ศรัทธาที่ไม่หวั่นไหว
- รายละเอียด
- หมวด: LanDharma
ศรัทธาที่ไม่หวั่นไหว
เคยมีผู้ไปถามปัญหาธรรมะกับหลวงพ่อองค์หนึ่งซึ่งไร้ชื่อเสียง เป็นพระบ้านนอกและอยู่ไปตามประสา จะมีผู้เลื่อมใสศรัทธาจริงๆก็มีไม่กี่คน ท่านผู้นั้นอุตส่าห์ดั้นด้นมาจากกรุงเทพฯ แล้วก็มีเหตุบังเอิญเข้าไปสำนักแห่งนั้นโดยไม่ได้ตั้งใจ แต่ไหนๆก็มาแล้ว จึงได้ถามหลวงพ่อองค์นั้นว่า “พระอาจารย์องค์โน้น มีเรื่องราวออกข่าวหนังสือพิมพ์ออกทีวี ชาวพุทธก็ต้องมีใจหวั่นไหวในข่าวคราว และไม่สบายใจกันมาก เราจะทำยังไงดีครับหลวงพ่อ?”
หลวงพ่อองค์นั้นท่านตอบว่า “ตัวใครตัวมัน!” ทำเอาบุคคลนั้นและสองสามคนที่มาร่วมคณะมองท่านอย่างพิศวง แต่ด้วยความที่พวกเขามีมารยาทที่ได้รับการอบรมมาดีและเคยกราบครูบาอาจารย์ที่มีชื่อเสียงมาหลายองค์ รวมทั้งองค์ที่ท่านกำลังมีเรื่องราวถูกโจมตีนั้นด้วย แม้จะขัดใจในคำตอบ แต่ก็ถามต่อไปว่า “มันเป็นยังไงครับ หลวงพ่อช่วยเมตตาอธิบาย”
“บุคคลใดไปหาพระ เพราะเพียงแต่เห่อตามเขาไปเหมือนไปหาคนดัง บุคคลนั้นก็โศกเศร้าเหมือนแฟนดาราแฟนนักร้องที่ผิดหวัง แต่บุคคลใดไปหาพระแล้วตั้งใจฟัง แล้วนำเอาคำสอนของท่านไปปฏิบัติแล้วเห็นผลจริง ศรัทธาของผู้นั้นก็ไม่มีอะไรมาทำให้หวั่นไหว เพราะเขารู้จักพระที่แท้จริงแล้วในดวงใจ คือความรู้ ตื่น เบิกบาน ข่าวคราวทั้งหลายเป็นเพียงกระแสคลื่นแห่งโลกธรรมแปด เกิดขึ้นแล้วไม่นานก็จางหายไปเหมือนทุกๆเรื่องนั่นแหละ จึงอยู่ที่ว่าใครไปหาพระนั้นไปแบบไหน ไปเพราะอยากโก้อยากได้ชื่อว่ารู้จักคนดัง หรือว่าไปเพราะต้องการพระธรรมที่แท้จริงกันแน่ จึงเป็นเรื่องตัวใครตัวมัน!”
เรื่องของความเลื่อมใสศรัทธานั้น ท่านแบ่งเป็น ๒ ประการ คือ จลศรัทธา ๑ อจลศรัทธา ๑ ศรัทธาประการแรกคือศรัทธาของปุถุชนที่ยังไม่เกิดดวงตาเห็นธรรม ยังมีความหวั่นไหวคลอนแคลน บางครั้งเรียกว่า “ศรัทธาหัวเต่า” เดี๋ยวผลุบเดี๋ยวโผล่ เอาแน่ไม่ได้เหมือนหัวเต่า ยามใดเขาว่าดีก็ดีตามเขา ก็เลื่อมใสศรัทธาไปตามกระแสที่ดี แต่เมื่อใดมีข่าวคราวไม่ดี ก็ผสมโรงว่าไม่ดีไปตามเขา โดยไม่มีการพิจารณา ทั้งที่แต่ก่อนมาก็เลื่อมใสศรัทธาเป็นอันดีอยู่แท้ๆ เป็นศรัทธาที่ขึ้นๆลงๆไปตามปากชาวบ้านหรือตามกระแสข่าว คนส่วนใหญ่ในโลกคือคนมีศรัทธาประเภทนี้ คือจลศรัทธา (จะ-ละ-สัด-ทา)
ศรัทธาประเภทที่สอง เป็นศรัทธาของผู้ที่ตั้งใจศึกษาพระธรรมด้วยความเคารพ บำเพ็ญทาน ศีล ภาวนา ไปพร้อมกับความเลื่อมใสศรัทธา ที่ตนได้รับการอบรมสั่งสอนจนเข้าใจ แล้วนำไปประพฤติปฏิบัติ โดยไม่คำนึงว่าครูบาอาจารย์ที่เมตตาสั่งสอนอบรมตนนั้นจะมีชื่อเสียงหรือไม่ จะมีใครเลื่อมใสมากหรือน้อย แต่ยึดเอาพระธรรมที่ท่านถ่ายทอดออกมาให้นั้นเป็นหลัก เมื่อน้อมนำปฏิบัติด้วยความเคารพด้วยความจริงใจ ก็เกิดสติปัญญาจนมีที่พึ่งขึ้นมาในหัวใจของตน จนเกิดความมั่นใจในพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ว่าเป็นที่พึ่งอันแท้จริง บุคคลที่ศึกษาและปฏิบัติได้เช่นนี้ ย่อมมีที่พึ่งภายในของตนโดยไม่มีความหวั่นไหวใดๆอีกแล้ว ศรัทธาเช่นนี้เรียกว่า อจลศรัทธา (อะ-จะ-ละ-สัด-ทา) ศรัทธาที่ไม่มีความหวั่นไหว เป็นศรัทธาของผู้ที่เข้าถึงความเป็นพระอริยบุคคล ความเลื่อมใสศรัทธาในพระศาสนาประเภทนี้มีน้อยมาก หรือแทบไม่มีเลย
ด้วยเหตุนี้เพียงความเลื่อมใสศรัทธาตามธรรมดาย่อมไม่เพียงพอ และอาจกลับกลายคลอนแคลนได้เสมอ ท่านจึงว่า “ระยะทาง พิสูจน์ม้า กาลเวลา พิสูจน์คน” จะพิสูจน์ว่าม้ามีฝีเท้าดีและมีพละกำลังแค่ไหน ก็ต้องดูจากความสามารถในการเดินทางที่ยาวไกล ไม่ใช่เพียงการเหยาะย่างอยู่ข้างรั้ว การจะพิสูจน์น้ำใจของคนว่าเป็นคนดีมีความซื่อสัตย์มั่นคงเพียงใด ก็ต้องอาศัยกาลเวลา ไม่ใช่ดูแค่เพียงการเอาอกเอาใจประจบสอพลอแค่วันสองวัน
ในยามประสบปัญหาอันใหญ่หลวงหรือวิกฤติของชีวิต จะเป็นตัวพิสูจน์ว่าใครรักเราจริง หากใครผละออกไปเพื่อเอาตัวรอดหรือเพื่อตัวเองไม่มัวหมองไปด้วย คนนั้นก็คือไม่ใช่ทองแท้สำหรับเรา หากใครยอมร่วมเป็นร่วมตาย ร่วมสุขร่วมทุกข์ ร่วมหัวเราะร่วมร้องไห้ ร่วมชะตากรรมในยามคับขัน บุคคลนั้นย่อมคือมิตรแท้ เป็นทองเนื้อเก้าที่ยากนักอันใครๆจะได้พบ
นักปราชญ์ท่านจึงว่า “ในชีวิตของคนเรา ให้มีมิตรแท้เพียงสักคนหนึ่ง ก็คุ้มค่าแล้วกับการมีชีวิตอยู่ในโลก” ไม่ต้องคนจำนวนมาก เพียงคนเดียวก็นับว่าเพียงพอแล้ว ผู้ที่มีชื่อเสียงโด่งดังหรือมีคนห้อมล้อมมากมาย กว่าจะพบว่ามีใครบ้างให้ความจริงใจและเป็นมิตรแท้ ก็จนกระทั่งถึงวันสูญสิ้นชื่อเสียงและบริวาร
พระอริยเจ้าทั้งหลายท่านจึงไม่หวั่นไหวต่อความเลื่อมใสของปุถุชน เพราะพร้อมจะกลับกลายและเป็นอื่นได้เสมอ ท่านจึงไม่มอบหัวใจและชีวิตไว้กับคนที่หลั่งไหลมาหาท่านมากมาย เพราะเมื่อมีเหตุร้ายแรงเกิดขึ้นในวันใด ผู้คนทั้งหลายก็ย่อมหนีหายไปจากท่านแน่นอน ไม่มีใครยินดีหรือเสียเวลาในการจะฟังคำอธิบายว่าอะไรผิดอะไรถูกด้วยซ้ำ นี้คือความหาสาระหาแก่นสารมิได้สำหรับความเลื่อมใสของปุถุชน
หน้าที่ที่พึงกระทำของเราทั้งหลาย จึงมิใช่ไปเที่ยวเรียกร้องเชิญชวนหรืออยากให้คนมาเลื่อมใสมากๆ แต่คือการทำที่พึ่งภายในของตนให้บังเกิดขึ้นในชีวิตนี้ ไม่ต้องคอยระหกระเหินวิ่งตามพระอริยเจ้าตามคำโฆษณาของใครๆ จะพบพระอรหันต์พระอริยเจ้าสักกี่องค์ ท่านก็สอนเรื่องเดียวกันนั่นแหละคือการเจริญบำเพ็ญสติให้เกิดขึ้น แต่วิธีการหรือลีลาวาสนาบารมีอาจต่างกัน เพียงแต่รู้จักใจตนเองในขณะนี้ ไปเรื่อยๆนั่นแหละคือ “ทาง” ที่ท่านพยายามจะบอกพวกเราแล้ว
ส่วนลีลากรรม ลีลาชีวิต ของครูบาอาจารย์แต่ละรูปแต่ละองค์หรือตัวเรา ก็เป็นไปตามวิบากกรรมของแต่ละคนที่สร้างไว้ในวัฏฏสงสารอันยาวนาน เมื่อเกิดมาแล้วได้มองเห็นเส้นทางแห่งความพ้นทุกข์นั่นก็พอแล้ว ส่วนอะไรอื่น ก็ให้เป็นไปตามเหตุตามปัจจัย มีคนเคารพเลื่อมใสก็ได้ ไม่มีคนเลื่อมใสก็ได้ จะได้ จะมี จะเป็นอะไร ก็ปล่อยให้เป็นไปตามเหตุตามปัจจัยของแต่ละคน มีกิจหน้าทีสิ่งใดที่พึงจัดพึงทำในขณะนี้ ก็กระทำบำเพ็ญไปด้วยความรู้สึกตัวและมีสติ เพียงเท่านี้ก็ผาสุกแล้ว
ก่อนมี ก็ไม่มีอะไรมาก่อน ก่อนเป็น ก็ไม่ได้เป็นอะไรมาก่อน ก่อนได้ ก็ไม่ได้อะไรมาก่อน การได้มีชีวิตและมีลมหายใจอยู่นี้ ถือเป็นรางวัลและของขวัญอันล้ำค่าของการมีชีวิตแล้ว
คุรุอตีศะ
๒๓ มิถุนายน ๒๕๕๖