คำสอนอันเหมาะสม

คำสอนอันเหมาะสม

 


              เมื่อมีการเข้าคอร์สปฏิบัติธรรม  ผู้เข้าปฏิบัติธรรมมักจะได้รับการอบรมในขณะเข้าปฏิบัติว่า “การปฏิบัติธรรม การทำสมาธิ การปฏิบัติวิปัสสนา  ย่อมได้อานิสงส์ยิ่งใหญ่และเป็นบุญอันเยี่ยมยอดกว่าการทำบุญทุกประเภท   ใครจะทำทาน รักษาศีลมามากสักเพียงใด ก็สู้การภาวนาไม่ได้ จะบริจาคทานกี่ล้าน จะสร้างอะไรมากมายแค่ไหน ก็สู้การทำสมาธิหรือวิปัสสนากรรมฐานไม่ได้  เพราะบุญชนิดนี้ มีอานิสงส์มากและเป็นยอดกว่าการทำบุญทั้งปวง”


              ผู้เข้าปฏิบัติธรรมทั้งในแบบเข้าคอร์สตามโครงการปฏิบัติธรรมของหน่วยงาน  ทั้งในแบบไปปฏิบัติตามสำนักต่างๆอันเป็นส่วนตัว  ก็จะเกิดความภาคภูมิใจว่าตนเองได้ทำในสิ่งที่ประเสริฐเยี่ยมยอด “เหนือกว่าคนอื่น” เราได้ทำบุญขั้นสุดยอดที่ชาวบ้านทั่วไปที่ทำทาน รักษาศีลอยู่ตามวัดทั้งหลายไม่สามารถทำแบบเราได้


            แล้วก็เอาแต่พากันนั่งสมาธิ พร้อมกับนึกดูหมิ่นคนที่เขาใจบุญชอบบริจาคทานหรือทำกิจกรรมเกื้อกูลพระศาสนาในด้านต่างๆว่า เป็นคนโง่เขลา มัวแต่ทำในสิ่งที่ได้กุศลน้อยและไร้สาระ  สู้เราไม่ได้ที่รู้จักการภาวนา สุดท้ายก็เกิดอัตตาความถือตัวแล้วดูหมิ่นการสร้างทานบารมี เพราะสติเกิดไม่ทันว่าอกุศลจิตได้เกิดขึ้นแล้ว  อย่างนี้ก็มีมาก


            ต่อมาสมาธิที่เคยได้สมัยก่อนก็ไม่ได้  จึงเกิดความลังเลสงสัยตามมา  จิตใจก็ขาดความเชื่อมั่น ซบเซาเหงาหงอย กลายเป็นคนเฉื่อยชา และกลายเป็นคนขาดความมั่นใจในตัวเอง  บางคนจิตใจตกต่ำถึงขั้นกลายเป็นลบหลู่ดูหมิ่นการปฏิบัติธรรมในภายหลังก็มี  ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะ “ดูหมิ่นการสร้างทานบารมี” ว่าเป็นของต่ำ อันส่งผลให้จิตใจของตัวเองตกต่ำลงไปด้วย


             อกุศลจิตอันเกิดจากการดูหมิ่นคนที่เขาบำเพ็ญทานบารมี ศีลบารมี  ในขณะที่ตัวเองไม่มีสติรู้ทันจิตของตัวเองว่า แท้ที่จริงแล้ว จิตในขณะนั้นถูกมัจฉริยะ ความตระหนี่ และอิสสา ความริษยา ที่ตัวเองไม่มีศรัทธาเพียงพอที่จะสามารถบริจาคเช่นกับเขา ได้ครอบงำดวงจิต การไม่ได้เจริญสติเป็นปกติ  แทนที่จะตั้งจิตอนุโมทนาเป็นกุศลร่วมกับเขา จึงกลายเป็นอกุศลจิตไป


             เมื่อจิตที่ดูหมิ่นทานบารมี ศีลบารมีเกิดขึ้นในจิตบ่อยๆ  จึงกลายเป็นสิ่งบั่นทอนบารมีของตัวเองที่เคยมีอย่างเต็มเปี่ยมสมัยกลับจากการปฏิบัติธรรมใหม่ๆ  ความสงบของจิตใจจึงเสื่อมหายไป  นิวรณ์ทั้งห้าจึงเข้ามาท่วมทับหัวใจแทน


             จะนั่งสมาธิ เดินจงกรมแค่ไหน  ความสงบและความสบายใจก็ไม่เกิดขึ้นเหมือนเมื่อก่อน  จะไปเล่าให้ใครฟังก็ไม่ได้  เพราะจะทำให้สูญเสียความมั่นใจที่ตัวเองเคยมี  นี้คือปัญหาชีวิตของนักปฏิบัติธรรมอีกจำนวนมาก ที่แปลกประหลาดเกินกว่าผู้ที่อกหักหรือมีปัญหาความรักทั้งหลายจะเข้าใจ   จึงเห็นเป็นความจำเป็นที่จะต้องอธิบายเรื่องนี้ไว้พอเป็นสังเขป


             โดยหลักการดั้งเดิมนั้น  การที่ครูบาอาจารย์จะสอนใครว่า “การทำสมาธิ วิปัสสนา หรือการปฏิบัติ  สูงส่งหรือเป็นเยี่ยมกว่าการให้ทาน รักษาศีล  ส่วนการภาวนาเป็นบุญอันสูงสุด”ดังกล่าว   ย่อมหมายถึงบุคคลที่ทำทาน รักษาศีลมาอย่างต่อเนื่อง จนทานบารมี ศีลบารมีของบุคคลนั้นมีพื้นฐานอันมั่นคง  จนถึงขั้นที่จะก้าวสู่การบำเพ็ญภาวนาต่อไป ท่านจึงสอนว่า บุญอันเกิดจากการให้ทาน รักษาศีล สู้บุญจากการบำเพ็ญสมาธิ ปฏิบัติวิปัสสนาไม่ได้  เพื่อให้บุคคลนั้นก้าวขึ้นสู่การดำเนินจิตสู่เส้นทางแห่งอริยะต่อไป  ท่านจึงสอนออกไปเช่นนั้น


             โดยมาตรฐานแล้ว  การที่ใครจะมีศรัทธาถึงขั้นต้องการบำเพ็ญสมาธิวิปัสสนา ท่านย่อมสันนิษฐานไว้ก่อนว่า บุคคลนั้นได้บำเพ็ญทาน ศีลเป็นปกติในชีวิตมาอย่างดีแล้ว สติที่เป็นไปในทาน สติที่เป็นไปในศีล  จึงได้งอกงามและพัฒนามาจนถึงขั้นต้องการบำเพ็ญภาวนา


             เปรียบเหมือนการศึกษาในทางโลก  การที่บุคคลใดยื่นใบสมัครขอเรียนต่อมหาวิทยาลัย  ก็ต้องสันนิษฐานไว้ก่อนว่า บุคคลนั้นคงต้องสำเร็จการศึกษาชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๖ มาแล้ว ดังนั้น การที่ท่านบอกว่า “ต่อไปนี้  ใครจะทำตัวอิสระอย่างไรก็ตามใจ แต่ต้องเข้าฟังเล็คเชอร์ตามที่กำหนดไว้แล้วค้นคว้าในห้องสมุดก็พอ” ย่อมถือว่าเป็นเรื่องธรรมดาของคนที่เรียนในระดับอุดมศึกษา  แต่วิธีการเช่นนั้น ย่อมนำมาใช้ไม่ได้กับการเรียนในระดับประถมหรือมัธยม  หากปล่อยให้นักเรียนประถมหรือมัธยมเรียนแบบอิสระแบบนั้น จะไม่มีใครเรียนจบหลักสูตรสักคน  ยกเว้นแต่มนุษย์ผู้เป็นอัจฉริยบุคคลเพียงไม่กี่คนเท่านั้น


                  การที่ครูบาอาจารย์สอนว่า “การภาวนาคือบุญอันสูงสุด” ย่อมหมายถึงการพูดกับบุคคลที่รู้จักการบำเพ็ญทาน รักษาศีลมาอย่างดีเป็นพื้นฐานของชีวิตมาแล้ว  เหมือนกับการใช้วิธีบรรยายในมหาวิทยาลัยโดยไม่มีการจ้ำจี้จ้ำไชอะไร ย่อมใช้ได้กับบุคคลที่ผ่านการเคี่ยวกรำในการเรียนมาอย่างหนักสมัยเป็นนักเรียนชั้นมัธยม  เพราะทุกคนผ่านการอบรมและถูกควบคุมบังคับให้อยู่ในกรอบในระเบียบวินัยมายาวนาน   การเรียนอย่างมีอิสระจึงเหมาะสมสำหรับเขา


                เมื่อเป็นเช่นนี้  หลายคนคงได้พบคำตอบขึ้นมาบ้างแล้วว่า ทำไมบางคนภาวนามาตั้งนานแล้วก็ไม่ได้ผล  บางทีฟังวิธีการเจริญสติมาพร้อมกัน  บางคนก็แจ่มแจ้ง บางคนก็มืดมนเต็มไปด้วยความลังเลสงสัย  บางคนเหมือนไม่ได้ภาวนาอะไร  แต่กลับดูเหมือนเข้าใจในชีวิต


               คำตอบก็คือ  เราฟังคำบรรยายอันเป็นความรู้ในระดับมหาวิทยาลัย  แต่บางคนอาจมีพื้นฐานเพียงแค่มัธยมต้น  บางคนอาจมีพื้นฐานในระดับประถม บางคนอาจเพิ่งเริ่มเข้าอนุบาลปีแรก ส่วนบางคนนั้นเขาสอบได้ที่หนึ่งมาจากโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา แต่ทุกคนก็มานั่งเรียนหรือฟังคำบรรยายจากครูคนเดียวกัน ชั่วโมงเดียวกัน  เพราะเรื่องธรรมะนั้น  ไม่สามารถแบ่งชั้นเรียนแบบโรงเรียนในทางโลกได้  เพราะเป็นเรื่องของดวงจิตที่อยู่ภายในของแต่ละคนเป็นสำคัญ  ใครจะเข้าใจแจ่มแจ้งเวลาใด ตอนไหนนั้น ย่อมเป็นเรื่องปัจจัตตังเฉพาะตัวบุคคล


              ดังนั้น คำสอนอันเหมาะสมสำหรับแต่ละคนจึงเป็นเรื่องสำคัญมาก ไม่ใช่เคยไปเข้าคอร์สปฏิบัติเพียงครั้งสองครั้ง หรือไปตามวัดป่า สำนักปฏิบัติ เพียงไม่กี่ครั้ง ก็สรุปอย่างเข้าข้างตัวเองว่า “เราได้ทำในสิ่งที่สุดยอดกว่าคนอื่น” แล้ว  คนอื่นสู้เราไม่ได้ การให้ทานช่างต่ำต้อยนัก


            ต้องตรวจสอบตัวเองต่อไปว่า ตลอดชีวิตที่ผ่านมาตั้งแต่เป็นเด็ก  ตัวเรานี้ได้สร้างทานบารมีมาจนกลายเป็นอุปนิสัยหรือไม่  เรามีใจน้อมไปในทางมีหิริโอตตัปปะกลัวบาปกลัวกรรมอยู่ในจิตสำนึกเพียงใด  เรารู้สึกเห็นความสำคัญของการเป็นผู้มีศีลมาก่อนไหม หากเราเป็นผู้ยินดีในการให้ทาน รักษาศีล มีสัมมาทิฐิประจำในหัวใจ  คำสอนว่า “การภาวนาคือบุญอันสูงสุด” ย่อมคือคำสอนอันเหมาะสมของเรา เพื่อให้เราก้าวสู่อริยมรรคต่อไป


               หากบุคคลใดตลอดชีวิตที่ผ่านมา  ตั้งแต่เรียนหนังสือจนกระทั่งจบปริญญา ไม่เคยสนใจว่าศาสนาหรือบุญกุศลจะมีประโยชน์อะไร การให้ทาน รักษาศีล การภาวนาเป็นเรื่องของคนงมงาย แล้วก็ใช้ชีวิตอย่างอิสระตามใจด้วยความย่ามใจว่า ชีวิตไม่ต้องมีศีลธรรมอะไรก็สามารถมีความสุขได้ บุญกุศลใดๆขอเอาไว้ทีหลัง แต่ตอนนี้ขอหาเงินให้ได้มากๆไว้ก่อน ต่อมาได้ทำงานรับราชการหรือองค์กร บริษัทต่างๆ  แล้วเกิดปัญหาชีวิตหาทางออกไม่ได้ จึงได้ไปปฏิบัติธรรมตามโครงการหรือตามสำนักปฏิบัติ  หากได้ยินคำพูดเช่นนี้ ขอเตือนว่านั่นไม่ใช่คำสอนอันเหมาะสมสำหรับท่าน ไม่ควรนำไปกล่าวอ้างเพื่อข่มผู้ที่เขาบำเพ็ญทานบารมี จะมีกรรม


               บุคคลที่เคยใช้ชีวิตมาแบบนั้น  ต้องหันมาซ่อมแซมอาคารบ้านเรือนของตัวเองให้มั่นคงแข็งแรงเสียก่อน  จึงค่อยมุ่งหน้าบำเพ็ญภาวนาต่อไป   สติ สมาธิ วิปัสสนา หรือปัญญา จึงจะบังเกิดขึ้นได้จริงในหัวใจของเรา


              บุคคลใดในชีวิตยังไม่เคยเสียสละทุ่มเทสิ่งใดให้ใคร จนน้ำตาต้องไหลออกมาข้างนอก ขอบอกว่า  ภาวนาไปนานเพียงใด การภาวนานั้นก็ไม่สำเร็จ  เหมือนคนไม่เคยรู้กิริยาสามช่อง แล้วไปอ่านตำราภาษาอังกฤษ  พยายามอ่านเพียงใดก็ย่อมอ่านไม่ออก  จนกว่าจะไปศึกษาภาษาอังกฤษพื้นฐานให้เข้าใจจึงจะเรียนต่อไปได้  การภาวนาก็ต้องมีทาน ศีล คอยรองรับ


             คนที่เคยประมาทสนุกสนานไม่เคยสนใจในทาน ศีล ภาวนา มาตลอดชีวิต  จะให้มารู้จักการภาวนาหรือรู้จักตัวสติธรรมชาติในทันทีที่ฟังธรรมหรือปฏิบัติธรรม ย่อมไม่อยู่ในวิสัยที่เป็นไปได้  เว้นเสียแต่ผู้นั้นเคยฟังธรรมหรือเคยเจริญสติมาแล้วในอดีตชาติ  ได้มีโอกาสฟังธรรมและบำเพ็ญภาวนาต่อมรรคผลของตนหรือบุคคลที่เกิดมาทำหน้าที่ในทางศาสนาโดยเฉพาะ


             บ้านเรือนหรืออาคารที่ไม่แข็งแรง บุคคลยังต้องซ่อมแซมหรือเสริมความมั่นคง ฉันใด  การบำเพ็ญภาวนาหรือการเจริญสติที่บางครั้งติดขัดหรือไม่อาจก้าวหน้าได้ เราต้องหมั่นบำเพ็ญทาน  รักษาศีล และหมั่นสร้างกุศลอย่างอื่นประกอบด้วย  ทานจะทำให้สติของเราดีขึ้น ศีลจะทำให้สติของเราเข้มแข็งขึ้น  ทานและศีลจะเป็นคานคอนกรีตอย่างดีในการเป็นพื้นฐานให้เราก้าวหน้าในการภาวนาต่อไป


                ผู้ที่มีใจตระหนี่ ไม่ชอบให้อะไรใครง่ายๆ ไม่ค่อยเกิดความคิดบริจาคสิ่งใด ต้องหัดให้ทานมากๆ แล้วความสบายใจจะเกิดขึ้น  ตอนแรกอาจอึดอัดและต้องฝืนใจ เพราะความตระหนี่ที่เคยครอบงำจิตใจมานานได้รับการกระทบกระเทือน  พอบริจาคบ่อยๆเนืองๆ จิตจะค่อยๆเกิดความคุ้นเคยกับการบริจาค  หัวใจที่เต็มไปด้วยความคับแค้น จะเริ่มเบิกบานและแผ่กว้างขึ้น  เปลี่ยนจากจิตที่เต็มไปด้วยความซบเซาขาดความสุขเพราะความตระหนี่ จะเริ่มเปลี่ยนเป็นจิตที่มีพลังและมีความสดชื่นตามมา  พระโสดาบันบุคคลคือบุคคลที่ให้ทานได้อย่างไม่เบื่อไม่หน่าย


              คนที่มีใจตระหนี่จะไม่รู้จักความรู้สึกที่อิ่มเอิบ มีความสุขและมีพลังตัวนี้ แต่ผู้ที่ชอบให้ ชอบทำบุญ ชอบบริจาค จะสัมผัสกับมิติแห่งความสุขนี้  จิตจะมีความสดใส เต็มเปี่ยมด้วยพลัง


             พูดให้เป็นหลักทางวิทยาศาสตร์สักหน่อยก็คือ  จิตที่พยายามเอาทรัพย์สินเงินทองเข้ามาสู่ตัวเองและจิตที่ตระหนี่  เป็นการใช้พลังสมองฝั่งซ้าย จิตใจจึงเต็มไปด้วยความวิตกกังวล กังวลทั้งตอนยังไม่ได้มา  กังวลทั้งตอนที่ได้มาแล้ว  คนรวยส่วนใหญ่จึงจิตใจอ่อนแอและขี้กลัว


             ส่วนการทำบุญบริจาคออกไป เป็นการพัฒนาสมองฝั่งขวาให้เติบโตขึ้น  ความสงบสุขทางจิตใจ เป็นเรื่องของสมองฝั่งขวา  คนที่ทำบุญมากด้วยจิตอันเป็นกุศล  จึงเป็นคนมีจิตใจอาจหาญและไม่กลัวอุปสรรคปัญหาในชีวิต  พระอรหันต์และพระอริยบุคคลจึงมีหัวใจที่ยิ่งใหญ่เหนือกว่ามหาเศรษฐีและผู้มีอำนาจวาสนาทางโลก เพราะเข้าถึงศักยภาพของจักรวาลมากกว่า

 
             การพยายามเอาอะไรเข้ามาสู่ตัว ย่อมทำให้หัวใจเต็มไปด้วยความหวาดกลัวและเต็มไปด้วยความวิตกกังวล  แต่การมีชีวิตเป็นผู้ให้และมีชีวิตที่สละออกไป  กลับเป็นชีวิตที่ไม่รู้สึกขาดแคลนสิ่งใด  หัวใจเช่นนั้น ย่อมมีแต่ความสงบสุขและไม่มีความหวาดกลัวอะไรอีก  จิตของของพระอริยะกับจิตปุถุชนจึงต่างกัน


             การสืบทอดพระศาสนา ก็คือการสืบทอดความจริงอันประเสริฐนี้ไว้ให้เป็นมรดกของเวไนยสัตว์และชาวโลกนั่นเอง  การประกาศศาสนา ก็คือการประกาศข่าวอันประเสริฐนี้


             จงพิจารณาคัดเลือกเอาคำสอนอันเหมาะสมกับชีวิตของเรา หากเราให้ทานมามากจนเบื่อหน่าย จงหันมาบำเพ็ญภาวนาเจริญสติ  หากเราเคยเกเรใช้ชีวิตนอกกรอบมามากแล้ว จงหันมารักษาศีลให้เคร่งครัดมากขึ้น  หากตลอดมาในชีวิตมีแต่หาเงินและรู้ตัวว่าหัวใจมีแต่ความตระหรี่  จงหมั่นให้ทานหมั่นบริจาคให้มาก  จนกระทั่งหัวใจของเราเคยชินกับการทำบุญ หลังจากนั้นเราจะรู้ด้วยตัวเองว่า ความสุขได้เกิดขึ้นในชีวิต แสงสว่างได้ทอแสงขึ้นมาแล้ว


          หากแต่ละคนทำได้เช่นนี้  พระศาสนาจะกลายเป็นที่พึ่งอันแท้จริงของเรา  ไม่ใช่ทำบุญแค่ตามประเพณี  หรือมีพระพุทธศาสนาเพียงแค่วัฒนธรรม  แต่กลายเป็นหัวใจที่เป็นบุญและถึงบุญ โดยไม่ต้องเชื่อใครหรือต้องให้ใครมาชักชวนให้ทำบุญอีกแล้ว นี้คือบุญของพระพุทธเจ้า

 

                                                                                                           คุรุอตีศะ
                                                                                                      ๗  มีนาคม  ๒๕๕๗