จิตพระโพธิสัตว์
- รายละเอียด
- หมวด: LanDharma
จิตพระโพธิสัตว์
จิตพระโพธิสัตว์ หมายถึงจิตที่มีเมตตากรุณาสูงมากเป็นพิเศษ จนไม่อาจทนนิ่งเฉยต่อความทุกข์ยากของสรรพสัตว์
ปุถุชนคนธรรมดา มีความกล้าหาญเพราะกลัวอำนาจที่เหนือกว่า หรือกล้าหาญแบบบ้าบิ่น หรือขาดสติ
แต่จิตพระโพธิสัตว์ มีความองอาจกล้าหาญเพราะมีมูลเหตุความเมตตากรุณาเป็นที่ตั้ง เช่น
ปกป้องคนอื่นจนตัวตาย ไม่อาจฆ่าสัตว์หรือฆ่ามนุษย์ด้วยกันแม้ตัวตายก็ยอม
เสี่ยงชีวิตท่ามกลางอันตรายเพื่อช่วยชีวิตมนุษย์และสัตว์ แม้ตัวเองจะตายก็ไม่เสียดาย
จิตอย่างนี้จะเด็ดเดี่ยว กล้าหาญ เข้มแข็ง ผิดจากคนสามัญธรรมดา
กล้าเสี่ยงในสิ่งที่คนทั่วไปไม่กล้าเสี่ยง ด้วยเห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวม ประโยชน์ของพระศาสนาหรือประโยชน์ของคนอื่นเป็นใหญ่
เสียสละในสิ่งที่คนอื่นสละได้ยาก
ยอมทนทุกข์ยากลำบากเพื่อผู้อื่นในขณะที่คนทั่วไปมองว่าไม่จำเป็นต้องทนแบบนั้น
จิตพระโพธิสัตว์นี้เป็นของสากล ไม่ใช่จะมีเฉพาะประเทศไทยหรือเมืองที่มีพระพุทธศาสนา
บุคคลสำคัญของโลกที่อุทิศตนเพื่อสร้างสรรค์ประโยชน์เพื่อผู้อื่น ก็เข้าข่ายจิตพระโพธิสัตว์
ประธานาธิบดีอับราฮัม ลินคอล์น ไม่อาจทนเห็นทาสนิโกรถูกทรมานวิ่งมากอดขาของเขา ร้องขอความช่วยเหลือทั้งน้ำตา..
แล้วถูกนายทาสทุบตีกระชากโซ่ไปต่อหน้าต่อตา ขณะที่ตนทำงานรับจ้างเข็นรถเข็นของคนมีฐานะในตลาด
เสียงคร่ำครวญของทาสนิโกรคนนั้นตะโกนว่า "นายท่าน ช่วยด้วยๆๆๆ.."จนภาพและเสียงนั้นลับหายไปต่อหน้าต่อตา
ลินคอล์นจึงตั้งปณิธานว่า "เราจะไม่ให้มีทาสในประเทศนี้อีกต่อไป.."
จากคนที่ใช้แรงกายรับจ้างขนของธรรมดา เขาเริ่มคิดว่าการจะเลิกทาสได้ต้องเรียนกฎหมาย หลังจากนั้นจึงจะสามารถเป็นประธานาธิบดี
หลังจากเหตุการณ์ในวันนั้น ลินคอล์นจึงเริ่มหันมาท่องตำรากฎหมายบนหลังม้าขณะเดินทางไปทำงานที่ไปรษณีย์ในระยะทางหลายไมล์ทุกๆวัน
ในที่สุดลินคอล์นก็เลิกทาสสำเร็จสมดังปณิธาน
ลักษณะนี้ก็คือจิตพระโพธิสัตว์
จึงมีพลังอำนาจในตัวเอง ก้าวจากคนเรียนจบแค่ป.๓ ขึ้นสู่บัลลังก์ประธานาธิบดี และทำการเลิกทาสได้สำเร็จ
มหาตมะ คานธี ก็คือผู้มีจิตพระโพธิสัตว์
ดร.อัมเบดการ์ ผู้ก้าวจากวรรณะศูทร จนกลายเป็นผู้ร่างรัฐธรรมนูญของอินเดีย รื้อระบบวรรณะลง สามารถฟื้นฟูพระพุทธศาสนาขึ้นมาได้ ก็คือจิตพระโพธิสัตว์
เนลสัน แมนเดลาแห่งแอฟริกาใต้ ผู้กู้เอกราชจากอังกฤษได้สำเร็จด้วยสันติวิธี ต้องอดทนติดคุกนานถึง ๒๗ ปี จนกระทั่งถึงวันฟ้าเปิด กลายเป็นประธานาธิบดีคนแรก คนที่ทำเช่นนี้ได้ ก็คือจิตพระโพธิสัตว์
ฟลอเรนซ์ ไนติงเกล ผู้ให้กำเนิดวิชาชีพพยาบาลขึ้นมาในโลก ยอมที่จะไม่แต่งงาน ไม่ยอมเป็นคุณหญิง แต่อุทิศตนรับใช้คนที่ทุกข์ยาก ด้วยใจเมตตาอันมีประมาณยิ่ง
จนกระทั่งจากโลกนี้ไปด้วยวัย ๙๐ ปี ท่ามกลางลูกสาวสวมชุดขาวที่ไม่ต้องคลอดเองทั่วทั้งโลก นี้ก็คือจิตพระโพธิสัตว์
จิตพระโพธิสัตว์นี้ มีได้ทั่วทั้งโลก ไม่จำกัดชาติ ศาสนา ภาษาใดๆ
คนบางคนยอมเป็นหน่วยกาชาด เป็นหน่วยอาสาในสงครามหรือถิ่นทุรกันดารโดยไม่เกรงกลัวความตายหรือความลำบาก
ขอเพียงได้เห็นคนที่กำลังหิวโหยได้อิ่มท้อง คนที่กำลังน้ำตานอง น้ำตานั้นจงเหือดหาย
ใจของเขาเด็ดเดี่ยว หากการได้ช่วยเหลือคนอื่น ให้เขาพ้นจากความทุกข์ยากแล้วตัวเองต้องตาย
เขาจะอิ่มเอิบภาคภูมิใจไม่วิตกกังวลกับสิ่งใด
บุคคลเช่นนี้ ล้วนคือผู้มีดวงจิตพระโพธิสัตว์ทั้งสิ้นทั้งปวง
คุรุอตีศะ
๑๒ กันยายน ๒๕๖๗