เรียนรู้อยู่กับความไม่สบายใจคือการปฏิบัติธรรม
- รายละเอียด
- หมวด: LanDharma
เรียนรู้อยู่กับความไม่สบายใจคือการปฏิบัติธรรม
เราทุกคนต่างรู้จักความไม่สบายใจกันดี ความไม่สบายใจนี้เราต่างคุ้นเคยและพบกันอยู่เสมอ แทบจะทุกวัน ส่วนความสบายใจนั้น นานๆทีจึงจะแวะเวียนมาเยี่ยมกราย
เราไม่อยากพบอยากเจอแขกที่เราไม่ต้องการนี้ แต่แขกผู้นี้ก็ชอบเป็นห่วงเราและเอาใจใส่เราได้อย่างสม่ำเสมอแม้เราไม่ต้องการ แล้วเราจะทำอย่างไรกับแขกคนนี้ คนที่ชื่อว่า “ความไม่สบายใจ”
ยิ่งเราพยายามหลบพยายามจะหนี แต่ก็ไม่เคยหนีพ้น เราพยายามปิดประตูลงกลอน แต่เขาก็หาวิธีซอกซอนเล็ดลอดมาเยี่ยมเราจนได้ บางวันมาเยี่ยมตั้งหลายครั้ง จนเราแทบไม่หลงเหลือกำลังที่จะทำอะไร ได้แต่ร้องไห้..แล้วก็ร้องไห้..ร้องไห้..โดยอาศัยเพื่อนที่ซื่อสัตย์และจริงใจคือน้ำตาคอยปลอบใจ...
พระพุทธองค์ตรัสว่า “สุขและทุกข์เป็นของคู่โลก เป็นของประจำโลก” ตราบใดที่เรายังยินดีในความสุข ความทุกข์ย่อมมาเยือนเราได้เสมอ เพราะเป็นของคู่กัน พระอรหันต์คือผู้ที่อยู่เหนือความสุขและความทุกข์ จิตที่ยืนอยู่เหนือความสุขและความทุกข์ เหนือความความปรารถนาความต้องการ จึงเป็นจิตที่เหนือโลก เราทั้งหลายน้อมศีรษะลงกราบไหว้เทิดทูนบูชาปวงเหล่าพระอรหันต์หรือพระอริยเจ้าทั้งหลายเพราะเหตุนี้ การสวดมนต์ในบทสังฆานุสติ ก็เพื่อน้อมใจที่ระหกระเหินและเต็มไปด้วยความบีบคั้นของเรา ได้มีเวลาได้พักและผ่อนคลาย เพราะเกิดกุศลจิตในการได้ระลึกถึงองค์คุณของผู้ประเสริฐและยืนอยู่เหนือโลก ว่ายังมีบุคคลประเภทหนึ่งที่ท่านพ้นไปแล้วจากกระแสโลกและความบีบคั้นนานาไม่ทุกข์ใจแบบเรา
หากพระอรหันต์ท่านได้อยู่ตรงหน้าเราในตอนนี้ เมื่อท่านเห็นเราร้องไห้ด้วยความทุกข์ที่ถาโถมเข้ามา ด้วยความเมตตาที่มีอยู่แม้ท่านจะพ้นโลกแล้ว ท่านก็คงจะพูดกับเราได้แต่ว่า “จงอยู่กับความทุกข์ ความบีบคั้น และความไม่สบายใจนานาด้วยความมีสติและความรู้ตัว สุขและทุกข์จะผ่านมากี่ระลอก ในที่สุดทุกอย่างก็จะผ่านไป อย่าได้ยึดมั่นและยึดติดต่อสิ่งใด การเรียนรู้ที่จะอยู่กับความไม่สบายใจในขณะนี้นั่นแหละคือการปฏิบัติธรรมที่สำคัญนะลูกเอ๋ย..”
ความสุขและความทุกข์เป็นของประจำโลก เพียงแต่เรามีความเห็นผิดที่จะเอาเฉพาะความสุข และจะเอาทุกสิ่งให้ได้ดังใจตน เราจะเอาแต่คมมีด ไม่เอาสันมีด จะเอาแต่เหรียญด้านหน้า ไม่เอาด้านหลัง จะเอาแต่กลางวัน ไม่เอากลางคืน จะเอาอย่างเดียว แต่จะไม่ยอมเสีย แล้วคิดดูเถิดว่าจะเป็นไปได้อย่างไร?
โลกธรรม ๘ นี้คือของประจำโลก คือ การได้ลาภ การเสื่อมลาภ การได้ยศ การเสื่อมยศ การสรรเสริญ การนินทา ความสุข และความทุกข์ แปดอย่างนี้เป็นของประจำอยู่คู่กับโลก เราจะเลือกเอาตามใจของเราเพียงอย่างใดอย่างหนึ่ง ย่อมไม่มีทางเป็นไปได้
การได้ลาภ เสื่อมลาภ เป็นของคู่โลก เมื่อได้ ก็ย่อมต้องมีเสียเป็นธรรมดา ไม่มีใครเกิดมาแล้วมีแต่ได้อย่างเดียว ไม่มีเสีย และก็ไม่มีใครเจอแต่การสูญเสียอย่างเดียว ไม่เคยได้อะไรเลย ทุกชีวิตล้วนต้องผ่านการได้ การเสียมาตั้งแต่เกิด และเราก็มีชีวิตอยู่ได้เรื่อยมาจนบัดนี้ การจะสูญเสียอะไรไปอีกบ้าง ก็น่าจะพอทนไหว เหมือนอย่างที่เคยทนได้มาแล้วนั้นแหละ และก็จงมั่นใจว่า เมื่อสูญเสียสิ่งใดไปแล้ว จะทำให้มีโอกาสได้รับสิ่งใหม่ชดเชยเสมอ
การได้ยศ เสื่อมยศ คือชีวิตคนเราบางคราวก็พบกับความโดดเด่นหรือเด่นดัง ใครๆต่างกล่าวขวัญและนิยมยกย่อง แต่ในบางคราว ก็ชีวิตก็ตกต่ำอับเฉา มีแต่คนมองข้ามหรือไม่สนใจกล่าวถึง มนุษย์ที่เกิดมาทุกคนล้วนเคยประสบการได้ยศ เสื่อมยศนี้กันมาแล้วทุกคน หากครั้งนี้เป็นโอกาสที่จะอยู่กับความอับเฉาและเหงาหงอยดูไร้ค่า ก็จงมั่นใจเถิดว่า อีกไม่นานจะมีคุณค่าและได้รับความภาคภูมิใจ
การสรรเสริญ การนินทา เป็นของประจำโลก เมื่อถูกใจเขา เขาก็สรรเสริญนิยมยกย่อง อะไรก็ดีก็ประเสริฐไปหมด แต่เมื่อใดไม่ถูกใจเขา เขาก็นินทาว่าร้าย จากที่เคยว่าดีทั้งหลาย ก็กลับกลายเป็นร้ายไปหมด จะเอาเป็นสาระเป็นประมาณไม่ได้ จงบากบั่นหมั่นบำเพ็ญคุณธรรมความดีต่อไปอย่าท้อถอย การสร้างความดี หรือการสร้างบุญบารมีนั้น ท่านเปรียบเหมือนการพายเรือทวนน้ำ ต้องตั้งหน้าพายจ้ำจะรามือไม่ได้ จนกว่าจะพ้นอันตรายพ้นความเชี่ยวกราก เราจึงจะถึงที่หมาย จอดเรือเดินขึ้นฝั่งไปนั่งเล่นได้อย่างสบายใจ ใครที่มัวไปสนใจคำนินทาหรือสาละวนกับปากของชาวบ้าน จะทำให้ท้อถอยทำความดีไม่สำเร็จ
ความสุข ความทุกข์เป็นธรรมประจำโลก นับแต่มีการสร้างโลกและมีมนุษย์เกิดมาในโลก เราอย่าได้มัวเอาแต่ทุกข์แต่โศกกอดเข่าร่ำไห้ เพราะใครๆเขาก็ทำแบบเราไม่น่าอัศจรรย์อะไร วิชากอดเข่าร้องไห้นี้ใครๆเขาก็เรียนได้และสอบได้เกรดสี่กันทุกคน จงอย่าได้สำคัญตนว่าเราเก่งอยู่คนเดียว
วิชากอดเข่าร้องไห้ คร่ำครวญตัดพ้อและต่อว่า เราทั้งหลายต่างพากันร่ำเรียนมาอย่างเชี่ยวชาญพอที่จะไม่อายใครแล้ว จงเริ่มต้นหัดเรียนวิชาใหม่คือวิชาที่จะทำให้หัวใจไม่มีความทุกข์ วิชานี้พระพุทธองค์ทรงเปิดสอนมาเป็นเวลา ๒,๖๐๐ ปีมาแล้ว แต่ก็มีนักเรียนน้อยมากที่จะให้ความสนใจสมัครเข้าเรียนวิชานี้ ทั้งๆที่พระองค์เปิดสอนฟรี แต่ก็มีแต่คนวิ่งหนีเป็นส่วนใหญ่ แม้กระนั้นพระอรหันต์ทั้งหลายก็พยายามสืบทอดไว้ไม่ขาดสายจนกระทั่งมาถึงพวกเราในปัจจุบัน
“เมื่อมีสุข ก็จงสุข เมื่อมีทุกข์ ก็จงทุกข์” วลีนี้มีความหมายที่ลึกซึ้งที่พระเซนหรือพระอริยเจ้าในสมัยประเทศจีนประเทศญี่ปุ่นโบราณเคยกล่าวไว้ หากใครอ่านเพียงผิวเผินอาจเข้าใจว่าไม่เห็นเป็นธรรมะอะไร
แต่ถ้าใครมีความเข้าใจจะพบว่านี้คือสุดยอดแห่งการปฏิบัติธรรม เพราะคือการเจริญสติที่ชัดเจนและตรงที่สุดเท่าที่จะถ่ายทอดออกมาได้เป็นคำพูดของผู้บรรลุแล้ว
เมื่อสุขเกิดขึ้น ก็เพียงมีสติระลึกรู้ในอาการของความสุขนั้น แล้วก็ปล่อยวาง เมื่อทุกข์เกิดขึ้น ก็มีสติระลึกรู้ในอาการของความทุกข์นั้น แล้วก็ปล่อยวาง ไม่มีการเจ้ากี้เจ้าการที่จะจัดการความสุขให้อยู่นานๆ ไม่มีการเจ้ากี้เจ้าการในการที่จะจัดการให้ความทุกข์หมดไป เพียงแค่ระระลึกรู้ด้วยความเข้าใจแล้วก็ปล่อยมันไปตามความเป็นจริง ไม่ปฏิเสธสิ่งใด ไม่คว้าสิ่งใดไว้ ปล่อยให้ทุกสิ่งเกิดขึ้นและดับไปด้วยตัวมันเอง
ดังนั้น ความไม่สบายใจทั้งหลายทั้งปวงที่เราทั้งหลายประสบอยู่นั้น จงอยู่กับมันตามความเป็นจริง อย่าพยายามดิ้นรนที่จะหนีจากมัน มิฉะนั้นความบีบคั้นและความดิ้นรนจะยิ่งเพิ่มขึ้น เรียกว่า “ทุกข์ซ้อนทุกข์” “ทุกข์ยกกำลังสอง” หรือ “ทุกข์ถอดรูทไม่ออก” คนทุกวันนี้ประสบกับความทุกข์แบบทุกข์ยกกำลังสองนี้เสียเป็นส่วนใหญ่ เพราะความยึดมั่นถือมั่น เพราะพยายามจะให้ได้ดังใจ ความทุกข์เลยมีมาก
การเรียนรู้ที่จะอยู่กับความไม่สบายใจนั่นแหละคือการปฏิบัติธรรมแล้ว เมื่อใดจิตใจสับสนวุ่นวายหรือเสียศูนย์เสียหลัก ก็จงรู้จักหลีกออกจากเหตุการณ์บ้างเพื่อให้หัวใจของเราได้พัก ลางานหรือปลีกตัวออกไปหาสถานที่วิเวก ได้มีโอกาสทบทวนชีวิตตามลำพังเงียบๆ ที่ไม่ต้องวุ่นวายกับผู้คน เหมือนนักมวยที่ชกบนเวที ก็ต้องมีระฆังให้สัญญาณพักยก ชีวิตและหัวใจของเราก็เช่นกัน หัวใจเขาก็ต้องการพักผ่อน จะดันทุรังตลอดเวลาย่อมไม่ได้ อาหารทางร่างกายเราบำรุงและมีอาหารเสริมอย่างดี ส่วนอาหารใจคือธรรมะ เราไม่ค่อยสนใจให้อาหารแก่หัวใจของเราบ้างเลย ดังนั้น ต่อไปนี้เราจะเป็นคนใหม่ ที่ใส่ใจและให้อาหารแก่ดวงใจของเราให้มากกว่าเดิม แล้วชีวิตของเราจะมีความหมายมากขึ้น และเราจะพบความอัศจรรย์ของชีวิต ชนิดที่เราไม่เคยคาดคิดมาก่อนว่า ธรรมะจะมีคุณค่าต่อชีวิตของมนุษย์ถึงเพียงนี้
คุรุอตีศะ
๘ พฤษภาคม ๒๕๕๖