เป็นไปตามกรรม

            เป็นไปตามกรรม           

 

            เมื่อกรรมจะให้ผล  จะทำให้บุคคลที่เคยเก่งกล้าสามารถสักปานใด  ต้องตัดสินใจผิดพลาด  ในขณะที่จะต้องตกลงใจหรือตัดสินใจในเรื่องใดเรื่องหนึ่งนั้น  จิตจะขุ่นมัว ไม่มีกำลัง ไม่อยากคิด ไม่อยากตัดสินใจอะไรทั้งนั้น          

 

            จากที่เคยตัดสินใจอะไรได้เด็ดขาด ฉับไว  ก็จะกลายเป็นคนคิดมาก ลังเล  ตกลงใจอะไรไม่ค่อยได้  เกิดเป็นคนขาดความมั่นใจในตนเอง  ต้องฝืนใจตัดสินใจลงไปทั้งที่ขัดกับความรู้สึกลึกๆของตัวเอง  ในที่สุดก็เกิดความผิดพลาด เกิดความเสียหายตามมา  นี้แหละคือชะตาชีวิตของคนที่กำลังเริ่มหมดบุญ หรือกำลังจะตกต่ำ          

 

            เรื่องการตัดสินใจผิดพลาดนี้ เกิดขึ้นทั้งในระดับส่วนตัวหรือระดับบุคคล  หรือเกิดขึ้นกับระดับหน่วยงานหรือองค์กรยามที่จะต้องถึงกาลเสื่อมโทรมหรือสิ้นสลาย  เกิดขึ้นได้จนกระทั่งระดับประเทศชาติบ้านเมือง เมื่อถึงกาลต้องวิบัติหรือประสบปัญหาวุ่นวาย หรือถึงคราวจะต้องเกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่          

 

           วิบากกรรมที่มีผลให้บุคคลตัดสินใจผิดพลาดเช่นนี้  ในลัทธิศาสนาอื่นมักเรียกสิ่งนี้ว่า “พระเจ้า” แต่หลักของพระพุทธศาสนา สิ่งนี้เรียกว่า “กฎแห่งกรรม” อันเป็นกฎที่เป็นไปตามธรรมชาติ ไม่มีผู้ใดสร้างขึ้น  ไม่มีผู้ใดควบคุมหรือสั่งบังคับแต่อย่างใด  แต่ทุกสิ่งเป็นไปตามเหตุตามปัจจัยล้วนๆ          

 

           วิบากกรรมในอดีตที่มาส่งผลในปัจจุบัน ทำให้มนุษย์แต่ละคนเลือกวิถีชีวิตแตกต่างกัน และมีวิถีการดำเนินชีวิตแตกต่างกันไป  แม้จะเกิดมาจากพ่อแม่คนเดียวกัน  สิ่งแวดล้อมเหมือนกัน  สังคมเดียวกัน หรือแม้แต่ประเทศเดียวกัน  นี้คืออิทธิพลอันยิ่งใหญ่ของ “กฎแห่งกรรม” ที่ทุกคนเมื่อเกิดมาแล้วต้องได้เสวยผลแห่งกรรมดีกรรมชั่วที่ตนเองเคยกระทำไว้ในอดีต         

         

           แม้จะเป็นพระอรหันตขีณาสพผู้สิ้นกิเลสแล้ว  ตราบใดที่ยังมีชีวิตทรงร่างกายสังขารอยู่ ยังไม่สิ้นชีวิต ก็ยังต้องเสวยผลแห่งกรรมเสมอเหมือนกัน  เพียงแต่จิตภายในของท่านไม่หวั่นไหวต่อโลกธรรม การได้ลาภ เสื่อมลาภ ได้ยศ  เสื่อมยศ  การสรรเสริญ การนินทาว่าร้าย  ความสุข  ความทุกข์ เหมือนปุถุชนหรือพระอริยบุคคลชั้นต่ำลงมาเท่านั้น แต่ภายนอกนั้น  ท่านยังคงมีโอกาสเสวยผลการได้ลาภ เสื่อมลาภ ได้ยศ เสื่อมยศ ได้รับสรรเสริญ ได้รับนินทาไปตามสภาพเช่นเดียวกัน  นี้คืออานุภาพของ “กฎแห่งกรรม” ที่ครอบคลุมชีวิตสัตว์โลกทุกคนที่ไม่มียกเว้นใครเลย                 

          

          พระอรหันต์เมื่อสิ้นชีวิต จึงเรียกกันว่า “ละสังขาร” หรือ “ดับขันธ์” ความหมายก็คือ ท่านดับสังขารคือดับการปรุงแต่งได้หมดสิ้นแล้ว ไม่มีขันธ์ ๕ คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ที่จะทำให้มาเวียนว่ายตายเกิดอีกต่อไป                

          

          คำว่า “นิพพาน” นั้น แปลว่า “ดับสนิท” หรือ “เย็นสนิท”  แต่คนในยุคหลังไม่ค่อยได้ใช้คำนี้  เราจึงมักได้ยินคำว่า “ละสังขาร” บ่อยครั้งกว่า  ความหมายก็คือ เราใช้คำนี้กับพระภิกษุที่เราเชื่อว่าท่านบรรลุพระนิพพานคือดับสนิทไม่มีส่วนเหลือที่จะกลับมาเกิดอีกแล้วนั่นเอง              

        

          ตราบใดที่ยังต้องมีสังขาร คือ ร่างกายและจิตใจนี้  ทุกชีวิตล้วนตกอยู่ภายใต้กฎแห่งกรรมเสมอกันหมด  สังขารคือร่างกายและจิตใจนี้เองคือตัวเสวยความสุข เสวยความทุกข์อยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน  การดับสังขารคือร่างกายและจิตใจนี้ได้จึงจะเป็นความสุข 

 

          พิธีกรรมในการบำเพ็ญกุศลศพ พระจึงสวดเตือนเราทุกคนอยู่เสมอว่า        “อนิจฺจา  วต  สงฺขารา  สังขารทั้งหลายไม่เที่ยงหนอ   อุปฺปาทวยธมฺมิโน  มีอันเกิดขึ้นแล้วเสื่อมไปเป็นธรรมดา  อุปปชฺชิตฺวา  นิรุชฌนฺติ   เกิดขึ้นแล้ว  ย่อมดับไป  เตสํ  วูปสมโม  สุโข  การเข้าไประงับดับสังขารเสียได้ เป็นความสุข”            

         

          ตราบใดที่ยังดับสังขารคือร่างกายและจิตใจนี้ยังไม่ได้  เรายังต้องเสวยความสุข  ความทุกข์ กันอยู่ร่ำไป พระอริยเจ้าท่านมองเห็นอย่างนี้  ท่านจึงเร่งขวนขวายบำเพ็ญภาวนาเพื่อจะได้ไม่ต้องมาเกิดอีก              ส่วนปุถุชนนั้นยังยินดีพอใจในการเกิด จึงยังอยากเกิดเป็นเศรษฐี  อยากเกิดเป็นเทวดา  อยากเกิดเป็นนายกรัฐมนตรี  เป็นประธานาธิบดี หรือเป็นพระเจ้าแผ่นดิน  เพราะยังไม่เกิดปัญญามองเห็นโทษของการเวียนเกิดเวียนตายว่าสุดแสนน่าเบื่อหน่ายเพียงใด  หากบุคคลใดบรรลุบุพเพนิวาสานุสติญาณ  จึงจะรู้ชัดว่า การเกิดมาแต่ละชาตินั้นไม่มีสาระอะไร หากไม่ได้บำเพ็ญภาวนาหรือทำบุญกุศลไว้           

         

          บางคนเคยเกิดในยุคสมัยที่พระเจ้าแผ่นดินมีพระมเหสีและเจ้าจอมหม่อมห้ามจำนวนมาก  มาชาตินี้ตัวเองมองชายใดก็ไม่คู่ควร มองเห็นผู้ชายแต่ละคนดูตลกไม่เห็นจะเป็นผู้นำได้สักคน  เพราะอุปนิสัยแต่เดิมเคยอยู่เป็นคู่กับเจ้าเหนือหัวผู้อื่นมาก่อน  เกิดมาชาตินี้จึงกลายเป็นคนถือตัว เป็นคนหยิ่ง และเป็นคนหัวแข็ง ไม่ยอมลงให้ผู้ชายคนใด  นี้ก็เพราะไม่รู้ว่าในอดีตตนเคยอยู่อย่างยิ่งใหญ่  แต่ต้องมาเกิดเป็นคนสามัญในชาตินี้            

         

          บางคนเคยเกิดเป็นนายทหารฝีมือดาบอันเลอเลิศ  ชีวิตไม่ค่อยได้อยู่กับครอบครัวเหมือนคนอื่นเขา  ต้องคอยทำหน้าที่จงรักภักดีผู้ยิ่งใหญ่เหนือหัว  บางทีก็ต้องปล่อยนางไพร่บางคนที่ต้องมาเป็นภรรยาเพียงไม่กี่วัน ให้รอคอยด้วยความจงรักภักดีจนวันตาย  พอมาเกิดใหม่ในชาตินี้จึงกลายเป็นคนไม่เข้าใจผู้หญิง เพราะเกิดมาผิดยุคผิดสมัย ที่ผู้หญิงมีอำนาจยิ่งใหญ่เหนือผู้ชาย  จากนางไพร่ผู้จงรักภักดีจนวันตาย  พอมาเป็นภรรยาด้วยแรงเวรและแรงกรรม  กลับเป็นหญิงที่นอกใจสามีหาความซื่อสัตย์ไม่ได้ไปก็มี  นี้คือความน่าสลดใจของการเวียนเกิดเวียนตายในวัฏฏสงสาร  ผู้ที่ได้บรรลุบุพเพนิวาสานุสติญาณ จิตของท่านจึงมุ่งตรงต่อพระนิพพานเพียงอย่างเดียว  ท่านจึงมีคำกล่าวไว้ว่า “ปุถุชนกลัวการตาย  แต่พระอริยเจ้ากลัวการเกิด”            

 

          พระพุทธองค์ทรงตรัสว่า “สัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม”  เราทุกคนจึงไม่ควรประมาทมัวเมาในชีวิต  มัวเมาในอำนาจวาสนา  มัวเมาในความเป็นหนุ่มเป็นสาว  ในยามวิบากกรรมจะให้ผล จะทำให้คนดีๆเรานี้  กลายเป็นคนที่ตัดสินใจผิดได้  กรรมจะชักนำให้บุคคลนั้นเห็นผิดเป็นชอบ            

           

          หากเป็นเรื่องระดับชาติบ้านเมือง เมื่อถึงคราวจะทุกข์ยากลำบาก กรรมจะชักนำให้ผู้นำหรือผู้มีอำนาจตัดสินใจผิดพลาดในเหตุการณ์นั้น  ผู้นำในระดับองค์การหรือหน่วยงาน หรือผู้นำระดับหมู่คณะจะถูกวิบากกรรมชักพาให้บุคคลนั้นนำพาหมู่คณะหรือหน่วยงานองค์กรไปสู่ความล่มจม  โดยที่ความคิดในตอนแรกนั้นก็มั่นใจว่าการตัดสินใจเช่นนั้นเป็นสิ่งดีเลิศ แต่สุดท้ายกลับคือการผิดพลาดอย่างมหันต์ นี้ก็คือกรรมที่ชักนำให้เป็นไป           

          

             เราทั้งหลายจึงควรหมั่นอยู่กับกรรมฐานไม่ว่าจะกำลังประกอบการงานสิ่งใด  หมั่นรู้กาย รู้ใจในขณะนี้บ่อยๆเนืองๆ             วิปัสสนากรรมฐานหรือการเจริญสติภาวนานี้จะมีอานิสงส์อันยิ่งใหญ่ จะทำให้เรื่องร้ายๆผ่อนจากหนักเป็นเบา  สิ่งอื่นใดในโลกนี้    จะมีสิ่งใดเล่ายิ่งใหญ่และมีอานุภาพเท่ากับความสงบ          

         

             ทุกสิ่งทุกอย่างในโลกนี้ย่อมมีขึ้นมีลง  ทุกสิ่งที่เกิดขึ้นล้วนเป็นไปตามกรรม  เจริญแล้วก็เสื่อมลงได้  เสื่อมแล้วก็เฟื่องฟูขึ้นมาอีกได้  หมุนเวียนสลับผลัดเปลี่ยนกันไป  ยุคแล้วยุคเล่า  รุ่นแล้วรุ่นเล่า  เกิดดับอยู่เช่นนี้เป็นวัฏฏจักรตลอดมา            

         

             ทุกชีวิตล้วนตกอยู่ภายใต้กฎพระไตรลักษณ์คือความเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ  เดี๋ยวดีเดี๋ยวร้าย ร้ายแล้วดีสลับกันไป จงหมั่นรักษาใจและมีสติอยู่เสมอในทุกปรากฏการณ์            ในที่สุดแล้ว ไม่มีสิ่งใดในโลกนี้ที่จะยึดมั่นถือมั่นได้เลยแม้แต่สิ่งเดียว  สุดท้ายแล้ว ก็ต้องปล่อยวางทุกสิ่งตามอย่างพระอริยเจ้าในวันหนึ่งแน่นอน              

         

             ด้วยเหตุนี้ คำจบอธิษฐานเวลาทำบุญท่านจึงมีว่า “นิพฺพานปจฺจโย  โหตุ  ขอผลบุญที่ข้าพเจ้ากระทำบำเพ็ญนี้  จงเป็นปัจจัยแก่พระนิพพานด้วยเทอญ”  เป็นประเพณีสืบมา

                                                                                                 

                                                                                                 คุรุอตีศะ

                                                                                        ๕  พฤศจิกายน  ๒๕๕๖