สำนึกตื้นตันคือการภาวนา

 สำนึกตื้นตันคือการภาวนา

 

                 สำนึกตื้นตันคือการภาวนา  ไม่มีใครคิดถึงเรื่องนี้  เหตุใดต้องสงวนลิขสิทธิ์เฉพาะการเคร่งเครียด เคร่งครัด หรือเคร่งขรึมเท่านั้นจึงจะเป็นการภาวนา  หากความรู้สึกที่สำนึกตื้นตันมิใช่การภาวนา แล้วเราจะพากันภาวนากันไปทำไม

                 ความสำนึกตื้นตัน ความปีติเอ่อล้นด้วยความสุขคือการภาวนา คือความงดงาม คือของขวัญและรางวัลแห่งชีวิตที่มนุษย์ทั้งหลายพึงได้สัมผัสและซึมซับซาบซึ้ง

                 แต่เนื่องจากว่านักกัมมัฏฐานส่วนใหญ่ มักคุ้นเคยกับรูปแบบของการปฏิบัติกัมมัฏฐานที่ดูเอาจริงเอาจังและเคร่งครัด และยึดติดในรูปแบบจนเกินไป จึงไม่ค่อยได้ยินคำพูดว่า “สำนึกตื้นตันคือการภาวนา” จนกระทั่งกลายเป็นว่า หากใครไม่มีกิริยาภายนอกที่ดูเคร่งครัดเคร่งขรึมแล้ว ถือว่าบุคคลนั้นไม่ได้ปฏิบัติพระกัมมัฏฐานไปเสียแล้วในปัจจุบัน

                 ความสำนึกตื้นตันต่อสรรพสิ่งที่อยู่รอบตัวเราขณะนี้คือกัมมัฏฐานที่แท้จริง ความสำนึกตื้นตันเกิดจากดวงจิตที่ละเอียดอ่อน เปล่งประกายแห่งความสุขและความอบอุ่นออกมา

                 เราสำนึกและขอบคุณพื้นดินที่ยินยอมให้เราเหยียบย่ำโดยไม่เคยบ่นด่า  สำนึกและขอบคุณหมู่เมฆและท้องฟ้าที่โอบอุ้มปกคลุมเรามิให้ว้าเหว่และเดียวดาย

                 เราสำนึกและขอบคุณต่ออุปสรรคและขวากหนาม ที่อุตส่าห์มาเป็นครูทดสอบความกล้าหาญและความบากบั่นพากเพียรของเรา จนกระทั่งเราก้าวหน้าและยืนหยัดด้วยความเข้มแข็งเช่นวันนี้

                 เราสำนึกและขอบคุณต่อศัตรูและคู่ปรปักษ์ ที่ทำให้เราเกิดความมุมานะและแรงบันดาลใจ ทำให้ศักยภาพในภายในตัวของเราปรากฏออกมาเด่นชัด แม้แต่ตัวเราเองยังนึกไม่ถึง

                 เราขอบคุณพระอาทิตย์ ที่ส่องแสงสว่างให้เราทุกยามรุ่งอรุณ ไม่เคยมีวันหยุดหรือผัดเพี้ยน เราขอบคุณพระจันทร์ ที่อยู่เป็นเพื่อนเรายามค่ำคืน และมอบความนุ่มนวล อ่อนโยนให้เราเสมอไม่เคยเบื่อหน่าย  เราขอบคุณและตื้นตันต่อหมู่แมกไม้ ที่อยู่เป็นเพื่อนให้ร่มเงาแก่เราเสมอ ไม่เคยเรียกร้องสิ่งใด

                 .........ความสำนึกตื้นตันเช่นนี้ หากมีแก่ดวงใจของใครแล้ว  การภาวนาของบุคคลนั้นจะไม่แห้งแล้งและเคร่งเครียด  จะมองโลกด้วยสายตาที่เต็มเปี่ยมด้วยความเป็นมิตรและรื่นรมย์

                 การภาวนาที่เคร่งเครียดและเคร่งครัด เราพากันปฏิบัติกันมามากแล้ว  ลองเปิดใจกว้างออกต้อนรับความงดงามของโลกใบนี้ดูบ้าง แล้วเราจะพบความสุขได้โดยไม่ต้องนั่งหลับตา หรือนั่งขาขวาทับขาซ้ายแบบที่เคยทำกันมานานนั้นเลย

                 กัมมัฏฐาน ๔๐ กองที่พระพุทธองค์ทรงรับรองและทรงอนุญาตให้พุทธบริษัทปฏิบัติเพื่อความมีสมาธินั้น ในยุคปัจจุบันที่มีการสอนกันอยู่และที่รู้จักกันนั้นมีไม่ถึง ๒๐ กอง

                 คนที่ปฏิบัติกรรมฐาน พึงเข้าใจว่า การปฏิบัติที่ต้องอาศัยความเคร่งครัดเคร่งเครียดนั้น เป็นกัมมัฏฐานที่เหมาะกับเพศบรรพชิต ซึ่งกายได้หลีกเว้นจากกามารมณ์และความสนุกสนานเพลิดเพลินทางโลกแล้ว  ต้องปฏิบัติอย่างต่อเนื่องและยาวนานและมีอาจารย์คอยควบคุมเมื่อเกิดนิมิตต่างๆ เพื่อป้องกันจิตวิปลาสหรือเพี้ยน เนื่องจากสติสัมปชัญญะไม่ทันต่ออาการแปลกๆของสมาธิที่ตนไม่เคยพบเคยเห็นมาก่อน การปฏิบัติที่เอาจริงเอาจังเช่นนั้น ต้องอยู่ในที่วิเวก ในถ้ำ ในป่า ในเขา หรือในที่หลีกเร้นที่ไม่มีเสียงของมนุษย์รบกวน และต้องรักษาศีลให้บริสุทธิ์ เอาตัวออกห่างจากกามารมณ์ ไม่เที่ยวเตร่ ไม่ไปทำกิจธุระของฆราวาส นั่นก็คือต้องตัดความรักความผูกพันทางโลก ต้องสละการงาน สละครอบครัว สละสามีภรรยา ให้เด็ดขาด แล้วปฏิบัติบำเพ็ญไปตามหลักการที่ท่านวางไว้ สมาธิที่ต้องการจึงจะเกิดแก่ผู้ที่มีวาสนาบารมี

                 ส่วนผู้ที่ใช้ชีวิตตามปกติของฆราวาสวิสัย ยังยินดีพอใจในหน้าที่การงานหรือลาภยศ ยังไม่เบื่อไม่หน่าย ไม่สลดต่อกามารมณ์หรือความเพลิดเพลินสนุกสนานตามประสาชาวโลก หากไม่มีความเข้าใจในข้อนี้ ไปปฏิบัติเอาอย่างท่านโดยที่ตนยังไม่หลีกห่างจากกามารมณ์  การได้สมาธิของบุคคลนั้น ต้องระวังว่าจะเป็น “มิจฉาสมาธิ” คือสมาธิที่ทำให้จิตซัดส่ายและรู้เห็นอะไรแปลกๆแต่ตนเองก็ไม่เข้าใจ และยิ่งทำสมาธิไป ก็ยิ่งขาดสติสัมปชัญญะ ท่านจึงห้ามไม่ให้ทำเลียนแบบท่านที่มีกายหลีกออกจากกามมาแล้วอย่างนั้น เพราะยิ่งทำไปจิตยิ่งเสียศูนย์และสติยิ่งขาดหายไป  กลายเป็นคนเหม่อลอยและเฉื่อยชาเซื่องซึม แต่ตัวเองอาจเข้าว่าเป็นสมาธิ วางมาดที่น่าเลื่อมใสเหมือนผู้บรรลุธรรม แต่จริงๆแล้วคือมิจฉาสมาธิ ไม่ประกอบด้วยสติในอริยมรรค คือความรู้ ตื่น เบิกบาน  ใครที่เป็นแบบนี้พึงแก้ไขโดยการทำความรู้สึกตัวไว้บ่อยๆ  และเลิกทำสมาธิเพ่งหรือจ้องสิ่งใด  จนกว่าจิตที่แววไวและเป็นธรรมชาติกลับคืนมา

                 การภาวนาที่ปลอดภัยและมีแต่คุณอย่างเดียวไม่มีโทษ มีประโยชน์ทั้งบรรพชิตและฆราวาส ก็คือการเจริญสติปัฏฐานอย่างถูกต้อง คำว่าเจริญสติปัฏฐานอย่างถูกต้องก็คือ ไม่ใช่การบังคับหรือการจดจ้องสิ่งใด  แต่คือการปล่อยจิตให้เป็นธรรมชาติและผ่อนคลาย ให้สติระลึกรู้สิ่งต่างๆที่ผ่านเข้ามา โดยไม่เลือกหรือวิจัยวิจารณ์  เพียงรู้แล้วก็ปล่อยวาง แม้จิตยึดมั่นไม่ปล่อยวาง ก็ระลึกรู้ว่าจิตยังมีความยึดมั่น โดยไม่เข้าไปบงการหรือควบคุมบังคับใดๆให้เป็นดังใจตน

                 จะทำสิ่งใดก็ระลึกรู้ตามความเป็นจริงไปทีละนิดทีละหน่อย จนกระทั่งสติค่อยๆเพิ่มพูนขึ้นตามลำดับ  เข้าห้องน้ำ หวีผม ทานข้าว ดูทีวี  คุยโทรศัพท์ หรือกำลังสนทนา ก็ระลึกรู้ไปตามความเป็นจริง

                 การปฏิบัติด้วยการเจริญสติแบบนี้ จะไม่นิมิตใดๆมาหลอกให้เพี้ยนได้ เพราะจิตมีความเป็นธรรมชาติและประกอบด้วยสติ  แต่คนส่วนใหญ่ไม่ชอบ เพราะไม่ได้เป็นผู้วิเศษหรือรู้เห็นอะไรแปลกๆที่จะเอาไว้โอ้อวดใครๆได้  จึงพยายามนั่งสมาธิหลังขดหลังแข็งเพื่อให้เห็นเทวดา เห็นนรกสวรรค์ เพราะมีความอัศจรรย์และรู้สึกว่าเก่งและวิเศษกว่าคนอื่น  โดยไม่ทราบความจริงว่า การรู้เห็นอะไรแบบนั้นที่จะไม่เป็นวิปลาส ต้องมีภูมิจิตขั้นต่ำตั้งแต่พระโสดาบันขึ้นไป หรือถ้าจะปลอดภัย ต้องได้ภูมิจิตถึงขั้นพระอนาคามีบุคคลแล้ว  หากเป็นปุถุชนที่บุญบารมีไม่เพียงพอ มีโอกาสจะหลงและวิปลาสได้เสมอ

                 หากเรายังยินดีพอใจในชีวิตทางโลก ไม่ควรทำสมาธิแบบฤาษีที่ต้องใช้สถานที่หลีกเร้นห่างไกลผู้คน  เว้นเสียแต่เป็นบารมีเก่าเป็นของเดิมที่ติดตัวมาสำหรับบางคน  แต่สำหรับชีวิตฆราวาสโดยทั่วไปแล้ว ควรภาวนาด้วยการเจริญสติในชีวิตประจำวัน  ไม่จำเป็นต้องไปเข้าคอร์ส ๑๐ วัน หรือต้องเข้าห้องกัมมัฏฐาน ก็สามารถพบกับสุขสงบภายในจิตใจได้ ท่ามกลางการทำกิจการงานภาระหน้าที่ ท่ามกลางการมีสามี มีบุตร มีภรรยา คนสมัยโบราณท่านดำรงตนตามแบบทาน ศีล ภาวนา สม่ำเสมอตลอดชีวิต ท่านก็เป็นพระโสดาบันในท่ามกลางชีวิตครองเรือนได้ด้วยการภาวนาวิธีนี้

                 ความสำนึกตื้นตันต่อสรรพสิ่ง ก็เป็นการภาวนา และเป็นการภาวนาที่เต็มไปด้วยปีติสุข จิตที่งดงามและเปี่ยมสุข เปี่ยมด้วยความเมตตานี้ จะช่วยเยียวยาหัวใจที่อ่อนล้าและแห้งผาก ให้กลับฟื้นสู่ความมีชีวิตชีวา เพราะรู้แล้วว่าวันพรุ่งนี้ไม่ว่าจะได้ประสบหรือพบสิ่งใด สิ่งนั้นย่อมควรแก่การคารวะและขอบคุณเสมอ

 


คุรุอตีศะ
๕  มิถุนายน  ๒๕๕๖