ชีวิตที่ผ่อนคลาย
- รายละเอียด
- หมวด: LanDharma
ชีวิตที่ผ่อนคลาย
เรามักจะถูกปลูกฝังและพร่ำสอนให้ต้องทำสิ่งนั้น ต้องทำสิ่งนี้ ต้องให้ได้อย่างนั้น ต้องให้ได้อย่างนี้ ไม่ค่อยมีใครสอนเราว่า “จงทำใจให้สบาย” “จงมีชีวิตที่ผ่อนคลาย” “จงอย่าจริงจังอะไรมากนัก”
เราแทบทุกคนถูกปลูกฝังหรือถูกตั้งโปรแกรมไว้เกือบจะเหมือนกันหมด ว่าชีวิตนี้ต้องดิ้นรนเพื่อให้ได้มาซึ่งสิ่งต่างๆ จึงจะได้ชื่อว่าเป็นคนเก่ง เป็นคนดี เป็นที่ยอมรับของใครๆ แม้ว่าความดิ้นรนเหล่านั้นจะนำมาซึ่งความกลุ้มอกกลุ้มใจ ความกลัดกลุ้ม หรือความวิตกกังวลมาให้สักเพียงใด เราก็มักยินดีพอใจและยอมรับมันได้เสมอ โดยไม่ใส่ใจว่าหัวใจของเรา จิตใจของเรา ชีวิตของเราจะทุกข์ร้อนหรือหม่นหมองหรือไม่
เหตุที่เป็นอย่างนี้ก็เพราะว่า คำสอนโดยทั่วไปไม่ว่าจะเป็นคำสอนของบิดามารดาของเราเอง คำสอนของครูอาจารย์ในโรงเรียนหรือในมหาวิทยาลัย หรือนักวิชาการทั้งหลาย ล้วนมาจากใจที่ยังเต็มไปด้วยความขุ่นมัวและเศร้าหมองจากความโลภ ความโกรธ ความหลง เพียงแต่ท่านเหล่านั้น ได้รับการยกย่องไปตามฐานะที่สังคมให้ค่านิยมหรือให้ความยกย่องนับหน้าถือตา แต่ภายในจิตใจของคนทั้งหลายล้วนมีกิเลสตัณหาเหมือนๆกัน ดังนั้นแม้จะมีเกียรติ มีวุฒิการศึกษาระดับสูง มีฐานะ หรือร่ำรวยทรัพย์สินเงินทองที่ผู้คนในวงสังคมนิยมยกย่องสักเพียงใด ส่วนภายในใจนั้นต่างมีกิเลสเสมอเหมือนกัน มีความหวาดหวั่นในชีวิตเหมือนกัน มีความหวาดกลัวต่อความล้มเหลว หวั่นไหวต่อคำนินทา หรือมีความริษยาเหมือนกัน คำสอนเหล่านั้นจึงมักทำให้เราต้องเคร่งเครียด ขุ่นมัวและเต็มไปด้วยโมหะและอวิชชาตามไปด้วย
สิ่งเหล่านี้เป็นไปกับคนทั้งโลก ทุกชีวิตต่างตกอยู่ภายใต้กิเลสตัณหา มีความทุกข์ความหม่นหมอง มีความหวาดหวั่นความวิตกกังวลเหมือนกัน ไม่ยกเว้นว่าจะเป็นชาติใด ศาสนาใด ต่างก็รู้จักร้องไห้และประสบกับความผิดหวังความเสียใจเสมอกันทั่วทั้งโลก
ความทุกข์ ความโศก ความเศร้า ความหดหู่ท้อแท้และเบื่อหน่าย ความหมดกำลังใจ ไม่อยากจะทำความดี อยากหนีไปจากภาระหน้าที่ที่ต้องทนแบกรับมาเนิ่นนานนี้เสียที สิ่งเหล่านี้ย่อมเกิดกับมนุษย์ทุกคน บางคราวแม้แต่ความอดทนเราก็ไม่อยากจะทนอะไรอีกแล้ว นี้คือสภาพในจิตใจของคนทั้งหลาย
มีแต่พระอริยเจ้าเท่านั้นที่ท่านข้ามพ้นสิ่งบีบคั้นหัวใจเช่นนี้ไปได้ แท้จริงแล้วศาสนาก็มีเพื่อแก้ไขจิตใจที่เต็มไปด้วยความทุกข์ความโศกหรือความบีบคั้นในหัวใจของผู้คนนั่นเอง พระอริยเจ้าทั้งปวงที่สืบศาสนาต่อเนื่องมาเป็นเวลาถึง ๒,๖๐๐ ปี ก็เพื่อช่วยเหลือและอนุเคราะห์ชาวโลกให้พ้นทุกข์ทางใจ ปุถุชนก็ย่อมสอนกันให้พากันยึดมั่นถือมั่น แต่พระอริยเจ้านั้นมีแต่สอนให้ปล่อยวาง ปุถุชนย่อมสั่งสอนอบรม ปลูกฝังตั้งโปรแกรมให้กันเพื่อเป็นทาสของตัณหา เพื่อจะให้ได้สิ่งต่างๆดังใจตน ส่วนผู้หลุดพ้นกลับสอนว่า สรรพสิ่งในโลกนี้ แท้จริงแล้วไม่มีสิ่งใดยึดถือเอาได้ นี้คือระดับจิตใจและภูมิจิตภูมิธรรมที่อยู่กันคนละขั้ว และมนุษย์ทั้งหมดในโลกก็มักเชื่อฟัง นับถือและถูกใจในคำสอนที่บอกให้ยึดมั่นมากกว่า มนุษย์ทั้งหลายที่เกิดมาจึงอุดมไปด้วยความทุกข์ ความวิตกกังวลอย่างไม่วี่แววเลยว่าจะมีวันจบหรือหมดสิ้นลงได้
คำสอนให้ยึดมั่นถือมั่นนั้น มีอิทธิพลต่อเราตั้งแต่เกิดจนตาย จนกว่าเราจะได้พบพระอริยเจ้าและได้ฟังธรรมที่ท่านนำมาแสดง เราจึงจะเริ่มเห็นแสงสว่างและพบทางออกของชีวิต ธรรมะที่พระอริยเจ้าทั้งหลายที่นำมาแสดงนั้นก็ไม่ใช่ธรรมะของท่าน แต่คือสิ่งที่พระพุทธองค์ทรงตรัสรู้หรือค้นพบในคืนวันเพ็ญวิสาขบูชาแล้วพระอรหันต์ต่างสืบทอดกันมาเป็นช่วงๆ นี้คือพระมหากรุณาธิคุณขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่ทรงอุบัติมาเพื่อเปลื้องความทุกข์ความโศกของผู้คนและอนุเคราะห์เกื้อกูลชาวโลก
เราคุ้นเคยกับคำสอนทั้งหลายที่ให้ยึดมั่นถือมั่น จนร้องไห้น้ำตาเป็นสายเลือดมามากพอแล้ว เราเชี่ยวชาญดีแล้วกับความยึดมั่นถือมั่น ต่อไปนี้เราควรหมั่นเรียนวิชา“ผ่อนคลาย”ให้มากขึ้น คำสอนปุถุชนไม่ว่าจะเป็นพ่อแม่หรือครูอาจารย์ทั้งหลาย เราต่างขยันเรียนและสอบได้เกรด ๔ กันทุกถ้วนหน้า บทพิสูจน์ว่าเราเป็นนักเรียนเหรียญทองได้เกรด ๔ ก็คือการร้องไห้แล้วร้องไห้เล่า ผิดหวังแล้วผิดหวังเล่า เสียใจแล้วเสียใจเล่า นั่นแหละคือวุฒิบัตรรองรับการเล่าเรียนวิชายึดมั่นถือมั่น ยิ่งใครนอนไม่คอยหลับหรืออารมณ์เสียหงุดหงิดงุ่นง่านบ่อยๆ ก็ยิ่งประกาศเด่นชัดว่าเก่งวิชานี้เป็นอย่างยิ่ง
มีชีวิตที่ผ่อนคลายมากขึ้น ทำจิตใจให้สบายมากขึ้น อย่าเอาเรื่องการงาน อาชีพ ธุรกิจ การค้าหรือการมุ่งหาทรัพย์สินเงินทองใดๆจนเหนือจิตใจของตัวเอง ร้องไห้มาก็มากแล้ว เสียใจมาก็มากแล้ว และเราก็มักจะโทษแต่คนอื่นว่าทำให้เราเสียใจหรือทำให้เราต้องร้องไห้ จริงๆแล้วเพราะความยึดมั่นถือมั่นของเราต่างหาก ยึดมั่นว่าสิ่งนั้นจะนิรันดร ยึดมั่นว่าสิ่งนั้นจะต้องเป็นไปดังใจเรา เมื่อสิ่งนั้นเปลี่ยนไปตามกฎพระไตรลักษณ์ ความผิดหวังย่อมเกิดขึ้น จึงมีน้ำตาเป็นเพื่อนซ้ำแล้วซ้ำเล่า
จงใส่ใจในพระธรรมคำสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าให้มากขึ้น อย่างน้อยๆต้องได้สัดส่วนกันกับความทะเยอทะยานของเรา จึงจะเกิดภูมิคุ้มกันในจิตใจอย่างเพียงพอ
เรียนวิชายึดมั่นถือมั่นมาตั้งแต่เริ่มรู้เดียงสา ต่อไปนี้จะขอเรียนวิชาปล่อยวางของพระอริยเจ้าให้มากขึ้น บางครั้งเรื่องของชีวิต การรู้จักปล่อยให้วันพรุ่งนี้มันจัดการตัวมันเอง กลับเป็นทางออกที่ดีที่สุด
๒๕ พฤษภาคม ๒๕๕๖