คติจากละครนาคี

 คติจากละครนาคี

 

 

                    เค้าโครงเรื่องในละครนาคีมาจากเรื่องราวชีวิตจริงของพระภิกษุสายธุดงค์กรรมฐานรูปหนึ่งซึ่งดำรงตนอยู่อย่างมักน้อยสันโดษรูปเดียวแถบชายฝั่งแม่น้ำโขง แดนลี้ลับสองฝั่งระหว่างลาวและไทย


                    ท่านได้เปิดเผยเรื่องราวเหล่านี้เมื่อท่านย่างเข้าสู่วัยชราอายุได้ ๗๐ ปีเศษแล้ว โดยเรื่องเกิดตั้งแต่ประมาณ พ.ศ. ๒๕๐๐ หรือก่อนหน้านั้น ซึ่งผู้ประพันธ์จำต้องปิดบังความจริงบางส่วนไว้เพื่อไม่ให้กระทบบุคคลต่างๆในอดีต แต่มุ่งนำเสนอให้เห็นทุกข์โทษของความอาฆาตพยาบาทและมุ่งร้ายต่อกันของมนุษย์


                    เมื่อตัวบุคคลต่างๆและสถานที่ได้เปลี่ยนไปตามยุคสมัย จึงได้เปิดเผยความลับชีวิตในอดีตของท่านเพื่อยืนยันว่าพญานาคนั้นมิใช่เป็นเรื่องนิทานอย่างที่คนสมัยใหม่มักเข้าใจ แต่เป็นสิ่งมีอยู่จริง และบั้งไฟพญานาคนั้นก็มีมานานแล้วตั้งแต่ก่อนจะเป็นกระแสให้คนต่างถิ่นมีความสนใจและกังขาเช่นปัจจุบัน


                    ในที่นี้เราจะไม่ถกเถียงกันว่าเรื่องดังกล่าวเป็นจริงหรือไม่ แต่เราจะเน้นไปที่คติธรรมหรือคติชีวิตที่เราหาได้ในละครทีวีเรื่อง “นาคี” ซึ่งให้สาระ เป็นธรรมะและคติสอนใจได้อย่างมากมายหลายประการ


                   ประการแรก ความรักที่ยิ่งใหญ่ในโลกนี้ไม่มีอะไรเทียบเท่าความรักของแม่ผู้ให้กำเนิด ดั่งเช่นแม่คำปองมีต่อคำแก้วตั้งแต่เกิดจนวาระสุดท้าย ความรักของแม่นั้นมีความรักลูกเหมือนแก้วตาดวงใจ ยอมเสียสละความสุขของตนเองได้ทุกอย่าง แม้แต่ชีวิตแม่ก็สละให้แก่ลูกได้ เป็นความรักที่ไร้ข้อแม้ไม่มีเงื่อนไข เป็นความรักที่บริสุทธิ์ไม่หวังสิ่งตอบแทน ปราศจากความลังเลสงสัย ความรักที่ประเสริฐของพ่อแม่ซึ่งจะหาจากใครไม่ได้อีกแล้วในโลกนี้ ท่านจึงเปรียบหัวใจของพ่อแม่ว่าเป็นดุจเทพเจ้าหรือพระพรหมของบุตรธิดา


                    ประการที่สอง  คนดีสุจริตบางคนก็ถูกทำร้ายจากผู้คนหรือสังคม เพียงแค่มีชีวิตการเป็นอยู่ไม่เหมือนคนอื่น มนุษย์เรามักจะทนไม่ได้ถ้ามีใครทำอะไรไม่เหมือนตนเอง การขาดความเคารพผู้อื่นมักเป็นสาเหตุให้สังคมเกิดความวุ่นวาย คนชั่วในโลกนี้จึงสามารถสร้างพรรคพวกเพื่อให้ร้ายหรือกำจัดผู้อื่นได้อยู่บ่อยๆ


                     ประการที่สาม ผู้เป็นใหญ่มักใช้อำนาจแต่ขาดคุณธรรมย่อมนำความล่มสลายมาสู่หมู่คณะ การพยายามทุกวิถีทางเพื่อกำจัดเจ้าแม่นาคีของกำนันแย้ม ด้วยมุ่งแก้แค้นแทนลูกชายของตนโดยไม่คำนึงว่าลูกของตนเป็นอันธพาลไร้ศีลธรรมหรือไม่ ย่อมนำหายนะมาให้หมู่บ้านดอนไม้ป่า คำปองและคำแก้วเขาเป็นเพียงสองแม่ลูกที่เลี้ยงชีวิตอย่างสุจริตไม่เคยสร้างความเดือดร้อนให้แก่ใคร เพียงเขาไม่ยอมก้มหัวให้แก่ความเป็นคนอำนาจบาตรใหญ่ ก็เลยใช้อำนาจนั้นมาเป็นเครื่องมือทำลายคนที่ไร้ทางสู้และไร้พวกพ้องบริวาร สุดท้ายชีวิตของกำนันแย้มที่เคยยิ่งใหญ่ก็ต้องล่มจมและตายอย่างทรมาน


                      ประการที่สี่ หมอเมืองอินทร์ผู้อุตส่าห์บำเพ็ญตบะจนได้ฌานสามารถแสดงฤทธิ์และมีวิทยาคมแก่กล้า แต่เมื่อนำวิชานั้นมาใช้ในทางที่ผิดศีลธรรมโดยไปทำเสน่ห์ให้แก่ลำเจียก ตนเองก็ต้องแพ้ภัยทำให้ต้องได้ลำเจียกเป็นเมียเพราะผลกรรมที่ทำเดียรัจฉานวิชาทำร้ายคนบริสุทธิ์และมีศีล ยิ่งต่อมาจิตเต็มไปด้วยอกุศลพยายามกำจัดผู้อื่นอย่างจองล้างจองผลาญ แม้จะเป็นผู้วิเศษสุดท้ายก็จบชีวิตอย่างน่าอนาถนัก สู้คนธรรมดาที่ไม่มีฌานไม่มีฤทธิ์ใช้ชีวิตไปตามธรรมดาไม่ได้ คนชอบเล่นฤทธิ์จึงมักมีโทษเช่นนี้


                     ประการที่ห้า แต่ก่อนดอนไม้ป่าอยู่สงบสุขตลอดมา เพราะผู้คนแถบนั้นก็ทำนาคบูชาไปตามลัทธิความเชื่อของเขา แต่พอ “หมออ่วม”ก้าวเข้ามาในหมู่บ้าน ก็พยายามแสดงให้ชาวบ้านรู้ว่าตนเป็นผู้รู้ผู้วิเศษเพื่อคนจะได้นับถือและยึดเป็นอาชีพ สุดท้ายการพยายามกำจัดเจ้าแม่นาคีเพื่อให้ชาวบ้านหันมานับถือตนแทน ก็นำความวิบัติมาให้ วิชาที่เรียนรู้มาอย่างมากมาย แม้กระทั่งการคำนวณการเกิดสุริยคราสได้ แทนที่จะได้สร้างประโยชน์แก่โลกและสังคม สุดท้ายก็นำความวิบัติและความตายมาสู่ตนเองอย่างน่ากลัว


                     ประการที่หก ความรักของผู้หญิงย่อมยิ่งใหญ่กว่าความรักของผู้ชายเสมอ ผู้หญิงที่รักผู้ชายอย่างแท้จริงจะไม่มีความลังเลสงสัยและหัวใจจะไร้เงื่อนไข  แต่ผู้ชายนั้นมักจะใช้หัวสมองมากกว่าหัวใจ เหมือนทศพลแม้จะรักคำแก้วสักแค่ไหน แต่เมื่อถูกเพื่อนฝูงและบุญส่งชักจูงหว่านล้อม ความรักที่เต็มไปด้วยความบริสุทธิ์และไว้วางใจ ก็เริ่มสั่นคลอนกลายเป็นการค้นหาและสงสัย สุดท้ายก็นำมาสู่การพลัดพรากเพราะผิดคำสาบานที่ว่า “จะไม่ค้นหาความจริง จะไม่สงสัย” แม้ในเมืองลับแลก็จะถือสัจจะในทำนองนี้เช่นกัน


                      ประการที่เจ็ด บุคคลที่มีคุณธรรมสูงสุดในเรื่องนี้ คือ ดร.สุภัทร ที่รักภรรยามาก แต่มีความรับผิดชอบในหน้าที่จนลืมเอาใจใส่คนที่ตนเองรัก กลายเป็นปมด้อยของตัวเองและสร้างปมด้อยในใจลูก แต่สุดท้ายก็สำนึกตัวแก้ไขความผิดพลาดกล้าสารภาพแก่ลูกชาย จนสามารถช่วยลูกตัดสินใจครั้งสำคัญเลือกเส้นทางชีวิต เพราะอาศัยประสบการณ์ของความผิดพลาดของตัวเองที่เคยมีมาก่อน สามารถช่วยเหลือลูกชายและเป็นที่พึ่งให้แก่หมู่คณะและลูกชายในยามคับขัน  จนทศพลระงับความเศร้าโศก มีดวงใจที่สงบและพบทางออกของชีวิต สามารถออกบวชเป็นพระธุดงค์อยู่ในร่มผ้ากาสาวพัสตร์ไปจนเข้าสู่วัยชรา  ท้ายที่สุดดอกเตอร์ผู้หัวก้าวหน้าสมัยใหม่ก็กลายเป็นนักโบราณคดีที่ค้นพบมรุกขนครแห่งภาคอีสานอันลี้ลับมานาน


                      ประการที่แปด การเกิดเป็นมนุษย์นั้นช่างแสนยาก แม้แต่พญานาคผู้มีวิมานดุจเทวดาและมีอิทธิฤทธิ์มากในนาคพิภพ ก็ยังบำเพ็ญตบะบารมีตั้งความปรารถนาเพื่อเกิดเป็นมนุษย์ แต่ก็มีนาคจำนวนน้อยนักที่สามารถทำได้สำเร็จ ส่วนใหญ่มักจะแพ้พ่ายต่ออำนาจโทสะและทิฐิมานะอันแรงกล้าของตน ไม่สามารถบำเพ็ญตนอยู่ในศีล  ดุจดั่งชีวิตของเจ้าแม่นาคีในร่างของคำแก้ว ที่เหลือเพียงวันเดียวเท่านั้นความปรารถนาของตนก็จะสำเร็จแล้ว แต่สุดท้ายสิ่งที่บำเพ็ญมายาวนานก็พังทลายลงเพราะความโกรธนั่นเอง


                    โทสะคือความโกรธมักทำให้พญานาคขาดสติทำปาณาติบาตล้างผลาญชีวิตผู้อื่น แม้จะบูชาความรักสักเพียงใด แต่ก็มาถือกำเนิดเป็นมนุษย์ไม่ได้ 

 

                   ในกฎธรรมชาติแห่งภพภูมิท่านแสดงไว้ว่า การจะเลื่อนหรือเปลี่ยนภพภูมิได้นั้น ต้องมีศีลห้าเว้นขาดจากการทำลายชีวิตผู้อื่น สัตว์ทั้งหลายหรือพญานาคจึงจะมีโอกาสได้อัตภาพเป็นมนุษย์เพื่อสร้างบารมีในร่มเงาของพระพุทธศาสนาต่อไป


                  เพราะเหตุที่การได้เกิดเป็นมนุษย์นี้เป็นสิ่งที่ถือว่าเป็นลาภอันประเสริฐและมิใช่ได้มาโดยง่าย  พระพุทธองค์จึงทรงตรัสว่า “กิจฺโฉ มนุสสปฺปฏิลาโภ การได้อัตภาพร่างกายเป็นมนุษย์เป็นของยาก”


                  คติธรรมที่พอจะนึกได้ในละครโทรทัศน์เรื่อง “นาคี” ดังกล่าว หวังว่าจะช่วยส่งเสริมกำลังใจของท่านทั้งหลายให้ตั้งมั่นในคุณงามความดี และบากบั่นสร้างกุศลบารมีได้อย่างมั่นคงและยืนนานตลอดไป

 

                                                                                  คุรุอตีศะ
                                                                        ๖  ธันวาคม  ๒๕๕๙