ท้องฟ้าที่ว่างเปล่า

ท้องฟ้าที่ว่างเปล่า

 

                   สรรพสิ่งมีความสมบูรณ์อยู่แล้วในตัวเอง   แต่เมื่อมนุษย์คิดว่าความสมบูรณ์พร้อมมีอยู่ภายนอก  จึงพากันแสวงหาเมื่อให้ได้สิ่งนั้นมา  นับแต่วินาทีนั้นมนุษย์ทุกคนจึงกลายเป็นคนยากจน และรู้สึกว่าชีวิตของตนมีความขาดแคลนตลอดเวลา


                  ผู้ที่ยังมีจิตประกอบด้วยโมหะอวิชชา  ต่างพากันแสวงหาพระเจ้าหรือพระนิพพานนอกตัว  ส่วนผู้ที่มีสติปัญญารู้ชัดในรหัสนัยที่องค์พุทธะได้ประทานไว้  ย่อมแสวงหาพระเจ้าหรือพระนิพพานภายในตัวเอง   เมื่อนั้นเขาย่อมประจักษ์ว่า สิ่งที่ผู้คนแสวงหา  แท้จริง เรามีมาแต่เดิมแล้ว และมีอยู่ภายในตัวเรานี่เอง


                   ด้วยเหตุนี้ท่านพระโพธิธรรมและปรมาจารย์ผู้บรรลุแล้ว ท่านจึงไม่เรียกการเข้าถึงสัจธรรมอันสูงสุดที่พระพุทธองค์ตรัสรู้ว่า “บรรลุพระนิพพาน” เหมือนอย่างพุทธศาสนิกชนในบ้านเรามักคุ้นเคยคำนี้  แต่ท่านเรียกการที่บุคคลบรรลุถึงสัจธรรมความจริงอันสูงสุดว่า “การรู้แจ้งจิตเดิมแท้” ซึ่งแท้จริงแล้วก็คือการกล่าวถึงสิ่งเดียวกัน

 
                   การพูดถึงสิ่งเดียวกัน แต่ใช้ภาษาคำพูดหรือโวหารที่ต่างกัน แม้จะเป็นการแสดงธรรมหรือถ่ายทอดธรรมะเหมือนกัน  แต่ก็มีผลต่างกันต่อผู้ฟัง  เพราะคำพูดประการหลังทำให้บุคคลมีความเข้าใจง่ายและรู้สึกว่าการเข้าถึงสัจธรรมสามารถเป็นไปได้ในชีวิตนี้ได้ดีกว่า    นี้คือความแตกฉานในภาษาและเชี่ยวชาญในการแสดงธรรมของพระอรหันต์ปฏิสัมภิทาประการหนึ่ง


                   ท่านพระโพธิธรรมหรือที่พวกเราส่วนใหญ่รู้จักท่านในชื่อว่า “ปรมาจารย์ตั๊กม้อ” ซึ่งปรากฏอยู่ในภาพยนตร์จีนกำลังภายในซึ่งสร้างขึ้นเพื่อความบันเทิงนั้น  ตามหลักฐานความเป็นจริงแล้ว  ท่านไม่ใช่พระธรรมดาสามัญ  แต่คือสมเด็จพระสังฆราช  พระสังฆปริณายก องค์ที่ ๒๘ แห่งประเทศอินเดีย  ซึ่งพระอาจารย์ของท่านได้สั่งไว้ก่อนดับขันธ์ให้ท่านไปเผยแผ่พระธรรมที่ประเทศจีน  เพราะกาลในอนาคตพระพุทธศาสนาจะสูญหายไปจากอินเดีย   สมควรที่จะไปหาคนสืบทอดไว้ที่ดินแดนเมืองจีน  ท่านจึงดั้นด้นไปประกาศคำสอนอันดั้งเดิมเที่ยงแท้ไว้จนสำเร็จ  เมื่อมีผู้สืบทอดเรียบร้อยแล้วท่านก็กลับคืนสู่ชมพูทวีป เพราะเหตุนี้ในประทศจีนจึงนับท่านพระโพธิธรรมว่าเป็น “พระสังฆปริณายก  องค์ที่ ๑” นับแต่นั้น   และตามประวัติท่านดับขันธ์เมื่อ พ.ศ. ๑๑๓๓  เมื่ออายุ ๑๕๐ ปี


                  เหตุที่กล่าวถึงเรื่องนี้  ก็เพื่อแก้ข้อสงสัยของใครบางคนที่พอเข้ามาในเว็บไซต์  มองเห็นโฮมเพจมีข้อความว่า “เกพลิตาโพธิวิหาร  สถานที่บำเพ็ญเพียรเพื่อรู้แจ้งจิตเดิมแท้” อาจมีความเคลือบแคลงใจ ว่านี่จะใช่พระพุทธศาสนาหรือไม่หนอ  หรือเป็นพระนอกรีตนอกพระธรรมวินัยกันแน่  แต่ไม่กล้าถามไถ่หรือแสดงความในใจออกมา  จะได้เกิดความเข้าใจพร้อมไปกับการอ่านบทความธรรมะเสียทีเดียวว่า ก็สอนเรื่องพระนิพพาน เรื่องการพ้นทุกข์ตามหลักธรรมในพระพุทธศาสนานั่นแหละ  แต่ใช้คำให้เป็นสากลที่แม้ต่างลัทธินิกายก็สามารถเข้าใจในพระธรรมได้  ไม่จำกัดเฉพาะนักปฏิบัติธรรมเฉพาะกลุ่มเพียงแค่ในบ้านเรา


                เพราะขึ้นชื่อว่าความทุกข์ ความวิตกกังวล ความหม่นหมอง ย่อมมีกันได้ทุกคน  ขึ้นชื่อว่าเสียงหัวเราะและน้ำตานั้น  ย่อมเป็นแบบเดียวกันทั้งโลกไม่ยกเว้นว่าเป็นใคร  ความทุกข์ย่อมบีบคั้นใจได้เสมอไม่เลือกศาสนาลัทธินิกาย  ขอเพียงให้ธรรมะนี้ช่วยเป็นน้ำทิพย์ชโลมใจ ยามมีคนร้องไห้แล้วได้คลายความทุกข์ก็สมกับเจตนารมณ์แล้ว  ด้วยเหตุนี้จึงไม่ใช้คำว่า “ปฏิบัติเพื่อกำจัดกิเลสเพื่อบรรลุพระนิพาน”  แต่ใช้คำร่วมสมัยว่า “บำเพ็ญเพื่อเข้าสู่การรู้แจ้งจิตเดิมแท้” ในการสื่อความหมายแห่งพระธรรมตลอดมา


              โลกของเราในสมัยปัจจุบัน  นับวันจะแคบลงเพราะสามารถสื่อสารถึงกันได้ทั่วทุกมุมโลก  ดังนั้น นอกจากจะถ่ายทอดธรรมะตามปกติทั่วไปแล้ว  เมื่อได้ช่องได้โอกาสก็จะแทรกเกร็ดความรู้เพื่อประโยชน์ของทุกคนไว้  หากพูดเป็นคำสมัยใหม่ ก็คือจะได้มีวิสัยทัศน์อันกว้างไกล  เพราะเรากำลังจะกลายเป็นประชาคมอาเซียนในปี ๒๕๕๘  เราจะได้มีพื้นฐานความรู้ทางพระพุทธศาสนาต่างนิกายไปด้วย


              ยกตัวอย่างเช่น เมื่อเราไปประเทศเวียดนาม  เราได้ยินชื่อพระสงฆ์ที่มีชื่อเสียงที่เป็นชาวเวียดนามคือ ท่านติช นัท ฮันห์  หากเราทราบว่านั่นคือพระภิกษุในฝ่ายมหายาน  นิกายเซน  ซึ่งถ้าเทียบคำสอนและหลักปฏิบัติในบ้านเราแล้ว  พระเซน ก็คล้ายกับพระป่าหรือพระธุดงค์กรรมฐานที่มุ่งความหลุดพ้นแบบสายพระป่าหรือสายหลวงปู่มั่น  สิ่งที่พระเซนท่านสอนก็คือ สติ ตามหลักมหาสติปัฏฐานสูตรนั่นเอง


             หากเรามีความเข้าใจเช่นนี้ เราจะมองโลกได้กว้างขึ้น  และเราจะไม่แปลกใจเลยว่า เหตุใดพระสงฆ์ในญี่ปุ่นซึ่งแต่งกายไม่เหมือนพระในบ้านเราเลย  จึงมีความเคารพบูชาสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก  ถึงขั้นประกาศจัดพิธีสวดพระอภิธรรมอย่างยิ่งใหญ่ถวายพระองค์ที่วัดเนนบุตซึซุในประเทศญี่ปุ่นเป็นเวลา ๑ ปี จนถึงวันที่ ๒๔ พฤศจิกายน  ๒๕๕๗

 
            เราจะไม่แปลกใจว่า เหตุใดองค์ทะไลลามะ ประมุขของชาวธิเบตจึงทรงเรียกสมเด็จพระสังฆราชของประเทศไทยว่า “พี่ชายของฉัน”  และที่สำคัญคนไทยส่วนใหญ่ยังไม่ทราบว่า องค์กรสุดยอดผู้นำพระพุทธศาสนาทั่วทั้งโลก ได้ถวายพระเกียรติเกียรติแด่สมเด็จพระสังฆราชของเราว่าทรงเป็น “ผู้นำสูงสุดแห่งโลกพระพุทธศาสนา” เมื่อ พ.ศ. ๒๕๕๕

 
            ทั้งนี้ก็เพราะว่าพระองค์ท่านทรง “รู้แจ้งจิตเดิมแท้” อันเป็นสากล ซึ่งเป็นผลจากการที่พระองค์ทรงเป็นพระกรรมฐานอยู่กลางกรุงมาตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๐๔  ทรงเคยไปศึกษาภาคปฏิบัติกับครูบาอาจารย์สายวัดป่าหลายองค์ด้วยกันตั้งแต่ยังไม่ได้เป็นสมเด็จ  พระองค์ท่านจึงทรงเพียบพร้อมด้วยทั้งปริยัติ ปฏิบัติ ปฏิเวธ  ด้วยเหตุนี้พระองค์ท่านจึงทรงได้รับการยกย่องเป็น “ผู้นำสูงสุดแห่งโลกพระพุทธศาสนา” ดังกล่าวแล้ว


            จึงขอถวายอภิสัมมานสักการะ สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช  สกลมหาสังฆปริณายก ด้วยเศียรเกล้า  ไว้  ณ  ที่นี้


            สรรพสิ่งนั้นล้วนสมบูรณ์อยู่แล้วในตัวเอง  แต่เมื่อใดมนุษย์ปล่อยจิตให้แสวงหาสิ่งอันเป็นภายนอก จิตย่อมไหลไปสู่อดีต สู่อนาคต  เมื่อนั้นความปรุงแต่งของจิตจึงเกิดขึ้นตามมา  หลังจากนั้นเวทนา ตัณหา อุปาทานจึงเกิดขึ้น  นี้คือหลักแห่งปฏิจจสมุปบาท


            การปฏิบัติธรรมจึงคือการดำรงจิตอยู่กับสติ  รู้ ตื่น เบิกบาน อยู่กับปัจจุบันขณะนี้  คือการอยู่กับจิตเดิมแท้ที่มีมาแต่เดิม ก่อนที่จิตจะปรุงแต่งให้เกิดกิเลสขึ้นมา


            ในตอนแรกที่ยังมีแต่ศรัทธา  ผู้ปฏิบัติทุกคนย่อมรู้สึกว่าต้องพยายามกำจัด ราคะ โทสะ โมหะ ให้กิเลสหมดไปจากใจให้ได้  แต่เมื่อมีปัญญาเกิดขึ้นรู้เท่าทันจิตขึ้นวันใด  บุคคลนั้นย่อมรู้ชัดด้วยตัวเองว่า แท้จริงแล้วไม่มีสิ่งใดต้องกำจัดสิ่งใด  เพราะสรรพสิ่งเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป ด้วยตัวมันเองอยู่แล้ว


           เปรียบดังท้องฟ้าที่ว่างเปล่า  แม้มีเมฆหมอกมาบดบังเป็นครั้งคราว  ไม่จำต้องมีใครไปจัดการทำลายเมฆหมอกนั้นให้ยุ่งยาก  เมื่อถึงเวลาของมัน  เมฆหมอกนั้น ไม่นานก็มลายหายไปเอง


            การปฏิบัติที่ยุ่งยากและแสนทุกข์ยากลำบาก ก็เพราะมัวแต่ไปคอยจัดการหรือทำลายเมฆหมอกไม่ให้มีในท้องฟ้า   แต่หากบุคคลใดมีปัญญามองเห็นความเป็นจริงว่า  แท้จริงแล้ว ขึ้นชื่อว่าท้องฟ้าย่อมมีเมฆหมอกมาประดับตามฤดูกาลเป็นธรรมดา  ไม่มีความจำเป็นที่อะไรต้องไปกำจัดอะไร


               เมื่อเข้าใจวิถีแห่งอริยะเช่นนี้เมื่อใด  เมื่อนั้นบุคคลย่อมเข้าใจ “วิถีแห่งการรู้แจ้งจิตเดิมแท้” โดยไร้คำถามใดๆอีก  มีแต่ความเงียบ สงบ ลึกซึ้งอยู่ภายในซึ่งไม่อาจอธิบายบอกใครได้  นี้คือรหัสนัยสำหรับผู้ทรงปัญญา  ที่องค์พุทธะทรงประทานไว้ให้มวลมนุษย์เป็นพันปีแล้ว


                ท้องฟ้าที่ว่างเปล่า  คือความสมบูรณ์แล้วในตัวเอง  ท้องฟ้าไม่มีความต้องการเติมเต็มจากสิ่งใด ยามมีเมฆหมอกท้องฟ้าก็ยินดีรับเอาไว้   วันที่แจ่มใสไร้เมฆหมอก ท้องฟ้าก็ยังคงเต็มเปี่ยมอยู่ตามเดิม

 

                                                                          คุรุอตีศะ
                                                                 ๒๒  ธันวาคม  ๒๕๕๖