ยากจนอย่างเต็มใจ
- รายละเอียด
- หมวด: LanDharma
ยากจนอย่างเต็มใจ
ชีวิตของพระ นักบวช หรือผู้ที่ใช้ชีวิตในอาราม จะมีความสุขชนิดหนึ่งที่ต่างจากคนทั่วไปและไม่ค่อยเป็นที่เข้าใจของผู้ที่ยังมีความต้องการหรือดิ้นรนในทางโลกก็คือ ความสุขจากความสมถะสันโดษ ที่มีความสุขและความอิ่มใจ โดยพึ่งพาอาศัยสิ่งจำเป็นในการดำรงชีวิตเพียงปัจจัยสี่ก็พอแล้ว
ชีวิตของคนชาวโลกทั้งหลาย มักมีความเชื่อกันโดยทั่วไปว่า ต้องมีวัตถุสิ่งของ มีเงินทองมากๆ ใช้ของหรูหราราคาแพงๆ และมีเกียรติยศ มีคนคอยห้อมล้อม ไปไหนมีคนรู้จักทักทาย จึงจะรู้สึกว่าตัวเองมีค่าและมีความสุข
ความสุขลักษณะนั้น ย่อมถือว่าเป็นเรื่องสำคัญสำหรับผู้ที่ยังไม่รู้จัก “ความสุขจากความสันโดษ” เท่านั้น เมื่อใดที่เรารู้จักความสุขที่พระอริยเจ้าทั้งหลายท่านมีกัน ความสุขที่เราเคยดิ้นรนทะเยอทะยานและมีมาตลอดนั้น จะเริ่มกลายเป็นสิ่งที่ไร้ความหมายสำหรับชีวิตของเรา
หากวันใดเรารู้สึกเอิบอิ่มและมีความสุขแม้ไม่มีวัตถุสิ่งของหรือต้องอาศัยเงินทองหรือการพบปะผู้คนในการออกสังคมใดๆ เราสามารถอยู่คนเดียวอย่างมีความสุขได้ นั่นแหละคือ ความสุขของพระ ความสุขของนักบวช หรือความสุขของผู้ใช้ชีวิตในอาราม เป็นความสุขของชีวิตในศาสนา
ความสุขเช่นนี้หากพูดเพื่อให้คนยุคสมัยใหม่ฟัง ต้องใช้คำว่า “ยากจนอย่างเต็มใจ” น่าจะสื่อความหมายให้เข้าใจได้ยิ่งขึ้น หากพูดคำว่า “สันโดษ”แล้วผู้คนมักจะกลัวและเกิดความรู้สึกในทางไม่ค่อยดี คล้ายจะว้าเหว่เดียวดายไม่มีใคร แล้วจะมีความสุขได้อย่างไร เป็นอย่างนี้ก็มี
ความจริงแล้ว คำว่า “สันโดษ”ไม่ใช่สิ่งน่ากลัวอะไร เพราะคนเราส่วนใหญ่คุ้นเคยคำนี้อยู่แล้วในภาษาไทย ซึ่งก็คือคำว่า “มีความสุขอย่างพอเพียง”นั่นเอง ซึ่งเป็นความหมายของคำว่า “สันโดษ” จากที่เคยแปลกันว่า “สันโดษ คือ ความยินดีตามที่ได้ ตามที่มี ตามที่เป็น” นี้คือวิวัฒนาการของการสื่อภาษาในแต่ละยุคสมัย การแสดงธรรมเพื่อสื่อความหมายให้ผู้คนเข้าใจ จึงเป็นสิ่งยิ่งใหญ่และยากเพราะเหตุนี้
สำหรับคำว่า “พอเพียง” เราส่วนใหญ่ก็ชินหูกันหมดแล้ว แต่ผู้คนส่วนใหญ่ก็ไม่เห็นจะมีใครเพียงพอ เห็นมีแต่คนหน้าขาวๆทาครีมกันแดดนั่งรถคันโก้ๆ ไปคอยอบรมและบอกชาวบ้านที่อยู่บ้านหลังคาสังกะสีหน้าดำๆ มีไก่เลี้ยงไปตามมีตามเกิดอยู่สี่ตัว แล้วก็มีเงินติดบ้านอยู่แค่สามร้อย พร้อมกับหนี้ ธ.ก.ส. อีกหลายหมื่นว่า “ให้ทุกคนรู้จักพอเพียง” เป็นส่วนมาก
ชาวบ้านก็นั่งฟังทำตาปริบๆ อยากจะเถียง แต่ก็ไม่มีคำพูดทางวิชาการหรือทฤษฎีข้อใดพูดออกมาได้ เนื่องจากที่อุตส่าห์เรียนหนังสือจบ ป. ๓ ครึ่งออกมาได้ก็บุญหนักหนา เพราะพ่อบอกว่า “ให้ออกมาไถนา ไม่รู้จะเรียนไปทำไม” ขอท่านผู้มีเกียรติโปรดเห็นใจที่ชีวิตทั้งชีวิตทำนามาแต่เด็ก แต่ไม่เคยพอกินข้ามปี
ใจหนึ่งก็อยากจะพูดกับท่านผู้มีเงินและผู้มีเกียรติทั้งหลายว่า “อยากให้ท่านทั้งหลายจงพอเพียงให้เห็นเป็นตัวอย่างก่อน” ส่วนตัวข้าน้อยนี้ก็อยากพอเพียง แต่หนี้ ธ.ก.ส.ที่จะต้องส่งคืนอีกครึ่งเดือนจะทำอย่างไร นี้คือตัวอย่างที่เห็นโดยทั่วไป พวกเราส่วนใหญ่ก็เลยไม่มีใครอยากพูดถึง “ความพอเพียง”อีก
นี้คือการสะท้อนให้เห็นตัวอย่างของ “ผู้ยังไม่พอ แต่ไปสอนให้คนไม่เคยมีพอ ให้พอเพียง” อันเป็นสาเหตุหนึ่งให้พวกเรากลัวคำว่า “สันโดษ หรือพอเพียง” แล้วก็ไม่ค่อยมีใครอยากพูดถึง
จึงเป็นความทุกข์ยากลำบากในการสรรหาคำพูดของผู้แสดงธรรม ที่จะหาคำไหนมาพูดให้คนเข้าใจในคำสอนของพระพุทธเจ้า ธรรมะของพระองค์เป็นสิ่งลึกซึ้งและแสนประเสริฐ แต่กิเลสของชาวโลกได้ทำให้คำสอนของพระองค์ผิดเพี้ยนไป จึงขอใช้คำใหม่เพื่อให้ทุกคนเข้าใจ คือการมีชีวิตอยู่ด้วยความ “ยากจนอย่างเต็มใจ” คงจะพอสื่อความหมายถึงคำว่า “สันโดษ”ของพระพุทธเจ้าได้ สำหรับยุคดิจิตอลของพวกเรา
ถ้าใครสามารถดำรงชีวิตในมิติใหม่ ด้วยการมองเห็นทุกข์โทษความหรูหราฟุ่มเฟือยเกินไปสำหรับชีวิตที่ผ่านมา แล้วลดตัวลดตนลงมา ใช้ชีวิตอย่างมีคุณค่า ด้วยการ “เป็นอยู่อย่างต่ำ แต่กระทำอย่างสูง” แล้วมีชีวิตอยู่กับความยากจนด้วยความเต็มใจได้เมื่อไหร่ เมื่อนั้นแหละจะเป็นผู้เข้าถึงความหมายของการเป็นผู้มีชีวิตที่ “สันโดษ” โดยไม่ต้องออกไปอยู่ป่า อยู่เขา หรือเป็นฤาษี ชีไพร แต่อย่างใด
ความจริงแล้ว ชีวิตของนักบวช ดาบส ฤาษี ชีไพรแต่เดิมนั้น ก็คือผู้ที่ท่านอยู่กับความสะดวกสบาย อยู่ท่ามกลางสังคม บริวารหรือลูกน้องมาก่อน แต่ภายหลังเกิดความอิ่มตัวต่อความสุขชนิดนั้น ท่านก็ผันตัวเองหลีกเร้นออกจากสังคม ไปใช้ชีวิตที่มีความสุขเงียบๆ อันเป็นความสุขจากสมาธิและความวิเวก
นักบวชผู้เคร่งครัดแต่ครั้งโบราณ แต่เดิมก็คือ “ผู้หมกมุ่นในกามารมณ์”มาก่อน เป็นพวก “กามสุขัลลิกานุโยค” แล้วมาเป็น “อัตตกิลมถานุโยค”ในภายหลัง ท่านเหล่านั้นเคยตกเป็นทาสกิเลสทางเนื้อหนังหรือหลงใหลทางร่างกายของตนและของคนอื่นมาก่อน เมื่อออกบำเพ็ญเพื่อแสวงหาทางพ้นทุกข์ ฤาษีทั้งหลายจึงทรมานร่างกายตนเองเป็นการไถ่บาปชดเชย ควบคุมบังคับตัวเองอย่างเคร่งครัด ด้วยคิดว่าจะทำให้บรรลุธรรม นี้คือลูกตุ้มของนาฬิกา ที่เหวี่ยงซ้ายที ขวาที เป็นความสุดโต่งที่ไม่อาจทำให้รู้แจ้งในสัจธรรมได้ แม้จะบำเพ็ญสักเพียงใดก็ตาม
หากไม่หมกมุ่นในกามหรือทางโลก ก็ต้องเคร่งครัดควบคุมบังคับร่างกายให้อดอยากหรือทำตัวให้ลำบากให้ตรงข้ามกันไว้ มิฉะนั้นจะไม่สบายใจ เหมือนไม่ได้ปฏิบัติธรรมอะไร เหมือนไม่ได้ไถ่บาป ไม่ได้ไถ่ถอนความผิดในอดีตของตัวเอง การปฏิบัติบำเพ็ญของโยคีฤๅษีก่อนพระพุทธองค์ตรัสรู้จะเป็นแบบนี้
จนกระทั่งพระพุทธเจ้าตรัสรู้ จึงทรงประกาศคำสอนใหม่ว่า ไม่จำเป็นต้องไปทำตนให้ลำบากขนาดนั้น ก็สามารถรู้แจ้งสัจธรรมได้ เพียงแต่ไม่พัวพันหมกมุ่นในกามจนเกินไปคือไม่ปล่อยตัวปล่อยใจให้ไหลตามกระแสกิเลสของชาวโลกจนเกินไป แต่ให้มีสติกำกับอยู่เสมอ แล้วก็อย่าทำตนให้เคร่งเครียดทุกข์ยากจนสติเกิดไม่ได้เพราะจิตจะมีแต่การเสวยทุกขเวทนา เมื่อนั้นจิตจะเป็น “มัชฌิมาปฏิปทา” คือมีความเป็นกลางโดยอัตโนมัติ
จิตขณะนั้น จะไร้ความสำคัญมั่นหมาย ไม่มีการแบ่งแยกสิ่งใด ไม่ยึดมั่นถือมั่นในดีในชั่ว ในผิดในถูก จิตหยั่งลงสู่ “ความว่าง” หรือ “สุญญตา” นั่นคือสมาธิ ที่ประกอบพร้อมด้วยความรู้ ตื่น เบิกบาน อันเป็นสมาธิพุทธแท้ ไม่ใช่สมาธิของฤาษีชีไพรที่เคยพากันทำมาแต่ก่อน
แต่พระองค์ก็ทรงอนุโลมสำหรับผู้มีจริตราคะกล้า โทสะกล้าและมีศรัทธามาก แต่ปัญญาน้อย หากเจริญสติแบบสบายอย่างนั้นเสียทีเดียวจะไม่ได้ผล กิเลสทั้งหลายจะไม่สะเทือนสำหรับคนจริตแบบนั้น ต้องได้ปฏิบัติอย่างเคร่งครัด ต้องบำเพ็ญธุดงค์เพื่อให้กิเลสสะเทือน สติธรรมชาติจะได้มีโอกาสโผล่ขึ้น คนประเภทนี้จะชอบการปฏิบัติที่เคร่งครัดและต้องเกิดทุกขเวทนามากๆ เพื่อเป็นการไถ่บาปหรือชดเชยความผิด จิตจึงจะยอมและกลายเป็นลิงที่เชื่อง แล้วจึงมีพลังแห่งการเจริญสติหรือเจริญวิปัสสนาต่อไป
สำหรับผู้ที่ดำเนินชีวิตที่อยู่ในทาน ศีล ภาวนามาอย่างดี จิตจะไม่ลุ่มหลงมัวเมาในกระแสของชาวโลกแม้จะอยู่ท่ามกลางชาวโลก หากใครรู้ตัวว่าเป็นคนมีอารมณ์ดีหรือมองโลกในแงดี มีความแจ่มใสของดวงจิตเป็นปกติ เราไม่ต้องไปบำเพ็ญตนให้ลำบากหรือเคร่งครัดแบบนั้น จิตจะผิดเพี้ยนไปจากความปกติได้ เพราะจิตที่เคยดีๆใสๆจะกลายเป็นจิตที่เสียไป ต้องเจริญสติไปตามธรรมชาติที่เคยสอนไว้ จิตใจจะมีความสุข และราคะ โทสะ โมหะ จะลดลงไปเองเหมือนการจับด้ามมีด
ที่เป็นห่วงมากก็คือคนประเภทนี้ เพราะไม่มีใครบอกเราว่า สำนักปฏิบัติที่เคร่งครัดทั่วไป ส่วนใหญ่ท่านมีไว้สำหรับลูกค้าประเภทข้างต้น ไม่ได้มีไว้สำหรับเรา
คำแนะนำหรือคำสอนของ “คุรุอตีศะ”ส่วนใหญ่ จึงมุ่งสอนให้รู้จักการเจริญสติในชีวิตประจำวัน เพื่อให้ทุกคนได้รู้จักวิธี “สร้างภูมิคุ้มกัน”ให้แก่ใจตัวเอง ได้มีหลักในการครองชีวิตตามความเป็นจริง
ส่วนวิธีปฏิบัติหรือคำสอนในแนวนั้น ในสมัยปัจจุบันเรามักจะได้ยินและคุ้นกันอยู่แล้ว หากเราต้องการปฏิบัติอย่างเคร่งครัดและจะได้รู้สึก “สะใจ” สำนักปฏิบัติทั้งหลายต่างมีรองรับอยู่แล้ว ขอให้พากันไปปฏิบัติอย่างทุ่มเทตามที่ครูบาอาจารย์ท่านพาทำ การไปปฏิบัติกับท่านต้องปฏิบัติให้จริงและทำตามที่ท่านสอนให้ได้เสียก่อนจึงออกมา แบบโรงเรียนทหาร จึงจะได้ผล และต้องมีความอดทนและมีวินัย มีความเคารพเชื่อฟังเป็นเยี่ยมท่านจึงจะถ่ายทอดวิชาให้ตามขั้นตอน
ส่วนท่านใดที่ต้องการดำเนินจิตแบบธรรมชาติตามหลักมัชฌิมาปฏิปทา และไม่ต้องการบีบบังคับตัวเองให้บรรลุธรรมไวๆหรือใจร้อนอยากจะเป็นแต่พระอริยบุคคลให้ทันใจ ก็ขอให้มั่นใจในการสร้างภูมิคุ้มกันให้ตัวเองต่อไปให้มั่นคง ตามที่อธิบายและที่ถ่ายทอดออกมาด้วยความจริงใจต่อทุกคน
หากเข้าใจการดำรงจิตด้วยการมีสติตามธรรมชาติ ขอให้เราเรียนรู้สิ่งที่จะมาช่วยส่งเสริมการเจริญสติให้ยิ่งขึ้น นั่นก็คือ การใช้ชีวิตอย่างมีความสุขด้วยความ “ยากจนอย่างเต็มใจ” แล้วเราจะไม่ต้องทำตนให้ลำบากเคร่งเครียดแต่อย่างใด แต่เราจะกลายเป็นนักปฏิบัติธรรมที่ไร้รูปแบบและไม่เลือกเวลา
จากเคยแต่งตัวฉุยฉายเดินห้างวันละสองรอบ ก็ทำตัวยากจนลงมาหน่อยสองวันค่อยเดินห้างก็พอ จากเคยคุยโทรศัพท์จนสายแทบไหม้ ก็คุยแค่วันละหนึ่งชั่วโมง จากเคยนั่งเล่นอินเตอร์เน็ตแทบทั้งคืน ก็เปลี่ยนมานอนแต่หัวค่ำแล้วตื่นสูดอากาศยามเช้าบ้าง ส่วนบางคนจากนั่งห้องแอร์นอนห้องแอร์อยู่ทุกวัน ก็หัดมานอนใต้ถุนศาลาวัดเป็นเพื่อนกับหมาลองดูบ้างอาจแสนสบายใจ บางคนเคยดื่มเหล้านอนสลบไสลเป็นเอกลักษณ์ พอวันพระก็ตื่นใส่บาตรให้คนทั้งบ้านเซอร์ไพรส์ก็สุขใจดีเหมือนกัน บางคนอาจเคยมีชวิตเป็นขี้เมาแทบทุกวัน เกิดอยากจะเป็นคนใจบุญหรือรักษาศีลกับเขาสักวันบ้าง คงไม่มีใครว่าอะไร บางคนขับรถนั่งรถมากก็เบื่อ ลองนั่งรถเมล์เล่นบ้าง อาจจะได้ความคิดอะไร บางคนเป็นคนดีอยู่แต่บ้านตลอด ใจก็อับเฉาเพราะบุญบารมีไม่เกิด ก็ลองไปนอนวัดรักษาศีลเพิ่มบารมีของตนดูบ้าง ใจจะได้เกิดกำลังขึ้นมา
ชีวิตพระธุดงค์ก็คือพระที่ท่านละความสะดวกสบายโดยทิ้งวัดตัดภาระทั้งปวง มุ่งแสวงหาความวิเวกเสี่ยงอันตรายในป่า ส่วนเรายังเป็นผู้มีภาระ ยังเป็นชาวบ้านแสวงหาเงินตรา เราก็ลองหัดมาใช้ชีวิตอย่างเรียบง่ายและติดดินบ้าง บางทีจะพบความปลอดโปร่งสบายใจและปล่อยวางอะไรได้มากขึ้น
อย่างนี้คือตัวอย่างของการใช้ชีวิตที่ “ยากจนอย่างเต็มใจ” ที่หากใครได้ลองทำดูแล้วจะมีความสุขและมีความภูมิใจ ความสุขเช่นนี้แหละคือความสุขของพระ ความสุขของนักบวช ความสุขของคนที่พอใจใช้ชีวิตในอาราม ที่คนทั่วไปยากจะเข้าใจและไม่อยากจะเชื่อว่าเป็นความสุขได้จริงๆ
ความสุขของผู้ยินดีในทางโลกหรือฆราวาส คือความสุขจากการมีทรัพย์และการได้ใช้จ่ายทรัพย์ ส่วนความสุขของผู้มีชีวิตแบบสันโดษ มีชีวิตที่พอเพียง ย่อมมีความสุขแบบ “ยากจนอย่างเต็มใจ” ทรัพย์สินเงินทองหรือความสะดวกสบาย ความหรูหราฟุ่มเฟือยใดๆ ย่อมจะมีความหมายต่อท่านน้อยลงทุกที มีก็บริโภคใช้สอย ไม่มีก็ไม่เดือดร้อนกระวนกระวาย
นี้แหละคือความสุขของคนที่ใช้ชีวิตในทางศาสนาหรือผู้มีชีวิตอันสงบสุขในอาราม ที่ท่านบวชกายและบวชใจได้อย่างแท้จริง ชีวิตในศาสนาหรือความเป็นนักบวชแต่ดั้งเดิม แท้จริงแล้วก็คือชีวิตของบุคคลผู้เลือกที่จะมีความสุขอยู่ในโลกนี้แบบ "ยากจนอย่างเต็มใจ"นั่นเอง
คุรุอตีศะ
๑๕ มกราคม ๒๕๕๗