บัวอยู่กับน้ำแต่ไม่เปียกน้ำ
- รายละเอียด
- หมวด: LanDharma
บัวอยู่กับน้ำแต่ไม่เปียกน้ำ
ดอกบัวเป็นดอกไม้ที่แสดงถึงความสูงส่ง สะอาด และบริสุทธิ์ เป็นเครื่องหมายแห่งการบูชาพระพุทธองค์และสิ่งศักดิ์สิทธิ์ บัวเกิดจากโคลนตม แต่เมื่อเติบโตโผล่พ้นน้ำ กลับกลายเป็นดอกไม้ที่ใช้ในการบูชา
บัวอยู่ในน้ำ แต่บัวไม่เคยเปียกน้ำ ไม่ว่าจะเป็นดอกบัว ใบบัว ก้านบัว แม้แช่อยู่ในน้ำ แต่น้ำไม่สามารถทำให้บัวเปียกน้ำได้เลย
จิตพระอริยบุคคลแม้อยู่กับชาวโลก สัมผัสสัมพันธ์กับโลก หรือดำรงชีวิตในท่ามกลางชีวิตของชาวโลก แต่จิตภายในย่อมไม่เหมือนชาวโลก นี้คือสิ่งที่นอกเหตุเหนือผล ที่ผู้คนทั่วไปยากจะจินตนาการได้
ครั้งสมัยพุทธกาล มีธิดาเศรษฐีในกรุงราชคฤห์คนหนึ่ง เกิดมีจิตปฏิพัทธ์รักใคร่นายพรานชื่อว่ากุกกุฏมิตรที่บรรทุกเนื้อมาขายในตลาด จึงได้หนีตามไปอยู่อาศัยกับนายพรานฉันสามีภรรยา จนกระทั่งมีลูกชาย ๗ คน เมื่อลูกเติบโตเป็นผู้ใหญ่ ก็จัดแจงแต่งงานให้มีครอบครัวตามปกติวิสัยของชีวิตการครองเรือน
ครอบครัวนี้อยู่กันเป็นตระกูลใหญ่ ลูกชาย ๗ คน ลูกสะใภ้ ๗ คน ก็อยู่อาศัยอยู่ในบริเวณเดียวกัน ส่วนนายพรานกุกกุฏมิตรนั้น เคยมีอาชีพเป็นนายพรานมาอย่างไร ก็พาลูกชายลูกสะใภ้ประกอบอาชีพเป็นนายพรานออกล่าสัตว์เหมือนเดิม ทุกวันก็มีหน้าที่ออกไปล่าสัตว์ในป่าแล้วแล่เนื้อนำเนื้อไปขายเป็นอาชีพเรื่อยมา
วันหนึ่งพระศาสดาได้แผ่ข่ายคือพระญาณในเวลาเช้ามืด เพื่อตรวจดูเหล่าสัตว์ที่มีวาสนาบารมีที่พระองค์พอจะทรงโปรดให้เกิดดวงตาเห็นธรรมได้ ได้ทรงเห็นอุปนิสัยของนายพรานกุกกุฏมิตรนั้นพร้อมทั้งลูกชายและลูกสะใภ้ว่าจะสามารถบรรลุธรรม จึงเสด็จออกบิณฑบาตพระองค์เดียวตามลำพัง แม้พระอานนท์ผู้เป็นพระอุปัฏฐากก็ไม่ได้ติดตามไปด้วยในเช้าวันนั้น
พระองค์เสด็จไปสถานที่สำหรับดักบ่วงเป็นประจำของนายพราน ประทับรอยพระบาทไว้ในบ่วง แล้วก็เสด็จไปประทับนั่ง ณ โคนไม้ที่มีร่มเงาใกล้ๆบริเวณนั้น ส่วนนายพรานผู้มีอาชีพในทางทำบาปมาช้านาน แต่ถึงกาลที่บุญกุศลที่เคยทำไว้จะส่งผลและหมดกรรม โดยปกติแล้วทุกวัน บ่วงทุกอันที่ตนเคยวางดักไว้ไม่เคยพลาด จะต้องได้เนื้อติดบ่วงเพื่อนำไปขายที่ตลาดเสมอมา แต่วันนั้นอุตส่าห์เดินไปตรวจดูบ่วงที่ดักไว้ ด้วยหวังใจว่าจะได้เนื้อติดบ่วงเหมือนทุกวัน แต่ก็ให้ต้องอัศจรรย์ใจหนักหนานับแต่มีอาชีพเป็นนายพรานมา เพราะว่าเช้าวันนี้ไม่มีเนื้อติดบ่วงแม้แต่ตัวเดียว
สิ่งเหล่านี้ไม่เคยเกิดขึ้นสำหรับนายพรานกุกกุฏมิตร ผู้ชำนาญในการดักสัตว์ตั้งแต่รุ่นหนุ่มจนมีลูกชายลูกสะใภ้ เมื่อพิจารณาดูในบ่วงให้ชัดแก่สายตา ก็พบว่ามีรอยเท้าของคนอยู่ในบ่วงนั้น จึงโกรธและรำพึงอยู่แต่ในใจว่าใครหนอบังอาจมาปล่อยสัตว์ในบ่วงที่เราดักไว้เช่นนี้
เมื่อหันไปดูข้างซ้ายข้างขวา ก็พบว่ามีบุรุษคนหนึ่งศีรษะโล้นนุ่งห่มไม่เหมือนชาวบ้านทั่วไปนั่งอยู่ใต้ร่มไม้ใกล้ตรงนั้น ด้วยความโกรธจัดว่าบุรุษคนนี้เองที่มาปล่อยสัตว์ในบ่วงของเรา จึงโก่งธนูเพื่อเตรียมจะยิงให้สมกับความแค้น พระพุทธองค์ทรงอธิษฐานให้นายพรานโก่งธนู แต่ไม่ให้ปล่อยธนูออกจากแล่งได้ นายพรานจึงยืนตัวแข็งทื่ออยู่ในท่าโก่งธนูอยู่อย่างนั้นไม่สามารถจะยิงได้ ยิงก็ยิงออกไปไม่ได้ จะลดธนูลงก็ลดลงไม่ได้ด้วยพุทธานุภาพ ได้แต่ยืนอ้าปากน้ำลายไหลปวดร้าวไปทั่วสรรพางค์กายอยู่แบบนั้น
ส่วนภรรยานายพรานกุกกุฏมิตรรอสามีอยู่ที่บ้าน เห็นหายไปนานผิดสังเกตกว่าทุกวัน จึงส่งลูกชายทั้งเจ็ดตามไปดู ฝ่ายลูกชายทั้งเจ็ดพอไปถึงที่นั้น มองเห็นพ่อของตนเองยืนโก่งธนูค้างอยู่เหงื่อแตกน้ำลายไหล พอมองไปว่าพ่อกำลังจะยิงใคร ทุกคนก็เข้าใจว่าบุรุษคนนั้นนั่นเองคือศัตรูของพ่อ จึงพร้อมกันจะยิงธนูเพื่อจะช่วยกำจัดศัตรู พระพุทธองค์ก็แสดงพุทธานุภาพให้ลูกชายทั้งเจ็ดโก่งธนูค้างเหมือนกับนายพรานผู้เป็นพ่อแบบเดียวกัน ทั้งหมดยืนแข็งทื่อเหงื่อไหลโทรมกายอ้าปากค้างในท่าโก่งธนูอยู่อย่างนั้นสุดแสนทรมาน
ภรรยาของนายพรานเห็นทั้งพ่อทั้งลูกหายไปผิดสังเกต ด้วยความร้อนใจจึงพาสะใภ้ทั้งเจ็ดรีบรุดไปตามหา เมื่อไปถึงที่หมายก็พบว่าทั้งพ่อทั้งลูกกำลังยืนอยู่ในท่าโก่งธนูมุ่งจะทำร้ายใครบางคน เมื่อมองไปก็พบว่าคนทั้งหมดนั้นกำลังจะยิงทำร้ายพระพุทธองค์ นางจึงร้องเสียงหลงตะโกนห้ามไปว่าพวกท่านอย่าได้ฆ่าบิดาของฉัน นายพรานผู้ไม่เคยรู้จักพ่อตาพอได้ยินดังนั้นก็เข้าใจว่า บุรุษผู้นี้เป็นพ่อตาของตน ฝ่ายลูกชายทั้งเจ็ดพอได้ยินแม่ร้องห้ามอย่างนั้นก็เข้าใจว่าคนที่ตนกำลังจะฆ่าอยู่นั้นคือคุณตาของตัวเอง ทั้งพ่อทั้งลูกเกิดมีจิตอ่อนโยนลงสิ้นความโมโห พระพุทธองค์จึงทรงคลายฤทธิ์ให้ทุกคนสามารถลดธนูลงได้
เมื่อภรรยานายพรานได้บอกทุกคนให้ทราบความจริงว่า บุคคลที่อยู่ตรงหน้าในบัดนี้นั้นคือองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าซึ่งนางได้เคยฟังธรรมตั้งแต่สมัยยังอยู่ในเมืองหลวง ทุกคนจึงได้นั่งคุกเข่าลงก้มกราบขอขมาให้พระพุทธองค์ทรงอดโทษและประนมมือฟังธรรม เมื่อพระพุทธองค์แสดงธรรมจบลง ลูกชายและลูกสะใภ้ทั้งสิบสี่คนพร้อมทั้งนายพรานกุกกุฏมิตรผู้เป็นพ่อได้บรรลุโสดาบันในกลางป่านั้นเอง
เมื่อโปรดนายพรานพร้อมทั้งลูกชายลูกสะใภ้ ให้มีดวงตาเห็นธรรมมีที่พึ่งภายในของตนเองแล้ว พระองค์ก็เสด็จกลับพระเวฬุวันมหาวิหาร พระอานนท์จึงทูลถามว่าพระองค์เสด็จไปที่ไหน จึงทรงตรัสเล่าให้ท่านพระอานนท์ฟัง พระอานนท์ทูลถามว่า “พระองค์ทรงทำให้นายพรานเป็นผู้ไม่ทำปาณาติบาตแล้วหรือพระเจ้าข้า” พระองค์ตรัสตอบว่า “อานนท์ นายพรานกุกกุฏมิตรพร้อมทั้งลูกชายลูกสะใภ้รวมแล้วสิบห้าคน เราตถาคตได้ทำให้กลายเป็นผู้เว้นขาดแล้วจากปาณาติบาต”
ท่านพระอานนท์ท่านฉลาด ท่านเป็นผู้เลิศกว่าพระสาวกทั้งปวงในด้านเป็นพุทธอุปัฏฐากและอีกหลายด้าน พอได้ฟังคำตรัสตอบของพระองค์ว่ามีแต่นายพรานพร้อมลูกชายลูกสะใภ้รวมสิบห้าคนเท่านั้นที่บรรลุธรรมเป็นพระโสดาบัน จึงเอะใจและทูลถามว่า “ก็แล้วภรรยานายพรานเล่าพระเจ้าข้า นางไม่ได้รับผลแห่งการฟังธรรมเหมือนคนอื่นๆหรือ?” พระพุทธองค์ทรงตรัสตอบท่านพระอานนท์ว่า “ อานนท์ ภรรยาของนายพรานกุกกุฏมิตรนั้น นางได้ฟังธรรมและได้บรรลุธรรมตั้งแต่นางยังเป็นกุมาริกายังไม่ทันเป็นสาวแล้ว”
เมื่อเรื่องนี้แพร่ออกไปสู่หมู่ภิกษุในพระเวฬุวันมหาวิหาร ก็เกิดการกล่าวขานโจษจันกันไปทั่วว่า“ได้ยินว่า ภรรยาของนายพรานกุกกุฏมิตรนั้น นางได้บรรลุธรรมตั้งแต่ยังเป็นเด็ก ต่อมาไปใช้ชีวิตอยู่กับนายพรานผู้มีอาชีพทำปาณาติบาต ตลอดเวลานางต้องคอยส่งมีด ส่งหอก ส่งหลาว ส่งดาบ ส่งธนูให้แก่สามีนำไปล่าสัตว์ทุกวัน โอ..พระโสดาบันจะยังคงทำปาณาติบาตอยู่กระมังหนอ...?..” พระภิกษุปุถุชนทั้งหลายต่างพากันสงสัย
พระบรมศาสดาจึงทรงให้เรียกพระภิกษุทั้งหลายประชุมแล้วตรัสอธิบายว่า “ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภรรยาของนายพรานของกุกกุฏมิตร แม้นางจะใช้ชีวิตเป็นภรรยาของนายพราน ต้องคอยส่งอาวุธ ส่งมีด ส่งหอก ส่งหลาวให้แก่สามีทุกวัน ตั้งแต่ร่วมชีวิตเป็นภรรยาสามีกันตลอดมาจนบัดนี้ จิตของนางมีแต่เพียงการทำตามหน้าที่ของภรรยา ที่ส่งสิ่งของใส่ในมือสามีตามคำสั่งของผู้เป็นสามีเท่านั้น ส่วนจิตที่คิดว่า สามีของเราจงเอาหอกเอาหลาวเอาอาวุธเหล่านี้ไปฆ่าสัตว์ ไม่เคยมีในดวงจิตของนางเลยตลอดมา”
“ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ฝ่ามือที่ไม่มีแผล ยาพิษย่อมซึมเข้าไม่ได้ ฉันใด บาปกรรมทั้งหลาย ย่อมไม่มีแก่ผู้ไร้เจตนาที่จะทำบาป ฉันนั้น พระโสดาบันบุคคล จึงเป็นผู้ไม่มีเจตนาในการทำปาณาติบาตอีกแล้ว.”.
เรื่องนี้เป็นเรื่องยากที่จะเข้าใจและยากในการที่จะอธิบาย เราจึงไม่ค่อยได้ยินพระท่านเทศน์หรือแสดงธรรม ถ้าจะอธิบายกันจริงๆ ต้องอธิบายโดยยกหลักอภิธรรมว่าจิตแต่ละดวงแห่งภูมิจิตของพระอริยบุคคลนั้นเป็นอย่างไรมาอธิบาย ซึ่งไม่ใช่วัตถุประสงค์ของบทความนี้ จึงขอยกไว้
สิ่งที่ต้องการสื่อความหมายและสำหรับถือเอาประโยชน์จากเรื่องที่เล่ามา ก็คือการพยายามสื่อสารต่อท่านทั้งหลายว่า ชีวิตของพระอริยบุคคลที่ใช้ชีวิตปะปนอยู่กับชาวโลกนั้น เราไม่สามารถจะหยั่งหรือเข้าใจได้เลยว่าใจของท่านต่างจากเราเพียงใด และยิ่งเป็นฆราวาสด้วยแล้วยิ่งไม่มีอะไรเป็นเครื่องหมายให้เรารู้ได้ ดูอย่างนายพรานอยู่กับภรรยาผู้เป็นโสดาบันแท้ๆก็ยังไม่รู้จัก อย่างมากก็จะรู้แต่ว่าเป็นคนใจดี ใจบุญและไม่ตระหนี่ ไม่ชอบในการทำบาปทำกรรม อยู่ด้วยแล้วรู้สึกร่มเย็น อยู่ใกล้แล้วสบายอกสบายใจเท่านั้น
บัวเกิดในน้ำ แต่ไม่เปียกน้ำ พระอริยบุคคลอยู่ท่ามกลางชาวโลก ใช้ชีวิตอยู่ในโลก แต่ไม่ติดจมอยู่ในโลก ชีวิตของท่านดำเนินไปโดยความเป็นเพื่อนกับมนุษย์และสัตว์ เป็นมิตรกระทั่งผืนดิน ต้นไม้ใบหญ้า ท่านอยู่กับโลก แต่ไม่ติดโลก เรียนรู้โลก เพื่อวางโลกและพ้นโลกไปในที่สุด
พระโสดาบันบุคคลยังมีความอาลัยอาวรณ์มีความรักความใคร่ แต่เป็นความรักที่ลึกซึ้งที่มั่นคง รักเดียวใจเดียวจนกว่าจะตายจากกันไปข้างหนึ่งโดยไม่ต้องตั้งใจหรือบังคับความรู้สึก แต่ที่ท่านรักยิ่งกว่าคือรักพระศาสนาและพระรัตนตรัย หรือรักพระนิพพาน เพราะใจมุ่งออกไปจากวัฏฏสงสารตลอดเวลา
ส่วนพระสกทาคามีบุคคล ท่านอยู่กับผู้คนด้วยความเมตตาสงสาร แต่ไม่ค่อยมีความอาลัยอาวรณ์ไม่มีความซึมเศร้าใดๆอีกแล้ว สำหรับพระอนาคามีบุคคลนั้น แม้อยู่กับชาวโลก แต่ใจของท่านลอยอยู่เหนือโลกพ้นความเป็นหญิงชาย สำหรับพระอรหันต์ผู้วางโลกได้เด็ดขาดตลอดสาย ย่อมเกินวิสัยที่เราจะหยั่งถึง เพราะจิตของท่านพ้นโลกไปแล้ว นี้คือชีวิตของพระอริยบุคคลสี่จำพวกที่ท่านเป็นบัวพ้นน้ำ ที่แม้จะอยู่ในน้ำ อยู่กับน้ำ หรือบางครั้งจะถูกน้ำ แต่น้ำก็ไม่สามารถซึมซาบทำให้เปียกได้เลย....
พระอริยบุคคลแม้อยู่กับชาวโลก แต่ใจไม่เป็นอย่างคนชาวโลก ดุจบัวอยู่กับน้ำ แต่ไม่เปียกน้ำ
คุรุอตีศะ
๑๒ มิถุนายน ๒๕๕๖