ชีวิตของผู้ครองเรือน

 ชีวิตของผู้ครองเรือน

                   ธรรมชาติของผู้ชายน้อยนักที่จะอยากแต่งงานให้สตรีคนใดมาผูกมัดชีวิตของเขา เรื่องนี้ต้องไปฟังเขาคุยกันในวงเหล้า จะรู้ว่าแทบทุกคนจะมีความคับแค้นใจเรื่องภรรยา หากไม่ใช่เรื่องถูกภรรยาข่ม ก็มักเป็นเรื่องภรรยาหักหน้าไม่ให้เกียรติ บางคนอยู่แต่บ้านไม่ไปคบเพื่อนที่ไหน ภรรยาก็จะดูหมิ่นว่าโง่ ไม่ทันเพื่อนบ้านเขา สิ่งเหล่านี้คือความทุกข์ของผู้ชาย


                ถ้าหากเขาได้กินเหล้าคุยกันปรับทุกข์กันระบายออกมาตามประสาผู้ชาย ความเก็บกดหรือความเคียดแค้นก็จะหายไป เขาก็จะเริ่มคิดถึงบ้านและนึกสงสารภรรยา แต่พอกลับเข้าบ้านมา ส่วนใหญ่ก็มักถูกด่าว่าดูหมิ่น สุดท้ายผู้ชายดีๆหลายคนก็เลยกลายเป็นคนขี้เมา


              ชีวิตแต่งงานท่านจึงเปรียบเหมือนคนสองคนตัดสินใจพายเรือลำน้อยออกสู่ทะเล ไม่แน่ว่าจะรอดปลอดภัยถึงฝั่งเสมอไป คู่ใดประคองกันมาได้ ท่านจึงพากันเคารพนับถือให้เกียรติไปปูที่นอนให้คู่บ่าวสาวซึ่งเข้าหอแต่งงานใหม่ เพราะถือว่าท่านต้องอดทนจนเป็นยอดมนุษย์จริงๆ จึงอยู่ด้วยกันได้เรื่อยมา


              ผู้ชายทั้งหลายจึงต้องพร้อมรับชะตากรรม ๓ อย่างเมื่อตัดสินใจแต่งงาน คือ ๑.ขี้เมา ๒. เจ้าชู้ ๓.เป็นโรคจิตเวชอย่างอ่อน


               หากไม่ต้องการเป็นเช่นนั้น เมื่อประสบความสำเร็จในชีวิตแล้ว ซึ่งส่วนใหญ่จะตกอยู่ในช่วงอายุประมาณ ๔๒ ปี ต้องเริ่มเข้าหาครูบาอาจารย์เพื่อรับเอากระแสบารมีจากท่านให้ตนไม่พลัดหลงตกไปในกระแสความยั่วยวนที่จะมาบั่นทอนครอบครัว การเข้าหาผู้ทรงศีลเพื่อสนทนาธรรมบ่อยๆ จะทำให้มีปัญญารู้เท่าทันมารยาสตรี ทั้งฝ่ายภรรยาของตนและสตรีอื่น


               การเข้าหาสมณะผู้ทรงศีล ก็ไม่ได้หมายความว่าให้ไปถามวิธีปฏิบัติแสวงหาความหลุดพ้น หรือมุ่งจะไปนั่งสมาธิเสมอไป เพราะตนเป็นคนมีครอบครัว ต้องทำหน้าที่ความเป็นสามี หรือความเป็นภรรยาไม่ให้บกพร่องตามวิสัยชาวโลก ไม่ใช่ทำตัวเป็นนักบวชหรือเป็นแม่ชี


               สำหรับผู้ที่ใช้ชีวิตการครองเรือน ลองไปหาอ่านหนังสือที่ได้รับรางวัลของยูเนสโกของ “ทวี วรคุณ” เรื่อง “หลวงพ่อทองวัดโบสถ์” หรือ “แม่พริ้งผู้ใจบุญ” จะทำให้ทราบว่า การดำรงตนในฐานะอุบาสกอุบาสิกาอย่างมีความสุขนั้นคืออย่างไร สังคมไทยสมัยก่อนจึงอบอุ่นและร่มเย็น


              แต่ส่วนใหญ่มักจะหลงใหลไปกับความสำเร็จของตัวเอง ฝ่ายภรรยาเองก็มักจะมัวแต่ภูมิอกภูมิใจว่าได้สามีดีเป็นที่อิจฉาของใครๆ ส่วนใหญ่จะไม่อยากไปวัดทำนุบำรุงพระศาสนา จะเก็บเงินไว้ไปเที่ยวมากกว่า จนกว่าจะเกิดปัญหาขึ้นมาจึงจะคิดถึงพระคิดถึงวัด ซึ่งกว่าบุญใหม่จะเกิด ก็ต้องอาศัยเวลา ท่านจึงสอนว่า ทาน ศีล ภาวนา ต้องบำเพ็ญไว้สม่ำเสมอ


               ผู้ชายที่ไม่อยากเป็น ๓ อย่างข้างต้น คือ ขี้เมา เจ้าชู้ หรือเป็นโรคจิตเวชอย่างอ่อน มีอยู่ทางเดียวคือ  ออกบวชหรือบำเพ็ญพรตมุ่งแสวงหาความสงบหรือสาระของชีวิต


             อย่างน้อยต้องศึกษาธรรมะที่จะนำไปใช้ในครอบครัว หาโอกาสรักษาศีลอุโบสถ วันหนึ่งคืนหนึ่ง เพื่อเป็นตบะบารมีในการคุ้มครองวงศ์ตระกูลและบุตรหลานให้เกิดความอบอุ่นร่มเย็น อย่าจมอยู่แต่กับครอบครัวแบบตอนสร้างครอบครัวใหม่ จิตใจจะได้พบความสุขที่ประณีตขึ้น ใจที่เป็นกุศล จะทำให้มีชีวิตชีวา ตามครรลองของ "อาศรมวนปรัสถ์"ในอาศรม ๔


             เหตุที่ผู้ชายที่ดี เป็นแฟมิลี่แมน เป็นคนรักครอบครัว มีโอกาสเป็นโรคจิตเวชอ่อนๆ เพราะเป็นคนดีมีคุณธรรมและตามใจภรรยา จะนอนฟังเสียงภรรยาบ่นทุกคืนก่อนนอน ใจไม่ค่อยได้อยู่กับพระรัตนตรัย ใจไม่ได้อยู่กับกรรมฐาน เพราะตัวเองก็อยู่แต่บ้านไม่ค่อยได้ไปไหน


             ฝ่ายภรรยาเห็นสามีเป็นคนดี ตัวเองอยากพูดอะไรก็พูดไป พอพูดหมดแล้วก็นอนหลับไปอย่างสบายใจ ส่วนสามีคนดีกลับต้องนอนคิดถึงเรื่องราวและปัญหาดังกล่าวกว่าจะหลับได้ พอเป็นอย่างนี้บ่อยๆ จะกลายเป็นดีที่เคร่งขรึม ไม่ร่าเริง สามีประเภทนี้ จะซึมๆเซื่องๆเหมือนมีเรื่องให้คิดตลอดเวลา ส่วนใหญ่จะกลายเป็นคนขี้ลังเลไม่กล้าตัดสินใจ จะทำอะไรก็กลัวภรรยาหักหน้าหรือบ่นว่าให้สูญเสียความมั่นใจ


             ผลสุดท้าย พอภรรยาดูหมิ่นว่าไม่กล้าตัดสินใจ ไม่เป็นผู้นำ ตรงนี้จะเป็นจุดผกผันที่ภรรยาส่วนใหญ่ในโลกนี้จะไม่เข้าใจ ได้แต่คร่ำครวญว่า "เขาเป็นคนดีตลอดมาแท้ๆ ทำไมเขาจึงเสียคนเป็นอย่างนั้นไปได้ หลวงพ่อ?!"


            หลวงพ่อท่านก็ไม่รู้จะทำอย่างไร ได้แต่ส่งกระดาษทิชชู่ให้ไปซับน้ำตา ท่านเองก็รู้สึกหมดปัญญา อุตส่าห์บวชมาเพื่อหนีสิ่งพวกนี้ สุดท้ายก็หนีไม่พ้นหรือนี่ โอ..โลกมนุษย์นี้หนอ ทุกข์ยากลำบากก็เพราะกามตัวเดียวจริงๆ


             น่าสงสัยอยู่ไม่น้อยทีเดียวว่า ระหว่างภรรยาผู้คร่ำครวญ สามีผู้น่าสงสาร กับหลวงพ่อผู้บวชมานาน ระหว่างสามคนนี้ใครจะเป็นผู้น่าสงสงสารมากกว่ากัน
              ชีวิตการครองเรือน จึงเหมือนเรือลำน้อยลอยอยู่กลางทะเล ทั้งสองคนต้องช่วยกันพายและช่วยกันคัดหางเสือด้วยความมีสติมั่น จึงเป็นการปฏิบัติธรรมอย่างหนึ่ง หากรู้หลักดังกล่าว


             เมื่อดำรงตนอยู่ในครรลองแห่งศีลธรรมด้วยความอดทน จนผ่านพ้นมรสุมชีวิตที่โหมกระหน่ำ สามีก็จะกลายเป็นเทพเจ้าคุ้มครองภัยผู้มีคุณธรรมประกอบด้วยเมตตากรุณา


             ฝ่ายสตรีที่ครั้งเริ่มแรกชีวิตครอบครัวเคยเป็นผู้ไม่รู้ชะตากรรมชีวิตอย่างไร้เดียงสา ก็จะกลายเป็นเทพธิดาผู้มีคุณธรรมคอยส่งเสริมสามีของตนให้สูงส่งขึ้นในทางที่ประเสริฐและดีงาม

 

                                                                      คุรุอตีศะ
                                                            ๓๑  พฤษภาคม  ๒๕๖๐