คติว่าด้วยอาศรม ๔

คติว่าด้วยอาศรม ๔

 

 

                    คนเป็นโสดก็เฝ้ารอเนื้อคู่อยากให้มีใครสักคนมาจับจองเป็นเจ้าของ  คนมีคู่ครองก็อึดอัดกับการถูกครอบครองเป็นเจ้าของ จะกระดิกตัวไปไหนทั้งทีก็แสนยาก


                    ด้วยเหตุนี้ ไม่ว่าจะเป็นคนมีคู่ครองหรือคนเป็นโสดจึงจำเป็นต้องรู้จักการภาวนา  สมาธิภาวนาที่กลมกลืนตามธรรมชาติ  จะทำให้คนโสดไม่เปลี่ยวเหงาใจ  คนมีคู่ครองก็จะพบความสงบและอิสระของใจ ไม่อึดอัดจำเจกับชีวิตเดิมๆภายในครอบครัวจนเกินไป เพราะสมาธิภาวนาจะช่วยรักษาความสมดุลของชีวิต


                    สังคมไทยเป็นสังคมที่มีค่านิยมที่ซับซ้อน  ชาวบ้านหรือคนส่วนใหญ่ยังยึดถือค่านิยมตามแบบวัฒนธรรมตะวันออกคือ จีน อินเดีย ที่เข้ามาสู่สุวรรณภูมิพร้อมๆกับศาสนาพุทธและศาสนาพราหมณ์  ส่วนคนชั้นสูง ข้าราชการ คนผู้มีวุฒิการศึกษา จะพากันยึดถือค่านิยมตามวัฒนธรรมตะวันตกเป็นส่วนใหญ่


                    ถามว่า วัฒนธรรมตะวันออกกับวัฒนธรรมตะวันตกต่างกันอย่างไร? วัฒนธรรมตะวันตกในศตวรรษที่ผ่านมาจะบูชาวัตถุหรือบริโภคนิยมเป็นใหญ่ จะเอาตัณหาหรือความต้องการนำหน้า ผู้คนจะต้องมีความสุขทางเพศไปจนวันตาย  ส่วนวัฒนธรรมตะวันออกจะยึดเอาคุณธรรมความสุขทางจิตใจเป็นใหญ่


                    คติทางตะวันออก เมื่อครองเรือนเข้าสู่อาศรมที่ ๓ คืออาศรมวนปรัสถ์ จะมีคติว่าต้องเริ่มปลีกตัวออกห่างจากกามารมณ์หาความสงบ ค้นหาความหมายของชีวิต ทำชีวิตให้เบาสบาย เรื่องเพศจะกลายเป็นเรื่องเด็กๆไปหลังจากทำเรื่องเดิมๆมาช้านาน เริ่มแสวงหาความเติบโตทางจิตวิญญาณที่ประณีตสูงขึ้นไป


                    บรรพบุรุษรุ่นปู่ย่าตายาย จะมีวัฒนธรรมคล้ายกันอย่างหนึ่งไม่ว่าวัฒนธรรมจีน อาหรับ ยิว โดยเฉพาะวัฒนธรรมอินเดียโบราณนั้นจะแบ่งการพัฒนาชีวิตเป็น ๔ ระดับ เรียกว่า “อาศรม ๔” คือ


                   ๑.อาศรมพรหมจารี วัยแห่งการศึกษาหาความรู้ที่จำเป็นในชีวิต ตั้งแต่วัยเด็ก จนถึงอายุ ๒๕ ปี


                    ๒.อาศรมคฤหัสถ์ วัยแห่งการสร้างเนื้อสร้างตัว สร้างชีวิตให้เป็นปึกแผ่น  ช่วงอายุระหว่าง ๒๕ – ๔๙ ปี อาศรมคฤหัสถ์  เป็นช่วงชีวิตแห่งการมีความสุขทางเพศ ความสุขในครอบครัว เลี้ยงบุตรธิดาของตน


                    ๓.อาศรมวนปรัสถ์ วัยแห่งการแสวงหาความสงบสุขทางจิตใจ เริ่มปล่อยวางภาระ หลังจากตนทำหน้าที่ของความเป็นคฤหัสถ์ด้วยความอุตสาหะได้ครบถ้วนบริบูรณ์ เป็นช่วงอายุระหว่าง ๕๐ – ๗๕ ปี


                    ๔.อาศรมสันยาสี  วัยแห่งการแจกของส่องตะเกียงแนะนำผู้อื่น เตรียมกายและใจเพื่อละทิ้งบ้านเก่าที่กำลังผุพังไปสู่บ้านหลังใหม่ เป็นจิตใจที่พร้อมจะเผชิญกับความตายได้อย่างอาจหาญและสง่างาม


                 หลักของอาศรม ๔ นี้ เป็นวัฒนธรรมของอินเดียที่มีอิทธิพลต่อสังคมไทยมาช้านาน  การที่คนรุ่นเก่ามีความละอายและตำหนิเรื่องความรักเรื่องทางเพศที่เหมือนดูคร่ำครึนั้น ก็มาจากการส่งเสริมให้บุคคลที่เข้าสู่วัยอาศรมวนปรัสถ์เริ่มเจริญสติหรือสร้างกุศลบารมี เตรียมต้อนรับความเปลี่ยนแปลงของร่างกายและจิตใจของตัวเองอีกครั้งหนึ่ง  ซึ่งทางจิตวิทยาหรือทางการแพทย์ยุคใหม่ เรียกว่า “วัยทอง” ตามที่เรารู้จักกัน


                 ท่านอธิบายว่า บุคคลที่แต่งงานมีคู่ครองตั้งแต่อายุ ๒๐ เศษๆ เมื่อถึงวัยประมาณ ๔๙ ปี  จะเริ่มต้องการปล่อยวางภาระต่างๆ ต้องการความสงบ ความต้องการทางเพศจะลดน้อยลงไป  จะมีความต้องการอยู่เงียบๆอยู่กับความสงบมากกว่าการพบปะคลุกคลีใดๆ

 

                   หากบุรุษใดไม่มีความรู้เรื่องอาศรม ๔ ก็จะเข้าใจว่าตัวเองหมดสมรรถภาพขาดความมั่นใจ จะไปก่อภาระเวรกรรมขึ้นมารอบใหม่ การพัฒนาทางจิตใจก็จะหยุดชะงัก คล้ายกับสายน้ำกำลังเลื่อนไหล แต่มีคนเอาสิ่งกีดขวางมาเบี่ยงเบนทางน้ำ  กระแสธารที่กำลังจะเลื่อนไหลอยู่ดีๆตามหลักอาศรมวนปรัสถ์  ก็จะเป็นภาระความกังวลใจอย่างลึกซึ้งที่แม้ตัวเองก็ไม่เข้าใจ


                    ใครก็ตามหากบิดาหรือมารดาต้องเป็นหม้ายตั้งแต่ยังอยู่ในวัยหนุ่มวัยสาว แต่ท่านประคองตนไม่ยอมมีสามีหรือมีภรรยาใหม่ ด้วยความห่วงใยว่าจะมีผู้ชายอื่นหรือหญิงอื่นมาแย่งความรักไปจากลูก  ขอให้รู้เถิดว่าพ่อของเราหรือแม่ของเราเป็นผู้มีใจประเสริฐ ที่ท่านอดทนได้ต่อแรงสัญชาตญาณ การที่ท่านฝ่ามรสุมของอารมณ์ปุถุชนมาได้ก็เพราะแรงแห่งรักแท้ที่มีต่อลูก แสดงว่าท่านเข้มแข็งมากและรักเราปานแก้วตาและดวงใจ จงสำนึกคุณซาบซึ้งยกย่องบูชาท่านไม่ว่าจะอยู่แห่งหนตำบลไหน ชีวิตของเราจะมีความปลอดภัยและมีเทวดาปกปักรักษาคุ้มครอง


                   หากเรามีบิดาหรือมารดาที่ท่านมีคู่ครองคนใหม่ ก็จงอย่าน้อยใจและตำหนิติเตียนท่านเพราะนั่นคือแรงแห่งสัญชาตญาณที่น้อยคนจะหักห้ามและทนได้  ท่านจะรักคู่ครองคนใหม่หรือรักลูกคนใหม่ก็เป็นสิ่งธรรมดาที่ทุกคนจะต้องแหวกว่ายอยู่ในกระแสแห่งกรรมกันต่อไป  ส่วนตัวเราจะประคองใจระลึกถึงแต่พระคุณของท่าน แล้วชีวิตของเราจะพบแต่ความสุขและความเจริญ


                    คนส่วนใหญ่ในโลกล้วนดำเนินไปตามหลักอาศรม ๔ มีคนจำนวนน้อยนิดเท่านั้นที่จะเกิดการเปลี่ยนผ่านชีวิตโดยไม่ต้องดำเนินไปตามเส้นทางนี้  ทางสายนั้นมีนามว่า “อริยมรรค” ที่พระอริยเจ้าทั้งหลายพาดำเนิน  เป็นเส้นทางที่ก้าวพ้นลาภยศสรรเสริญ พ้นจากราคะ โทสะ โมหะ ใจมีอิสระตลอดกาล

 

 

                                                                                คุรุอตีศะ
                                                                       ๕  สิงหาคม  ๒๕๕๙