอแต่งแล้วกลับพบกับความทุกข์ที่หนักกว่าเดิมหลายเท่า แต่ก็ไม่อาจบอกใครได้ จึงต้องฝืนยิ้มกล้ำกลืนกันไป อยากกลับไปเป็นโสดใหม่ ก็หมดโอกาสอีกแล้วตลอดชีวิต นี้คือโมหะที่มาบังตาให้ผู้คนหลงวนอยู่ในโลก หากไม่ได้มีโอกาสฟังธรรมจากพระอริยเจ้าด้วยใจที่เคารพ จะไม่มีปัญญามองเห็นความจริงข้อนี้เลย
ความสุขในทางโลกท่านเปรียบเหมือนพยับแดด ซึ่งพอเข้าไปใกล้กลับไม่เห็นมีอะไร สุขทางโลกีย์ก็เหมือนกัน ได้แต่หวังว่าจะเจอสุข แต่พอเจอเข้าจริงกลับกลายเป็นทุกข์อยู่ร่ำไป
คนชาวโลกที่หลงวิ่งตามความสุขและเข้าใจว่าตัวเองมีความสุขกันอยู่นั้น เพราะไม่มีโอกาสได้ฟังธรรมและเกิดปัญญามองเห็นความจริงของชีวิตอย่างที่พระอริยเจ้าท่านมองเห็น หากวันใดบุคคลนั้นเกิดปัญญาอันแท้จริง บุคคลนั้นจะเกิดความสลดสังเวชในการที่ตนหลงเล่นอุจจาระเล่นดินดุจเด็กน้อยมาช้านาน ผู้ที่เห็นคุณค่าพระนิพพานหรือการประพฤติพรหมจรรย์จนสละทางโลกได้ จึงมีอานิสงส์อันยิ่งใหญ่ที่ทั้งมนุษย์และเทวดาตลอดทั้งภพภูมิที่อยู่ในภาคกายทิพย์ต่างพากันสรรเสริญและอนุโมทนา
หากเราเป็นผู้ครองเรือน เราจงประพฤติพรหมจรรย์ในชั้นต้นและชั้นกลางเพื่อประคองชีวิตของเราไม่ให้ไหลลงไปสู่ทางที่ชั่วหรือตกต่ำลงไปเหมือนคนอื่น แม้จะยังยินดีและพอใจในความสุขที่ยังอาศัยกามารมณ์เป็นหลักอยู่ แต่ก็เป็นการบริโภคกามอย่างมีสติ ดุจคนมีปัญญารู้จักใช้ไฟในการหุงข้าวต้มแกง แต่ก็รู้จักโทษของไม้ขีดไฟว่าไม้ขีดเพียงก้านเดียวก็สามารถทำให้ไฟไหม้บ้านวอดวายทั้งหลังได้ ผู้อยู่ครองเรือนจึงต้องมีสติระวังในการบริโภคใช้สอยกามารมณ์ไม่ให้เกิดทุกข์โทษตามมา คือครองตนอยู่ในศีล ๕ ไว้
การประพฤติพรหมจรรย์ในชั้นนี้ จะส่งผลให้บรรลุเป็นพระอริยบุคคลชั้นโสดาบันในชีวิตนี้หากรู้จักการเจริญสติภาวนา หากเกิดใหม่ในชาติหน้าจะไม่อาภัพรักและได้พบคู่แท้ในการสร้างบารมีต่อไป
นักปฏิบัติธรรมควรมีความเข้าใจเรื่องการประพฤติพรหมจรรย์กำกับไว้ด้วย จึงจะไม่หลงผิดเดินออกนอกทางหรือถูกมารล่อลวงให้ติดบ่วง เป็นเครื่องกั้นการเจริญอริยมรรคของตน มิฉะนั้น จิตจะเต็มไปด้วยนิวรณ์ทั้ง ๕ ทำให้ใจเกิดความขุ่นมัวหรือเกิดความเศร้าหมอง ทำสมาธิเท่าไหร่ใจก็ไม่สงบลงได้
บุคคลใดปรารถนาปฏิบัติธรรมเพื่อการสู่มรรคผลหรือการมีชีวิตอยู่กับการเจริญสติที่รู้ ตื่น เบิกบาน ต้องมีพื้นฐานของการประพฤติพรหมจรรย์ขั้นต้นรองรับ มิฉะนั้นการปฏิบัติธรรมจะได้เพียงความสบายใจเป็นครั้งคราว แล้วความทุกข์ก็เกิดใหม่วนไปวนมาซ้ำแล้วซ้ำเล่า เหมือนคนเป็นโรคเรื้อรังที่ความเจ็บปวดทุเลาลงบ้างเป็นบางครั้งเพราะกินยาระงับความเจ็บปวด ไม่นานความเจ็บปวดก็หวนกลับมาใหม่
พระภิกษุที่มิใช่บวชด้วยเจตนาอย่างอื่น แต่มุ่งออกบวชเพื่อประพฤติพรหมจรรย์ด้วยเจตนาบริสุทธิ์อันแท้จริง เมื่อประพฤติพรหมจรรย์อย่างเคร่งครัดตามพระวินัยบัญญัติ ภายในเวลา ๕ พรรษา หากเจริญสมถภาวนาก็จะได้อัปปนาสมาธิ หากเจริญวิปัสสนาหรือเจริญสติภาวนาก็จะได้บรรลุโสดาบันมีจิตใจมั่นคงในพระศาสนา ยกเว้นมีวิบากกรรมบางอย่าง พระในสมัยก่อนท่านจึงมักเป็นพระแท้มีความสงบมั่นคง บางองค์บางท่านแม้จิตยังเป็นปุถุชน แต่ก็มุ่งมั่นสร้างกุศลบารมีตามอย่างพระโพธิสัตว์
ฆราวาสผู้ตั้งใจประพฤติพรหมจรรย์ด้วยเจตนางดเว้นจากกามารมณ์ จิตใจจะแจ่มใสและมักรู้เห็นอะไรแปลกๆอันเป็นผลจากจิตใจใสสะอาดจากกามารมณ์ หากเป็นสตรีจะไม่เป็นคนที่โหยหาความรักและจะมีอำนาจในตัวเองทำให้บุรุษนึกเคารพยำเกรงอยู่ในที จิตใจจะแจ่มใสเป็นปกติ
บุรุษเพศผู้ตั้งใจประพฤติพรหมจรรย์ชั้นต้น จะทำมาหากินเจริญรุ่งเรืองได้รวดเร็ว และจะทำให้เกิดอานิสงส์ได้พบพระอริยเจ้าแม้ตนเองอาจไม่รู้จักว่าท่านเป็นพระอริยะ ส่วนสตรีผู้ประพฤติพรหมจรรย์ในขั้นต้น จะมีใจร่มเย็นมีความสุขและมีสมาธิอยู่ในตัว จะมีความโอบอ้อมอารีมีน้ำใจและมีไหวพริบปฏิภาณในการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า จิตใจจะน้อมไปสู่การประพฤติพรหมจรรย์ที่สูงขึ้นไป
ผู้ประพฤติพรหมจรรย์ในชั้นกลาง ที่สามารถตกลงพร้อมใจกันละเว้นกามารมณ์ในวันโกนวันพระตามแบบภูมิปัญญาแห่งบรรพกาล อานิสงส์ในการทำในสิ่งที่ฆราวาสทั่วไปทำได้ยากนี้ จะทำให้เทวดายินดีคุ้มครองรักษาครอบครัวนั้น การทะเลาะเบาะแว้ง การหึงหวงการหวาดระแวงจะหายไป
ทั้งสองจะมีความรักความเมตตาและความเคารพนับถือกัน มีความรักที่สะอาดสูงส่งขึ้นดุจเทพเจ้าบนสรวงสวรรค์ จะมีหัวใจที่ไม่เคยขาดแคลนความรักอีกต่อไป จะเป็นผู้บริโภคกามารมณ์อย่างมีสติและจิตใจจะไม่รู้สึกว่าตนขาดแคลนกามารมณ์เหมือนบางครอบครัวหรือบางคู่ คู่สามีภรรยาที่ประพฤติพรหมจรรย์ชั้นกลางได้ จะกลายเป็นอุบาสกอุบาสิกาผู้ยิ่งใหญ่ที่ครองเรือนด้วยการประพฤติธรรม กลายเป็นผู้มีพลังกายพลังใจในการอุปถัมภ์ค้ำชูพระศาสนาได้จนตลอดชีวิต
การประพฤติพรหมจรรย์ไม่ว่าจะเป็นระดับต้น ระดับกลาง ระดับสูง ล้วนเป็นสิ่งที่ทำได้โดยยาก ต้องเป็นมนุษย์ที่มีจิตใจเข้มแข็งจริงๆจึงจะปฏิบัติธรรมในข้อนี้ได้ ดังนั้นพระพุทธองค์จึงจัดไว้เป็นมงคลข้อที่ ๓๒ อันใกล้ข้อสุดท้ายแล้ว บุคคลใดปฏิบัติได้ ชีวิตของบุคคลนั้นย่อมอยู่ใกล้พระนิพพาน หากเป็นฆราวาสก็จะได้เป็นพระโสดาบันก่อนตาย
ในพระไตรปิฎกได้กล่าวไว้ว่า "บุคคลย่อมเข้าถึงความเป็นกษัตริย์ ด้วยพรหมจรรย์ชั้นต่ำ ย่อมเข้าถึงความเป็นเทพ ด้วยพรหมจรรย์ชั้นกลาง ย่อมหมดจดจากกิเลส ด้วยพรพรหมจรรย์ชั้นสูง"
นอกจากนั้น ท่านยังได้กล่าวถึงอานิสงส์การประพฤติพรหมจรรย์ไว้ดังนี้
๑. ทำให้ปลอดโปร่งใจ ไม่ต้องกังวลหรือหวาดระแวง
๒. ทำให้เป็นอิสระ เหมือนนกน้อยบินไปในอากาศ
๓. ทำให้มีเวลามากในการทำความดี
๔. ทำให้เป็นที่สรรเสริญของบัณฑิตทั้งหลาย
๕. ทำให้ ศีล สมาธิ ปัญญา เจริญรุดหน้าไม่ถอยกลับ
๖. ทำให้บรรลุมรรคผลนิพพานได้โดยง่าย
การปฏิบัติธรรมที่จะได้ผลอันแท้จริง หากเป็นฆราวาสต้องประพฤติพรหมจรรย์ขั้นต้นให้ได้เสียก่อน ไม่ใช่ปฏิบัติธรรมเพียงแค่การแสวงหาความสบายใจเป็นครั้งคราวเหมือนการไปปิกนิกเท่านั้น พอสบายใจนิดหน่อยก็ไปเล่นกับไฟหรือเพลิดเพลินหลงระเริงใหม่ พอไม่สบายใจก็ค่อยหันมาปฏิบัติธรรม หากไม่รู้เท่าทันกิเลสของตัวเอง จะกลายเป็นคนลบหลู่ครูบาอาจารย์หรือลบหลู่การปฏิบัติธรรมเมื่อไม่ได้ดั่งใจในภายหลัง ผู้รักการปฏิบัติธรรมที่เห็นภัยในวัฏฏสงสารทั้งหลายพึงมีสติสำรวมระวังและตรวจสอบตัวเองในข้อนี้ไว้เสมอ การไปวัดเพื่อหาความสบายใจกับการไปวัดเพื่อมุ่งประพฤติพรหมจรรย์ย่อมมีผลต่างกัน
สำหรับการประพฤติพรหมจรรย์ในชั้นต้นนี้ หากเป็นสตรีโสด ไม่มีคู่ครองอย่างสมบูรณ์เหมือนคู่สามีภรรยาทั่วไป ก็ต้องประพฤติพรหมจรรย์ชั้นต้นในฐานะของตนให้ได้ ด้วยการไม่ยอมไปเป็นอนุภรรยาหรือภรรยาลับของใครให้จิตใจของตนเกิดปมด้อย
หากเราไม่อาจประพฤติพรหมจรรย์ในชั้นนี้ได้ เราก็ต้องตัดใจเลือกเอาความสุขทางโลก หรือเลือกเอาทรัพย์สินเงินทองความสะดวกสบายแทนการคิดที่จะปฏิบัติธรรมเพื่อบรรลุมรรคผล เพราะถึงจะนั่งสมาธิไปมากเท่าใด มรรคผลก็ไม่เกิดขึ้นอย่างแน่นอน เหมือนคนที่ต้องการเรียนจบแต่ไม่ยอมเรียนวิชาพื้นฐานหรือวิชาบังคับ ย่อมเป็นไปไม่ได้ที่จะสำเร็จการศึกษา ผู้ที่ต้องการปฏิบัติธรรมให้ได้ผล ก็ต้องประพฤติพรหมจรรย์ชั้นต้นไว้เป็นพื้นฐานของชีวิต ความรักที่งดงามและความอบอุ่นในชีวิตจึงจะเกิดขึ้นตามมา
บุคคลใดที่ไม่อาจประพฤติพรหมจรรย์ในชั้นต้นได้ กำลังใจที่อ่อนแอเช่นนั้น ต้องหมั่นบริจาคทานและฟังธรรมเพื่อเสริมกำลังใจไปเรื่อยๆ จนวันหนึ่งศีลที่บกพร่องของเราบริบูรณ์ขึ้นมาเพราะหมดวิบากกรรม สมาธิจะบังเกิดขึ้นโดยอัตโนมัติ ความทุกข์ความหม่นหมองที่มีมาตลอดนั้นจะหายไปทันที
หลังจากนั้นสติธรรมชาติจะบังเกิดขึ้น มีชีวิตประจำวันที่ดำเนินไปด้วยความมีสติ รู้ ตื่น เบิกบาน อย่างเป็นไปเอง เราจะกลายเป็นคนใหม่ ชีวิตใหม่ ปมด้อยในชีวิตทั้งหลายจะหายไป อดีตทั้งหลายจะเป็นสิ่งไร้ความหมายสำหรับเรา นี้คืออานิสงส์อันยิ่งใหญ่ของการประพฤติพรหมจรรย์
คุรุอตีศะ
๒๓ มีนาคม ๒๕๕๗