คุณธรรมมิใช่คำพูด
- รายละเอียด
- หมวด: LanDharma
คุณธรรมมิใช่คำพูด
หญิงและชายเมื่อรักกัน เขาและเธอมิได้ต้องการคุณธรรมอะไร ไม่มีฝ่ายใดพูดถึงคุณธรรมความดี แต่เมื่อเขาเลิกราหมดรักกันลงวันใด เขาและเธอจึงจะพร่ำและเรียกหาคุณธรรมจากกันและกัน
คนที่เป็นพ่อและแม่ ไม่เคยคิดว่าตัวเองมีคุณธรรมอะไร แต่เลี้ยงลูกจนเติบโตมาได้ก็เพราะอาศัยความรักความเมตตา แต่เมื่อเรากล่าวถึงบุคคลที่ทำหน้าที่ของพ่อแม่ได้อย่างเต็มที่ อุตสาหะในการฟูมฟักบุตรธิดาด้วยความรักจนลูกเติบโตเป็นคนดีและตั้งตัวได้ เราจึงเรียกบุคคลนั้นว่า เป็นพ่อแม่ที่มีคุณธรรม
หนุ่มสาวที่แต่งงานกัน ก็ไม่เคยคิดว่าตัวเองมีคุณธรรมอะไร เพียงแต่อยากมีอีกฝ่ายเคียงข้างอยู่ใกล้ๆและร่วมแรงร่วมใจในการสร้างชีวิตและสร้างอนาคตด้วยกัน จนกระทั่งถักทอสานฝันจนถึงวันแห่งความสำเร็จ เมื่อเรากล่าวถึงผลแห่งการปฏิบัติตนของสองคนนั้น เราจึงพูดว่า เป็นสามีภรรยาที่มีคุณธรรม
พระอาทิตย์ไม่เคยคิดว่าตัวเองมีคุณธรรม เพราะฉะนั้น จึงสามารถส่องแสงสว่างและให้ความอบอุ่นอย่างไม่เคยเบื่อหน่าย แต่ถ้าพระอาทิตย์เริ่มเรียกหาคุณธรรมในวันใด วันนั้นพระอาทิตย์อาจหมดกำลังใจที่จะส่องแสงก็อาจเป็นได้
พระจันทร์ไม่เคยคิดถึงคุณธรรมอะไร และก็ไม่เคยใส่ใจว่าชาวโลกจะมีคุณธรรม เพราะเหตุนั้น พระจันทร์จึงส่องแสงนวลใยเป็นเพื่อนมนุษย์ สัตว์ และพืชพรรณทั้งหลายได้ หากพระจันทร์เรียกร้องหรือพูดถึงคุณธรรมในวันใด พระจันทร์อาจหมดแสงสีนวลใยและหมดรัศมีของพระจันทร์ก็ได้
มนุษย์ผู้มีคุณธรรมที่แท้จริง ไม่เคยสนใจคุณธรรม และไม่เคยคิดว่าตัวเองมีคุณธรรม แต่บุคคลผู้พร่ำแต่คำว่า “คุณธรรม” อาจเป็นผู้ที่ยังอยู่แค่ปากประตูแห่งความหมายของคุณธรรม แต่ก็แปลกอย่างยิ่งเพราะผู้คนส่วนใหญ่ในโลก มักจะเข้าใจว่าบุคคลประเภทหลังนี้คือผู้มีคุณธรรม
ผู้มีคุณธรรมที่แท้จริง มีรากฐานอันสำคัญคือ หัวใจที่เต็มเปี่ยมด้วยความรักความเมตตาต่อบุคคลอื่น หัวใจที่เต็มเปี่ยมด้วยความรัก ไม่เคยเรียกหาคุณธรรมจากใคร มีแต่คนที่หัวใจไม่เหลือความรักอีกแล้ว จึงจะเหลียวหาเรียกร้องเอาคุณธรรม
สูงสุดคือมนุษย์มีดวงใจเปี่ยมด้วยความรัก รองลงมาจากนั้น จึงเป็นเรื่องคุณธรรม หลังจากนั้นจึงเป็นศีลธรรม ต่ำลงมาจากศีลธรรมจึงเป็นกฎหมายหรือการปกครอง หากพ้นจากกฎหมาย สังคมนั้นก็จะเข้าสู่กลียุค มีสภาพไร้ขื่อไร้แป กฎหมายคือกติกาอันต่ำที่สุดในการที่มนุษย์จะอยู่ร่วมกันในสังคม
คนที่สังคมยกย่องว่ามีคุณธรรมอาจมีหัวใจที่ขาดความรักขาดน้ำใจต่อเพื่อนมนุษย์ก็ได้ เพราะการสำคัญตนว่า “เป็นคนดีมีคุณธรรม” จะเป็นกำแพงขวางกั้นไม่ให้เขาสามารถเป็นเพื่อนกับมนุษย์ด้วยกันได้ จนกว่าเขาจะพัฒนาจิตใจจนกระทั่งมีความรักความเมตตาอย่างแท้จริงขึ้นมาในจิตใจ จนเขาไม่รู้สึกว่าตัวเองมีคุณธรรมอะไร เพียงแต่มีความรักและความปรารถนาดีอย่างจริงใจ เมื่อนั้นแหละสิ่งที่ดีงามและความอบอุ่นจะหลั่งไหลออกจากตัวเขา และทำให้คนอื่นพูดออกมาได้เองว่าบุคคลนั้นเป็น “ผู้มีคุณธรรม”
ความมีคุณธรรมไม่ได้เกิดจากการที่ผู้นั้นประเมินตนเองแล้วสำคัญตนว่าตัวเองมีคุณธรรม แต่เกิดจากหัวใจที่ดีงามที่เต็มเปี่ยมด้วยความไร้เดียงสาที่หลั่งออกมาอย่างเป็นธรรมชาติสู่เพื่อนมนุษย์ แล้วคนอื่นพากันกล่าวขวัญถึง อัตตาหรือความสำคัญตนมีน้อยเพียงใด คุณธรรมจะหลั่งไหลออกมาเพียงนั้น
คุณธรรมจะงอกงามและเติบโตได้ ในท่ามกลางหัวใจที่ศรัทธา เคารพยำเกรงและเจียมตัวว่าตัวเองยังไม่มีคุณธรรมอะไร และคุณธรรมภายในจะเกิดความชะงักงันไม่อาจงอกงามต่อไป เมื่อหัวใจดวงนั้นเกิดความสำคัญตนว่าเป็นผู้มีคุณธรรมแล้ว คนที่หลงตนว่าเป็นคนดี ความดีจะเริ่มชะงักการเติบโต
คนดีจะดีได้เรื่อยไป ตราบเท่าที่เขายังไม่สำคัญตนหรือรู้สึกตัวว่าตนเป็นคนดี แต่จะเริ่มกลายเป็นคนดีที่เสียคนในทันที เมื่อสำคัญตนว่าเรานี้ช่างแสนดีแสนประเสริฐกว่าคนอื่น
สังคมไทยทุกวันนี้ ที่สับสนวุ่นวาย นอกจากการไม่ค่อยมีคุณธรรมตามที่พูดกันอยู่ทั่วไป อีกส่วนหนึ่งก็เพราะมีสาเหตุมาจากผู้ที่เข้าใจว่าตนเองเป็นคนดีทั้งหลาย ไปสงวนลิขสิทธิ์ว่าตนเท่านั้นเป็นคนดี หากเฉลียวใจว่าแท้จริงแล้ว คนอื่นเขาก็มีดีของเขาเหมือนกัน ไม่ใช่ดีแต่ฝ่ายเราฝ่ายเดียว ความปรองดองก็จะเกิดขึ้นได้ เมื่อเคารพและยอมรับคนอื่นว่าเราและเขาต่างก็มีสิทธิ์ที่จะดีจะชั่วได้พอๆกัน จะทำให้มิตรไมตรีเกิดขึ้นได้และช่วยเยียวยาความบาดหมางทั้งปวง
เพราะหากเราดีจริงแล้ว เราต้องอยู่บนสวรรค์ และถ้าเขาชั่วจริง พวกนั้นต้องอยู่ในนรก แต่ที่ยังมาเดินบนถนนและกินข้าวอยู่เหมือนกัน อยู่บนโลกใบนี้เหมือนกัน ก็แสดงว่าต้องมีดีมีชั่วพอๆกันอยู่ไม่น้อย
ด้วยเหตุนี้ หลวงปู่พุทธทาสภิกขุ ท่านจึงมีคำพูดที่กระตุกกิเลส ที่หลายคนอาจฟังไม่ได้อยู่คำหนึ่งว่า “ชั่วหรือดี ก็อัปรีย์พอกัน” อันหมายความว่า ไม่ให้ยึดดียึดชั่วด้วยอุปาทาน จนกระทั่งต้องมาล้างผลาญกันจนลืมเห็นอกเห็นใจเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน คำพูดเช่นนั้นคือคำพูดให้ปล่อยวางจากความยึดมั่นถือมั่น เป็นคำพูดของผู้ทรงปัญญาที่พูดให้ทุกคนเกิดแสงสว่างพบทางสงบ นั่นคือ “สุญญตาธรรม”
หากเราทั้งหลายปรารถนาให้ “คุณธรรม”งอกงามในจิตใจ จงเจริญสติไว้อย่าไปเผลอคิดว่า “ตัวเรานี้เป็นคนดีมีคุณธรรม”เป็นอันขาด จงปล่อยให้ผู้คนทั้งหลายเป็นผู้ทรงคุณธรรมกันต่อไป ยกเว้นแต่ตัวเรานี้จะขอเป็นผู้ไร้คุณธรรมอยู่คนเดียว
เมื่อตัวเรานี้ยังเป็นผู้ต่ำต้อยในคุณธรรม เราจึงยังต้องเจียมตัวทำความดีไม่ประมาท มิฉะนั้นจะพลาดไปทำชั่วเมื่อไหร่ก็ได้ แต่ละวันจะขอเพียรทำดีเรื่อยไป ตามประสาคนต่ำต้อยยากไร้ที่ไม่มีคุณธรรม
เราจะมอบความรักให้กับคนทั้งโลก ด้วยความเห็นอกเห็นใจต่อความทุกข์ความโศกเศร้าของผู้คนทั้งหลาย เป็นสามีก็จะขอถนอมน้ำใจภรรยาเรื่อยไป เป็นภรรยาก็จะเอาอกเอาใจมอบความรักความภักดี โดยไม่สนใจว่าเขาจะรักตัวเรานี้เพียงใดก็ตาม
เราเจียมตัวไม่หาญกล้าที่จะมีเป็นคนดีมีคุณธรรมเหมือนใครอื่น แต่จะมีสติรู้สึกตัว มีความตื่นและเบิกบานอยู่เสมอ ถึงเวลาก็หุงข้าว กวาดบ้าน ทำงาน ทำหน้าที่ในแต่ละวันเรื่อยไป ตามประสาหัวใจที่รู้ตัวดีว่ายังไร้คุณธรรมอยู่ไม่น้อย
คุณธรรมไม่ใช่คำพูด คนที่พยายามพูดถึงคุณธรรมอาจไม่มีคุณธรรมก็ได้ แต่เมื่อมีความรักความเมตตาในหัวใจ ไม่เคยมีนักปราชญ์ท่านใดจะกล้ากล่าวว่าหัวใจเช่นนั้นไม่มีคุณธรรม
จงมีความรักความเมตตาต่อเพื่อนมนุษย์ แล้วคุณธรรมทุกอย่างจะหลั่งไหลสู่หัวใจของเรา เป็นหัวใจที่ใครจะบอกว่าเรามีคุณธรรมหรือไม่มีคุณธรรมก็ได้ เพราะเราเข้าใจแล้วว่า คุณธรรมนั้นไม่อาจมีได้เพียงแค่คำพูด แต่คุณธรรมย่อมงอกงามอย่างรวดเร็วใน “หัวใจที่ไร้เดียงสา”
ผู้มีหัวใจที่ไร้เดียงสา ไม่มีความสนใจในคำว่า “คุณธรรม” อีกแล้ว เพราะคำนี้ย่อมใช้กับบุคคลทั่วไปที่ยังไม่รู้จักคุณธรรมที่แท้จริงเท่านั้น ชีวิตของท่านย่อมอยู่แต่กับสติไปแต่ละวันเป็นหลัก
ผู้ทรงคุณธรรมทั้งหลาย ย่อมไม่รู้สึกว่าตัวเองมีคุณธรรมแต่อย่างใด ท่านจะมีแต่หัวใจที่รักและเมตตาต่อเพื่อนมนุษย์ โดยไม่ใส่ใจว่าจะมีใครมายกย่องท่านว่ามีคุณธรรมหรือไม่
คุณธรรมเช่นนี้แหละคือคุณธรรมจริง บุคคลเช่นนี้เท่านั้นจึงจะมอบความรักและเกื้อกูลต่อเพื่อนมนุษย์ได้โดยไม่เบื่อหน่าย
คุรุอตีศะ
๑๘ มกราคม ๒๕๕๗