รู้จักตนเอง

รู้จักตนเอง


                คนส่วนใหญ่มักรู้จักคนอื่น รู้จักสิ่งอื่นภายนอกตัวมากมาย แต่สิ่งที่เขาทั้งหลายรู้จักน้อยที่สุดคือ การรู้จักตนเอง  นี้คือต้นตอปัญหาชีวิตของมนุษย์ทั้งหลายทั้งหญิงและชาย ทุกชาติ ทุกศาสนาในโลกใบนี้


               เรารู้เรื่องของชาวบ้านสารพัด รู้ว่าสามีบ้านโน้นทำตัวแย่ ไม่รักครอบครัว รู้ว่าภรรยาบ้านนั้นทำตัวไม่ดี  ลูกสาว ลูกชายบ้านนี้ความประพฤติเหลวไหล เรารู้และเก็บรายละเอียดได้ยิบเหมือนเป็นนักสืบ เป็นนักข่าวโดยไม่ต้องรอให้ใครแต่งตั้ง แต่เราก็มักสนใจเก็บรายละเอียดได้ดี เฉพาะเรื่องที่ไม่ดีของเขาเป็นส่วนใหญ่ ส่วนเรื่องใดที่เป็นความดี ความสำเร็จของเขาเรามักจดจำและเก็บรายละเอียดไม่ค่อยได้


                เรารู้ดีมากทีเดียวว่านักการเมือง ดารา หรือคนดังแต่ละวันทำอะไร บางทีรู้แม้กระทั่งว่าวันนี้เขาแอบพากันหนีนักข่าวไปเที่ยวทะเลด้วยกัน  แต่ตัวเองกลับลืมไปว่าวันนี้รับประทานยาหรือยัง หรือบางคนก็ลืมกระทั่งว่า วันนี้ตั้งใจว่าจะซักผ้าแล้วได้ซักหรือยัง  เรารู้เรื่องคนอื่นมากกว่าเรื่องของตัวเองเสมอมา ด้วยเหตุนี้ ธรรมชาติจึงลงโทษผู้คนทั้งหลายให้ต้องพบความหม่นหมองโทษฐานที่ไม่ค่อยรู้จักตัวเอง


              “การรู้จักตนเอง” คำนี้ พูดให้เป็นภาษาทางธรรมในอีกแง่หนึ่งก็คือ “การอยู่อย่างมีสติ” นั่นเอง แต่ต้องการสื่อความหมายและอธิบายกับคนสมัยใหม่ที่มักเข้าใจภาษาคอมพิวเตอร์มากกว่าภาษาบาลี ให้คุณค่าทางวิทยาศาสตร์มากกว่าการรู้แจ้งทางศาสนา สนใจการจะไปอยู่ดาวอังคารมากกว่าจะไปสวรรค์


              การรู้จักตนเองคือบาทฐานสำคัญของการปฏิบัติธรรม  คนบางคนที่ปฏิบัติธรรมมามากมายแล้วรู้สึกว่าไปไม่ถึงไหน ก็เพราะขาดสิ่งสำคัญคือการรู้จักตนเองนี้นั่นเอง


              ยกตัวอย่างเช่น บางคนไปอ่านประวัติหลวงปู่มั่น หลวงตามหาบัว แล้วก็อยากทำเหมือนท่าน ก็พยายามนั่งสมาธิทั้งวันทั้งคืนเพื่อให้บรรลุธรรมแบบที่ท่านเล่าไว้ในหนังสือ โดยไม่รู้ความจริงว่า หลวงปู่มั่นท่านบรรลุสมาธิและมีภูมิธรรมระดับหนึ่งจากการอบรมสั่งสอนจากหลวงปู่เสาร์มาแล้ว ท่านจึงทิ้งวัดหนีเข้าป่าเพื่อแสวงหาหนทางพัฒนาจิตให้สูงยิ่งขึ้นไป ส่วนตัวเรานี้มีภรรยานอนอยู่ด้วยทุกคืน แล้วลูกก็รอแบมือขอเงินแทบทุกวัน ไม่ใช่หลวงปู่มั่นที่ท่านมุ่งมั่นออกบวชเป็นครั้งที่สองตั้งแต่อายุยี่สิบสองเพื่อแสวงหาทางหลุดพ้น แล้วท่านก็ดั้นด้นยอมสละทุกสิ่ง เอาชีวิตเป็นเดิมพัน บางวันก็ไม่ได้ฉัน แล้วหลีกลี้ผู้คนหาที่บำเพ็ญภาวนาตามถ้ำ ตามป่า ตามขุนเขา โดยไม่เกี่ยวข้องกับสังคมอย่างสิ้นเชิง จนกระทั่งบรรลุธรรม แต่ตัวเรานี้นั่งสมาธิในห้องแอร์อย่างดี ไม่ร้อนและก็ไม่มียุงริ้นไรไต่ตอม บางทีพอนั่งสมาธิเรียบร้อยพอได้ภูมิใจว่าวันนี้นั่งได้ครบชั่วโมง แต่หลังจากนั้นก็เปิดทีวีหรือฉายวีดีโอหรือแผ่นซีดีดูหนังฮอลลีวู้ดที่เต็มไปด้วยความตื่นเต้น และเรื่องราวอันแสนเร้าใจอยู่ตั้งหลายชั่วโมง สมาธิที่ได้มาอย่างกระท่อนกระแท่นก็เลยหายไปตั้งแต่ฉากแรกของภายนตร์ หลังจากนั้นก็มาคร่ำครวญนั่งบ่นว่าปฏิบัติไม่ได้ผลหรือ”จิตตก”อีกแล้ว อย่างนี้ก็คือตัวอย่างของการไม่รู้จักตนเองประการหนึ่ง


             การปฏิบัติในลักษณะที่ท่านเล่าไว้ในหนังสือสายธุดงค์กรรมฐานนั้น เราทั้งหลายต้องมีพื้นฐานความเข้าใจข้อหนึ่งว่า การปฏิบัติแบบนั้นต้องสละเครื่องปลิโพธทั้งปวง ต้องสละครอบครัว ต้องงดเว้นเพศสัมพันธ์โดยเด็ดขาด สมาธิจึงจะเกิดได้ดังประสงค์  ท่านจึงเน้นที่จะต้องให้ออกบวชเสียก่อน จึงจะเป็นเหล็กที่กำลังร้อนเพื่อจะตีให้เป็นมีดเป็นพร้าได้ และต้องอยู่กับอาจารย์ตลอดเวลาจนกว่าการฝึกจะสำเร็จแบบหนังกำลังภายใน


             แต่คนเราส่วนใหญ่ไม่มีคุณสมบัติที่จะฝึกวิทยายุทธสิบแปดอรหันต์อย่างนั้นได้ เพราะผู้ที่คิดฝันเป็นจอมยุทธสมัยนี้น้อยนักจะมีตบะกล้าแกร่งห้ามหักตัดอาลัยจาก“โกวเนี้ยผู้เลอโฉม”ได้ วิทยายุทธที่เหมาะแก่กาลสมัยที่บุรุษอาชาไนยหาได้ยากยิ่งนี้ จึงมิใช่วิทยายุทธ “ไร้ดาบ ไร้ใจ” แต่คือวิทยายุทธ “กระบี่คู่ใจ” ต่างหาก


             วิทยายุทธ”ไร้ดาบ ไร้ใจ” ย่อมคู่ควรแก่ผู้สลัดตัดอาลัยโกวเนี้ยและโลกียวิสัยได้เท่านั้น แต่สำหรับกาลสมัยบัดนี้ ผู้คนส่วนใหญ่ล้วนยินดีและพอใจโหยหาความรักทั้งบุรษและสตรี วิชา “กระบี่คู่ใจ”นี้ จึงเหมาะสมยิ่ง  วิชานี้ได้พยายามถ่ายทอดมาหลายปี แต่ก็น้อยนักจะมีผู้เข้าใจเคล็ดลับหรือฝึกฝน เรียกชื่ออย่างเป็นทางการที่ดูขลังและศักดิ์สิทธิ์ว่า “สติปัฏฐาน”  อันเป็นวิชากระบี่ที่สามารถฝึกได้แม้อยู่ท่ามกลางโลกียวิสัยและมีโกวเนี้ยแนบกาย แต่ต้องเรียนรู้เคล็ดเล็บให้เข้าใจเสียก่อน แล้วไปลับคมกระบี่เป็นครั้งคราวกับตัวอาจารย์ วิทยายุทธกระบี่คู่ใจนี้อาจพะรุงพะรังไม่ค่อยทันใจผู้เริ่มต้นฝึก เพราะตนเองจะเอาทั้งสองอย่างคือ กระบี่ก็อยากจะฝึกด้วย แล้วก็อุ้มโกวเนี้ยไปด้วย แต่ถ้าอดทนศึกษาเคล็ดลับให้ดี ต่อไปก็จะแคล่วคล่องในทำนองเพลงกระบี่ไปเอง


              ผู้ที่ชอบคิดมาก ชอบกังวล มักฟุ้งซ่าน ให้ระลึกรู้อาการเคลื่อนไหวทางกาย เย็น ร้อน อ่อน แข็งที่ปรากฏทางกาย เมื่อจิตสงบลงบ้างแล้ว ให้ดูจิตไปเรื่อยๆ แต่อย่าจ้อง ดูไปเท่าที่ระลึกได้ เผลอไปแล้วก็ปล่อยไป ไม่ต้องกังวล แล้วก็ระลึกใหม่อีก แล้วก็เคลื่อนไหวทำการงานไปตามปกติ อย่าพยายามจะมีสติ ให้มันมีสติของมันเอง ไม่บังคับตนเองเพื่อจะมีสติ ไม่ต้องอยากมีสติมากๆ เพราะสติเป็นอนัตตา บังคับให้เกิดสติไม่ได้ แต่สติจะเกิดเองเมื่อมีเหตุปัจจัยให้เกิด ให้ใจผ่อนคลายไว้เสมอๆ ทำใจเบาๆสบายๆ เพียงเท่านี้ “กระบี่ก็คู่ใจ”แล้ว


             ส่วนผู้ที่มีจิตใจปกติไม่ค่อยวิตกกังวลเป็นพื้นของจิตอยู่แล้ว ให้อยู่กับการ”ไม่ปฏิบัติ”ไว้เสมอๆ แล้วปล่อยให้สติระลึกที่กายบ้าง ระลึกที่ใจบ้าง ระลึกที่เวทนาคือความรู้สึกสุขหรือทุกข์บ้าง ระลึกที่จิตที่กำลังคิดบ้าง แล้วแต่สติจะระลึกที่ใด ก็เพียงแค่รู้ในอาการที่ระลึกเท่านั้น ให้สติระลึกรู้ของมันเอง ไม่มีการจัดสรรหรือปรุงแต่งใดๆเพื่อให้สติเกิด  พร้อมทั้งมีความเข้าใจว่าแม้แต่ตัวสตินี้ก็ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ตัวเรา เป็นเพียงสภาพธรรมอย่างหนึ่งที่เกิดขึ้นเท่านั้น เกิดแล้วก็ดับไป เช่นเดียวกับสภาพธรรมทั้งหลายนั่นเอง


              สิ่งสำคัญที่ต้องย้ำอีกครั้งหนึ่งคือ”ต้องรู้จักตนเองตามความเป็นจริง” แม้การทำสมาธิภาวนาหรือการปฏิบัติธรรมก็จะไปเลียนแบบกันไม่ได้ นอกจากจะมาเข้าแถวนั่งหลับตาให้ดูดีเพื่อถ่ายรูปเท่านั้น บางคนมีเรื่องสะเทือนใจให้ต้องคิดกังวล ก็อาจอยากนั่งสมาธิเงียบๆไม่อยากเจอผู้คน อย่างนี้ก็ให้ใช้วิธีนั่งสมาธิแล้วปล่อยให้จิตคิดไป แล้วก็มีสติตามระลึกรู้ดูจิตใจไปด้วย เมื่อสติเริ่มเกิด สติเริ่มทันอารมณ์ ใจจะเริ่มสงบ เมื่อใจเริ่มสงบจะดูลมหายใจไปเรื่อยๆโดยไม่ต้องท่องคำบริกรรมอะไร เช่นนี้ก็ได้ ไม่นานจิตจะมีพลังแช่มชื่นขึ้นมา


              ส่วนคนที่มีจิตปกติแจ่มใสดีอยู่แล้ว ไม่มีความจำเป็นแต่อย่างใดที่จะต้องไปหมกมุ่นทำสมาธิ เพราะตนเองมีสมาธิธรรมชาติอันเป็นพรอยู่ในตัวเองอยู่แล้ว ถ้าไปนั่งบริกรรมทำสมาธิจิตจะเริ่มตึงเครียดและอึดอัด และต่อมาจะทำให้จิตเริ่มฟุ้งซ่านและขาดความสุข จิตจะซึมๆทื่อๆไม่ค่อยมีไหวพริบปฏิภาณเหมือนแต่ก่อน มีคนประเภทนี้จำนวนมากที่ถูกคนอื่น”ลากไป”ทำสมาธิแล้วจิตใจสูญเสียสมดุลภายหลัง ทั้งนี้เพราะอาจารย์ผู้สอนสมาธิบางท่านขาดความแยบคายไปสรุปเอาง่ายๆว่า “ทุกคนที่มาหาเป็นผู้ไม่มีสมาธิ” มีแต่ตัวอาจารย์เท่านั้นเป็นผู้เต็มเปี่ยมด้วยสมาธิ แต่ที่ไหนได้ คนบางคนนั้นเขามีพื้นจิตเดิมเป็นธรรมชาติสดใสกว่าตัวอาจารย์ผู้คอยกดข่มกิเลสตัวเองไม่ให้เกิดราคะด้วยซ้ำ  คนที่จิตดีๆใสๆอยู่แล้วบางคน เมื่อเจออาจารย์ประเภทนี้ก็เลยเพี้ยนไปเลย คือจากคนที่เคยร่าเริงแจ่มใส กลายเป็นคนซึมๆทื่อๆ ไม่แววไว โดยเข้าใจว่าเป็นมาดพระอรหันต์


              การรู้จักตนเองจึงเป็นเรื่องสำคัญมาก คนที่จิตปกติดีอยู่แล้วจึงควรที่จะเจริญสติอย่างเป็นธรรมชาติ สอดคล้องไปกับการทำงานทำหน้าที่ในชีวิตประจำวัน เกื้อกูลเมตตาผู้อื่น จึงจะเป็นการถูกต้องและมีความสุข เพราะผลแห่งการปฏิบัติธรรมในระดับทั่วไปคือความสงบ แต่ถ้าจะให้ยิ่งขึ้นไปกว่านั้นย่อมคือ ความรักและความเมตตาที่ยิ่งใหญ่ ที่มีดวงใจเกื้อกูลต่อเพื่อนมนุษย์และสรรพสัตว์ ด้วยเหตุนี้ท่านจึงมีคำกล่าวไว้ว่า “ในบรรดาผู้ที่บรรลุธรรมหนึ่งร้อยคน ที่จะมีคุณสมบัติเป็นครูสอนผู้อื่นต่อไปได้นั้น แม้เพียงหนึ่งคนก็ทั้งยาก”



               การบรรลุธรรมที่ใครๆต่างปรารถนาและมักพูดกันบ่อยๆนั้น พูดให้คนร่วมยุคร่วมสมัยเข้าใจให้ง่ายขึ้น ก็คือ “การเข้าถึงความสมดุลของชีวิต” ถ้าสังเกตครูบาอาจารย์ที่ท่านมีภูมิจิตภูมิธรรมอันสูงส่ง ท่านจะไม่ค่อยเหมือนผู้ชายแบบคนธรรมดาทั่วไป ดูหลวงปู่ขาว หลวงปู่ดูลย์  หลวงปู่อื่นๆ ท่านจะมีเมตตาที่เปล่งพลังออกมา เพราะท่านเข้าถึงความสมดุลแห่งเพศโดยสมบูรณ์ ไม่มีคำว่าชายหรือหญิง จะสังเกตได้ว่าพระที่ท่านมีภูมิธรรมสูงแล้ว จะไม่ผลักต้านรังเกียจสตรีเพศอีกต่อไป ท่านจึงเรียกเพศพระว่า “อุดมเพศ” คือเพศอันสูงสุด


               สตรีที่ท่านบรรลุธรรมแล้ว  ท่านก็จะไม่เหมือนสตรีทั่วไปเช่นเดียวกัน แต่จะมีความเด็ดขาด กล้าหาญ เด็ดเดี่ยว มีพลังอำนาจแบบคุณสมบัติของบุรุษอยู่ด้วย จริตมารยาแบบผู้หญิงจะเหลือน้อยหรือหมดไปตามระดับภูมิธรรม ด้วยเหตุนี้คุณแม่บุญเรือน โตงบุญเติม รูปถ่ายของท่านถ้ามองเผินๆจะคล้ายหลวงปู่สักองค์หากไม่มีใครบอกว่าเป็นผู้หญิง หรืออย่างคุณแม่จันดี โลหิตดี น้องสาวของท่านหลวงตามหาบัวนั้น เวลาจะเด็ดขาดขึ้นมาคนทั้งหลายก็กลัวมาก  พระแม่บงกชแห่งเกาะมหามงคล แม้จะมีวาจาที่อ่อนหวานและน้ำเสียงที่ไพเราะมากแบบสตรี แต่ก็มีน้ำใจองอาจกล้าหาญเด็ดขาดยิ่งกว่าบุรุษบางคน จึงมีอำนาจบุญบารมีปกครองบริวารและเป็นที่พึ่งให้คนอื่นได้อย่างมาก หรืออย่างแม่จันทาที่ดำรงชีวิตแบบชาวบ้านแท้ๆ แต่ก็มีอำนาจบารมีเป็นที่น่ายำเกรง นี้คืออานุภาพแห่งการบรรลุธรรม จะมีสภาวะอยู่เหนือความเป็นชายหรือหญิง นั่นคือความเป็นพระ


                สิ่งเหล่านี้อธิบายด้วยหลักวิทยาศาสตร์ว่า”ความสมดุลแห่งสมองฝั่งซ้ายและขวา”อันคือความสมดุลแห่งชีวิตนั่นเอง การปฏิบัติธรรมนั้น หากจะพูดเพื่อให้คนยุคดิจิทัลเข้าใจ ก็คือ การเป็นนักวิทยาศาสตร์ทางจิตที่กำลังทำการทดลอง และกำลังรอคอยผลแห่งการทดลองของตน เราก้าวหน้าด้วยวิทยาศาสตร์ทางวัตถุภายนอกมากเกินพอจนกระทั่งสติและสัมปชัญญะที่คุ้มครองใจเหลือน้อยเต็มทีแล้ว  จงสนใจที่จะมาเป็นนักวิทยาศาสตร์ทางจิตกันให้มากขึ้น แล้วอีกสิบปีข้างหน้าเราจะพูดกับตัวเองได้ว่า “โชคดีแท้ ที่ข้าพเจ้าตัดสินใจเป็นนักวิทยาศาสตร์ทางจิตได้ทันการ”


              การบรรลุธรรมในศาสนา แท้จริงแล้วก็คือนักวิทยาศาสตร์ทางจิตผู้รู้แจ้งสัจธรรมของชีวิต ที่บรรลุความสมดุลของสรรพสิ่ง ที่ดวงใจสงบร่มเย็นเพราะรู้จักตนเองอย่างแท้จริงตลอดสาย มิใช่สิ่งอื่นเลย


คุรุอตีศะ
๗  กันยายน  ๒๕๕๖