ความรักของพระโสดาบัน

ความรักของพระโสดาบัน


                                                                            
            หลายคนเอาหัวใจไปฝากไว้กับความรัก  คิดว่าความรักคือสิ่งสำคัญยิ่งกว่าสิ่งใด  ดูได้จากการที่หนุ่มสาวหรือคนทั่วไปให้ความสำคัญกับวันวาเลนไทน์ยิ่งกว่าวันมาฆบูชา  เพราะคิดว่าความรักสองเรานั้นยิ่งใหญ่กว่าศาสนาและยอมมอบหัวใจและทุกอย่างบูชาความรัก ยิ่งกว่าบิดามารดาผู้ให้ชีวิตและมองไม่เห็นความสำคัญของศาสนาว่าจะมีค่าอะไรสำหรับชีวิต  สองเราเท่านั้นยิ่งใหญ่กว่าสิ่งใดในโลก   นี้คือหัวใจของผู้คนทั่วไป ผู้นิยมบูชาความรักทั้งหลาย ว่าความรักสำคัญเหนือกว่าสิ่งใด


            วันวาเลนไทน์แท้จริงแล้วคือวันแห่งความรักที่ยิ่งใหญ่ของนักบุญวาเลนไทน์ ที่เป็นตัวอย่างของบุคคลที่มอบความรักความเมตตามอบให้แก่เพื่อนมนุษย์ที่ปราศจากความเห็นแก่ตัว เป็นความรักที่มอบสิ่งดีงามให้ผู้อื่น ไม่ใช่ความรักที่เอาเข้ามาสู่ตัวเอง เป็นความรักที่สูงส่ง  เป็นวันแห่งความรักของนักบุญ ไม่ใช่ความรักพื้นๆที่มีกิเลสตัณหานำหน้า อย่างที่หนุ่มสาวทั้งหลายหรือหญิงชายหลายคนเข้าใจ  แต่เป็นความรักอันยิ่งใหญ่ระดับความรักของพระโสดาบันในพระพุทธศาสนา


             หากหนุ่มสาวชายหญิงจะถือเอาวันแห่งความรักหรือวันวาเลนไทน์ ให้เป็นวันยิ่งใหญ่ยิ่งกว่าบิดามารดาหรือความสำคัญของศาสนา ก็สามารถทำได้ หากเข้าใจและเข้าถึงความรักแบบที่นักบุญวาเลนไทน์มีต่อเพื่อนมนุษย์เคยทำมาแล้ว แล้วน้อมเอาความรักที่สูงส่งและบริสุทธิ์นั้นเข้ามาสู่หัวใจของเรา ให้ความรักในหัวใจของเราที่เคยหยาบกระด้างและเต็มไปด้วยความเห็นแก่ตัวตามแบบปุถุชนทั่วไปที่เคยมีอยู่เดิม  ค่อยๆพัฒนาด้วยความสติทีละน้อยจนสะอาดและสูงส่งขึ้นตามลำดับ  หากเป็นเช่นนั้นได้  วันแห่งความรักหรือวันวาเลนไทน์ย่อมยิ่งใหญ่  เพราะสามารถเข้าถึงและเข้าใจความรักของนักบุญวาเลนไทน์ที่สะอาดสูงส่งเมื่อครั้งอดีต


               เราหลายคนคงเคยได้ยินคำกล่าวที่ว่า "ความรักคือความทุกข์"มาแล้ว  ซึ่งทำให้ผู้คนจำนวนมากหลงเข้าใจผิดและมีอคติกับความรัก  เพราะไม่เข้าใจภูมิหลังหรือบริบทของคำสอนนี้ว่ามีความเป็นมาอย่างไร  คนส่วนใหญ่จึงเข้าใจว่าพระพุทธศาสนาปฏิเสธความรักหรือมองความรักในแง่ร้าย  หลายคนจึงปลงใจผิดคิดว่ามีแต่ศาสนาอื่นเท่านั้นที่สอนเรื่องความรัก


                ความจริงแล้ว พระบรมครูของโลกพระองค์ทรงเข้าใจจิตใจของเวไนยสัตว์อย่างลึกซึ้งและไม่มีใครจะสามารถหยั่งถึงพระปัญญาธิคุณของพระองค์ได้แจ่มแจ้งตลอดสาย  พระองค์ทรงทราบดีว่ามนุษย์แต่ละคนนั้นมีภูมิจิต มีความหยาบความละเอียดของจิตแตกต่างกัน  การแสดงธรรมของพระองค์ที่โปรดผู้คนทั้งหลายจึงไม่เหมือนกัน  เปรียบเหมือนนายแพทย์ใหญ่ผู้เชี่ยวชาญ ย่อมวินิจฉัยโรคและสั่งจ่ายยาให้ผู้ป่วยแต่ละรายไม่เหมือนกันแม้แต่รายเดียว การแสดงธรรมของพระองค์ก็เช่นนั้น


                 คำว่า "ความรักคือความทุกข์" เป็นคำสอนสำหรับปุถุชนที่ผิดหวังกับความรัก ที่ตนเคยหมายมั่นอย่างเหนียวแน่นเต็มไปด้วยราคะ โทสะ โมหะ อย่างเต็มที่ จนเกิดความทุกข์อย่างมหาศาลในภายหลังเพราะความยึดมั่นถือมั่นนั้น  เพื่อให้ผู้ที่กำลังทุกข์โศกจากความผิดหวังได้เกิดความเบาใจและความทุกข์คลี่คลายลงไป จะได้มีจิตที่สดชื่นแจ่มใสเพราะยอมรับความจริงที่เกิดขึ้นได้ แล้วพระองค์จะได้ทรงพระเมตตาแสดงธรรมให้เหมาะกับอุปนิสัยของบุคคลนั้นเพื่อให้บรรลุธรรมต่อไป


                  แต่คำว่า "ความรักคือความทุกข์"นี้ จะไม่ใช่พระธรรมเทศนาที่เกื้อกูลแก่อัธยาศัยของบุคคลที่เป็นพระโสดาบัน  เหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น?  เพราะเหตุว่าความรักของพระโสดาบัน จะเป็นความรักที่สะอาดและสูงส่งกว่าปุถุชน  ทั้งที่ท่านเองยังละกามราคะสังโยชน์ไม่ได้        แต่ความรักชนิดนี้ที่มีอยู่ภายในจิตของท่านนั่นเอง ที่หล่อเลี้ยงจิตใจของท่านให้มีพลังสร้างสรรค์และมีความชุ่มชื่นในหัวใจตลอดเวลา  ท่านจึงมีความรักความเมตตาต่อคนทั่วไป ช่วยเหลือเกื้อกูลและมีน้ำใจต่อผู้คนทั้งหลายได้กว้างขวางยิ่งกว่าคนทั่วไป พระโสดาบันจึงทำบุญและสร้างกุศลบริจาคทานได้อย่างไม่เบื่อหน่าย เพราะความรักความเมตตาที่สะอาดบริสุทธิ์กว่าความรักของปุถุชนนี้นั่นเอง


                   ความรักของพระโสดาบันจะต่างจากความรักของปุถุชน  เพราะความรักของปุถุชนจะพยายามดึงทุกอย่างเข้ามาที่ตนเป็นหลัก จะเอาตัวเองเป็นศูนย์กลางของความรัก แล้วเอาความรักมารับใช้ความต้องการของตน เอาคนที่รักตัวเองนั้นมาทำอะไรเพื่อตัวเอง  เป็นความรักที่เอาตัวเองเป็นใหญ่และทำลายความเป็นตัวของตัวเองของอีกฝ่ายหนึ่ง  ความรักของปุถุชนโดยทั่วไปจึงมีความสุขเพียงแค่ในตอนแรก  แต่เป็นความทุกข์มากมายตามมาในภายหลัง


                    พระโสดาบันบุคคลมีจิตที่สูงกว่าปุถุชน เพราะท่านสามารถละสักกายทิฐิสังโยชน์ได้แล้ว พระโสดาบันจะมีสัมมาทิฐิที่ต่างจากคนทั่วไปประการหนึ่งคือ การรู้ชัดว่ากายนี้ไม่ใช่ตน แต่เป็นสิ่งอาศัยตราบใดที่ยังมีชีวิตอยู่  ไม่ลุ่มหลงมัวเมาในร่างกาย และก็ไม่ได้เกลียดชังร่างกายแต่ก็มองเห็นทุกข์โทษของร่างกาย ในขณะเดียวกันก็มีปัญญารู้จักการแต่งกายตามความเหมาะสมตามสมมุติของชาวโลก  ความรักของพระโสดาบันให้ความสำคัญในเรื่องจิตใจมากกว่าทางร่างกาย จึงสงบสุขกว่า


                   หากยังใช้ชีวิตเป็นฆราวาส ก็ยังรักสวยรักงามไปตามประสาเพราะยังละกามราคะยังไม่ได้  แต่ถ้าไม่ได้แต่งตัวก็ไม่เป็นไร ไม่ได้รู้สึกมีปมด้อยว่าจะไม่สวยไม่หล่อ เพราะจิตไม่ตกเป็นทาสของสังคม สติจะทำหน้าที่ระลึกรู้ไปตามปกติไม่ว่าจะอยู่ในเหตุการณ์ใด แต่ถ้าหากได้ใช้ชีวิตเป็นนักบวชหรือใช้ชีวิตในอารามได้ ท่านจะสบายและปลอดโปร่งหัวใจที่ไม่ต้องมีภาระในการแต่งตัวหรือแต่งกายอีกแล้ว


                    พระโสดาบันบุคคลส่วนใหญ่ มักจะไม่รู้ตัวว่าตัวเองเป็นพระโสดาบันอย่างที่ปุถุชนทั่วไปชอบคิดและอยากเป็น  เพราะจิตของท่านไม่ให้ความหมายหรือสำคัญตัวว่าตัวเองเป็นอะไร แต่ท่านจะรู้ชัดในตัวเองว่าใจของท่านไม่ใช่คนเดิมอีกแล้ว และมีใจแนบแน่นอยู่กับพระรัตนตรัย โดยไม่ต้องให้ใครมาชักนำอีก  จิตของพระโสดาบันนั้นต่างจากคนทั่วไปก็ตรงที่แม้จะมีความทุกข์บีบคั้นเพียงใด ก็จะไม่ทำร้ายใครถึงขั้นเอาชีวิตหรือคิดสร้างความวิบัติให้ใครอีกแล้ว ทุกข์สาหัสเพียงใดก็จะผ่านไปได้เสมอ


                    ความลังเลสงสัยว่าทำดีแล้วได้ดีจริงหรือไม่ หรือความลังเลสงสัยในพระรัตนตรัย จะไม่มีอยู่ในหัวใจของท่านอีกแล้ว มั่นใจเต็มเปี่ยมว่าพระอริยบุคคลมีจริง พระโสดาบันจึงไม่มีความหวั่นไหวคลอนแคลนในบุญหรือในการทำความดี ใจของท่านจึงไม่ว้าเหว่หรือรู้สึกสิ้นหวังในชีวิต  ต่อให้ท่านมีแต่เสื้อผ้าชุดเดียวไม่มีเงินติดตัว ท่านก็ยังมั่นใจว่าท่านจะสามารถอยู่ได้  นี้คืออานุภาพของดวงจิตที่ยิ่งใหญ่ ที่ในพระคัมภีร์ท่านพรรณนาไว้ว่า ประเสริฐกว่าการเป็นพระเจ้าแผ่นดินหรือเทพเจ้าบนสวรรค์ชั้นฟ้า ที่เกิดอีกไม่เกิน ๗ ชาติก็จะสามารถได้บรรลุเป็นพระอรหันต์สิ้นกิเลสสิ้นจากกองทุกข์ทั้งปวง


                     พระโสดาบันบุคคลท่านจะไม่ค่อยให้ความสำคัญในเรื่องนรกสรรค์  เพราะภูมิจิตของท่านเลยชั้นที่จะมาสาละวนกับเรื่องนรกสวรรค์ อันเป็นภูมิของปุถุชนที่ยังยึดมั่นดีชั่วอย่างเต็มที่เช่นนั้น เหมือนคนที่จบโรงเรียนนายร้อย ย่อมพ้นวิสัยที่จะต้องมาสนใจอยู่ใต้กฏเกณฑ์วินัยของทหารเกณฑ์


                      การที่ท่านกล่าวไว้ว่าพระโสดาบันบุคคลจะมีความรักมั่นคงไม่นอกใจคู่ครอง หรือมีศีลบริบูรณ์นั้น  เพราะศีลของพระโสดาบันเป็นอริยกันตศีลที่ไม่ใช่ศีลแบบปุถุชนที่ต้องคอยนับเป็นข้อๆ ศีลของท่านย่อมคือสติสำรวมระวังไม่ให้จิตไหลออกทางอกุศลอันเป็นศีลที่แท้จริง


                    อานุภาพของโสดาปัตติมรรคอันทำให้ท่านละสังโยชน์ข้อแรกคือ สักกายทิฐิได้นั้น  ทำให้จิตของท่านมองเห็นว่าร่างกายนี้ไม่ใช่ตัวเราอย่างแท้จริง ไม่นานก็ต้องผุพังเน่าเปื่อยสลายกลายเป็นดิน ดังนั้น หากท่านมีคู่ครองมาแต่เดิมไม่ได้บวช  ท่านจึงไม่นอกใจคู่ครองอย่างเป็นไปเองเป็นธรรมชาติ เพราะไม่รู้จะนอกใจไปทำไม เพราะเพียงขันธ์ ๕ ที่อยู่กันมาตั้งแต่ใช้ชีวิตร่วมกันมานี้ ต่างก็ทุกข์กันพอแรงอยู่แล้ว  หากคู่ครองของเราตายจากไป ก็จะไปบวชเพื่อปฏิบัติบำเพ็ญให้สิ้นทุกข์เสียในชาตินี้เท่านั้น   พระโสดาบันบุุคคลไม่มีความรู้สึกว่าต้องพยายามซื่อสัตย์ต่อคู่ครอง ท่านจึงอยู่อย่างสบายใจ


                         หากฝ่ายหนึ่งเป็นพระโสดาบัน  แต่อีกฝ่ายยังเป็นปุถุชน  เกิดมีวิบากกรรมในอดีตตามมาให้ผล  ทำให้คู่ครองที่ยังเป็นปุถุชนเกิดประพฤตินอกใจขึ้นมา  พระโสดาบันบุุคคลท่านก็ยังมีความเสียใจทุกข์โศกเป็นธรรมดาคล้ายคนทั่วไป แต่จะครองสติไว้ได้ ไม่ไปทำร้ายหรือคิดทำตัวเหลวไหลนอกใจบ้างเพื่อแก้แค้นอีกฝ่ายหนึ่งเหมือนปุถุชน  เสียใจอยู่ไม่นานก็จะค่อยๆทำใจได้และหมั่นสร้างกุศลด้วยความไม่ประมาทชีวิตให้ยิ่งขึ้น ยิ่งคู่ครองนอกใจ ใจของท่านยิ่งไหลไปสู่ทางธรรมสูงยิ่งขึ้น นี้คือความต่างกันระหว่างชีวิตของพระโสดาบันกับชีวิตของปุถุชน


                         ปุถุชนนั้นเมื่อมีความทุกข์บีบคั้น อาจคิดเลิกทำความดีหรือลบหลู่ว่าทำดีไม่ได้ดี หรือบางทีอาจหันไปทำความชั่วก็ได้  ส่วนพระโสดาบัน  ยิ่งท่านมีความทุกข์บีบคั้นเพียงใด ยิ่งเกิดความสลดสังเวชมองเห็นความไม่เที่ยงแท้แน่นอนในวัฏฏสงสาร ยิ่งทำให้ใจมุ่งตรงต่อพระนิพพานมากขึ้น


                         ความรักของพระโสดาบันเป็นความรักที่ยิ่งใหญ่  เป็นความรักที่ไม่ให้ความสำคัญกับความสัมพันธ์ในทางร่างกายอีกแล้ว  หากยังอยู่ในเพศฆราวาสที่ยังมีคู่ครองที่ยังเกี่ยวข้องกันได้อยู่ ท่านก็เกี่ยวข้องกันไปตามเหตุตามธรรมดาของชีวิตในเพศฆราวาสโดยไม่มีความกดดันใดๆ แต่ท่านจะมีสติอยู่เสมออันเป็นเรื่องเฉพาะตัวแม้คู่ครองเองก็ไม่อาจทราบ แต่หากท่านครองเพศเป็นนักบวช ท่านจะมีความสุขในเพศพรหมจรรย์ไม่คิดหวนกลับคืนสู่ทางโลกอีกแล้ว มีแต่จะเจริญบำเพ็ญมรรคในเบื้องสูงให้ยิ่งขึ้นไป เพื่อให้ใจดวงนี้บริสุทธิ์สะอาดปลอดโปร่งตลอดสาย จนกว่าจะมีสติอันสมบูรณ์


                          พระภิกษุที่ท่านเป็นพระโสดาบันบุคคล แม้ท่านจะยังตัดกามราคะไม่ได้แบบพระอนาคามี  แต่ท่านจะไม่มีความคิดยินดีในการครองเรือนแบบปุถุชนอีกแล้ว  บางท่านแม้อาจมีความรักต่อสตรีเพราะบุพกรรมมาแต่อดีต ท่านก็จะไม่ตกลงไปสู่โลกของปุถุชน แต่จะพยายามดึงทุกคนให้ขึ้นสู่ที่สูงเหมือนอย่างท่าน จะไม่พากันตกจมลงไปในโคลนเพราะอำนาจแห่งโสดาปัตติมรรคค้ำจุนไว้มิให้ชีวิตตกลงไปสู่โลกที่ต้อยต่ำ ดังคำสวดมนต์ที่ว่า " ธัมโม  กุโลกะปะตะนา  ตะทะธาริธารี  เป็นธรรมทรงไว้ซึ่งผู้ทรงธรรม จากการตกไปสู่โลกที่ชั่ว" ดังที่พวกเราทั้งหลายสวดกันอยู่ประจำในทำวัตรเย็นนั่นเอง


                      อาจมีข้อยกเว้นในกรณีพิเศษสำหรับบางท่านที่มีบุพกรรมบางอย่างเช่น  ในอดีตเคยเกิดเป็นใหญ่มีอำนาจในทางโลก สมัยนั้นตนเองไม่ได้นับถือพระพุทธศาสนาหรือไม่รู้คุณค่าของเพศนักบวชหรือพระภิกษุ เพราะมัวลุ่มหลงมัวเมาในอำนาจหรืออิสตรีตามวิสัยของผู้เป็นใหญ่ แล้วมีเหตุเกิดไปล่วงเกินประทุษร้ายจัดการสึกหาลาเพศพระภิกษุรูปใดรูปหนึ่ง ด้วยความเข้าใจผิดหรือเมาในอำนาจของตน แต่บังเอิญพระภิกษุรูปนั้นท่านเป็นพระอริยบุคคลขั้นใดขั้นหนึ่ง  แต่ท่านต้องยอมจำนนให้แก่ผู้มีอำนาจพรากกาสาวพัสตร์จากท่านไป


                      หากชาติใดชาติหนึ่งหรือชาตินี้ ผู้เคยเป็นใหญ่นั้นมาเกิดใหม่แล้วเกิดความเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา แล้วได้มีโอกาสออกบวชประพฤติพรหมจรรย์  หากวิบากกรรมที่ทำไว้ในอดีตตามมาทันในชาตินั้น  ท่านก็อาจถูกศัตรูใส่ร้ายแล้วถูกจับสึกหรือถูกบีบให้ลาสิกขาทั้งที่ท่านเป็นพระอริยบุคคลอย่างนี้ก็มีได้เหมือนกัน  แต่การมาอยู่ในเพศฆราวาสของท่านก็จะต่างกับคนทั่วไป เพราะจะเหมือนชาวบ้านทั่วไปแต่เพียงเสื้อผ้าการแต่งกายภายนอกเท่านั้น  แต่จิตภายในท่านยังเป็นพระเหมือนเดิม

 
                          การที่พระภิกษุบางรูปที่เป็นพระอริยบุคคลแล้วมีวิบากกรรมบังคับ ให้ต้องตกลงมาเป็นเพศฆราวาสนี้ กรณีเช่นนี้เป็นข้อยกเว้นเท่านั้น  เพราะเป็นเรื่องของบุพกรรมในอดีตส่วนบุคคลที่ทำไว้รุนแรง ที่เคยพรากผ้ากาสาวพัสตร์ของพระอริยบุคคลด้วยความหลงผิดสมัยตนมีอำนาจมาก่อน  แต่จะให้ท่านมีจิตคิดสึกหาลาเพศ เพราะความยินดีในการครองเรือนแบบคนธรรมดานั้นย่อมมิใช่วิสัยของท่านแน่นอน  นี้คือความต่างกันของพระอริยบุคคลกับปุถุชนอีกประการหนึ่ง


                       พวกเราส่วนใหญ่มักจะได้อ่านแต่ประวัติ เรื่องราว หรือปฏิปทาของพระป่าหรือครูบาอาจารย์ผู้ที่ท่านบรรลุอรหันต์หรือบรรลุอนาคามี  ซึ่งภูมิจิตของท่านพ้นกามราคะได้เด็ดขาดแล้ว  แต่ชีวิตในความเป็นจริงของเรา  เราทั้งหลายล้วนยังเวียนว่ายหรือตกจมอยู่ในห้วงน้ำใหญ่คือความรักความใคร่กันทั้งสิ้น   เราจึงจะไปเอาอย่างชีวิตของท่านผู้มีภูมิจิตที่สูงส่งเกินวิสัยของเราอย่างนั้นหาได้ไม่


                      ดังนั้น การปฏิบัติธรรมที่ยิ่งใหญ่ที่เราทั้งหลายมักมองข้ามไป ก็คือ การปฏิบัติธรรมในข้อที่ว่า ทำอย่างไรความรักของเราจึงจะสะอาด สดใส และเป็นพลังใจแบบความรักของนักบุญวาเลนไทน์ หรือความรักของพระโสดาบันให้มากยิ่งขึ้น แล้วความทุกข์ระทมใจที่ต้องร้องไห้เพราะความรักจะเบาบางลงไป กลายเป็นหัวใจที่สดชื่นและเปี่ยมด้วยพลัง


                         หากเรายังไม่สามารถมอบกาย มอบใจ มอบชีวิตนี้ให้พระรัตนตรัย ได้อย่างสนิทใจตามอย่างที่ท่านสอน  เราจึงจะยังตัดกามราคะไม่ได้และหลีกหนีความรักไม่สำเร็จอย่างแน่นอน เพราะภูมิจิตของเรายังไม่ใช่พระอนาคามี  สำหรับพระอนาคามีนั้น  ท่านสามารถยกภรรยาที่ยังสาวให้ชายอื่นได้อย่างไม่มีความสะเทือนใจแม้แต่นิดเดียว อย่างท่านจิตตคฤหบดีผู้เป็นอุบาสกเอตะทัคคะที่บรรลุอนาคามีท่านยกภรรยาให้กับบุรุษอื่นเป็นต้น


                           เมื่อเรายังทำใจถึงขั้นนั้นยังไม่ได้  เราก็มาพัฒนาใจของเราจากความรักแบบปุถุชน ก้าวขึ้นสู่ความรักแบบพระโสดาบัน  ให้ใจของเราอบอุ่นและร่มเย็นด้วยความรักไปก่อน แล้วชีวิตของเราจะมีพลัง  เต็มเปี่ยมด้วยความเมตตากรุณาต่อสัตว์โลก เป็นจิตที่มีความสุขจากการเกื้อกูล เป็นจิตที่อุดมด้วยความรักความเมตตา


                         จนกระทั่งเป็นความรักที่สูงส่งขึ้นไปในทางศาสนา  จนกลายเป็นความรักความเมตตาที่สูงส่ง สะอาด บริสุทธิ์ยิ่งขึ้นตามลำดับ  นี้คือความรักแห่งพุทธะ  เป็นความรักของพระโสดาบัน  แล้วหัวใจของเรานั้นจะไม่ต้องพบกับความเจ็บช้ำเหมือนแต่ก่อนอีก


                         ความรักเช่นนี้จะไม่มีการอกหักอีกแล้ว ความรักเช่นนี้แหละคือความรักที่นำไปสู่การภาวนา   เป็นความรักที่จะนำพาชีวิตและหัวใจของเราสูงส่งยิ่งขึ้นไป

 

                                                                                                    คุรุอตีศะ
                                                                                           ๑๒  ธันวาคม  ๒๕๕๖