ใจที่เป็นพระ

ใจที่เป็นพระ

          
            เรามักตัดสินความเป็นพระกันเพียงแค่ดูจากการโกนหัว นุ่งห่มเหลือง  ซึ่งนั่นเป็นเพียงสัญลักษณ์ความเป็นพระตามพุทธบัญญัติเท่านั้น  การบวชที่แท้จริงไม่ใช่เพียงการโกนหัว  เพราะฆราวาสบางคนเขาก็โกนหัวและเป็นแฟชั่นในบางยุคบางสมัยได้เช่นกัน  และความเป็นพระนั้นก็ไม่ได้ตัดสินจากเพียงแค่การนุ่งห่มจีวร ซึ่งหาซื้อได้ง่ายตามร้านสังฆภัณฑ์ทั่วไปในยุคสมัยนี้  เพียงมีเงินไม่เท่าไหร่ก็หาซื้อบาตรและจีวรได้แล้ว


             ความเป็นพระที่แท้จริงนั้นคือใจที่เป็นพระ  ส่วนการเข้าสู่พิธีกรรมการบวชและการนุ่งห่มนั้นเป็นสิ่งตามมาทีหลัง พระอรหันต์บางองค์ในสมัยพุทธกาลยังไม่ทันได้นุ่งห่มจีวรด้วยซ้ำก็ปรินิพพานแล้ว  เช่น สันตติมหาอำมาตย์ เสนาบดีของพระเจ้าปเสนทิโกศล และท่านพระพาหิยะทารุจีริยะ ซึ่งเป็นพระอรหันต์ที่เป็นเอตะทัคคะเลิศกว่าพระสาวกทั้งปวง ในด้านเป็นผู้ตรัสรู้เร็ว คือฟังธรรมเพียงสองสามประโยคกลางถนนในขณะที่พระพุทธเจ้ากำลังดำเนินบิณฑบาตก็บรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์  เมื่อท่านบรรลุพระอรหันต์แล้วก็ทูลขอบวชเป็นพระภิกษุ  เมื่อพระพุทธเจ้าตรัสบอกให้ไปแสวงหาบาตรและจีวร  ก็ถูกวัวแม่ลูกอ่อนขวิดตายอยู่ข้างทางใกล้กองขยะเสียก่อน  โดยไม่ได้ห่มจีวรและได้ครองเพศเป็นพระภิกษุสงฆ์แต่อย่างใด


            ใจที่เป็นพระ เมื่อนุ่งห่มจีวรจึงจะเป็นพระตามความหมายดั้งเดิมของการเป็นพระภิกษุ   ใจที่สละละวางจากความยินดีในฆราวาสวิสัย  แล้วมองเห็นภัยในวัฏฏสงสาร มุ่งสู่ความมักน้อยสันโดษและความสงบต่างหาก คือความหมายแห่งความเป็นภิกษุที่แท้จริงในพระพุทธศาสนา  คำว่า “ภิกษุ” แปลว่า “ผู้ขอ” และแปลว่า “ผู้เห็นภัยในวัฏฏสงสาร”


           ความหมายของคำว่าภิกษุที่แปลว่า “ผู้ขอ” นั้น  คือ การเป็นผู้เลี้ยงชีวิตและมีความเป็นอยู่ในระดับเดียวกับชีวิตของขอทาน ที่ดำรงชีวิตอยู่ได้ด้วยการขอ  ไม่ได้มุ่งประกอบอาชีพหรือสะสมทรัพย์สินเพื่อความมั่นคงในชีวิตแบบฆราวาส  แต่การขอแบบภิกษุต่างจากขอทานทั่วไปตรงที่พระพุทธองค์ทรงห้ามไม่ให้เอ่ยปากร้องขอ  แต่ให้เดินไปเรื่อยด้วยความมีสติสำรวมระวัง ใครจะให้หรือไม่ให้ก็แล้วแต่ใจของเขา  เมื่อได้อาหารพอจะอิ่มท้องแล้วก็หยุดขอ แล้วไปหาสถานที่ใดที่พอจะนั่งฉันได้ ก็ไปนั่งฉันตามสะดวก  การบิณฑบาตดั้งเดิมและแท้จริงคือเป็นอย่างนี้  เป็นการขออาหารพอเลี้ยงชีพไปวันๆ  เพื่อให้ร่างกายมีกำลังในการบำเพ็ญสมณธรรม  ไม่ให้หิวโหยอ่อนล้าจนเกินไป  คำว่า“บิณฑบาตเพื่อยังชีพ” จึงมีความหมายลึกซึ้งมาก


          ส่วนความหมายของคำว่าภิกษุที่แปลว่า “ผู้เห็นภัยในวัฏฏสงสาร” นั้น คือ ชีวิตของผู้สละโลกเพราะมองเห็นภัยหรือความน่ากลัวของความเกิด ความแก่   ความเจ็บ  และความตาย  จึงมองเห็นความไม่มีแก่นสารที่จะดิ้นรนทะเยอทะยานเพื่อการจะได้ จะมี จะเป็นอะไรตามวิสัยทั่วไปของชาวโลก จึงครองเพศบรรพชิตเพื่อเดินตามรอยพระอริยเจ้า  เลือกเอาเส้นทางที่ปลอดโปร่งหัวใจ อิสระและเสรี โดยอยู่เหนือทรัพย์สินเงินทอง และอำนาจวาสนาทั้งปวง เป็นใจของบุคคลที่ไม่ปรารถนาจะอยู่ในครอบครัว เป็นชีวิตของผู้สละเรือน สละครอบครัว บางทีก็เรียกว่า “ชีวิตอนาคาริก” แปลว่า “ชีวิตของผู้ไม่มีเรือน”


          ความเป็นพระนั้นจึงเป็นเรื่องยิ่งใหญ่มาก  ด้วยเหตุนี้ทุกคนจึงก้มศีรษะลงกราบพระด้วยความเต็มใจ  เพราะความยิ่งใหญ่ในการที่ท่านไม่เอาอะไร เหมือนอย่างที่เขายังยินดีและต้องการ  ฆราวาสทั้งหลายพากันกราบบรรพชิตด้วยความชุ่มชื่นใจและได้กุศลอันยิ่งใหญ่ที่โบราณท่านสอนไว้ ก็เพราะความยิ่งใหญ่ในการสละในสิ่งพวกเขายังไม่อาจสละได้นี้เอง


          ฆราวาสเขาไม่ได้กราบพระที่ยศ ตำแหน่ง  เงินทอง  ทรัพย์สิน  หรือความรู้  เพราะสิ่งเหล่านี้เขามีแล้วและอาจมีมากกว่าด้วยซ้ำ แต่เขากราบพระก็เพราะท่านสละได้ในสิ่งที่พวกเขายังยึดติด ยังหวงแหนอยู่  ความเป็นพระที่แท้จริงจึงสืบเนื่องต่อกันมาเป็นเวลาสองพันหกร้อยปีแล้ว  พระสาวกทั้งหลายจึงดำรงพระศาสนาตกทอดมาถึงพวกเราได้จนถึงปัจจุบัน


           แต่เมื่อกาลเวลาผ่านไป  เมื่อบุคคลที่มีใจสูงส่งเช่นนั้นดำเนินชีวิตด้วยการขออาหารเลี้ยงชีวิตไปวันๆ ซึ่งภายหลังได้รับการยกย่องว่าเป็นของสูงส่งจึงเรียกว่า “บิณฑบาต” แม้ท่านจะมุ่งละตัวละตนมีชีวิตอยู่ระดับเดียวกับขอทาน  แต่เพราะจิตใจท่านยิ่งใหญ่และประเสริฐผิดจากขอทานธรรมดา  ผู้คนก็เกิดความเลื่อมใสศรัทธาและยกย่องบูชาเชิดชู  เมื่อศรัทธาแล้วก็นำสิ่งของต่างๆมาถวายด้วยความอิ่มอกอิ่มใจ เพราะสัมผัสได้ถึงคุณธรรมภายในที่ผิดคนธรรมดา  แม้สิ่งของมีเขานำมาถวายเหล่านั้นจะมากมายเพียงใด ท่านก็ไม่ได้ยึดติดอะไร เพราะจิตที่ฝึกไว้ดีแล้วตั้งแต่ยังไม่มีสิ่งของเหล่านั้น   แต่ท่านก็รับไว้จากผู้คนทั้งหลายที่ปรารถนาต้องการในบุญ จึงเรียกว่า “ฉลองศรัทธา” อันหมายความว่าท่านไม่ใช่อยากได้ แต่รับไว้เพื่อรักษาน้ำใจของผู้ที่เลื่อมใสและเพื่อเขาจะได้มีโอกาสทำบุญ  เมื่อถวายสำเร็จเรียบร้อยพร้อมทั้งกาย วาจา ใจ ท่านจึงได้กระทำ”อนุโมทนา” คือพลอยยินดีด้วยที่พวกเขาสละความตระหนี่ ความยึดติดในวัตถุสิ่งของได้ จนรู้จักคุณค่าของอริยทรัพย์  รู้จักสร้างบุญกุศล


           การทำบุญในพระพุทธศาสนาจึงสูงส่งและยิ่งใหญ่ประเสริฐ เพราะได้ถวายแก่บุคคลที่มีใจพ้นแล้วจากลาภสักการะ สิ่งของ เงินทองทั้งหลาย  การทำบุญในยุคแรกนั้นคือเริ่มต้นจากการได้รู้จักคุณค่าพระอรหันต์และพระอริยบุคคลทั้งหลายเช่นนี้  


           เวลาต่อมา ได้เกิดบุคคลประเภทหนึ่งมองเห็นว่า การบวชเป็นพระนี้อยู่ดีๆ ก็มีผู้คนเอาสิ่งของมาให้มากมาย จึงเข้ามาบวชโดยที่ใจของตนที่แท้จริงไม่ได้เห็นคุณค่าหรือเกิดความเลื่อมใสที่แท้จริงต่อศาสนาแต่อย่างใด  ไม่ได้บวชเพราะมองเห็นภัยในวัฏฏสงสาร  แต่มองเห็นช่องทางที่จะอยู่ดีกินดีอย่างสุขสบาย  และมีโอกาสที่จะได้เป็นใหญ่โดยที่ยังได้รับการกราบไหว้อีกด้วย  เพียงแต่ได้ผ่านพิธีกรรมตามขั้นตอนที่วางไว้  ผู้คนก็พากันกราบไหว้ และพากันนำสิ่งของมาถวายมากมาย โดยยังไม่ทันได้พัฒนาคุณธรรมภายในแต่อย่างใด  ซึ่งผิดจากพระอรหันต์และพระอริยบุคคลยุคแรกที่ท่านอุดมพร้อมมูลด้วยคุณธรรมภายในเสียก่อน จึงมามีลาภสักการะในภายหลัง  นี้คือความต่างกันของความเป็นพระ


           ด้วยเหตุนี้หากเราไปตัดสินความเป็นพระเพียงแค่การโกนหัว  ห่มผ้าเหลืองเท่านั้น เราจะสับสนมาก  เพราะสมัยนี้มีดโกนก็มีตั้งหลายยี่ห้อและหาได้ทั่วไป  ส่วนจีวรและบาตรนั้นก็หาซื้อเอามาห่มได้ง่ายถ้าใครๆคิดจะทำ  ตลกเขาก็เอามาห่มแสดงตลกเลียนแบบหรือแสดงว่าเป็นพระก็ยังได้  จึงไม่แปลกอะไร  


           ความเป็นพระนั้นไม่ได้อยู่ที่จีวรหรือการเดินบิณฑบาต  แต่การเป็นพระนั้นมีอะไรที่มากกว่านั้นหลายร้อยเท่านัก  การเป็นพระก็ไม่ใช่เพียงแค่การงดเว้นเพศสัมพันธ์หรืออดกลั้นต่อสัญชาตญาณได้  เพรามีบุรุษโสดหรือสตรีโสดอีกมากมาย เขาดำรงชีวิตอยู่ได้ในเพศฆราวาสโดยไม่มีกิจกรรมทางเพศก็มี  แม้บางคนมีภรรยามีสามี เขาก็สามารถอยู่ด้วยกันโดยไม่ต้องมีความสัมพันธ์ทางเพศตั้งหลายเดือนและเป็นปีเขาก็ยังทำได้  แต่เพศพระภิกษุนั้นเป็นอุดมเพศคือเป็นเพศที่เหนือความเป็นบุรุษและสตรี  การงดเว้นจากสตรีจึงเป็นเพียงวิถีชีวิตที่ท่านก้าวพ้นจากสิ่งนั้นด้วยจิตมาได้ก่อนแล้ว กายของท่านจึงไม่มีความจำเป็นต้องเกี่ยวข้องอีกแล้ว  ไม่ใช่เพราะท่านรังเกียจหรือหยามหมิ่นสตรีเพศอย่างที่หลายคนเข้าใจ


             การหยามหมิ่นดูแคลนสตรีเพศเป็นอิทธิพลของศาสนาพราหมณ์และลัทธิอื่น  แต่เราก็รับมาผสมปนเปกันไปตามวิวัฒนาการของความเชื่อ วัฒนธรรมและศาสนาต่อมาในยุคหลัง  แต่สำหรับของพระพุทธองค์ดั้งเดิมนั้น  พระองค์ไม่เคยดูหมิ่นแม้กระทั่งต้นไม้ใบหญ้าและสรรพสัตว์ใหญ่น้อย  แล้วพระองค์จะทรงสอนให้ให้สาวกดูหมิ่นมนุษย์ด้วยกันหรือสตรีได้อย่างไร  นั่นมิใช่วิสัยของพระมหาบุรุษ ผู้ทรงเป็นบรมครู ทรงเป็นที่พึ่งของชาวโลกอย่างแน่นอน


             ที่กล่าวมานั้นคือชีวิตดั้งเดิมของพระอรหันต์ทั้งหลาย  แต่ต่อมาบุคคลทั้งหลายไม่ได้บวชด้วยศรัทธาในศาสนาเช่นนั้น ชีวิตของภิกษุในศาสนาจึงเปลี่ยนไป  และบางทีอาจจะเปลี่ยนไปเป็นแบบหน้ามือเป็นหลังมือแล้วก็ได้ในยุคสมัยของเรานี้


            หากเราทั้งหลายมีความปรารถนาจะช่วยกันดำรงพระศาสนา  จงให้ความสำคัญกับ “พระในภายใน”คือใจของเรานี้ ให้มากกว่าพระในภายนอก  เพราะพระในภายนอกนั้นเป็นได้ไม่ยากในสมัยนี้  มีดโกนก็มีตั้งหลายยี่ห้อ  บาตรจีวรก็มีวางขายทั่วไปซื้อเมื่อไหร่ก็ได้ เพียงมีปัจจัยถวายพระอุปัชฌาย์ พระคู่สวด และพระนั่งอันดับ พร้อมทั้งไทยธรรมสักเล็กน้อย ก็สำเร็จเป็นพระในรูปแบบในภายนอกเรียบร้อยแล้ว  แต่ความเป็นพระภายในนั่นสิ  เมื่อไหร่จะบังเกิดขึ้นในดวงใจของคนๆหนึ่ง


           ในปัจจุบันเราบางคนอาจสาละวนกับชีวิตฆราวาส  บุรุษบางคนอาจเที่ยวเตร่หรือห้อมล้อมด้วยสตรีและอบายมุข  แต่เมื่อใดที่ใจของบุรุษนั้น เกิดความเบื่อหน่ายต่อความซับซ้อนยอกย้อนหรือความแปรปรวนไม่แน่นอนของจิตใจพวกเหล่าสตรี และอยากอยู่อย่างสงบเงียบๆและใฝ่ฝันชีวิตที่อิสระเบิกบาน แล้วนึกถึงชีวิตพระอรหันต์ในอุดมคติ  ในขณะนั้นคือใจของเขาได้มีความเป็นพระเกิดขึ้นแล้ว แม้อยู่ท่ามกลางเหล่าสตรีและอบายมุขทั้งหลาย  จิตที่เห็นคุณค่าแห่งความวิเวกและความอิสรเสรีนั่นแหละคือองค์คุณแห่งจิตใจที่เป็นพระ  แม้ว่าขณะนั้นกายภายนอกของเขาจะยังแปดเปื้อนด้วยวิถีแห่งโลกีย์  


            สตรีบางคนอาจกำลังสาละวนกับการประกอบอาชีพ ต้องแต่งตัวแต่งหน้าทาปาก  แต่งตัวตามสมัยแฟชั่น  แต่หากขณะนั้นเกิดมีดวงจิตเกิดขึ้นว่า  หากเราได้ดูแลพ่อแม่พี่น้องให้พอตั้งตัวหรือมีความสุขอยู่ได้ตามฐานะ เราอยากจะใช้ชีวิตที่เรียบง่ายและสงบในอาราม หรือสถานที่เหมาะสมสักแห่ง ไม่ต้องมาลำบากในการต้องมาแต่งตัวให้ถูกต้องตามยุคสมัย หรือให้ถูกใจสังคม  ในขณะนั้นใจของสตรีผู้นั้นก็เป็นใจของภิกษุณีแบบพระอุบลวรรณาเถรีผู้เลิศด้วยฤทธิ์สมัยยังไม่ได้บวชแล้ว  แม้ขณะนั้นเธออาจจะเดินเฉิดฉายในที่ทำงานหรือในสังคม โดยมีเหล่าบุรุษมองด้วยสายตาเป็นมันในรูปร่างและการแต่งกายของเธอ  ใจที่เป็นพระนี้จึงอยู่เหนือความเป็นจีวรหรือรูปลักษณ์ในภายนอก  ขอให้เราทั้งหลายรู้จัก “ใจที่เป็นพระ” เช่นนี้ไว้บ่อยๆ


            ใจที่เป็นพระนี้แหละคือแก่นของความเป็นพระอันแท้จริงต่อไป  ในขณะนี้เราอาจอยู่ในดงกิเลส  อาจอยู่ท่ามกลางผู้คนส่วนใหญ่ที่ไม่ได้มีใจเห็นคุณค่าของความเป็นพระ  เราอาจยังสนุกสนานยังเที่ยวเตร่  ยังแต่งตัวและนิยมแฟชั่น  เราอาจอยู่ท่ามกลางบุรุษและสตรีที่อุดมไปด้วยกิเลสตามวิสัยแห่งเพศฆราวาส


            แต่เมื่อใจที่เป็นพระนี้เกิดขึ้นบ่อยๆด้วยความเจริญขึ้นของสติ  หากเราไม่มีวิบากกรมที่ต้องกลายเป็นคนครองเรือนแบบคนทั่วไป  ใจของเราก็จะสูงส่งขึ้นเรื่อยๆ จนกระทั่งเราสามารถกลายเป็นบุคคลหนึ่งสามารถสละโลก  ออกบวชเป็นบรรพชิตประกาศศาสนาและสืบทอดศาสนาได้  และเราจะสามารถเป็นพระที่พร้อมทั้งกายที่เป็นภายนอกและความเป็นพระภายใน เพราะใจของเราได้ฝึกฝนความเป็นพระอยู่ก่อนแล้ว


            แต่หากชีวิตของบุคคลบางคนที่มีเหตุปัจจัยไม่อาจออกบวชครองเพศบรรพชิตได้  ก็สามารถอยู่กับ“ใจที่เป็นพระ”ไป โดยเจริญสติอยู่เสมอในการดำรงชีวิตประจำวัน  ก็สามารถเป็นพระในบ้าน  เป็นพระในท่ามกลางบุตรภรรยาสามีได้   แม้กายภายนอกจะไม่ได้โกนหัวห่มจีวร  เป็นพระอริยบุคคลในภาคการครองเรือน  แม้กายภายนอกเป็นฆราวาส แต่ภายในนั้น ใจของผู้นั้น ย่อมเป็นพระได้เสมอ  ชีวิตฆราวาสนั้นสามารถรองรับความเป็นพระอริยบุคคลนั้นได้ถึงขั้นพระสกทาคามี


            แท้จริงแล้วเพศพระภิกษุนั้น เป็นอุดมเพศ เป็นเพศอันสูงส่ง มิใช่ใครๆจะมาครองเพศนี้ได้โดยง่าย  เพราะเป็นเพศที่เป็นสัญลักษณ์ เป็นธงชัยของพระอรหันต์  คือเป็นเพศที่รองรับบุคคลที่มีดวงจิตหลุดพ้นไปแล้วจากโลกนี้  แม้แต่พระอนาคามีนั้น บางท่านก็ยังอยู่ในเพศฆราวาสได้ หากไม่มีอุปสรรคของคู่ครองที่อาจไม่เข้าใจ  แต่เพศพระอรหันต์นั้นคือเพศที่รองรับคุณธรรมอันสูงสุดในพระพุทธศาสนาเลยทีเดียว


             ในเมื่อมาในยุคสมัยของเรานี้  ได้มีการลดฐานะอันสูงส่งของผ้ากาสาวพัสตร์ที่เคยประดับห่อหุ้มร่างกายของผู้ที่มีดวงจิตหมดสิ้นจากกิเลสเป็นมาตรฐานแต่ครั้งโบราณหรืออย่างต่ำต้องได้ดวงตาเห็นธรรมเป็นพระโสดาบันบุคคลจึงจะเข้ามาบวชได้ กลายมาเป็นใครๆก็บวชได้ หากไม่เข้าลักษณะต้องห้ามตามพระธรรมวินัย  โดยไม่ต้องคำนึงว่าใจของผู้ที่เข้ามาบวชนั้น จะมีใจที่เป็นพระหรือไม่  การบวชเป็นพระสมัยนี้จึงมีเป้าหมายหรือมีวัตถุประสงค์ของการบวชหลายหลากมากมาย


            คุณค่าของผ้ากาสาวพัสตร์จากแต่เดิมคือธงชัยของพระอรหันต์  จึงตกต่ำมาเป็นศาสนาของปุถุชนในยุคสมัยของเรา  พระที่ต้องการบวชจริง ปฏิบัติจริง จึงต้องทวนกระแสสังคม ต้องกลายเป็น “พระเถื่อน”ในตอนแรก แล้วจึงมาได้รับการยกย่องบูชาภายหลังว่าเป็น “พระป่า” ดังเช่นปฏิปทาของหลวงปู่มั่น และหลวงปู่พุทธทาสภิกขุเป็นต้น  ที่จริงแล้ว พระป่าก็คือพระเถื่อนนั่นเอง  คือพระที่ออกนอกกรอบของคณะสงฆ์ที่เน้นยศศักดิ์ เน้นอำนาจทางการปกครองเลียนแบบฝ่ายบ้านเมือง หลวงปู่มั่น หรือหลวงพ่อพุทธทาสจึงเป็นพระที่ปฏิรูปสังคมของสงฆ์ได้อย่างนุ่มนวล  โดยยึดการตามรอยพระอรหันต์เป็นหลักชัย


            ในยุคสมัยที่มีดโกนก็หาง่าย  จีวรก็มีขายตามตลาด  การบวชก็ง่าย  โบสถ์วิหารศาลาก็มีอยู่ทั่วไป  จึงไม่ใช่ยุคสมัยที่จะมาตัดสินความเป็นพระจากรูปลักษณ์ในภายนอกแต่เพียงอย่างเดียวอีกต่อไปแล้ว  แต่ต้องวัดความเป็นพระจากหัวใจที่มีความเป็นพระที่แท้จริงต่างหาก


           ใจของพระคือใจที่มีความหวังดีและปรารถนาดีต่อมนุษย์และสัตว์   ใจของพระคือใจที่มีความอิสระและเบิกบาน ใจของพระคือความไม่เห็นความสำคัญของลาภยศ ทรัพย์สินเงินทอง ใจของพระเป็นใจที่ไม่ต้องการอำนาจวาสนา  ใจของพระไม่ต้องการความศรัทธาเลื่อมใส ไม่ต้องการการกราบไหว้ยกยอ  แต่คือใจที่หวังความสุขความเจริญของผู้ประกอบกรรมดี ชี้ทางนรกสวรรค์ และทางไปพระนิพพานแก่ชาวโลก  เมื่อบุคคลใดมีใจเมตตากรุณาบังเกิดขึ้น เมื่อใดใจเกิดความสงบร่มเย็น และมีความเกื้อกูลต่อทุกคนทุกชีวิต นั่นแหละคือใจของพระได้เกิดแล้วแก่บุคคลนั้น  แม้จะอยู่ในเพศบรรพชิตหรือฆราวาส


         หากใจของแต่ละคนมีความเป็นพระบังเกิดขึ้นเรื่อยๆ  วันหนึ่งเราอาจเป็นพระทั้งภายในและภายนอก  ได้มีโอกาสช่วยกันดำรงพระศาสนาดำเนินตามรอยปฏิปทาของหลวงปู่มั่นและหลวงปู่พุทธทาสที่ท่านได้บุกเบิกเส้นทางไว้ให้พวกเราได้เดินตามแล้ว   ขอเพียงให้เราตระหนักและให้ความสำคัญกับ “ใจที่เป็นพระ” นี้ไว้เสมอ


คุรุอตีศะ
๒๙  มิถุนายน  ๒๕๕๖