ไร้การขัดแย้ง

ไร้การขัดแย้ง


           เมื่อขยันก็จงขยันให้เต็มที่ ขยันทั้งกายและใจและเปี่ยมด้วยการตระหนักรู้ และเมื่อรู้สึกอยากพักและเกียจคร้านขึ้นมา จงอยู่กับความผ่อนพักและความเกียจคร้านอย่างเต็มที่ ไม่ต้องสนใจการขยันอีกต่อไป แล้วชีวิตจะสดใสและมีพลังสร้างสรรค์ต่อเนื่องไปไม่มีวันหมด  


           ส่วนใหญ่เรามักถูกสอนว่า”จงขยัน อย่าขี้เกียจ” หรือถูกอบรมปลูกฝังกันมาว่า “ความขยันเป็นความดี ความเกียจคร้านเป็นอบายมุขเป็นสิ่งเลวร้าย” แต่ก็ไม่มีใครปฏิเสธได้เลยว่าไม่เคยเกียจค้าน หรือว่าตัวเองนั้นมีแต่ความขยันอย่างเดียว ไม่เคยขี้เกียจเลย เพราะความเป็นจริงแล้ว เราทุกคนต่างมีทั้งความขยันและความขี้เกียจอยู่พร้อมหน้ากันทั้งสองอย่าง ที่สำคัญแม้ในตัวคนขยันก็มีความเกียจคร้าน และแม้ในตัวคนที่ได้ชื่อว่าเป็นคนเกียจคร้าน ก็ยังมีความขยันอยู่เหมือนกัน เราทุกคนจึงมีทั้งความขยันและความเกียจค้านเป็นธรรมชาติอยู่ในตัว  นี้คือสัจธรรมของชีวิตประการหนึ่ง


           การใช้ชีวิตตามมรรคาแห่งอริยะ จึงไม่ใช่การบีบบังคับให้ตัวเองต้องขยันเพียงอย่างเดียว แล้วบังคับไม่ให้ความเกียจคร้านเกิดขึ้น แต่คือการปล่อยให้ความขยันและความเกียจคร้านเกิดขึ้นอย่างเป็นธรรมชาติ โดยไม่มีการเอาอัตตาเข้าไปบงการหรือจัดการให้เป็นดั่งใจของตน มีเพียงการตระหนักรู้ตามความเป็นจริงว่า ขณะนั้นเป็นความขยัน ขณะนั้นเป็นความเกียจคร้าน ไม่หมายมั่นที่จะเอาแต่ความขยัน ทั้งไม่รังเกียจหรือผลักไสความเกียจคร้าน แต่วางใจยอมรับทั้งความขยันและความเกียจคร้านที่เกิดขึ้นในใจตามความเป็นจริง


           โดยทั่วไปย่อมสอนกันทั่วไปในทั่วทุกมุมโลกว่า “จงมีแต่ความรัก อย่าได้มีความเกลียดชัง” แต่แม้จะสอนกันเช่นนั้นมากมายเพียงใด ก็เห็นแต่ใครๆเกลียดกันมากกว่ารัก ไม่ว่าที่ไหนก็ตาม แต่สำหรับมรรคาแห่งอริยะย่อมบอกพวกเราว่า “เมื่อมีความรักของจงรักให้เต็มที่แล้วตระหนักรู้ในความรักนั้นไปด้วย เมื่อมีความเกลียดชัง จงต้อนรับมันเสมือนความเกลียดชังนั้นเป็นมิตรสหายของเราคนหนึ่ง เมื่อเราเลิกปฏิเสธเขา ในที่สุดความเกลียดชังทั้งหลายในใจของเราที่เคยมีมามากมาย จะค่อยๆจางหายไปแล้วกลายเป็นความรักอันยิ่งใหญ่อย่างน่าอัศจรรย์”


              เพราะเราเอาแต่มุ่งผลักไสความเกลียดชัง ความเกลียดนั้นจึงเป็นพลังตีกลับดุจสปริงทำให้ความเกลียดชังยิ่งมีมากขึ้น  แต่หากเรายอมรับทุกสิ่งที่เกิดขึ้นตามความเป็นจริง ความรักที่ดีงามจะบังเกิดขึ้นในหัวใจของเราเองแม้ไม่เจตนามาก่อน


             หากเราคิดแต่ว่าจะเป็นคนดีหรือหวังให้ใครชื่นชมว่าเราเป็นคนดี แล้วเราคอยรังเกียจคนชั่วหรือพยายามกำจัดคนชั่วให้หมดไปจากสังคม อัตตาคือความสำคัญตนตัวนั้นจะบั่นทอนความดีในตัวเราทีละน้อย แล้วจะค่อยๆกลายเป็นคนชั่วแบบคนที่เราพยายามกำจัดโดยเราไม่รู้ตัว เพราะกระแสจิตที่รังเกียจความชั่วและคนชั่วจะเข้ามาทดแทนความดีในใจที่เคยมีมาแต่เดิม คนดีทั้งหลายที่ไม่ได้เจริญสติหรือตระหนักรู้ในข้อนี้ มักกลายเป็นคนดีที่เสียคนในภายหลัง


             ศาสนาอื่นทั้งหลายส่วนใหญ่จะสอนในระดับเดียวกันว่า “ให้รักดี เกลียดชั่ว” เราจึงมักใช้คำพูดกันบ่อยๆว่า “ศาสนาไหนๆก็ล้วนแล้วแต่สอนให้คนเป็นคนดี” แต่ความจริงแล้ว พระพุทธองค์ไม่ได้ทรงสอนให้คนรักดีเกลียดชั่วเท่านั้นอย่างที่หลายคนเข้าใจ เพียงแต่ทรงอนุโลมตามคำสอนขั้นพื้นฐานที่สังคมมนุษย์ทั่วไปยอมรับไว้ก่อนในขั้นศีลธรรมเท่านั้น


             สิ่งที่พระองค์ทรงประสงค์ในการแสดงธรรมก็คือ ในอันดับแรกต้องละชั่วให้ได้ก่อน  ขั้นที่สองต้องทำความดีให้เต็มที่และทุ่มเท หลังจากนั้นจะเป็นขั้นสูงสุดคือการปล่อยวางทั้งดีและชั่ว เพื่อให้ดวงจิตได้พบกับความอิสระจากทั้งดีและชั่ว คนที่มีจิตอิสระจากดีจากชั่วเท่านั้นจิตจึงผ่องใสได้อย่างแท้จริง และคนที่มีจิตอิสระจากดีและชั่วนี้เท่านั้นจึงจะเป็นคนดีได้จริงและดีได้ตลอดสาย เพราะใจของเขาไม่มีความสำคัญตนว่าเป็นคนดีอีกต่อไป  คนที่ไม่สำคัญตนว่าตนเองเป็นคนดีจึงมีความเจียมตนและถ่อมตนอยู่เสมอ นั่นแหละคือวิถีแห่งอริยะ


               ในโอวาทปาฏิโมกข์ข้อที่สามที่ว่า “สจิตฺตปริโยทปนํ การชำระจิตของตนให้ขาวรอบ” ก็คือหัวใจของคำสอนในความหมายนี้เอง แต่ชาวพุทธทั้งหลายก็มักพากันติดอยู่เพียงแต่สองข้อแรกคือ “ละชั่ว ทำความดี”เท่านั้น คือละชั่วก็เพื่อจะได้ไม่ตกนรก ทำความดีเพื่อจะได้ไปสวรรค์จะได้สบาย น้อยนักจะสนใจพัฒนาตนเองจนถึงขั้นให้จิตยืนอยู่เหนือดีเหนือชั่ว เหนือนรกสวรรค์ อันเป็นพระปัญญาที่แท้จริงจากการตรัสรู้ของพระองค์


               ท่านใดที่ได้มาอ่านบทความนี้และรู้จักตัวเองตามความเป็นจริงว่า เราก็พยายามละความชั่วและพยายามทุ่มเทประกอบแต่กรรมดีอยู่เสมอ แต่ทำไมหนอเรายังมีความทุกข์อยู่ หากเป็นเช่นนี้อาจถึงเวลาที่เราจะมาใส่ใจในคำสอนว่าด้วย “ความเหนือดีเหนือชั่ว เหนือบุญเหนือบาป”แล้วก็ได้ และคำสอนว่าด้วยการดำรงจิตเหนือบุญเหนือบาป เหนือรักเหนือชัง เหนือดีเหนือชั่วนี้มิใช่เราทั้งหลายจะพบได้โดยง่าย ด้วยเหตุนี้คนส่วนใหญ่แม้จะทำบุญมาแทบตาย บางคนนั่งกัมมัฏฐานปฏิบัติมามากมาย แต่จิตใจก็ไม่ผ่อนคลายและไม่ผ่องใสได้อย่างแท้จริง ก็เพราะไม่เข้าใจเส้นทางแห่งการปฏิบัติเพื่อให้ดวงจิตเหนือรักเหนือชังนี้นั่นเอง


              เป็นสุภาพบุรุษก็เป็นมามากแล้ว เป็นกุลสตรีก็เป็นมามากแล้ว ทำไมหนอชีวิตจึงมีแต่ปัญหาและมีแต่ความทุกข์  ที่เป็นทุกข์ก็เพราะการเป็นสุภาพบุรุษหรือความเป็นกุลสตรีนั้นเป็นความดีแบบ”วัฒนธรรมวิคตอเรียน”หรือวัฒนธรรมของฮินดูเท่านั้น แต่ถ้าผู้ที่เป็นคนดีทั้งหลาย ผู้ที่เป็นสุภาพบุรุษสุภาพสตรีทั้งหลายหากปรารถนาดวงใจที่สดใสและอิสระเบิกบาน จะต้องมาปฏิบัติตามคำสอนของพระพุทธเจ้านี้ชีวิตจึงมีความผาสุกจริง และจะช่วยเหลือมนุษย์ผู้ทุกข์ยากในโลกนี้ได้อีกมากมาย มิใช่เป็นคนดีที่อยู่เพียงแค่เพื่อตัวเอง ความเป็นคนดีนั้นจึงจะไม่มีความกดดันและจะเป็นคนดีไปได้ตลอด เพราะเป็นคนดีที่ไม่สำคัญตนว่าเป็นคนดีอีกต่อไป


              โลกมนุษย์ของเรานี้ต่างทำทั้งความดีและความชั่วคละเคล้ากันไป ในชีวิตของคนดีคนหนึ่งนั้น ย่อมมีความชั่วปะปนเสมอ และในชีวิตของคนชั่วคนที่เลวร้ายสักปานใด ในชีวิตของเขาก็ย่อมต้องมีความดีอย่างน้อยหนึ่งอย่างเป็นแน่ สุภาษิตโบราณของเราจึงมีกล่าวไว้ว่า “ชั่วเจ็ดที ดีเจ็ดหน” หรือ “ต้นคด ปลายตรง”


              การที่เห็นใครทำความผิดทำความชั่วอย่างหนึ่ง แล้วก็รุมด่าว่าเขาชั่วไปทั้งหมดโดยไม่คำนึงว่าบุคคลนั้นเขามีคุณความดีอะไรมาบ้างหรือไม่นั้น ไม่ใช่วิสัยสาวกขององค์พระศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้าแน่นอน เพียงแต่เรามีชื่อในทะเบียนตามพ่อแม่ แต่ความคิดและจิตใจได้ถูกหล่อหลอมด้วยหลักการลัทธิศาสนาอย่างอื่นไปแล้ว สังคมไทยจึงมีความรุนแรง เกลียดก็เกลียดรุนแรงเหมือนคนที่ตนเองโกรธนั้นไม่เหลือความดีอะไร ผิดวิสัยของชาวพุทธที่พร้อมจะให้อภัยและให้โอกาสแก่คนอื่นเสมอ


             เพราะว่ามนุษย์ที่เกิดมาทุกคนไม่ว่าชาติใดศาสนาใดล้วนรักตัวกลัวตาย กลัวต่อการพลัดพราก ร้องไห้หลั่งน้ำตาได้เหมือนกันทั่วโลก คนเราทุกคนนั้นชั่วเจ็ดที ดีเจ็ดหน  เราทุกคนจึงไม่อาจถือสาหาความกันได้นานนัก เพราะจะรักแสนรัก จะเกลียดแสนเกลียด ก็ต้องตายจากกันทั่วทุกคน  การให้อภัยกันจึงเป็นคุณสมบัติอันสำคัญของความเป็นมนุษย์และทำให้เราได้เกิดมาเป็นมนุษย์ในชาตินี้


                คนสมัยนี้ขาดความรู้เรื่องชาติก่อนชาติหน้า จึงเบียดเบียนบีฑากันเสมือนหนึ่งว่าเมื่อตายไปแล้วก็จบกัน นี้ก็เพราะร่ำเรียนแต่วิชาการและรู้แต่วิทยาศาสตร์ แต่ไม่มีความรู้ว่าชีวิตนี้เกิดมาทำไม พอๆกับคนรุ่นหนึ่งร้อยปีก่อนไม่มีความรู้เรื่องคอมพิวเตอร์


              การสอนให้เป็นคนดี แล้วก็เกลียดคนชั่ว นั้นยังไม่ใช่คำสอนของพระพุทธองค์ที่สมบูรณ์ แต่สิ่งที่พระองค์ทรงสอนอย่างแท้จริงและยิ่งกว่าก็คือทรงสอนว่า “สรรพสิ่งในโลกนี้ล้วนไม่มีความเที่ยงแท้ มีความเปลี่ยนแปลงและผันแปรอยู่เสมอ ไม่ควรที่ท่านทั้งหลายจะเข้าไปหมายมั่นยึดถือสิ่งใด จงมีสติอยู่เสมอ ตระหนักรู้ในสิ่งที่ปรากฏทางตา หู จมูก ลิ้น  กาย ใจ  ตามความเป็นจริง ปล่อยวางทั้งดีและชั่ว ถูกผิด รักชัง สู่ความมีอิสระ เบิกบาน หลังจากนั้นดวงจิตจะสัมผัสความรักและความเมตตาอันยิ่งใหญ่ต่อเพื่อนมนุษย์และสรรพสัตว์ทั้งหลายไม่มีประมาณ”


               เมื่อขยันขันแข็งก็จงเต็มที่และเต็มเปี่ยมกับความขยัน เมื่อเกียจคร้านก็ไม่รังเกียจหรือปฏิเสธมัน แล้วผ่อนพักให้เต็มที่  เมื่อรักก็จงรักอย่างเต็มเปี่ยม เมื่อชังก็ต้อนรับเขาเข้ามาเสมือนมิตรสหายคนหนึ่ง เมื่อกล้าหาญก็จงกล้าให้เต็มที่  เมื่อท้อแท้ หดหู่ หรือหวาดหวั่น ก็จงต้อนรับมันไม่หวั่นไหว


              ขอให้จิตดวงนี้ไร้ความขัดแย้งต่อสิ่งใด  นั่นแหละคือวิถีแห่งอริยะที่ครูบาอาจารย์ทั้งหลายพยายามจะบอกให้เราก้าวเดินไปด้วยตนเอง ทางสายนี้ไม่ใช่เส้นทางของคนชั่ว ทางสายนี้ไม่ใช่เส้นทางของคนดี แต่คือเส้นทางของผู้ที่พอแล้วกับความดีและความชั่วทั้งหลาย เป็นเส้นทางแห่งอิสรภาพที่เดินได้ทั้งพระหรือฆราวาส เดินได้ทั้งคนดีคนชั่ว  เดินได้ทั้งชายและหญิง เพียงแต่เข้าใจแล้วก้าวเดินด้วยความตระหนักรู้ว่า “มีแต่ความยึดมั่นถือมั่นของมนุษย์เท่านั้นที่สร้างความขัดแย้งต่อกัน แต่ในความเป็นจริงนั้นสรรพสิ่งในโลกนี้ไร้ความขัดแย้งในตัวมันเองเสมอ”


คุรุอตีศะ
๒๘  สิงหาคม  ๒๕๕๖