ทางชีวิตสองสาย

ทางชีวิตสองสาย


                ไม่ว่านักปราชญ์จากมุมใดของโลก ล้วนกล่าวถึงเส้นทางชีวิตของคนที่เกิดมาว่า มีเส้นทางชีวิตอยู่สองสายสำหรับให้แต่ละคนเลือกเดิน


               เส้นทางสายที่หนึ่ง คือแนวทางของบุคคลผู้ปล่อยตัวให้เลื่อนไหลไปกับกระแสสังคมอันเชี่ยวกราก พอใจที่จะทำทุกอย่างเพื่อให้ถูกใจกระแสสังคม โดยไม่คำนึงว่าหัวใจของตนเองจะทุกข์ระทมขมขื่นหรือสูญสิ้นความเป็นตัวของตัวเองสักเพียงใดก็ยอม ชีวิตเช่นนี้จะเต็มไปด้วยการต่อสู้ แย่งชิง ฉกฉวย ต้องใช้ชั้นเชิงชิงไหวชิงพริบกับเพื่อนมนุษย์ด้วยกันตลอดเวลา เพื่อให้ได้สิ่งที่สังคมยอมรับว่าเป็นเป้าหมายสูงสุดของชีวิต อันได้แก่ เกียรติยศ ความมั่งคั่ง ซึ่งมีผู้คนเลือกเดินเส้นทางสายนี้แน่นขนัดทั้งกลางวันกลางคืน


              เส้นทางสายที่สอง คือแนวทางของผู้มองเห็นความไม่เป็นแก่นสารของการแสวงหาสิ่งต่างๆเหล่านั้น บุคคลเช่นนี้ จะปลีกตัวออกมาจากการต่อสู้แย่งชิงกับเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน มาดำรงตนอยู่ด้วยความสันโดษเรียบง่ายในอาชีพอันสุจริต สะอาด พอใจในชีวิตของตน และอุทิศตนเข้าหาความดีงามของชีวิต ซึ่งเส้นทางสายนี้มีคนเลือกเดินเพียงหยิบมือเดียว


             สำหรับเส้นทางสายที่สองนี้  บางทีอาจถูกผู้ที่กำลังมุ่งมั่นในการเดินทางสายที่หนึ่งมองด้วยความดูหมิ่นและถากถางอยู่ในใจก็ได้ว่า “เป็นผู้แพ้ เป็นคนโง่เขลา”   แต่สำหรับผู้ที่กล้าหาญเลือกเดินสายที่สอง จะบอกกับตัวเองได้เสมอว่า “เราได้พบขุมทรัพย์อันยิ่งใหญ่ของชีวิตแล้ว” ทำอย่างไรหนอพวกที่กำลังวิ่งในทางสายที่หนึ่งจะยอมเชื่อ  แต่ก็ทราบดีว่า นอกจากผู้ที่กำลังวิ่งเหล่านั้นจะไม่ยอมเชื่อแล้ว ยังอาจจะได้รับการถูกถากถางและดูแคลนอีกด้วย  ผู้ที่เดินทางสายที่สองนี้จึงได้แต่นิ่งเงียบและอดทนต่อสายตาที่เหยียดหยามเหล่านั้นต่อไป แม้บางครั้งอาจจะแอบยิ้มเยาะอยู่ในใจคนเดียวโดยไม่ให้ผู้ที่วิ่งอยู่ในอีกเส้นทางได้รู้ก็ได้ เพื่อความปลอดภัยและสวัสดิภาพของตนเอง


           ในวันนี้ใคร่จะขอยกบทกวีของท่านเรียวกัน ซึ่งเป็นพระเซนในประเทศญี่ปุ่นในอดีต ผู้มีสมญานามว่า “พระโง่ผู้ยิ่งใหญ่” ที่ท่านได้เลือกเส้นทางชีวิตในทางสายที่สอง คือความสันโดษเรียบง่าย มีชีวิตที่สงบร่มเย็นตลอดสาย ท่านเรียวกันมีชีวิตอยู่ระหว่างปี พ.ศ. ๒๓๐๑ ถึง พ.ศ. ๒๓๗๔ หลังจากท่านมรณภาพไปแล้วถึงสองร้อยปี จึงปรากฏคุณธรรมความดีว่าเป็นผู้บรรลุธรรมที่ยิ่งใหญ่ บทกวีบทหนึ่งของท่านได้ถูกนำไปอ่านโดย ยาสึนาริ คาวาดะ ในวันเข้ารับรางวัลโนเบลสาขาวรรณกรรม ปี  พ.ศ. ๒๕๑๑ จึงทำให้ชาวโลกได้รู้จักอัจฉริยภาพและคุณธรรมภายในของท่านเรียวกัน บทกวีบทหนึ่งของท่านมีความว่า


                   “ .....ถ้ามีใครถามฉันว่า
                         อะไรคือเครื่องหมาย
                         บอกให้รู้ว่า
                         นี่คือมายา  นี่คือการรู้แจ้ง
                         ฉันก็ตอบไม่ได้
                         ฉันทราบเพียงว่า
                         สำหรับฉันนั้น
                         ฝุ่นธุลีกับทรัพย์สินเกียรติยศ
                         หามีความแตกต่างกันไม่.....”

 

นี้คือทัศนะในการมองชีวิตของผู้ที่มีหัวใจเลือกเดินทางสายที่สอง ที่ท่านเดินจนถึงจุดหมายปลายทางแล้ว ในบ้านเราได้เรียกเส้นทางสายนี้ว่า “เส้นทางของพระอริยเจ้า” ซึ่งน้อยคนนักที่จะเต็มใจเลือกเดิน แม้ชีวิตจะระหกระเหินสักเพียงใด ก็ยังพอใจที่จะวิ่งตามเขาในเส้นทางสายที่หนึ่งมากกว่า เพราะเหตุอันใดหนอ?


               เพราะเหตุว่า ปัญญายังไม่คมชัดพอที่จะมองเห็นสัจธรรมความจริงของชีวิตว่า แท้จริงแล้ว  “ฝุ่นธุลีกับทรัพย์สินเกียรติยศ หามีความแตกต่างกันไม่” เหมือนดั่งท่านเรียวกันมองเห็นนั่นเอง สติปัญญาของปุถุชนกับสติปัญญาของพระอริยเจ้าจึงมองโลกใบนี้แตกต่างกันเช่นนี้  ความคิด ความรู้สึกของท่านจึงยากนักที่คนทั่วไปจะเข้าใจได้ ดุจที่น้อยคนนักจะมองเห็นและเข้าใจว่า “ฝุ่นธุลีกับทรัพย์สินเกียติยศนั้นหาได้มีความแตกต่างกัน”  การปฏิบัติธรรมทั้งมวลก็ปฏิบัติเพื่อให้ดวงจิตเข้าถึงสัจธรรมในข้อนี้นั่นเอง


คุรุอตีศะ
๑๒  สิงหาคม  ๒๕๕๖