แก่นสารชีวิต

 แก่นสารชีวิต

 

หากจะไม่กล่าวอนุโลมไปตามคติทางโลก ในทำนองว่าความทุกข์ทั้งหลายของพวกเรานั้นมาจากระบบเศรษฐกิจ การเมืองหรือสังคม ฯลฯ 

 

แต่กล่าวไปอย่างซื่อตรงตามคติทางธรรมอย่างเดียว ท่านจะบอกว่า ความทุกข์ทั้งหลายเกิดจากความหลงยึดติดในเหยื่อ ความหลงยึดมั่นถือมั่น

 

ความทุกข์เกิดจากจิตนี้ยังไม่เกิดปัญญาจักษุ ยังไม่เข้าใจในสัจธรรม ยังไม่เข้าใจแก่นสารที่แท้จริงของชีวิต ยังไม่เข้าใจตัวเอง

 

เหมือนเนื้อร้องในบทเพลงที่ผู้ประพันธ์ร้อยเรียงว่า..

 

"...คิดทบทวนชีวิตที่ผ่าน สุดท้ายแล้วที่ต้องการ..คือแก่นสาร พบพานหลุดพ้น.."

 

หมายความว่า ในสายตาของพระอริยเจ้าแล้ว ท่านจะมองพวกเราที่กำลังดิ้นรนแก่งแย่งกันอย่างเอาเป็นเอาตายนั้น

 

เป็นเพียงการวิ่งไปข้างหน้าเพื่อแย่งไขว่คว้าเอาพยับแดดซึ่งเป็นของไม่มีอยู่จริง

 

จนวันหนึ่งเกิดสติและปัญญาขึ้นมาว่าแล้วเราไปแย่งชิงวิ่งไขว่คว้าหาสิ่งอันเป็นมายานั้นเพื่ออะไร

 

เกิดการตื่นรู้ว่าสิ่งที่ทำมา ที่เป็นมา ที่เราคิดว่าเป็นแก่นสารมาตลอดนั้น แท้จริงแล้วช่างหาสาระอันใดมิได้เลย 

 

ปัญญาที่เกิดขึ้นอัตโนมัติอย่างไม่อะไรกำหนดล่วงหน้านี้ จะทำให้เกิดความสลดในชีวิตที่ผ่านมา 

 

ทำให้ค้นพบด้วยปัญญาของตัวเองว่า สิ่งที่เราต้องการจริงๆ อันเป็นแก่นสารที่แท้จริง ก็คือสภาวะจิตที่หลุดพ้นจากความทุกข์และสิ่งบีบคั้นร้อยรัดทั้งมวล

 

จิตดวงนี้แหละคือโลกุตระทรัพย์ ที่เป็นทรัพย์อันยอดเยี่ยมที่สุดในโลกทั้งสาม

 

อินทรีย์อย่างอ่อนที่สุด ก็มาเกิดอีกไม่เกิน ๗ ชาติ

 

เป็นผู้พ้นจากความอาภัพ พ้นจากความตกต่ำ มีแต่เจริญรุดหน้าไปถ่ายเดียว

 

สิ่งที่เคยติดค้างหรือเป็นปมด้อยในหัวใจ 

 

จะมากน้อยหรือเคยมีมายาวนานเพียงใด จะค่อยๆ คลี่คลายและสูญสลายไป 

 

มีแต่หัวใจที่เดินตามรอยพระอริยเจ้าไปอย่างเด็ดเดี่ยว ไร้ความลังเลสงสัยตลอดชีวิต

 

คุรุอตีศะ

๒๔ กันยายน ๒๕๖๗