สมองฝั่งขวา
- รายละเอียด
- หมวด: LanDharma
สมองฝั่งขวา
ถ้าจะพูดให้เป็นภาษาวิทยาศาสตร์หน่อย ต้องพูดกับคนสมัยนี้ว่า “ถ้าต้องการมีชีวิตที่สงบสุขมากขึ้น ต้องหมั่นใช้สมองฝั่งขวาให้มากขึ้น” คนเราส่วนใหญ่ล้วนใช้ชีวิตด้วยสมองฝั่งซ้าย จึงมีความเครียด ความวิตกกังวลกันเป็นปกติของชีวิต
สมองฝั่งซ้ายเป็นเรื่องของการใช้เหตุใช้ผล เชิงตรรกวิทยา เป็นการวิเคราะห์วิจัยวิจารณ์ มีความแบ่งแยก มีกาลเวลา โน้มเอียงเข้าหากฎเกณฑ์ทางคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ สมองฝั่งซ้ายนี้จะเกี่ยวกับการคิด การคำนวณ การหาเหตุผล กำไร ขาดทุน การได้ การเสีย วิชาการด้านต่างๆ กฎหมาย การเมือง การปกครอง การทหาร การก่อสร้าง ธุรกิจ การค้า การลงทุน อะไรเหล่านี้ สิ่งที่ยกตัวอย่างมาเหล่านี้ล้วนต้องใช้ศักยภาพของสมองฝั่งซ้ายทั้งสิ้น
ส่วนสมองฝั่งขวาเป็นเรื่องเหนือถ้อยคำ เป็นการสังเคราะห์ เป็นการหยั่งรู้เอง ความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ความคิดเชิงสร้างสรรค์ ไม่มีกาลเวลา โน้มเอียงเข้าหาศิลปะ กีฬา การดนตรี วรรณคดี บทกวี และจินตนาการต่างๆ การทำสมาธิและการภาวนาก็คือการพัฒนาศักยภาพของสมองฝั่งขวาอย่างรวดเร็วที่สุด ผู้บรรลุธรรมหรือเข้าถึงสัจธรรมจึงมีความสุขได้ตลอดชีวิต แม้ภายนอกจะมั่งมีหรือยากจนย่อมไม่มีผลอีกต่อไป
ระบบการศึกษาส่วนใหญ่ในสังคมปัจจุบัน ยังเน้นพัฒนาแต่สมองฝั่งซ้าย ชนิดที่สมองฝั่งขวาแทบไม่ได้พัฒนาเลย คนส่วนใหญ่จึงสำเร็จการศึกษาแต่จิตใจกลับไร้ความสุข จนกระทั่งนักวิทยาศาสตร์ทางสมองผู้หนึ่งถึงกับกล่าวว่า “ในสภาพการจัดการศึกษาในปัจจุบันส่วนใหญ่ กว่าที่เด็กจะสำเร็จการศึกษาในระดับมหาวิทยาลัย สมองฝั่งขวาของพวกเขาอาจถูกทำลายไปจนหมดสิ้นแล้วก็ได้” ระบบการศึกษาในโรงเรียนทุกวันนี้ได้เปลี่ยนแปลงเด็กที่เคยร่าเริง แจ่มใส อยากรู้อยากเห็น มีน้ำใจ มีความคิดสร้างสรรค์และความเป็นตัวของตัวเองให้กลายเป็นนักศึกษาที่แทบจะไม่ความคิดสร้างสรรค์ใดๆหลงเหลืออยู่เลย การจะช่วยสังคมในยุคต่อไปได้ ต้องช่วยกันพัฒนาสมองฝั่งขวาให้มากขึ้น
สมองฝั่งขวาเป็นศักยภาพของจิตระดับเหนือสำนึก อัจฉริยบุคคลของโลกล้วนเป็นผู้ค้นพบทฤษฎีสำคัญเมื่อสมองฝั่งขวาทำงาน แต่นักวิทยาศาสตร์รุ่นหลังเมื่อเรียนทำความเข้าใจทฤษฎีดังกล่าวกลับต้องใช้สมองฝั่งซ้าย ผู้บรรลุธรรมก็บรรลุขณะสมองฝั่งขวาทำงานอย่างอิสระเต็มที่ แต่ผู้เรียนธรรมะหรือเรียนคำสอนในภายหลังกลับต้องใช้สมองฝั่งซ้ายเพื่อทำความเข้าใจเช่นเดียวกัน ผู้เรียนธรรมะรู้ธรรมะขั้นปริยัติจึงมีมากมาย แต่ผู้บรรลุธรรมหรือเข้าถึงธรรมอย่างแท้จริงจึงหาได้ยากนัก
อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ ได้เปิดเผยว่า เขาไม่ได้ค้นพบทฤษฎีแห่งสัมพันธภาพ จากการใช้เหตุผลหรือการเรียนรู้จากที่ใด แต่เขาพบทฤษฎีนี้จาก “การหยั่งรู้เอง” นี้คือการค้นพบสิ่งที่เป็นทางโลก ทางวิทยาศาสตร์
แต่หากสิ่งเดียวกันนี้เกิดขึ้นแก่ผู้ปฏิบัติธรรม เราเรียกสิ่งนี้ว่า “การบรรลุธรรม” ซึ่งเป็นสิ่งเกิดขึ้นนอกเหนือเจตนาใดๆและอธิบายไม่ได้ ผู้บรรลุธรรมส่วนใหญ่ท่านจึงวางเฉย น้อยคนนักจะสอนคนอื่นได้ เพราะเมื่อเริ่มสอน เริ่มอธิบาย ก็ต้องต้องใช้สมองฝั่งซ้ายทำงานเพื่อแสดงธรรมต่อชนเหล่าอื่น หากไม่มีเมตตาอย่างสูงที่บ่มบารมีมามากในอดีต ส่วนใหญ่ท่านจะวางอุเบกขา เพราะได้พบความสุขที่แท้จริงแล้ว เหมือนคนที่ร่ำรวยแล้ว จะให้คนอื่นรู้ว่าตัวเองร่ำรวยหรือไม่ให้ใครรู้ก็ได้ การแสดงธรรมจึงถือเป็นการอนุเคราะห์ด้วยความเมตตาของผู้บรรลุแล้ว ไม่ใช่เพื่อลาภสักการะหรือชื่อเสียง แต่เพราะต้องการเกื้อกุลเพื่อนมนุษย์ผู้ยังมีทุกข์
การพัฒนาสมองฝั่งขวาก็คือ การสร้างพลังแห่งความสุขให้เกิดขึ้นแก่ชีวิตของเรา การฝึกสติ การทำสมาธิ การภาวนา การทำบุญกุศล สิ่งเหล่านี้คือการเพิ่มพลังให้สมองฝั่งขวาเพื่อสู่การเข้าถึงความจริงของชีวิต ให้ใจของเรามีความไร้เดียงสา ผ่อนคลายให้มากขึ้น เมื่อถึงจุดหนึ่งจิตจะเข้าสู่ระดับเหนือสำนึกมากขึ้น จะเกิดพลังสร้างสรรค์มากมาย เข้าถึงความลี้ลับของจักรวาล อภิญญาจิตการรู้เห็นสิ่งที่อยู่พ้นสายตาของมนุษย์ก็จะเกิดขึ้น เกิดการหยั่งรู้สิ่งต่างๆขึ้นมาได้เอง และสุดท้ายจะมีดวงจิตประกอบด้วยความรักและความเมตตาอันยิ่งใหญ่ อันเกินกว่าวิสัยของคนทั่วไปจะหยั่งถึงได้ พระอริยบุคคลทั้งหลายท่านจึงมีดวงจิตที่บริสุทธิ์ไร้เดียงสาคล้ายเด็ก แต่มีพลังมหาศาลที่คนสามัญยากจะเข้าใจ
เอาความไร้เดียงสาสมัยยังเป็นเด็กวิ่งไล่จับผีเสื้อกลับคืนมาได้อีกครั้งเมื่อใด ความเป็นเด็กครั้งที่สองที่เกิดขึ้นด้วยพลังสติ สมาธิปัญญานี้แหละคือสิ่งที่เรียกว่า “การบรรลุธรรม” เป็นการใช้ชีวิตที่เกิดจากการพัฒนาสมองฝั่งขวาได้อย่างสมบูรณ์ จึงมีความอิสระ เบิกบาน และพบกับความสุขที่อธิบายไม่ได้ และมีคนในโลกนี้จำนวนเพียงน้อยนิดที่จะเชื่อและเข้าถึงความสุขชนิดนี้ นอกนั้นล้วนเป็นนักวิ่งทางไกลที่ไร้ระยะทาง เพราะเป็นทาสสมองฝั่งซ้ายมาเป็นเวลายาวนาน แต่ก็ต้องมีนักวิ่งบางคนเป็นแน่ที่ตาดีมองเห็นขุมทรัพย์แล้วหยุดพักให้สบายใจ นั่งจิบกาแฟฟังเสียงเพลงคลอเบาๆ ปล่อยวางภาระความหนักหน่วงที่เนิ่นนานลงเสียได้
หากยังไม่ถึงขั้นอดใจที่จะไม่ไปวิ่งกับเขาได้เสียทีเดียว เพราะอุตส่าห์ฝึกวิ่งจนมีเพื่อนวิ่งมานานแสนนาน จะเลิกวิ่งเสียกลางคันก็กระไรอยู่ เมื่อนั่งจิบกาแฟฟังเพลงสักครู่ แล้วจะออกวิ่งต่อเพราะหลงเสน่ห์การวิ่งมาช้านาน ก็ไม่เป็นไร และก็ให้รู้สึกเห็นใจเหล่านักวิ่งทั้งหลายอยู่ไม่น้อย แต่ก็มั่นใจว่านักวิ่งผู้ได้รับข่าวดีนี้แล้วบางคน แม้จะยังไปวิ่งร่วมกับเขาอยู่ตามนิสัยที่เคยชิน สุดท้ายก็จะกลายเป็นนักวิ่งที่พัฒนาแล้วในระดับหนึ่งอย่างแน่นอน นั่นก็คือ พัฒนาจากนักวิ่งที่ไร้ระยะทาง กลายเป็นนักวิ่งที่มีระยะทางที่จะหยุดวิ่งอย่างแน่นอนในโอกาสใดโอกาสหนึ่ง
วิ่งไขว่คว้าสิ่งต่างๆมาเนิ่นนาน แต่สุดท้ายสิ่งเหล่านั้นเป็นดุจพยับแดด เสมือนเป็นความฝัน ไม่มีสิ่งใดที่ควรแก่การเข้าไปหมายมั่นยึดถือ สมดังที่พระบรมครูทรงตรัสไว้เป็นพระวาจาอมตะตลอดกาลว่า “สุขอื่นใด ที่นอกจากความสงบแล้วไซร้ ย่อมไม่มี”
คุรุอตีศะ
๒๒ สิงหาคม ๒๕๕๖