วิถีของแต่ละชีวิต
- รายละเอียด
- หมวด: LanDharma
วิถีของแต่ละชีวิต
วีถีชีวิตของแต่ละคนย่อมไม่เหมือนกัน บางคนเกิดมาเสวยบุญ บางคนเกิดเสวยกรรม บางคนเกิดมาเพื่อสร้างสรรค์และทำหน้าที่บางอย่างแล้วก็ลาลับดับหายจากโลกนี้ไป เหลือไว้เพียงความทรงจำของผู้คนชั้นหลัง แล้วในที่สุดก็ถูกกาลเวลากลืนหายไป นี้คือสัจธรรมที่มีกับทุกชีวิตไม่เลือกว่าหญิงหรือชาย
สามเณรบุนนาคที่ท่านมีชีวิตอยู่ในโลกนี้เพียงอายุ ๔๑ ปี ละสังขารไปเมื่อ พ.ศ. ๒๔๘๑ ที่วัดบรมนิวาส เป็นตัวอย่างของพระธุดงค์กรรมฐานในยุคแรกๆที่มีชีวิตโลดโผนน่าอัศจรรย์เป็นที่เลืองลือมาก
ท่านสนใจเรื่องพระและอยากบวชตั้งแต่ยังเล็กมาก จนกระทั่งขออนุญาตพ่อและแม่ออกบวชตั้งแต่อายุได้ ๖ ขวบ ได้ออกเดินธุดงค์ผจญภัยกับเสือลายพาดกลอนอยู่หลายครั้ง เสือและสัตว์ร้ายก็ไม่ทำอันตรายท่าน ท่านชอบหลีกเร้นอยู่ในป่าและมีอิทธิฤทธิ์มากมาย ในช่วงต้นของชีวิตท่านก็ไม่เข้าใจตัวเองเหมือนกันว่าทำไมจึงชอบทำอะไรโลดโผนไม่เหมือนพระเณรทั่วไป
จนกระทั่งเมื่อเข้าสู่วัยหนุ่ม เดินจาริกธุดงค์ในแถบประเทศลาว ไปพบกับพระอาจารย์บุญหลายที่ท่านพักอยู่ในถ้ำรูปเดียว พระอาจารย์ท่านนี้มีเจโตปริยญาณเป็นที่เลื่องลือ พอสามเณรบุนนาคก้มกราบยังไม่ทันได้ถามปัญหาที่ค้างใจมานาน ก็หัวเราะแล้วพูดแก้ปัญหาให้โดยยังไม่ทันได้พูดอะไรซักคำ
พระอาจารย์บุญหลายได้กล่าวถึงอดีตชาติของสามเณรบุนนาคว่า “ในอดีตเคยออกบวชเป็นสามเณรมาหลายชาติ แต่ไม่ทันได้บวชพระก็สิ้นชีวิตเสียก่อนเป็นเช่นนี้มาทุกชาติ มาชาตินี้วิบากกรรมเช่นนั้นได้หมดลงแล้ว อย่างไรเสียในชาตินี้ก็จะต้องได้บวชเป็นพระแน่นอน”
ท่านยังได้กล่าวถึงอุปนิสัยที่ห้าวหาญ เป็นใจนักเลงไม่กลัวใครของท่านสามเณรบุนนาคอีกด้วยว่า “เพราะในอดีตชาติตัวท่านได้เคยเกิดเป็นเสือโคร่งในป่ามาแล้วถึง ๑๑ ชาติ จึงทำให้มีนิสัยเช่นนั้นติดตัวมาเมื่อเกิดเป็นมนุษย์ชาตินี้ ดังนั้นเมื่อได้อยู่หลีกเร้นในป่าจึงภาวนาได้ดี เพราะความคุ้นเคยกับป่า เมื่อไปอยู่ผู้คนและสังคมมักให้โทษ เพราะมีความองอาจกล้าหาญเหนือใคร ต้องอยู่อย่างหลีกเร้นจึงจะดี”
ตามที่มีการกล่าวขานในแวดวงกรรมฐาน สามเณรบุนนาคท่านบรรลุธรรมและบรรลุคุณวิเศษมีอภิญญาจิตมาตั้งแต่อายุยังน้อย แต่พระอาจารย์สิงห์ ขันตยาคโม และพระอาจารย์ปิ่น ปัญญาพโล ได้ให้อุบายแก่ท่านว่ายังไม่ถึงกาลเวลาเนื่องจาก “กำลังของผู้ปฏิบัติยังอ่อนอยู่” หมายความว่าผู้ที่เข้าถึงการปฏิบัติและเข้าถึงธรรมะยังมีน้อย ยังไม่ใช่เวลาแห่งการฟื้นฟูพระศาสนาหรือการเทศนาสั่งสอนเต็มที่ได้ (เป็นช่วงที่บ้านเมืองกำลังเปลี่ยนแปลงการปกครองใหม่ๆ บ้านเมืองระส่ำระสาย แม้มีธรรมะก็ต้องเก็บตัว)
ต่อมาท่านได้นิมิตว่ามีช้างตัวใหญ่สองเชือกนำผ้าไตรจีวรมาวางไว้บนบ่าท่าน ท่านก็รู้ว่าการอุปสมบทเป็นพระภิกษุของตัวท่านนั้นจะมีความพิเศษ จะมีผู้มีบุญหนักศักดิ์ใหญ่อุปถัมภ์ในการอุปสมบท
ต่อมาเมื่อมาจำวัดที่วัดบรมนิวาส ด้วยความที่เป็นพระเณรคนอีสานบ้านนอก เช้าวันหนึ่งท่านได้เดินบิณฑบาตหลงเข้าไปในวังกรมหลวงนครไชยศรีสุรเดช โดยไม่ทันสังเกตว่าเป็นเขตวังเจ้านายผู้ใหญ่ที่เขาห้ามคนภายนอกเข้าไป จึงถูกคนในวังกักตัวไว้สอบสวน
เจ้าจอมมารดาทับทิมได้พบท่านแล้วเกิดความเลื่อมใสศรัทธาในกิริยาที่สง่างามและไม่มีอาการตื่นตกใจในเหตุการณ์เหมือนพระทั่วไป ยังคงมีความสงบสำรวมเป็นปกติ เมื่อถามท่านแล้วทราบว่าท่านอายุครบบวชแล้วและยังไม่ได้บวช เจ้าจอมมารดาทับทิมจึงทรงรับเป็นเจ้าภาพในการอุปสมบทให้
ต่อมาท่านได้รับการร้องขอจากเจ้าจอมมารดาทับทิมให้เขียนประวัติของตัวท่านเอง ซึ่งท่านเองเคยปฏิเสธบุคคลอื่นมาแล้วถึง ๒ หน รวมทั้งอุปราชเจ้าเมืองคำทองแห่งประเทศลาว แต่คราวนี้มิอาจขัดพระประสงค์ได้พร้อมมีทั้งพระผู้ใหญ่มีบัญชา จึงได้เขียนประวัติ แต่เนื่องจากท่านรู้ว่าเมื่อประวัติของท่านเผยแพร่ออกไปจะมีภัยอันตรายบางอย่างตามมาตามที่มีผู้ทรงฤทธิ์มาแสดงนิมิตบอกไว้ล่วงหน้า
พอท่านเขียนประวัติจบลงเมื่อกลางปี ๒๔๘๐ สมดังพระประสงค์ของเจ้าจอมมารดาทับทิม ต่อมาไม่นานท่านก็อาพาธและมรณภาพลงที่วัดบรมนิวาส เมื่อ พ.ศ. ๒๔๘๑ ในขณะที่อายุได้ ๔๑ ปี
ตามที่ยกเอาปฏิปทาของสามเณรบุนนาคมากล่าวกับท่านทั้งหลาย ก็เพื่อสะท้อนให้เห็นว่าวิถีชีวิตของคนเราแต่ละคนไม่เหมือนกัน แม้แต่ชีวิตของพระภิกษุหรือนักบวชที่ได้ชื่อว่าเดินไปบนเส้นทางแห่งทางธรรมโดยตรง ก็ยังมีวิถีหรือลีลาที่แตกต่างกัน ตามบุพพกรรมที่สั่งสมไว้มาหลายภพหลายชาติ
บางท่านอาจต้องเป็นพระที่สร้างสรรค์ความเจริญเพื่อโปรดคนในเมือง บางท่านอาจเกิดมามุ่งหลุดพ้นมุ่งขัดเกลากิเลสรักชีวิตพระธุดงค์ บางท่านแม้เคยพากเพียรหวังที่จะอยู่อย่างสงบในป่าจนตลอดชีวิต วิบากกรรมก็ยังลิขิตให้ต้องมาอยู่กับชาวบ้าน จากที่เคยปิดวาจาก็ต้องมาพร่ำสอนปากเปียกปากแฉะสู้กับกิเลสของคนในเมือง
จงพอใจกับชีวิตที่เป็นตัวเราขณะนี้ หากคิดไปในอนาคตแล้วรู้สึกมืดมนก็จงหมั่นสร้างกุศลให้มากกว่าแต่ก่อน จงมั่นใจในความที่ชีวิตไม่มีอะไรแน่นอน วันนี้หากรู้สึกมืดมน ก็ยอมมืดมนไปก่อน เมื่อมีศรัทธาที่มั่นคงดุจเข็มทิศไม่หวั่นไหว ต่อไปก็จะพบกับความสว่างไสวและความสมหวังของชีวิตได้เอง
คุรุอตีศะ
๑๐ กรกฎาคม ๒๕๕๙