รักที่สูงส่ง

 รักที่สูงส่ง

 

            ในสมัยเป็นนักเรียนมัธยม  เคยอ่านหนังสือนอกเวลาเล่มหนึ่งคือ “ข้างหลังภาพ” ของศรีบูรพา  ได้อ่านเรื่องราวความรักระหว่างคุณหญิงกีรติซึ่งยังอยู่ในวัยสาว  แต่ต้องมาใช้ชีวิตเป็นภรรยาของท่านเจ้าคุณซึ่งมีอายุเข้าสู่วัยชราแล้ว  เป็นการแต่งงานโดยไม่ได้เกิดจากความรักที่แท้จริงในจิตใจ  ต่อมาได้พบกับ”นพพร” ซึ่งเป็นนักเรียนนอกที่ประเทศญี่ปุ่น  แล้วเกิดเป็นความรักที่ซาบซึ้งระหว่างชายหนุ่มหญิงสาว                  

 

            แต่ด้วยมีกำแพงประเพณีและศีลธรรมอันดีขวางกั้นระหว่างคนทั้งสอง  ทำให้ไม่สามารถแสดงออกได้ จนต่อมานพพรมีครอบครัวจนเข้าสู่วัยกลางคน โดยไม่เคยเข้าใจความหมายอันลึกซึ้งจากสตรีผู้สูงศักดิ์ว่ามีใจรักให้แก่ตน  จนกระทั่งบั้นปลายชีวิตของคุณหญิงซึ่งอายุสั้นกว่าคนทั่วไป  ได้มอบภาพเขียนที่วาดด้วยฝีมือตนเองให้แก่นพพรก่อนจะตาย  ภาพนั้นเป็นภาพที่มีฉากหลังเป็นน้ำตกมิตาเกะที่ทั้งสองเคยมีโอกาสนั่งคุยกันอย่างมีความสุข  นพพรก็ติดภาพนั้นไว้ข้างฝาภายในห้องรับแขกภายในบ้าน                

 

             ใครๆเข้ามาเป็นแขกในบ้าน ต่างก็บอกว่าภาพนั้นไม่เห็นจะมีฝีมือในการวาดภาพอะไร ทำไมต้องเอามาติดโชว์ไว้ข้างฝา  นพพรก็ได้แต่คิดในใจว่าภาพนั้นดูไม่มีราคาไม่มีฝีมืออะไร แต่เรื่องราวชีวิตของคนสองคนที่อยู่ “ข้างหลังภาพ”นั้นสำคัญและยิ่งใหญ่ที่บอกใครไม่ได้  และภาพเขียนภาพนั้นได้เป็นแรงบันดาลใจให้นพพรอุทิศตนให้แก่สังคม ด้วยความซาบซึ้งใจที่คุณหญิงผู้สูงศักดิ์ แม้จะมีความรักมีกิเลสเช่นเดียวกับคนทั้งหลาย แต่ก็รักษาความสูงส่งแห่งความรัก รักษาความเป็นกุลสตรีและเกียรติยศไว้ได้จนวันตาย

              

             สมัยที่อ่านนวนิยาย”ข้างหลังภาพ”เรื่องนี้ยังเป็นเด็ก แต่อ่านจบแล้วสมองหนักอึ้งเต็มไปด้วยแง่มุมให้ชวนคิดมากมาย อ่านแล้วแทนที่จะสบายใจเหมือนนิยายรักทั่วไป  แต่จะมีคำถามอยู่ในใจอยู่คนเดียวว่า “ความรักแบบนี้ดีหรือไม่ดีกันแน่” ทั้งคุณหญิงและนพพรทำถูกหรือไม่ที่ประพฤติตนสนิทสนมกันแบบนั้น  เป็นคำถามที่เอาความผิดความถูกมาเป็นหลัก  เป็นหลักปรัชญาที่เอาไปวินิจฉัยความรัก และก็ไม่เคยเข้าใจเรื่องนี้อย่างแท้จริงตลอดมาจนกระทั่งออกบวช               

          

            เมื่อบวชได้สี่พรรษา ขณะนั้นเป็นเดือนพฤศจิกายนอากาศเริ่มเย็น  ขณะทำกรรมฐานจิตเกิดความสงบมีความสุขอยู่บนภูเขาสู่ทางภาคอีสาน  หลังจากเจอช้างป่าประจันหน้าแล้วรอดชีวิตมาได้ วันหนึ่งอยู่ดีๆก็นึกถึงเรื่องข้างหลังภาพนี้ขึ้นมา  จึงได้ขอโอกาสถามพระอาจารย์ในป่าขึ้นว่า “ทำไมคนสองคนนี้จึงรักกันได้ ทั้งที่ฝ่ายหญิงก็มีสามีแล้ว และก็อยู่ในฐานะอันประกอบด้วยเกียรติยศ มีความเพียบพร้อมทุกอย่าง แต่กลับมารักชายหนุ่มซึ่งยังไม่มีอนาคต”               

 

            ท่านพระอาจารย์ในป่าท่านตอบว่า “รักก็คือรัก ไม่ขึ้นกับเหตุผลหรือกฎเกณฑ์ของสังคมที่คนทั้งหลายพากันยึดว่าดีว่าชั่ว  นี้คืออานุภาพของวัฏฏสงสารที่ยากจะเข้าใจ  ในวันหนึ่งข้างหน้าลูกจะต้องไปเป็นพระในเมือง  ได้ช่วยเหลือคลี่คลายปัญหาทางใจของผู้คน   ที่พวกเขาจะมีความรักและการใช้ชีวิตที่สับสนซับซ้อนเช่นนี้อีกจำนวนมาก  การจะช่วยพวกเขาได้  ต้องเข้าใจความลี้ลับของกฎแห่งกรรมที่มนุษย์ทุกคนมีลีลาแตกต่างกันไป  บางกรณีอย่าเอาศีลธรรมไปตัดสินเขาในขณะนั้น  เพราะเขามีความทุกข์จากความรักมากพอแล้ว เขาต้องการน้ำทิพย์คือธรรมะชโลมใจ มากกว่าจะได้ยินใครมาคอยตัดสินชีวิตของเขาว่าดีหรือเลว จงใช้เมตตากับคนในยุคต่อไปให้มาก  เพราะใจของผู้คนในอีกยี่สิบปีข้างหน้า  จะโหยหาทั้งความรักและความดี”

                 

            ต่อมาได้อ่านนวนิยายเรื่อง “ลูกทาส” ของรพีพร จากห้องสมุดสโมสรนายทหาร เพียงพลิกอ่านสองสามหน้าก็ประทับใจในสำนวนและเรื่องราวที่เกิดขึ้นในรัชสมัยของสมเด็จพระปิยมหาราช รัชกาลที่ ๕ เรื่องลูกทาสนี้อ่านแล้วประทับใจมาก จนเกิดแรงบันดาลใจอยากจะเป็นเนติบัณฑิตไทยเหมือนพระยารัตนอรรถชัยซึ่งเป็นเนติบัณฑิตรุ่นแรกสมัยปี พ.ศ. ๒๔๔๑ และประทับใจในความเป็นกุลสตรีของคุณน้ำทิพย์ที่มีทั้งปัญญา มีทั้งความกล้าหาญ กล้ายืนอยู่บนความถูกต้องพร้อมที่จะเสียสละทุกอย่าง และมีน้ำใจรักที่มั่นคงไม่เปลี่ยนแปลง ไม่ว่าจะผ่านเหตุการณ์และพบกับความวิกฤติที่ถาโถมเข้ามาในชีวิตสักกี่ครั้งก็ตาม                  

 

            ในที่สุด ความรักที่สูงส่งของคนทั้งสอง ทำให้เจ้าแก้วซึ่งเป็นทาสในเรือนเบี้ย ได้กลายเป็นพระยารัตนอรรถชัยในเวลาต่อมา  ความรักระหว่างคุณน้ำทิพย์กับเจ้าแก้วนี้เป็นตัวอย่างของความรัก ที่ทำให้เกิดพลังสร้างสรรค์ที่ชัดเจนมาก  อันเป็นตัวอย่างชีวิตที่เป็นพลังสร้างสรรค์ในทางโลก                

 

            ชีวิตของคนๆหนึ่งนั้น  คนที่โชคดีคือคนที่ได้รู้จักกับความรักที่นำพาชีวิตของตนไปสู่ความสูงส่ง เป็นความรักที่เป็นพลังให้หัวใจทั้งสองดวงรวมเป็นหนึ่งในการทำประโยชน์และสร้างสรรค์สิ่งดีงามขึ้นมา  อย่างเช่นเจ้าแก้ว จากที่เคยต่ำต้อยเป็นเพียงทาส แล้วต่อมาได้กลายเป็นพระยา เป็นตุลาการดำรงความยุติธรรม มีเกียติยศอันสูงส่งต่างจากฐานะเดิมของตนราวฟ้ากับดินเช่นนั้นได้ ก็เพราะอาศัยอานุภาพแห่งความดีและความรัก                

 

            เหมือนอย่างนวนิยายเรื่อง “บ้านทรายทอง” ความใสซื่อไร้เดียงสาและบริสุทธิ์ใจต่อทุกคนทำให้ “พจมาน” ซึ่งเป็นเด็กสาวบ้านนอกที่เคยซุกซนเหมือนเด็กผู้ชายไปตามประสา เป็นเหมือนเด็กกะโปโลธรรมดาคนหนึ่ง สามารถทำให้อธิบดีหนุ่มผู้เป็นคุณชายที่ครองโสดมาจนอายุ ๔๐ ปี พลิกจิตใจสละภาพลักษณ์ความเป็นผู้ดีที่คอยแต่จะสวมหน้ากากเข้าหากันในวงสังคม กลับมาทุ่มเทและมอบใจให้เด็กสาวพจมานที่ใครๆพากันตราหน้าว่าไพร่ จนเป็นที่อิจฉาริษยาของสตรีชั้นสูงทั้งหลาย ที่ปรามาสชายกลางว่าใฝ่ต่ำเอาเด็กที่ไม่มีหัวนอนปลายเท้ามาเป็นคู่ชีวิตได้อย่างไร                

 

            ความจริงแล้วชายกลางไม่ได้ใฝ่ต่ำแต่คือชายผู้ใฝ่คุณธรรม มองคนที่คุณธรรมมากกว่าความสวยหรือความเป็นผู้ดีมีชาติตระกูล  คือผู้ชายที่มีปัญญามองเห็นสัจธรรมว่า ความเป็นผู้ดีนั้นหากไม่เกิดจากน้ำใสใจจริง  ก็เป็นเพียงมารยาเสแสร้งไม่ได้เป็นความดีอะไร และเกียรติยศความสูงส่งของคนนั้นก็ไม่ขึ้นกับชาติตระกูลเสมอไป  หากบุคคลใดมีความจริงใจ มีความกตัญญูต่อผู้มีพระคุณ  และมีความบริสุทธิ์ไร้เดียงสาไม่เคยคิดร้ายกับใคร บุคคลนั้นก็เป็นผู้ดีและเป็นคนสูงส่งได้ไม่จำเป็นต้องอาศัยชาติตระกูล ละครเรื่องนี้จึงอมตะ                

 

            หลายคนบอกว่าละครเรื่องนี้เป็นละครน้ำเน่า  แต่ความจริงแล้วหากพิจารณาให้ดี จะเห็นปรัชญาชีวิตอันลึกซึ้งอยู่มากมาย  หลายคนดูอยู่หลายครั้งหลายเวอร์ชั่น ก็ยังหาคำตอบไม่ได้ว่าชายกลางมารักพจมานได้อย่างไร และทำไมพจมานเด็กสาวกะโปโลจึงได้มีวาสนาเป็นศรีภรรยาของคุณชายผู้เพียบพร้อมสูงส่งทั้งเกียรติยศและคุณธรรมเช่นนั้นได้ 

 

             พจมานมีบุญวาสนาถึงเพียงนั้นได้ก็เพราะ “ใจที่บริสุทธิ์ไร้เดียงสาและความกตัญญู”  คุณสมบัติข้อนี้คือความเหนือกว่าที่พจมานมี แต่สตรีผู้ดีหรือชนชั้นสูงเหล่านั้นไม่มี  คุณธรรมข้อนี้ที่มีอยู่ในตัวพจมานยิ่งกว่าใครๆ   เกิดอานุภาพอันยิ่งใหญ่ชักนำความรักอันสูงส่งดีงามมาสู่ชีวิตของพจมาน  ความบริสุทธิ์ไร้เดียงสาและดวงจิตที่กตัญญู  คือแก้วสารพัดนึกของพจมาน ที่แม้บุรุษอาชาไนยและฐานะสูงส่งสักเพียงใดก็ต้องมอบใจให้               

 

             เคยกล่าวไว้หลายครั้งแล้วว่า  “จิตที่ไร้เดียงสานี้มีอานุภาพในตัวเอง  เป็นพื้นฐานที่จะนำไปสู่ความเป็นพระอริยเจ้า”  จิตตัวนี้จะอยู่เหนือเงินทอง เหนือเกียรติยศ  เหนือตำแหน่งฐานะใดๆ  เป็นจิตที่ยิ่งใหญ่และมีอานุภาพ  หากใครรู้จักรักษาจิตที่ไร้เดียงสานี้ไว้ได้และเพิ่มพูนขึ้นตามลำดับด้วยสติปัฏฐาน เขาจะเป็นพระอริยบุคคลก่อนตายในชาตินี้              

 

              ความรักที่สูงส่ง จะส่งผลให้ชีวิตของบุคคลนั้นเจริญก้าวหน้า หากเป็นสามีภรรยาก็จะรักและเคารพนับถือกันจนวันตาย  วีรบุรุษวีรสตรีทั้งหลายแม้บางท่านไม่มีคู่ครองมีครอบครัวเหมือนคนทั่วไป  แต่ท่านจะมีความรักที่สูงส่งเช่นนี้เป็นพลังใจให้ท่านเสมอ              

 

              และเพราะเหตุที่ท่านไม่ต้องสูญเสียพลังในการที่จะต้องสร้างฐานะครอบครัวหรือใช้ชีวิตหมกมุ่นแต่ในเรื่องครอบครัวแบบคนทั่วไป  ท่านจึงมีโอกาสใช้พลังแห่งความรักนี้สร้างสรรค์ประโยชน์อันยิ่งใหญ่ดังที่เราทั้งหลายได้รับอานิสงส์จากความเสียสละของท่าน ซึ่งมีตัวอย่างอันมากมายให้เห็นอยู่ในทั่วทุกมุมโลก             

 

             ความรักอันสูงส่งที่มีต่อเพื่อนมนุษย์ผู้เจ็บป่วยของ “ฟลอเรนซ์  ไนติงเกล” ทำให้เธอไม่ยอมแต่งงานกับชายผู้เป็นขุนนางสูงศักดิ์ที่ครอบครัวของเธอจัดหาให้ แม้ถูกจับขังไว้เธอก็หนีจนได้ เพื่อที่เธอจะได้ใช้เวลาทั้งหมดอุทิศตนแก่คนเจ็บไข้แทนที่จะมัวแต่คอยรับใช้สามีเพียงคนเดียว             

 

            ในที่สุดพลังแห่งความรักและยิ่งใหญ่ของเธอ ทำให้เธอกลายเป็น “ผู้ให้กำเนิดวิชาพยาบาล” ของคนทั้งโลก ทำให้อาชีพพยาบาลที่คนสมัยนั้นเคยดูหมิ่นว่าเป็นอาชีพต่ำต้อย กลายเป็นอาชีพที่มีเกียรติในเวลาต่อมา  และในบั้นปลาย  เธอก็มีชีวิตที่แสนอบอุ่นท่ามกลางลูกสาวที่สวมชุดขาวทั่วทั้งโลกโดยไม่ต้องมีสามี  และจากโลกนี้ไปอย่างสง่างามดุจเทพเจ้าหรือเทพีในวัย ๙๐ ปี            

 

            หากชีวิตของเราในปัจจุบันเรามีสามีภรรยา  เราก็พึงมีความรักที่สูงส่งนี้ไว้มากๆ แล้วความทุกข์จากการครองคู่จะน้อยลงไปและสงสารกัน เข้าใจกันมากขึ้น  เอาความไร้เดียงสาสมัยรักกันใหม่ๆกลับคืนมา แล้วจะพบสวรรค์ในครอบครัวแม้ว่าวัยและร่างกายของเราจะร่วงโรยตามกาลเวลา           

 

            หากเราเป็นคนโสด  เราก็เอาอย่างพระแม่กวนอิมโพธิสัตว์ ไนติงเกล หรือแม่ชีเทเรซ่า ที่มีเมตตาและมีความเป็นแม่คอยโอบอุ้มค้ำจุนช่วยเหลือผู้ทุกข์ยากโดยไม่จำเป็นต้องอุ้มท้องใคร  แต่จะทุ่มเทจิตใจและมอบความรักให้แก่มวลมนุษย์และศาสนาไปจนร่างกายสังขารนี้จะแตกดับ           

 

            รักที่สูงส่งนี้ เมื่อมีในใจของใคร  จะทำให้จิตใจมีพลังและมีความหวังในชีวิตอยู่เสมอ  สติและสมาธิจะอยู่คู่กับคนนั้นแม้ไม่ต้องนั่งภาวนา  ชีวิตจะมีปีติและมีกำลังใจอยู่ตลอดเวลา

 

           นี้คือพลังแห่งความรักที่ช่วยค้ำจุนโลกใบนี้ตลอดมา  ดังที่พระพุทธองค์ตรัสไว้ว่า  “โลโกปตฺถมฺภิกา  เมตฺตา  เมตตาคือความรัก  เป็นธรรมช่วยค้ำจุนโลก”  ความรักที่สูงส่งเช่นนี้ ย่อมมีความเป็นอมตะและมีอานุภาพมาก  เป็นแบบอย่างที่ดีงามให้แก่มนุษยชาติและเป็นกำลังใจให้แก่อนุชนคนรุ่นหลังอย่างไม่มีวันตาย

 

                                                                                        คุรุอตีศะ

                                                                               ๖  พฤศจิกายน  ๒๕๕๖