หัวใจที่ไร้เดียงสา

หัวใจที่ไร้เดียงสา

 

             หากจะพูดให้คนสมัยใหม่เข้าใจว่า การปฏิบัติธรรมคืออะไร มีคำตอบที่ใช้คำให้ทันสมัยได้ว่า คือ "การเอาหัวใจที่ไร้เดียงสา คืนกลับมาสู่ชีวิตอีกครั้งหนึ่ง"


             การเอาหัวใจที่ไร้เดียงสากลับคืนมาสู่ชีวิต  เป็นวิธีการสำคัญโดยผ่านการเจริญสติสมาธิเป็นชีวิตประจำวัน  มีชีวิตอยู่กับตัวเองตามความเป็นจริง  จนกระทั่งหัวใจได้กลับคืนสู่ความเป็นเด็กอีกครั้ง ชีวิตและหัวใจมีความสงบร่มเย็น เพราะจิตได้รับความอิสระไม่ตกเป็นทาสของสังคมและเป็นตัวของตัวเอง  เราเรียกสภาวะจิตเช่นนั้นว่า "การบรรลุธรรม"


              เด็กมีความไร้เดียงสา เด็กจึงมีความสุขและร่าเริงเบิกบาน  แต่เมื่อเด็กเติบโตเป็นผู้ใหญ่ ความไร้เดียงสาเริ่มหายไป เขาจึงเริ่มมีความทุกข์และคิดมาก  แต่ผู้คนทั่วไปนิยมยกย่องความทะเยอทะยาน อำนาจ เงินทองว่าเป็นสิ่งยิ่งใหญ่ แล้วดูหลงลืมความไร้เดียงสาที่เคยเต็มเปี่ยมอยู่ในหัวใจ แต่ละคนจึงร่ำไห้มากกว่ารอยยิ้มที่เบิกบานนับแต่นั้น


               ความไร้เดียงสาต่างจาก "อวิชชา"  แม้จะมีความหมายว่า "ความไม่รู้" คล้ายๆกัน  อวิชชาที่แปลว่าไม่รู้นั้นคือต้นตอของความทุกข์ อวิชชาจะประกอบด้วยความกระวนกระวาย เพราะไม่รู้ว่าจะทำอย่างไรจิตใจจึงไม่มีความทุกข์ จึงแสวงหาสิ่งภายนอกเพื่อมาเติมเต็มชีวิตด้วยตัณหาอุปาทาน จึงไม่มีความสงบสุขเพราะอิทธิพลของความอยากได้ อยากมี อยากเป็น คอยบงการและออกคำสั่งตลอดเวลา


              ส่วนความไร้เดียงสา ไม่มีความกระวนกระวายใดๆ เพราะไม่ต้องการสิ่งใดนอกจากชีวิตที่เป็นปัจจุบันในขณะนี้  ความไร้เดียงสาจะเต็มเปี่ยมด้วยพลังและมีความสงบสุข โดยไม่ต้องอาศัยสิ่งภายนอกมากำหนด มีความร่ำรวยและบริสุทธิ์อยู่ในตัวเอง ขณะใดที่จิตมีความไร้เดียงสา ขณะนั้นจิตจะอยู่กับปัจจุบัน ไม่มีอดีต ไม่มีอนาคต  จิตที่ไร้เดียงสาจึงมีความสุข มีอาการรู้ ตื่น เบิกบานอยู่ในตัว


               การปฏิบัติธรรมก็คือการที่พยายามหมั่นฝึกฝนจิต ไม่ให้ไหลไปในอดีต ไม่ให้ไหลไปในอนาคต  ให้อยู่กับปัจจุบัน  ซึ่งขณะนั้นจิตจะมีความไร้เดียงสา เหมือนเด็กที่วิ่งไล่จับผีเสื้อที่ไม่ปรารถนาสิ่งอื่นใด นอกจากได้วิ่งไล่ผีเสื้อด้วยความร่าเริงเบิกบาน


               ความไร้เดียงสานี้ค่อยๆหายไปจากชีวิตเมื่อได้รับการศึกษาและอิทธิพลของสังคม ที่เริ่มมามีอิทธิพลต่อชีวิตของทุกคนนับแต่นั้น  สังคมได้สอนเราให้รู้จักทะเยอทะยานและไขว่คว้าเพื่อจะได้ชื่อว่า "เติบโตเป็นผู้ใหญ่  จะได้ไม่เป็นคนไร้เดียงสา" นับแต่นั้นเป็นมา เราจึงมักมีเพื่อนแท้คือน้ำตาและหม่นหมองใจกันทุกถ้วนหน้า เมื่อได้กลายเป็นผู้ใหญ่อย่างสมบูรณ์


               พระศาสดาทุกพระองค์ในแต่ละศาสนาและนักปราชญ์ทั้งหลาย  ท่านเหล่านั้นเกิดสติปัญญารู้เท่าทันมายาคติในเรื่องนี้และพยายามจะบอกความจริงเช่นนี้ให้แก่มนุษยชาติ จึงเกิดวิธีการต่างๆในแต่ลัทธิศาสนาเพื่อช่วยให้มนุษย์รอดพ้นจากความทุกข์และความบีบคั้นทางจิตใจ แต่ก็มีมนุษย์จำนวนน้อยคนนักที่จะเห็นคุณค่าและยอมรับ "ความไร้เดียงสา"เข้ามาสู่หัวใจ  มีแต่ต้องการเป็น "ผู้ใหญ่" ที่เหนือกว่าใครๆ ไม่ยอมเสียเปรียบหรือยอมด้อยกว่าใครทั่วทั้งโลก จึงพากันคิดมากและมีความทุกข์โศกกันอยู่ทั่วไป ความบริสุทธิ์ไร้เดียงสาได้หายไป แต่มีชั้นเชิงเล่ห์เหลี่ยมแบบผู้ใหญ่เกิดขึ้นแทน


                เมื่อใดเราเกิดความไหวตัวขึ้นมาว่า ชีวิตของเราขณะนี้เหมือนกับได้พลาดจากสิ่งสำคัญบางอย่างไป  เรามีคนรัก มีคู่ครอง  มีเงินทอง  มีญาติพี่น้อง มีเพื่อนฝูง  มีเกียรติ มีอำนาจ มีชื่อเสียง  แต่ก็เหมือนชีวิตยังขาดอะไร ยังรู้สึกว้าเหว่และซึมเศร้าหงอยเหงาทั้งที่ก็มีอะไรทุกอย่าง สิ่งที่ขาดหายจากชีวิตไป  สิ่งนั้นก็คือ "หัวใจที่ไร้เดียงสา"นั่นเอง


                ความไร้เดียงสาแบบสมัยตอนเป็นเด็ก เป็นความไร้เดียงสาที่ยังเป็นเพชรไม่ได้รับการเจียระไน  เมื่อเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่ไขว่คว้าทะเยอทะยานจนเต็มที่แล้ว ความทุกข์จะบีบคั้นให้แสวงหาสัจธรรม  แสวงหาคำตอบว่า แท้จริงแล้ว ชีวิตนี้ต้องการอะไรกันแน่  เมื่อเกิดความเฉลียวใจและตระหนักรู้ขึ้นมาวันใด  ว่าชีวิตที่ผ่านมานั้นช่างไร้สาระสิ้นดี  เมื่อนั้นแหละ จะเกิดการค้นหา "สิ่งที่ขาดหายไป"อย่างไม่ต้องมีใครมาบังคับ แต่ความทุกข์ที่เผาลนจิตใจนั้นเองจะบังคับโดยตัวของมันเอง


                 ความไร้เดียงสาที่บริสุทธิ์และร่ำรวยสมัยเป็นเด็ก ที่หายไปในระหว่างการเดินทางสู่ความเป็นผู้ใหญ่  เมื่อกลับคืนมาใหม่อีกครั้งเป็นความไร้เดียงสาครั้งที่สอง เราเรียกสิ่งนี้ว่า "การบรรลุธรรม"


                 ด้วยเหตุนี้ในประเทศอินเดีย จึงเรียกขานพราหมณ์ผู้เข้าถึง "โมกษะ" ว่า "ผู้เกิดใหม่ครั้งที่สอง"หรือ "ผู้เกิดสองครั้ง" อันหมายถึงการได้มีจิตใจกลับคืนเป็นเด็กที่บริสุทธิ์ไร้เดียงสาเป็นครั้งที่สอง ในศาสนาอื่นอาจเรียกสิ่งนี้ว่า "อาณาจักรของพระเจ้า" หรือ "รวมเข้าเป็นหนึ่งเดียวกับพระผู้เป็นเจ้า" บางลัทธิเรียกสิ่งนี้ว่า "เต๋า" ส่วนในพระพุทธศาสนา เราเรียกสิ่งนี้ว่า "พระนิพพาน"


                 สำหรับบุคคลที่เริ่มรู้จักหรือเริ่มมีหัวใจที่ไร้เดียงสา คนทั่วไปอาจจะมองว่าเป็นคนโง่ในสายตาของชาวโลกก็ได้  เพราะจะไม่ค่อยใส่ใจในการดิ้นรนแสวงหาอำนาจ เกียรติยศ หรือเงินทอง ไม่มีความทะเยอทะยานอยากได้ใคร่มีเหมือนคนทั่วไป อะไรที่คนทั่วไปอยากได้ คนชนิดนี้จะไม่อยากได้และมองไม่เห็นเป็นสิ่งสำคัญ คือเริ่มมีความรู้สึกนึกคิดสวนทางกับชาวโลก แต่ภายในจิตใจของคนชนิดนี้นั้น จะมีความแจ่มใสเบิกบานทั้งที่ชีวิตไม่ค่อยมีอะไร  เป็นชีวิตที่ยากจนข้างนอก แต่ข้างในร่ำรวยเสมอ


                 เพราะเหตุนี้ ชีวิตของพระอริยเจ้าทั้งหลายจึงมีชีวิตสวนทางกับชาวโลก เพราะมองไม่เห็นความสำคัญของวัตถุสิ่งของเงินทองและอำนาจเกียรติยศชื่อเสียง ทำให้เป็นที่พิศวงงงงวยแก่ชาวโลกให้เห็นอยู่บ่อยๆ เพราะทัศนะในการมองโลกและการมองชีวิตอยู่ในมิติที่ต่างกัน สิ่งที่ชาวโลกถือเป็นเรื่องสำคัญ จึงอาจเป็นเรื่องที่ไม่สำคัญสำหรับท่านก็ได้

 
                 แม้อยู่ท่ามกลางเกียรติยศ อำนาจ และเงินทอง จิตของท่านก็ไม่ติดไม่ข้อง ไม่ลุ่มหลงมัวเมาเหมือนปุถุชนคนทั่วไป  หากเลือกได้ท่านย่อมพอใจที่จะใช้ชีวิตอย่างยากจนเรียบง่ายธรรมดา มากกว่าจะอยู่อย่างหรูหราฟุ่มเฟือย อันท่านมองเห็นเป็นภาระ เป็นคนบ้าหอบฟางในสายตาของท่าน  การบริโภคสิ่งของหรือปัจจัยสี่ที่เขานำไปถวาย จึงทำไปด้วยดวงจิตเพื่ออนุเคราะห์ให้เขาได้บุญ มิใช่ลุ่มหลงในความสะดวกสบาย  คนทั้งหลายจึงมักนิยมพากันนำสิ่งของไปถวายเพื่อบูชาคุณธรรมความดี


                 ในสายตาของชาวโลก อาจมองว่าเป็นความโง่ที่ไม่รู้จักไขว่คว้าดิ้นรนเพื่อให้ได้มา แต่ความโง่ชนิดนี้ไม่ใช่ความโง่ธรรมดา เพราะเป็นความโง่ที่ประกอบด้วย "วิชชา" คือความรู้ตัวมีสติอยู่เสมอ พระอริยเจ้าท่านอาจโง่ในการแสวงหาวัตถุสิ่งของเงินทอง แต่ท่านฉลาดในการทำจิตไม่ให้มีความทุกข์ ส่วนปุถุชนฉลาดในการดิ้นรนเพื่อให้ได้มาในทุกสิ่ง แต่โง่ในการหาวิธีออกจากความทุกข์ ความคิดมาก และความวิตกกังวล พระอริยบุคคลกับปุถุชนจึงมีความโง่ ความฉลาดแตกต่างกันอย่างนี้

   
                 หากบุคคลใดก็ตามได้ทราบความลึกซึ้งถึงความจริงในชีวิตเช่นนี้  บุคคลนั้นจะตระหนักรู้อย่างใหญ่หลวงขึ้นมาทันทีว่า การปฏิบัติธรรมหรือการเจริญสติสมาธิ ที่พระอริยเจ้าทั้งหลายอาศัยจิตที่เมตตาอยากอนุเคราะห์เกื้อกูล พยายามอดทนและพากเพียรชี้นิ้วให้พยายามมองให้เห็นดวงจันทร์นั้น เป็นเรื่องสำคัญที่สุดสำหรับชีวิต  เรื่องอื่นล้วนเป็นเรื่องรองลงไปทั้งสิ้น


                 ขอให้เราทั้งหลายจงพยายามเอาหัวใจที่ไร้เดียงสากลับคืนมา แล้วหมั่นเจริญสติสมาธิไว้เป็นหลักของหัวใจ  น้ำตาที่เคยหลั่งไหลเพราะความทุกข์ความคับแค้นใจ จะค่อยๆแห้งไป แล้วในที่สุดกจะมีหัวใจที่สดใหม่ ดุจการได้เกิดเป็นเด็กครั้งที่สอง


                   เมื่อความไร้เดียงสากลับคืนมา จนเต็มเปี่ยมอยู่ในหัวใจ เราได้กลายเป็นคนใหม่ที่หัวใจไม่มีทางเหมือนเดิมอีกแล้ว  เพราะเราได้ "เกิดใหม่ในแดนธรรม" มีสุขาวดีสถิตอยู่กลางดวงใจ


                  แม้ในภายนอก คนจะมองว่ายากจนต่ำต้อยและไร้เกียรติเพียงใด แต่เราจะเคารพตนเองและพูดกับตัวเองอย่างเต็มปากเต็มคำได้ ว่า "ชีวิตของเราเต็มเปี่ยมอยู่เสมอ" ทั้งในอดีต อนาคต และปัจจุบัน   หัวใจที่ไร้เดียงสาคือเพื่อนตายของเรา คืออาณาจักรของเรา คือรักแท้ของเรา โดยไม่จำเป็นต้องเรียกหาความรักใดๆแบบชาวโลกอีกแล้ว

 

                                                                                คุรุอตีศะ
                                                                       ๒๑  ธันวาคม  ๒๕๕๖