เข้าไปยึดจึงทุกข์

 เข้าไปยึดจึงทุกข์

 

ในคัมภีร์ปรัชญาปารมิตาหฤทัยสูตรมีเนื้อความตอนหนึ่งว่า...

 

"...ท่านสารีบุตร! สังขตธรรมทั้งปวงมีลักษณะเป็นสุญญตา ความว่าง

 

คือ ไม่มีเกิดขึ้น ไม่มีดับไป ไม่มัวหมอง ไม่ผ่องแผ้ว ไม่พร่อง ไม่เต็ม

 

ท่านสารีบุตร ! เพราะเป็นเช่นนี้แล

ในสุญญตาวิหารธรรมจึงไม่มีรูป ไม่มีเวทนา ไม่มีสัญญา ไม่มีสังขาร ไม่มีวิญญาณ

 

ไม่มีตา-หู-จมูก-ลิ้น-กาย-ใจ

ไม่มีรูป-เสียง-กลิ่น-รส-กายสัมผัส-ธรรมารมณ์

ไม่มีจักษุธาตุ ไปจนถึงไม่มีมโนวิญญาณธาตุ

 

ไม่มีวิชชาและไม่มีอวิชชา ไม่มีความแก่และความตาย

 

ไม่มีทุกข์ สมุทัย นิโรธ และมรรค

 

ไม่มีญาณ ไม่มีการบรรลุและไม่มีการไม่บรรลุ..."

 

ถ้อยคำเหล่านี้เป็นความลึกซึ้ง ลัดตรงเข้าสู่ดวงจิต ผู้ที่เข้าใจจิตก็โพล่ง ว่าง หรือหลุดพ้นจากความยึดติดต่อสิ่งสมมุติบัญญัติ พ้นจากความเป็นปุถุชนโดยฉับพลัน

 

แต่สำหรับผู้ที่ยังละสักกายทิฏฐิไม่ได้ จะมองว่าเป็นคำสอนที่เป็นมิจฉาทิฏฐิไปเลยก็มี เหมือนตอนที่หลวงพ่อพุทธทาสภิกขุนำ "สุญญตาธรรม" มาเทศนาในช่วงแรกๆ แล้วถูกปัญญาชนและคนที่เข้าไม่ถึงใจความอันแท้จริงโจมตีแทบจะเลิกสอนธรรมะไปเลย

 

คำสอนในหลักปรัชญาปารมิตาสูตรนี้พอจะอธิบายได้ว่า โดยสมมุติบัญญัติแล้ว ก็ต้องมี "วิชชา"และมี "อวิชชา" แต่สำหรับดวงจิตที่เข้าถึงสุญญตา จะเกิดปัญญาอย่างกระจ่างแจ้งว่า สิ่งเหล่านี้เป็นเพียงโวหารสมมุติที่พระพุทธเจ้าใช้เพื่อประโยชน์แก่การแสดงธรรมโปรดเวไนยสัตว์

 

ถ้อยคำที่เนื่องด้วยสุญญตาธรรมที่พวกเราพอจะคุ้นๆ ก็เช่น "น้ำไหลนิ่ง" ที่เป็นชื่อหนังสือเล่มหนึ่งของหลวงพ่อชา สุภทฺโท หรืออย่างคำว่า "นอกเหตุเหนือผล" ก็คือสิ่งที่เกินกว่าจะใช้การอธิบายด้วยคำพูด ซึ่งก็คือสภาวะแห่งความว่าง หรือ "สุญญตา" นั่นเอง

 

โดยปรมัตถสัจจะแล้ว คนเราเป็นทุกข์เพราะการเข้าไปยึดหรือสำคัญมั่นหมายในสิ่งต่างๆ ทำให้เกิดความยึดมั่นว่าเป็นตัวเรา เป็นของเรา 

 

เมื่ออัตตาคือความรู้สึกว่าเป็นเราสลายไป ความทุกข์ก็สลายไป 

สมดังที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตรัสว่า "สพฺเพ ธมฺมา นาลํ อภินิเวสาย ธรรมทั้งปวงไม่มีสิ่งใดที่ควรเข้าไปยึดมั่นถือมั่น"

 

คุรุอตีศะ

๒๑ กันยายน ๒๕๖๗