บุพกรรมของนายพราน
- รายละเอียด
- หมวด: LanDharma
บุพกรรมของนายพราน
เมื่อวานได้เขียนเรื่องนายพรานกุกกุฏมิตร ที่ใช้ชีวิตในการเป็นพรานล่าเนื้ออยู่ค่อนชีวิต แต่ได้ฟังธรรมแล้วได้บรรลุพระโสดาบันพร้อมทั้งลูกชายและลูกสะใภ้ แล้วก็ให้รู้สึกสังหรณ์ใจขึ้นมาครามครัน ว่าบางคนอาจคิดไปในแง่ว่า แล้วแบบนี้จะต้องทำความดีหรือปฏิบัติธรรมไปทำไมกัน เพราะคนเอาแต่ล่าเนื้อไปวันๆ ก็ยังบรรลุธรรมได้เป็นที่น่าวิจิกิจฉา ช่างน่าสงสัยยิ่งนัก ใครที่เผลอไผลคิดไปไกลถึงเพียงนั้น ก็ขอให้ได้มาคุยกันต่ออีกหนึ่งวัน เพื่อจะได้เสวนากันตามวิสัยของผู้ใฝ่ธรรม ต้องการแตกฉานในปัญญา
เหตุที่เป็นดังนั้น นั่นแหละคือพุทธวิสัย เพราะมีกรรมดีอันยิ่งใหญ่ถึงขั้นพระพุทธเจ้าเสด็จไปโปรดโดยเฉพาะ ถ้าหากนายพรานและลูกชายลูกสะใภ้ไม่ได้อยู่กับคนมีคุณธรรมเป็นโสดาบัน และไม่มีบุพกรรมคือกรรมดีในอดีตมาก่อนไซร้ นายพรานคนนี้ย่อมเป็นแบบนายพรานทั่วไป ที่ไม่มีโอกาสได้พบหนทางสว่างได้เลย
วิจิกิจฉาคือความลังเลสงสัยในข้อนี้ จะมีแต่เฉพาะพวกเราที่อยู่ในยุคดิจิตอลที่กำลังจะพากันไปอยู่ดาวอังคารนี้ก็หามิได้ แม้ในบรรดาพระภิกษุทั้งหลายในพระเวฬุวันมหาวิหารในครั้งนั้น ท่านก็อดสงสัยอยู่ในใจไม่ได้เช่นกัน แต่ท่านโชคดีกว่าพวกเราที่หากมีข้อสงสัยใด ท่านก็มีวาสนาอันยิ่งใหญ่ที่สามารถทูลถามปัญหาต่างๆกับพระพุทธเจ้าได้โดยตรง เพราะพระองค์ทรงเป็นสัพพัญญู ซึ่งสามารถตอบคำถามได้ทุกอย่าง
ในครั้งนั้น เหล่าพระภิกษุทั้งหลายต่างสนทนากันว่า “อะไรหนอแล เป็นอุปนิสัยแห่งโสดาปัตติมรรค ของนายพรานกุกกุฏมิตร พร้อมทั้งลูกชายและลูกสะใภ้? แล้วนายพรานผู้มีบุญวาสนาถึงเพียงนี้ ได้ไปเกิดในตระกูลนายพรานเพราะเหตุอะไร?” พระพุทธองค์ทรงทราบถึงหัวข้อการสนทนา จึงทรงตรัสเล่าเหตุที่มาและบุพกรรมในอดีตของนายพราน
ในอดีตกาลเมื่อครั้งศาสนาของพระกัสสปะพุทธเจ้า ซึ่งเป็นพระพุทธเจ้าองค์ที่สามในภัทรกัปนี้ ก่อนหน้าพระพุทธเจ้าของเรานี้หนึ่งองค์ ในคราวนั้นหมู่ชนพากันจัดสร้างเจดีย์สำหรับบรรจุพระธาตุของพระกัสสปะพุทธเจ้า มหาชนได้พากันจัดสร้างพระเจดีย์อย่างยิ่งใหญ่และใช้วัสดุอันดีเลิศ อันจะสามารถหาได้ในยุคสมัยนั้น เมื่อเจดีย์สำเร็จแล้ว ก็ถึงกาลจะบรรจุพระธาตุ ต่างระดมความคิดกันว่า “ในโอกาสมหามงคลคือเวลาบรรจุพระธาตุนี้ จะต้องใช้ทรัพย์จำนวนมาก พวกเราจะให้ใครหนอแล รับภาระเป็นหัวหน้าหรือเป็นประธานในการบรรจุพระธาตุให้สำเร็จ?”
ขณะนั้น เศรษฐีบ้านนอกคนหนึ่งกล่าว่า “ข้าพเจ้า ขอรับเป็นหัวหน้า” แล้วใส่เงินจำนวน ๑ โกฏิในที่ที่บรรจุพระธาตุ ชาวแว่นแคว้นทั้งหลายเห็นการบริจาคของเศรษฐีบ้านนอกเช่นนั้น ก็พากันนินทาติเตียนเศรษฐีในกรุงว่า “เศรษฐีในกรุงนี้ ดีแต่ตระหนี่เอาแต่สะสมเก็บเงินแต่อย่างเดียว ไม่มีความสามารถและมีบุญวาสนาที่จะเป็นหัวหน้าในเจดีย์ที่ยิ่งใหญ่ปานนี้ ส่วนเศรษฐีบ้านนอกนั่นสิ เป็นผู้มีศรัทธาอันยิ่งใหญ่ ได้บริจาคเงินถึง ๑ โกฏิ แล้วมีบุญบารมีเป็นหัวหน้าในเจดีย์ได้”
แย่งกันเป็นหัวหน้า เศรษฐีบ้านนอกชนะเศรษฐีในกรุง
ฝ่ายเศรษฐีในกรุงพอได้ยินถ้อยคำของผู้คนทั้งหลายนินทาตนเช่นนั้น ก็กล่าวว่า “เราขอบริจาคทรัพย์จำนวน ๒ โกฏิ แล้วจะขอรับเป็นประธาน เป็นหัวหน้าในเจดีย์” แล้วก็บริจาคทรัพย์ ๒ โกฏิตามที่พูด
เศรษฐีบ้านนอกได้เห็นดังนั้นก็ไม่ยอมแพ้ ตั้งใจมั่นว่าเราจะต้องเป็นหัวหน้า จึงบริจาคทรัพย์เพิ่มเป็นเงิน ๓ โกฏิ ครั้นเศรษฐีทั้งสองแข่งกันประมูลในทางสร้างกุศลแบบนี้ จนกระทั่งในที่สุดเศรษฐีในกรุงประกาศบริจาคจนถึง ๘ โกฏิ
ทีนี้เศรษฐีบ้านนอกของเราคนนี้ แม้จะมีศรัทธาแก่กล้าและหาญกล้าแข่งขันวัดบารมีกับเศรษฐีผู้ยิ่งใหญ่ในกรุง ในการบริจาคเพื่อจะได้เป็นหัวหน้าในพระเจดีย์ของแว่นแคว้น แต่ในความเป็นจริงในเรือนของตนมีทรัพย์เพียง ๙ โกฏิเท่านั้น ส่วนเศรษฐีในกรุงท่านมีทรัพย์ตั้ง ๔๐ โกฏิ
เพราะฉะนั้น เศรษฐีบ้านนอกจึงมาคิดว่า “ ถ้าเราประกาศออกไปว่า จะบริจาคทรัพย์จำนวน ๙ โกฏิ ท่านเศรษฐีในกรุงก็ต้องประกาศแข่งกับเราว่า ขอบริจาค ๑๐ โกฏิเป็นแน่ คราวนี้ทุกคนก็จะเห็นว่าเราหมดทรัพย์และยอมแพ้ เราก็จะไม่ได้เป็นหัวหน้าดังที่ตั้งใจไว้” ในที่สุดเศรษฐีบ้านนอกจึงประกาศว่า “ เราขอมอบทรัพย์ของเราทั้งหมดจำนวน ๙ โกฏินี้ และตัวเราพร้อมทั้งลูกและเมียจักเป็นทาสเจดีย์ตลอดไป” แล้วพาบุตรทั้ง ๗ คน ลูกสะใภ้ ๗ คน และภรรยา มอบตัวเป็นทาสของเจดีย์ท่ามกลางมหาชน
ในที่สุดการประมูลในทางสร้างกุศลก็ยุติลง โดยชาวแว่นแคว้นได้พากันลงมติให้เศรษฐีบ้านนอกผู้มีใจบริสุทธิ์และเหนือคน ให้ได้รับตำแหน่งเป็นประธานหรือเป็นหัวหน้าในพระเจดีย์ โดยมีเหตุผลในการตัดสินว่า “ ขึ้นชื่อว่าทรัพย์สินเงินทอง ใครๆก็สามารถหาและทำให้เกิดขึ้นได้ แต่ท่านเศรษฐีบ้านนอกผู้นี้ไซร้ นอกจากจะใจบุญบริจาคจนหมดตัวแล้ว ยังมอบตัวเป็นทาสพระเจดีย์ทั้งครอบครัว เป็นใจที่ยิ่งใหญ่ไม่มีใครจะทำได้ พวกเราจึงตัดสินให้ท่านเศรษฐีบ้านนอกได้เป็นหัวหน้านับแต่นี้เป็นต้นไป” คนทั้ง ๑๖ คน ก็ได้เป็นทาสพระเจดีย์
ในเวลาต่อมา มหาชนชาวแว่นแคว้นได้ช่วยกันไถ่คนตระกูลนี้จากความเป็นทาสนี้ให้ได้รับความเป็นไทเป็นอิสระ แม้พวกเขาทั้ง ๑๖ คนจะได้รับความอิสระไม่ต้องเป็นทาสพระเจดีย์อีกต่อไปแล้ว แต่ก็ยังปรนนิบัติพระเจดีย์ ดำรงมั่นคงอยู่ตลอดชีวิต เมื่อจุติจากอัตภาพนั้นแล้ว ได้ไปบังเกิดในเทวโลก อยู่ในเทวโลกตลอดพุทธันดรหนึ่ง จนกระทั่งถึงสมัยที่พระพุทธเจ้าของเราเสด็จอุบัติขึ้น ภรรยาจุติจากเทวโลก บังเกิดเป็นธิดาเศรษฐีในกรุงราชคฤห์ นางได้มีโอกาสฟังธรรมบ่อยๆตั้งแต่ยังเป็นเด็กหญิง แล้วบรรลุโสดาปัตติผล
บุพเพสันนิวาส
นี้แหละพวกเราทั้งหลาย ขึ้นชื่อว่า การปฏิสนธิคือการเกิดใหม่ของเหล่าสัตว์ผู้ยังไม่เห็นสัจธรรม คือยังไม่บรรลุธรรมเป็นพระโสดาบัน ย่อมไม่มีความแน่นอนว่าจะได้เกิดในที่ดีและได้เกิดเป็นมนุษย์เสมอไป แม้บางชาติอาจจะเคยยิ่งใหญ่ เหมือนเศรษฐีบ้านนอกในกาลก่อน ในชาตินี้กลับมาเกิดในตระกูลพรานเนื้อ ท่านที่ได้ทราบความจริงในข้อนี้ ท่านจึงไม่ประมาท เมื่อได้โอกาสจึงรีบศึกษาพระธรรมและปฏิบัติธรรม อย่างน้อยเมื่อจิตบรรลุโสดาบัน ก็ไม่ต้องไปเกิดเป็นเปรต อสุรกาย สัตว์นรก หรือเป็นสัตว์เดียรัจฉานอีกแล้ว เกิดแต่ในภูมิมนุษย์และภูมิเทวดาเท่านั้น และแม้จะเป็นประการใด บุคคลนั้นก็จะต้องบรรลุเป็นพระอรหันต์ภายใน ๗ ชาติ
ความยาวนานและความผูกพันในวัฏฏสงสาร ความรักความเสน่หาในกาลก่อน สมัยเคยเป็นภรรยาท่านเศรษฐีบ้านนอก ที่ท่านเศรษฐีเคยพาสร้างบุญบารมีอันยิ่งใหญ่ ความรักนั้นได้ครอบงำธิดาของเศรษฐี เพียงแค่ได้เห็นนายพรานกุกกุฏมิตรนั่งบนเกวียนบรรทุกเนื้อเข้าไปขายในตลาดนั้นแล
ด้วยเหตุนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า “ ความรัก ย่อมเกิดเพราะอาศัยเหตุ ๒ ประการ คือ เพราะเคยเป็นคู่อยู่ร่วมกันมาในกาลก่อน และเพราะอาศัยการเอื้อเฟื้อช่วยเหลือเกื้อกูลกันในชาติปัจจุบัน ดุจดอกบัวเกิดในน้ำ เพราะอาศัยเปือกตมและน้ำ ฉะนั้น” คำตรัสเพราะอาศัยเรื่องนี้เอง ได้เป็นที่มาของความรักแบบบุพเพสันนิวาสที่เราคุ้นเคยและได้ยินอยู่บ่อยๆ
ดังที่เล่ามา จะเห็นได้ว่า ที่นายพรานพร้อมทั้งลูกชายและลูกสะใภ้ได้กลายเป็นผู้มีโชค มีวาสนา จนกระทั่งบรรลุธรรมเป็นพระโสดาบันในกลางป่าได้ ไม่ใช่เหตุบังเอิญหรือฟลุคแต่อย่างใด แต่เพราะมีเหตุปัจจัยเคยเป็นเศรษฐีผู้มีใจยิ่งใหญ่ กล้าพาครอบครัวบริจาคทรัพย์ทั้งบ้านและมอบตัวเป็นทาสเจดีย์มาก่อน เป็นกรรมดีที่พากเพียรทำไว้ หากไม่เคยได้สร้างกรรมดีไว้ ก็ย่อมเหมือนชีวิตนายพรานทั่วไป ที่ไม่อยากได้ยินแม้กระทั่งคำว่าพระหรือศีลธรรม เพราะจะทำให้ใจหวั่นไหวและเกิดปมด้อยในใจกับอาชีพนายพราน
ขอให้เราทั้งหลายจงมั่นคงในศรัทธา อันเป็นอริยทรัพย์อันยิ่งใหญ่ ซึ่งเหนือกว่าโลกียทรัพย์ภายนอก จงหมั่นสร้างความดีไป อย่าเบียดเบียนตนหรือคนอื่น จงมีหิริโอตตัปปะ ละอายเกรงกลัวในการทำบาปทำกรรม อันเป็นธรรมะประจำใจของเหล่าเทวดา อย่าได้หาญกล้าในทางที่ผิด หรือหลงผิด หรือท้าทายกฎแห่งกรรม เหมือนคนบางคนที่ชอบทำ ที่เรามักพบเห็นได้ง่ายเสมอ ในผู้คนที่เป็นกลียุคนี้
ความกล้าท้าทายเวรกรรมหรือศีลธรรม เป็นวิสัยของคนพาลหรือวิสัยของมาร และในที่สุดก็ต้องเป็นไปตามกฎแห่งกรรมวันยังค่ำ เราไม่เอามาเป็นเยี่ยงอย่างเป็นอันขาด เราจะไม่ก้าวตามทางที่เขาพาไปลงเหวหรือจมโคลน แต่จะก้าวเดินตามทางที่พระพุทธองค์ทรงพร่ำสอน แม้บางครั้งเราจะทุกข์ตรมหม่นหมองและท้อแท้ ก็ยังมั่นคงในใจว่า ในที่สุดแล้ว ทุกอย่างก็จะผ่านไป
ในค่ำคืนอันมืดมิด ก็ยังมีแสงดาวอันริบหรี่ ให้เราสร้างความดีเสมอ เมื่อพายุและมรสุมผ่านไป ท้องฟ้าย่อมสดใส และทะเลย่อมมีสีครามและงดงามจับตา โลกในวันนี้คือเพื่อนแท้ของเราเสมอ
คุรุอตีศะ
๑๓ มิถุนายน ๒๕๕๖