ชีวิตการแต่งงาน

ชีวิตการแต่งงาน

 

 

                การตัดสินใจแต่งงาน เปรียบเสมือนการตัดสินใจที่จะข้ามทะเลกว้างใหญ่ไปกับใครคนหนึ่ง ซึ่งคนๆนั้นก็ไม่รู้ตัวเหมือนกันว่า “สองชีวิตที่น่าสงสาร”นี้กำลังพากันพายเรือลำน้อยออกสู่ทะเลกว้าง


               เราและเขาต่างก็ไม่รู้ว่าจะเจอกับพายุ คลื่นลม หินโสโครกหรือไม่กลางทะเลหรือในระหว่างทาง  การตัดสินใจแต่งงานจึงเป็นเรื่องของคนใจกล้า เปรียบเหมือนการเดินธุดงค์ของพระเพื่อการกำจัดกิเลสที่พร้อมจะตายในป่าหรือยอมให้เสือกัดกินในดงดอน


                 เมื่อเราตัดสินใจเดินธุดงค์ในพงหนามของกิเลสโดยมีเพื่อนคู่ยากที่เราได้เลือกแล้ว  เราก็กัดฟันเดินธุดงค์ของเราต่อไปด้วยการดูแลคู่ทุกข์คู่ยากให้พอช่วยกันประคองเรือลำน้อยให้วิ่งต่อไปได้อย่างที่หวัง


                  เมื่อเกิดอะไรขึ้นในระหว่างทาง ก็ต้องมีสติและอดทนเข้าไว้เพราะกำลังลอยล่องอยู่กลางทะเล ถ้าทำอะไรรุนแรงด้วยอารมณ์เรือลำน้อยก็อาจจมหรืออาจจะพัง  จะต้องกัดฟันปาดน้ำตาพายต่อไปให้ถึงฝั่งเพื่อพ้นจากพายุร้ายและคลื่นลม


                   พิธีแต่งงานที่มีขึ้นในแต่วัฒนธรรม ส่วนหนึ่งก็เพื่อเป็นหลักประกันว่าคนทั้งสองจะไม่โดดทิ้งเรือกันง่ายๆ  อย่างน้อยหากจะเลิกกันก็จะได้เกิดความอาย จะได้รู้จักง้อกันและปรับความเข้าใจเพื่อพายเรือช่วยกันต่อไปให้ได้  สิ่งนี้มักอยู่ในช่วงอายุ ๔๐ ปีที่ความโรแมนติคจะเริ่มจางไปตามวัย  หากคู่ใดมีธรรมะประจำใจก็จะผ่านพ้นไปได้  หลังจากนั้นความเห็นอกเห็นใจและความรักแท้จะเริ่มเกิดขึ้นอย่างแท้จริง


                   เหตุนี้แหละศาสนาและวัฒนธรรมต่างๆในโลกจึงมักมีหลักการคล้ายกันที่ไม่ส่งเสริมการหย่าร้าง หรือยอมให้หญิงชายทำอะไรตามอารมณ์พอนึกไม่พอใจกันขึ้นมาก็จะเลิกกันได้ง่ายๆ เพราะบางคู่นั้นเขาเพียงอยู่ระหว่างการเป็นเพชรกำลังถูกเจียระไน หากเขาเลิกรากันไป เพชรเม็ดงามก็หมดโอกาสจะเปล่งแวววับที่สดใสงดงามตา


                    การเลิกกันหรือหย่าร้างกันอย่างแท้จริง ย่อมเกิดจากการสิ้นบุญหรือหมดกรรมต่อกันแล้ว ในกรณีนี้หัวใจของคนทั้งสองจะเกิดความรู้สึกหมดอาลัยต่อกันที่ไม่มีเยื่อใยให้ก่อสัมพันธ์ขึ้นได้อีก  หากไม่ใช่กรณีนี้ท่านจึงบอกให้ “อดทนๆๆ” กันต่อไป  เพราะบางกรณีที่ทั้งคู่บอกว่าทนไม่ไหว  แต่พอเวลาผ่านไปเพียงสามวัน เขากลับแอบไปพบกันแล้วคืนดีกันก็มี


                    พระท่านเดินธุดงค์เข้าป่าเพื่อชำระกองกิเลส ส่วนเรานั้นพอใจที่จะธุดงค์ในกองกิเลสเราก็ต้องใช้วิทยายุทธทุกรูปแบบที่จะไม่ทำให้เรือลำน้อยต้องจมน้ำ

 
                    วิชาธุดงค์แบบสองคนนี้ ท่านว่าจะทำอะไรไปตามอิสระไม่ขึ้นกับใครแบบชีวิตของพระนั้น ไม่สามารถนำมาใช้ได้แต่อย่างใด  แต่จงหมั่นนึกถึงวันที่สวมมงคลรดน้ำสังข์ด้วยความยิ้มย่องผ่องใส  ว่าบัดนี้เราจะเดินไปไหนหรือทำอะไรก็ต้องมีอีกคนหนึ่งติดอยู่ด้วยเหมือนวันที่ศีรษะของคนทั้งสองสวมมงคลติดกัน


                     ตามที่กล่าวมานี้เพื่อจะให้กำลังใจแก่ทุกคนว่า เมื่อเราได้ตัดสินใจเลือกชีวิตการแต่งงาน เราจงใช้ปัญญาหาอุบายเพื่อใช้ชีวิตการแต่งงานของเราให้เป็นส่วนหนึ่งของการปฏิบัติธรรมให้ได้


                     เมื่อเกิดความขัดแย้งทะเลาะกัน อย่าไปคิดแต่ว่าจะเลิกกันดีไหมเพราะไม่เกิดประโยชน์อะไร ถ้าเลิกเดี๋ยวก็ไปตามง้อกันมาใหม่อายชาวบ้านเขาเปล่าๆ  สู้เปลี่ยนหัวใจน้อมเอาปัญหาเหล่านั้นมาเป็นบทเรียนเพื่อการเข้าใจชีวิตและเพื่อการเติบโตทางจิตวิญญาณดีกว่า  อดทนหนักแน่นไว้ทุกอย่างจะดีเอง


                      ธรรมะที่เขียนไว้ในเว็บไซต์นี้ก็ด้วยความปรารถนาดีและเพื่อเป็นกำลังใจแก่ผู้ที่กำลังพายเรือลำน้อยออกสู่ฝั่ง  ใครที่เพิ่งรู้จักควรอ่านธรรมะที่เขียนไว้ตั้งแต่ปี ๒๕๕๖ ย้อนขึ้นมาเรื่อยๆ  จะทำให้มีพลังชีวิตในการสร้างความดีและมีกำลังใจทำความดีต่อไป  จงเชื่อมั่นว่าแม้ปัญหามรสุมจะมากมายเพียงใด เราจะผ่านมันไปได้เสมอด้วยการเข้าใจชีวิตและมีดวงจิตแนบแน่นในคุณธรรม


                      ความทุกข์จากชีวิตแต่งงาน คือผลจากการเริ่มต้นด้วยพลังของกิเลส จึงเป็นธรรมดาที่เมื่อถึงจุดหนึ่งทั้งคู่จะเริ่มอึดอัดและเริ่มมีความบาดหมาง  ครั้นเมื่อเดินมาถึงจุดนี้ขอเราอย่าเพิ่งท้อแท้หรืออับจนในหนทาง  ขอให้ถือว่าเป็นเวลาที่เราทั้งสองจะเริ่มแสวงหาแสงสว่างในชีวิตที่ยิ่งกว่าความเสน่หาที่เราเคยมี


                        ธรรมะจะช่วยหล่อหลอมใจให้เรามีความรักและความเห็นใจที่สูงส่งขึ้น  ความหึงหวง ความระแวงจะคลายไปเพราะหัวใจทั้งสองได้พบความร่มเย็นสงบสุข

 
                       จงฝึกจิตพร้อมทั้งน้อมเอาคุณสมบัติของความรักแบบพระโสดาบันเป็นพลังในการก้าวเดินไปบนเส้นทาง  การแต่งงานที่แม้จะเริ่มต้นด้วยกิเลส ก็จะกลายเป็นการปฏิบัติธรรมที่นำไปสู่แสงสว่าง  เราจะหนักแน่นและอดทนได้ในทุกสถานการณ์ ด้วยอานุภาพแห่งพระธรรมที่เข้ามาสถิตมั่นในใจเรา

 

 

                                                                                 คุรุอตีศะ
                                                                      ๒๘  กรกฎาคม  ๒๕๕๙