โดดเดี่ยวแต่ไม่เดียวดาย

         

โดดเดี่ยวแต่ไม่เดียวดาย

 

                บางครั้งเราอาจรู้สึกโดดเดี่ยว  มองไปทางไหนเหมือนไม่มีใครจะมาร่วมรับรู้ความรู้สึกกับเราได้ แม้จะอยู่ท่ามกลางผู้คนมากมาย  แต่ความรู้สึกที่ว้าเหว่อยู่ภายใน ก็เกิดขึ้นได้เสมอไม่เลือกกาลเวลา
          

               ความรู้สึกที่โดดเดี่ยว  เกิดขึ้นเมื่อเราคิดคำนึงถึงตัวเองด้วยความหดหู่หรือนึกสงสารตัวเอง คิดถึงตัวเองแล้วรู้สึกสะท้อนใจในอะไรบางอย่าง  ความเศร้าลึกๆที่เกิดในขณะนั้น จะทำให้เรารู้สึกว่าเราเหมือนไม่มีใคร  เราเหมือนอยู่คนเดียวในโลก
         

               เมื่อใดที่เกิดความรู้สึกโดดเดี่ยว  พึงมีสติระลึกรู้ว่า นี้เป็นเพียงสภาวธรรมอย่างหนึ่ง ที่เกิดขึ้นตามเหตุตามปัจจัย ไม่ใช่ตัวเรา เกิดมาแล้วในที่สุดก็จางคลายและดับไป ไม่ควรยึดมั่นในสิ่งใด
       

               ความเศร้าหมอง ความหดหู่ใจ ความรู้สึกโดดเดี่ยวเดียวดาย ก็เหมือนสิ่งทั้งหลาย อยู่กับเราไม่นานเดี๋ยวก็ผ่านไป  อย่าจมอยู่กับความรู้สึกนั้นนานเกินไป  จงลุกขึ้นหาอะไรทำเพื่อเปลี่ยนอิริยาบถ ความรู้สึกเหล่านั้นไม่นานก็เปลี่ยนเป็นความรู้สึกอย่างอื่นแล้ว
        

              ความรู้สึกสงสารตัวเอง  จะทำให้เราเกิดความรู้สึกที่โดดเดี่ยว ความรู้สึกสงสารตัวเองนี้เป็นอกุศล ไม่ใช่กุศล เพราะเป็นสภาวธรรมที่ทำให้จิตเกิดความเศร้าหมองและอ่อนกำลัง
       

             ความสงสารตัวเอง เกิดจากความรักตัวเอง อันมีมูลเหตุมาจากความเห็นแก่ตัวอย่างลึกซึ้งอย่างหนึ่ง  ที่นักปฏิบัติธรรมหลายคนคาดไม่ถึงและไม่รู้เท่าทัน  หลายคนจึงจมอยู่กับความรู้สึกนี้เป็นวันๆ  บางคนก็หลายวัน  หากไม่มีครูบาอาจารย์ตักเตือนให้สติ หรือแก้อารมณ์ให้  นักปฏิบัติธรรมทั้งหลายจึงมักจะเกิดความเซื่องซึมและเบื่อหน่ายไม่อยากทำอะไร เพราะจิตใจไม่มีกำลังและซบเซาอยู่คนเดียว
      

              อาการอย่างนี้ไม่ใช่ "นิพพิทา" อย่างที่บางคนเข้าใจ  แต่คือ อาการที่จิตเกิดความหดหู่ไม่มีกำลัง เพราะขณะนั้นจิตไม่อยู่กับปัจจุบัน ไปอยู่กับอดีตที่คิดถึงแล้วใจเกิดความขุ่นมัว
   

           ส่วนนิพพิทาญาณนั้น คือสภาวะที่เกิดความเบื่อหน่ายในความไร้สาระของวัฏสงสาร ไม่เห็นมีสิ่งใดน่ามี น่าเป็น น่ารักน่าใคร่ ไม่มีสิ่งใดน่าไขว่คว้าน่าทะเยอทะยาน  จิตเกิดความอาจหาญในการที่อยากพ้นทุกข์ในวัฏฏสงสารนี้เสียโดยเร็ว  วิปัสสนาญาณที่เกิดขึ้นเช่นนี้ ท่านจึงจะเรียกว่าเป็น "นิพพิทา ความเบื่อหน่าย" ตามความหมายที่ถูกตรงแห่งพระธรรมที่พระองค์ทรงสอน
 

            "ความเบื่อหน่าย" สำหรับคนเราโดยทั่วไป ส่วนใหญ่เป็นความเบื่อหน่ายเพราะไม่ได้ดั่งใจ หรือเบื่อหน่ายเพราะความไม่สมหวังในสิ่งที่ตนเองอยากให้ได้ ให้มี ให้เป็นมากกว่า ไม่ได้เบื่อหน่ายเพื่อจะพ้นไปจากวัฏฏสงสารนี้แต่อย่างใด  ความเบื่อหน่ายชนิดนี้  พอมีเรื่องถูกใจหรือได้สิ่งที่เป็นดั่งใจ ก็จะส่งเสียงหัวเราะสดใส  ไม่สนใจอีกแล้วว่าสวรรค์นิพพานเป็นอย่างไร เพราะได้รับสิ่งที่สมดั่งใจเรียบร้อยแล้ว
        

               ความเบื่อหน่ายเพราะไม่ได้สิ่งใดสมดั่งใจ หรือเพราะทุกสิ่งไม่เป็นไปดังหวัง จะทำให้บุคคลนั้นเมื่อหวนคิดถึงครั้งใด อาจเกิดความสงสารตัวเองขึ้นมา แล้วก็เกิดความว้าเหว่เดียวดายอยู่ข้างในหัวใจลึกๆ ความรู้สึกนี้จึงจัดว่าเป็นอกุศลจิต  พึงมีสติระลึกรู้ตามความเป็นจริง เมื่อสติเกิดขึ้นและปัญญารู้ชัดในอาการของมันแล้ว  อาการนั้นก็จะคลี่คลายแล้วดับไปโดยตัวมันเอง
              

               หากเราไม่ปรารถนาที่จะมีชีวิตที่ว้าเหว่เดียวดาย ชีวิตประจำวันต้องหมั่นสร้างกุศลอยู่เสมอ การหาเงินหรือหารายได้อย่างเดียว ยังไม่พอที่จะทำให้ใจของเราเกิดกำลังได้ ต้องมีกุศลอย่างใดอย่างหนึ่งที่เราได้กระทำในวันนั้นช่วยค้ำชูด้วย จิตจึงมีความสดชื่นและแจ่มใสไปตลอดวัน
 

               สิ่งที่จะทำให้เกิดบุญขึ้นมาในใจของเรานั้น ท่านกล่าวไว้ใน "บุญญกิริยาวัตถุ ๑๐" คือถ้าใครได้ทำแล้วใจจะเกิดบุญและเกิดกำลังใจ  หากใครไม่ได้ทำอะไรเลยใน ๑๐ อย่างนั้น  ตลอดทั้งวันจิตจะมีแต่ความหดหู่และมีแต่ความขุ่นมัว ไม่มีความสบายใจ ทั้งๆที่นอนบนที่นอนอย่างสบายหรือไม่มีปัญหาอะไรในชีวิต  เพราะจิตขาดกำลังเนื่องจากไม่ได้ประกอบกุศลใดๆเลยในวันนั้น

 

              สิ่งที่ทำแล้วทำให้ใจของเราเกิดกำลังก็เช่น  ได้ให้ทานหรือได้บริจาค  ได้สมาทานรักษาศีล ได้เจริญภาวนา  ได้แสดงความอ่อนน้อมเคารพกราบไหว้ ได้ขวนขวายช่วยเหลือการงานในวัดหรือช่วยเหลือสังคม  ได้อนุโมทนาบุญกับบุคคลอื่น  ได้อุทิศส่วนบุญแบ่งปันส่วนบุญให้แก่ภพภูมิต่างๆ ได้แสดงธรรมหรือพูดธรรมะให้กำลังใจแก่ผู้คน ได้ฟังธรรมหรืออ่านธรรมะประเทืองสติปัญญา ได้มีสติพากเพียรประคองจิตให้ใจของตนเองอยู่ในทำนองคลองธรรม เหล่านี้เป็นต้น


 

              หากในวันนั้นเราได้มีโอกาสทำอย่างใดอย่างหนึ่งหรือหลายอย่างดังกล่าวมา จิตของเราจะเกิดความแช่มชื่นและมีกำลังขึ้นมาทันที อย่างนี้ที่ท่านเรียกว่า "สร้างบุญสร้างกุศล" ซึ่งเราไม่จำเป็นต้องใช้เงินทองเสมอไป
 

             นักปฏิบัติบางคนที่ใจเกิดความหดหู่และซึมเซาในบางวัน  บางครั้งกรรมฐานก็ไม่เกิดและขาดกำลังใจ  ก็ขอให้บำเพ็ญบุญญกิริยาวัตถุ ๑๐ เหล่านี้ประกอบด้วย อย่าเอาแต่นั่งสมาธิอย่างเดียว  จิตจะได้ไม่จมอยู่ในอารมณ์ที่เศร้าหมอง คร่ำเคร่งและนั่งคิดอยู่คนเดียว ด้วยเหตุนี้ท่านจึงสอนไว้เป็นหลักอย่างชัดเจนว่า ให้ทุกคนหมั่นบำเพ็ญ "ทาน  ศีล  ภาวนา" ชีวิตจึงจะมีความสุขและเป็นชีวิตที่สมบูรณ์

 

               ส่วนคำว่า "ไตรสิกขา อันได้แก่ ศีล  สมาธิ  ปัญญา" นั้น  โดยหลักการ ท่านหมายถึงข้อปฏิบัติสำหรับบรรพชิตคือนักบวช เพราะธรรมชาติของบรรชิตแล้วย่อมถือว่าเป็นผู้ไม่มีสมบัติอะไร และหากจะเรียกว่าการให้ทานหรือการบริจาค  ท่านก็ได้ให้ทานหรือบริจาคอันสูงสุดที่มนุษย์จะพึงทำได้แล้ว นั่นก็คือการออกบวช ซึ่งบริจาคได้ยากยิ่งกว่าการบริจาควัตถุเงินทองของภายนอก ด้วยเหตุนี้ หลักแห่งไตรสิกขาของบรรพชิต จึงเริ่มที่ศีลคือความปกติ แล้วนำไปสู่สมาธิ จนกระทั่งเกิดปัญญาในที่สุด
  

              หากเราทั้งหลายได้มีโอกาสบำเพ็ญบุญญกิริยาวัตถุ ๑๐ ในแต่ละวัน  จิตใจของเรานั้นจะมีความสุขและเปี่ยมด้วยความหวัง พร้อมทั้งมีกำลังใจอย่างสม่ำเสมอ แล้วสติธรรมชาติจะเกิดได้โดยง่ายโดยไม่ต้องนั่งสมาธิเป็นชั่วโมงแต่อย่างใด และหากวันใดสติทำหน้าที่ได้เต็มรอบ สมาธิจะเกิดขึ้นเอง  จิตจะรวมลงเป็นเอกัคคตาอย่างไม่คาดคิดมาก่อนก็ได้

 

               บุคคลใดที่ใจเป็นกุศลและได้ประกอบบุญกุศลบ่อยๆเนืองๆ  บุคคลนั้นแม้จะอยู่คนเดียว ก็จะไม่รู้สึกว้าเหว่หรือเกิดความเดียวดายแต่อย่างใด  จะเหมือนมีสิ่งศักดิ์สิทธิ์คอยคุ้มครองและปกปักรักษาอยู่เสมอ  อยู่ท่ามกลางผู้คนก็มีความสุข  อยู่คนเดียวก็ไม่ว้าเหว่ เพราะอานิสงส์แห่งบุญกุศลคอยคุ้มครองใจของบุคคลนั้นตลอดเวลา

 

               ความโดดเดี่ยวเกิดขึ้นมาได้ เพราะใจที่รักและสงสารตัวเอง  เป็นใจที่ไหลไปในอดีต คิดถึงสิ่งที่ผ่านมาแล้ว อันทำให้ใจเกิดความเศร้าหมอง  จึงเกิดความรู้สึกว้าเหว่และเดียวดาย เหมือนว่าอยู่ในโลกคนเดียว  จึงไม่ควรปล่อยให้ตัวเราอยู่กับความรู้สึกเช่นนั้นอันบั่นทอนตนเองโดยไม่มีประโยชน์
  

             ระลึกรู้ที่กาย ที่ใจในขณะนี้  ยอมรับและระลึกรู้ที่ความรู้สึกนั้นตามความเป็นจริง ไม่พยายามผลักต้านหรือปฏิเสธ  เพียงแค่รู้เท่านั้นก็พอ  แล้วก็พาตัวเองออกมาทำอะไรที่เป็นบุญญกิริยาวัตถุ ๑๐ อย่างใดอย่างหนึ่ง  เพียงเท่านั้นไม่นานความสบายใจ ความสุข ความมีกำลังใจก็เกิดขึ้นในใจของเราแล้ว  ชีวิตยังมีสิ่งที่มีค่าให้เราได้ทำอีกมากมาย  โลกใบนี้ยังรอคอยน้ำใจจากเราเสมอ
 

              ความโดดเดี่ยวเพราะอยู่คนเดียวนั้นมีได้ แต่สำหรับบุคคลใดที่รู้จักการเจริญภาวนาและการสร้างกุศล  บุคคลนั้นแม้อาจอยู่คนเดียวเหมือนโดดเดี่ยว  แต่จะไม่รู้สึกว่าเดียวดายหรือว้าเหว่อีกเลย

 

                                                                                                             คุรุอตีศะ
                                                                                                   ๒๙  พฤศจิกายน  ๒๕๕๖