ดุจเกลือรักษาความเค็ม
- รายละเอียด
- หมวด: LanDharma
ดุจเกลือรักษาความเค็ม
เมื่อชีวิตได้เดินอยู่บนเส้นทางที่ดีงามและปลอดภัยอยู่แล้ว จงเดินต่อไปด้วยความไม่หวั่นต่อกระแสบีบคั้นและมรสุมทั้งปวง ในยุคนี้คนที่จะประคองตนให้เดินอยู่บนหนทางแห่งความดีช่างมีน้อย ขอให้เราได้เป็นคนหนึ่งที่มีโอกาสและสามารถทำในสิ่งที่ยากสิ่งนี้ได้ แม้จะไม่มีใครเห็นความสำคัญหรือไม่อยู่ในสายตาของใคร แต่เราก็จะดำรงศรัทธาด้วยความมั่นใจในพระธรรมของพระพุทธองค์เสมอ
เมื่อเรามีโอกาสมีวาสนา ได้พบเส้นทางอันประเสริฐที่ผู้ทรงปัญญาบอกทางชี้ให้เดิน ได้มีโอกาสบำเพ็ญทาน รักษาศีล และมีศรัทธาในการภาวนา เพียงเท่านี้ชีวิตเราก็มีค่าอยู่ในตัวเองอย่างพร้อมสมบูรณ์ยิ่งกว่าทรัพย์สินเงินทองทั้งหลายภายนอกตัว
เมื่อเราคือคนหนึ่งที่เห็นคุณค่าในการประพฤติดีและมีศีล เราจงมีสติในการประคองตนอยู่ในศีลธรรมดุจจามรีรักษาขนหาง ไม่ควรไขว้เขวไปกับถ้อยคำโน้มน้าวชักจูงลงสู่ที่ต่ำของคนพาล ที่ไม่ต้องการเห็นใครทำความดีหรือมีศีลธรรม
หากเราเป็นคนหนึ่งที่มีบุญวาสนา ได้สามารถประคองตนผ่านภัยอันตรายในสังคมนานา แม้จะใช้ชีวิตอยู่ท่ามกลางสังคมที่ฟอนเฟะสักเพียงใด แต่ก็ยังเป็นผู้หนึ่งที่ครองความบริสุทธิ์ของตนเองไว้ได้ ในขณะที่ใครๆหัวใจแตกสลายและมีชีวิตที่ยับเยินไปกับกระแสสังคม แต่เรานี้ได้เป็นเรือลำน้อยเพียงไม่กี่ลำ ที่ฝ่ากระแสคลื่นอันน่ากลัวรอดพ้นอันตรายผ่านมาได้ ขอให้เราจงภาคภูมิใจที่รักนวลสงวนตัวมาได้ด้วยความมีสติอันมั่นคง
ในท่ามกลางกระแสอันเชี่ยวกรากของสังคม ที่เขานิยมทดลองเพศศึกษา เป็นสังคมที่สตรีส่วนใหญ่ไม่อยากรักนวลสงวนตัวอีกแล้ว ไม่เห็นคุณค่าของการรักษาเพชรอันล้ำค่าประจำชีวิตลูกผู้หญิงคือการรักษาความบริสุทธิ์ไว้จนกว่าจะพบชายใดที่คู่ควร จึงค่อยมอบกายและใจให้ตามธรรมชาติ อันจะเป็นความองอาจและมีอำนาจในตัวสตรีไปจนวันตาย แม้ใครจะพากันบอกว่าเป็นคนโง่ แต่เราก็จะพยายามพากเพียรรักษาสิ่งอันมีค่าของสตรีไว้ ดุจพระที่ท่านรักษาศีลประพฤติพรหมจรรย์เพื่อบรรลุนิพพาน
เราจะเชื่อคำสอนของผู้ใหญ่ที่บอกรหัสนัยว่า สิ่งนี้จะเกิดอำนาจให้สามีเกรงใจและเป็นหญิงที่มีบุญวาสนาที่สามีจะมอบความเป็นใหญ่ภายในบ้าน และจะมีบารมีในการปกครองข้าทาสบริวาร และทั้งญาติของสามีและญาติของตัวเองจะเกรงใจ เพราะสิ่งนี้คือการประคองตัวประคองใจที่ต้องใช้สติอย่างมาก
แท้จริงแล้ว “การรักนวลสงวนตัว” มิใช่ของคร่ำครึหรือโบราณแต่อย่างใด แต่คือการปฏิบัติสติปัฏฐานของสตรีที่ยังไม่ได้แต่งงาน ก่อนที่จะไปรับภาระหน้าที่อันยิ่งใหญ่คือความเป็นแม่บ้านในอนาคต ดุจเดียวกับที่มีธรรมเนียมให้ชายไทยพออายุ ๒๐ ปีต้องบวชเรียนเสียก่อนอย่างน้อยหนึ่งพรรษาเพื่อทดแทนพระคุณพ่อแม่แล้วค่อยมีครอบครัว นี้คือคือหลักสูตรการปฏิบัติกรรมฐานของหนุ่มสาวยุคโบราณ
พระหนุ่มๆในวัยเพียงแค่นั้น ที่ต้องประคองสติในการเผชิญกับสัญชาตญาณทางเพศในวัยเจริญพันธุ์ โดยมีพระอาจารย์ผู้มีจิตอันมั่นคงแล้วในศาสนาคอยให้สติและประคับประคอง ได้รับการพัฒนาจากคนดิบกลายเป็นคนสุก เป็นผลไม้ที่บ่มแล้วจึงสุกและบริโภคตามขั้นตอน ไม่ใจเร็วด่วนได้ จึงมีภูมิคุ้มกันในจิตใจ เพราะการได้ฝึกจิตใจจนเป็นบัณทิตเสียก่อน แล้วสึกออกมาเป็น “ทิด” เพื่อมาเป็นผู้นำครอบครัว ถือว่าได้ผ่านหลักสูตรสำคัญของชีวิตที่นำมาใช้ในการดำรงตนไปจนวันตาย
ท่านทั้งหลายเหล่านั้นจึงครองเรือนด้วยความร่มเย็นและเป็นร่มโพธิ์ร่มไทรให้กับลูกหลาน บางท่านที่ครองตนอยู่ในศีลในธรรมอย่างมั่นคง หมั่นบำเพ็ญทาน ศีล ภาวนา ท่านก็กลายเป็นพระอริยบุคคลอยู่ในบ้านโดยลูกหลานไม่รู้ก็มี รู้แต่ว่าเป็นปู่ย่าตายายที่ใจดีและเป็นคนใจบุญมั่นคงในศาสนา
สตรีที่ยังสาวบริสุทธิ์ ได้ปฏิบัติสติปัฏฐานด้วยการรักนวลสงวนตัว สติย่อมดีกว่าคนทั่วไปและจิตใจไม่บอบช้ำก่อนที่จะทำหน้าของแม่บ้านเมื่อครองเรือน ส่วนผู้ชายก็ปฏิบัติสติปัฏฐานด้วยการไม่ไปล่วงเกินสตรีที่ยังมิใช่ภรรยาของตน ซึ่งหากสติไม่มั่นคงจริงแล้วย่อมยากที่ชายหนุ่มจะทำได้เช่นนั้น
การเป็นสุภาพบุรุษ แท้จริงแล้วก็คือการมีสติในการเกี่ยวข้องกับสตรีของบุรุษผู้นั้นนั่นเอง ส่วนการการเป็นกุลสตรีหรือสุภาพสตรี ก็คือการปฏิบัติตนด้วยความมีสติของสตรี ไม่ปล่อยตัวปล่อยใจไปตามอารมณ์ความรู้สึกจนกว่าจะมีคู่ครอง ความละอายของสตรีและความรู้จักยับยั้งชั่งใจ คืออานุภาพในตัวเองของสตรีผู้นั้น ที่ทำให้บุรุษผู้เป็นสามีหรือผู้ชายทั่วไปไม่กล้าดูหมิ่นล่วงเกินแม้วัยจะล่วงไปเพียงใด
สิ่งเหล่านี้ เป็นการปฏิบัติสติปัฏฐานหรือการเจริญสติที่กลายเป็นวัฒนธรรม เป็นการดำเนินชีวิตอย่างงดงามของบรรพบุรุษของเรา ไม่ใช่การงมงายหรือคร่ำครึเหมือนที่หลายคนเข้าใจ แต่คือ “วัฒนธรรมสติปัฏฐาน” ที่ทุกคนทั้งชายและหญิงพากันปฏิบัติจนกลายเป็นวิถีชีวิตและวัฒนธรรม ประเทศไทยจึงได้รับขนานนามว่า “สยามเมืองยิ้ม” ที่ได้รับการกล่าวขานไปทั่วโลก เพราะมีแต่คนใจดี ยิ้มง่าย และใจบุญ
ปฏิรูปการเมือง ปฏิรูปกฎหมาย ปฏิรูปเศรษฐกิจ เราปฏิรูปกันบ่อยมากแต่ก็ไปไม่ถึงไหน เพราะเราไม่เคย “ปฏิรูปหัวใจ” ด้วยการเอา “วัฒนธรรมสติปัฏฐาน"ที่ถูกสาดทิ้งไปกลับคืนมา ตราบใดที่ใจของผู้คนยังไม่มีการฝึกสติ สิ่งทั้งหลายแม้จะพัฒนาสักเพียงใดก็จะนำไปสู่จุดเสื่อม จงหันมาพัฒนาจิตใจให้มีสติมากขึ้น ทั้งปัญญาชนคนชั้นสูงหรือคนห่างไกลจากเมืองหลวงหรือชนบท ชีวิตที่กำลังถึงทางตันก็จะโล่งและพบแสงสว่าง
เหตุที่ผู้คนเคารพและให้เกียรติต่อคนชั้นสูงหรือ “ผู้ดี” เพราะผู้ดีที่แท้จริงแต่ก่อนนั้นจะได้รับการฝึกกิริยามารยาท การเดิน การนั่ง การกิน การอยู่ การแต่งกาย ไปทุกอย่าง การฝึกอย่างนั้นก็คือการฝึกสติปัฏฐานหรือการเจริญสติโดยที่นำไปใช้ในรั้วในวัง คนชั้นสูงหรือผู้ดีทั้งหลายจึงมีกิริยามารยาทและมีสติสำรวมระวังกว่าคนธรรมดา แต่เมื่อใดหากในสังคมนั้นขาดการเจริญสติ ความเป็นผู้ดีก็ลดลงไป ความเสื่อมก็มาเยือน เนื่องจากรากฐานของคุณธรรมที่สำคัญคือการเจริญสติในชีวิตประจำวันที่ขาดหายไปนั่นเอง
สังคมของเราปัจจุบันนี้ ไม่ค่อยหลงเหลือความเป็นผู้ดีให้เราเห็นกันเท่าไรนัก เพราะตลอดมาตั้งแต่มีแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เราก็มุ่งหน้าความเจริญทางวัตถุและความอยู่ดีกินดีเพียงอย่างเดียว แต่เราเอาความเจริญทางจิตใจแล้วเอาศาสนาไว้ข้างหลัง สุภาพบุรุษ สุภาพสตรีจึงมีอยู่น้อย
หากใครไปวัดรักษาศีล คนจะปรามาสหาว่าอกหักหรือผิดหวังในชีวิต หรือไม่ก็หาว่าเชย ผลก็เลยมีแต่คนดูหมิ่นเหยียดหยามกันไม่หลงเหลือความเป็นผู้ดี นี้ก็เพราะไปวัดคุณค่าของคนที่ปริญญา ความร่ำรวย อำนาจ เกียรติ หรือความเป็นใหญ่ แทนที่จะวัดกันที่คุณงามความดีของจิตใจ ผลสุดท้ายเลยต้องทะเลาะเบาะแว้งชอกช้ำใจกันทั้งประเทศ นี้แหละคืออาเพศของการดูหมิ่นพระพุทธศาสนา จงหันหน้ามาเจริญสติปัฏฐานแบบคนโบราณให้มากขึ้นกันตั้งแต่บัดนี้เถิด
ในยามนี้ หากบุคคลใดสามารถรักษาความดีและรักษาความเป็นผู้ดีไว้ได้ เมื่อความวุ่นวายสับสนที่เห็นกันอยู่นี้ผ่านพ้นไป บุคคลนั้นจะได้เป็นใหญ่และมีอิทธิพลในบ้านเมืองและสังคม
ดังนั้น ในยามสังคมพบกับความวิกฤติ สำหรับท่านทั้งหลายที่รักษาความเป็นสุภาพบุรุษ ความเป็นสุภาพสตรีไว้ได้ จงรักษาคุณความดีของตนไว้ให้เป็นดุจเกลือที่รักษาความเค็ม
ขอท่านทั้งหลายจงอย่าหวั่นไหวต่อการล่วงเกินทั้งหลายดุจช้างศึกที่กำลังเข้าสู่สงคราม ปล่อยให้เขาพากันล่วงเกินท่าน แต่ท่านอย่าล่วงเกินเขา แล้วจงให้อภัย จงดำรงสติให้มั่นคงต่อทุกปรากฏการณ์ที่ผ่านเข้ามา นั่นแหละคือชีวิตอันงามสง่าที่จะปรากฏแก่สายตาของทุกคนตราบจนวันตาย
คุรุอตีศะ
๑๗ มกราคม ๒๕๕๗