ศาสนาของมนุษยชาติ

 ศาสนาของมนุษยชาติ

 

 

                   สังคมกำลังเปลี่ยนโฉมหน้าไปสู่ยุคใหม่  แนวความคิด หลักการ ค่านิยม หรืออุดมคติของสังคมในยุคใหม่ก็จะเปลี่ยนไปด้วย ปัญหาต่างๆที่กำลังเกิดขึ้นในสังคมไทย จะหล่อหลอมทิศทางของสังคมที่ต่างไปจากเดิม ผู้ที่เป็นอนุรักษ์นิยมจะเริ่มอยู่ยาก  ผู้ที่ไม่ยึดติดและกล้าเผชิญกับความเปลี่ยนแปลงจะมีบทบาท


                    ได้มีโอกาสอ่านบทความหนึ่ง  กล่าวถึงว่าปัญหาของบ้านเมืองและสังคมที่เกิดความวุ่นวายในขณะนี้ ว่าเป็นวิกฤตศีลธรรมพุทธศาสนาไทยที่สอบไม่ผ่าน การเคารพหลักการประชาธิปไตยและหลักสิทธิมนุษยชน เป็นวิกฤตที่สะท้อนปัญหาสำคัญที่สุดว่า ศีลธรรมพุทธศาสนาไทยไปกันไม่ได้กับคุณค่าสมัยใหม่ หรือเป็นอุปสรรคสำคัญต่อพัฒนาการประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชนในสังคมไทย


                   ในส่วนตัวของผู้เขียนที่ไม่ได้เป็นนักปราชญ์หรือนักวิชาการใดๆ  เมื่อได้อ่านแนวคิดดังกล่าวข้างต้นแล้ว  ทำให้เกิดความคิดอย่างหนึ่งขึ้นมาว่า  สังคมกำลังเปลี่ยนแปลงเข้าสู่ยุคใหม่  โครงสร้างสังคมกำลังเปลี่ยนไป แนวคิดและค่านิยมกำลังเปลี่ยนไป  อย่างที่โหราศาสตร์ทำนายไว้เมื่อคราวดาวมฤตยูโคจรทับดวงเมืองจริงๆ  ดังจะเห็นได้จากนักปรัชญาและศาสนาผู้มีชื่อเสียงสมัยใหม่กล้าคัดค้านแนวคิดของท่านพุทธทาสภิกขุและพระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตฺโต) ในเรื่องหลักสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตย  นี้คือสัญญาณแห่งการเปลี่ยนแปลงของแนวคิดและค่านิยมที่จะนำไปสู่สังคมยุคใหม่นับจากนี้


                 ในความเห็นส่วนตัวแล้ว  บางส่วนก็เห็นด้วย  แต่ก็มีหลายส่วนด้วยกันที่ไม่เห็นด้วย  ในส่วนที่ไม่เห็นด้วยก็ยกตัวอย่างเช่นที่บอกว่า “ถึงแม้พุทธศาสนาจะอยู่คู่สังคมไทยมาเกือบพันปี ก็ไม่เคยปรากฏว่าพุทธศาสนาได้ทำหน้าที่เป็นพลังทางสติปัญญาและเป็นพลังให้เกิดการเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงใดๆที่จะนำไปสู่การมีสิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาคตามหลักสิทธิมนุษยชนสากลในสังคมไทยแต่อย่างใด”


                  เหตุที่ไม่เห็นด้วยในข้อความตอนนี้ก็เพราะผู้เขียนเองมีความเห็นว่า แท้ที่จริงแล้วสังคมไทยนับตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยามาจนถึงกรุงรัตนโกสินทร์  ยังไม่ได้ชื่อว่าเป็นสังคมพุทธอย่างแท้จริง แบบสังคมคริสต์ในยุโรป และสังคมมุสลิมในตะวันออกกลางแต่อย่างใด  เพราะสังคมไทยเป็นพราหมณ์มากกว่าพุทธ


                   สังคมไทยนั้น หากพิจารณาอย่างลึกซึ้งแล้ว จะเป็นไปในลักษณะที่ผู้ปกครองได้ยกศาสนาพราหมณ์เป็นใหญ่เพื่อประโยชน์ในการเชิดชูสถาบันพระมหากษัตริย์ แล้วให้พุทธศาสนาหรือองค์กรสงฆ์เป็นเครื่องมือในการรับใช้อำนาจในทางการเมืองการปกครองเพื่อความสงบสุขเรียบร้อยของบ้านเมืองอีกทีหนึ่ง  เป็นเช่นนี้เรื่อยมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาจนมาถึงกรุงรัตนโกสินทร์  นี้คือสภาพสังคมไทยที่แท้จริง

 
                   หากจะมีสังคมที่เป็นพุทธที่แท้จริงอยู่ในถิ่นสยามดั้งเดิม ก็น่าจะเป็นสมัยสุโขทัยมากกว่า ในสมัยพ่อขุนรามคำแหงที่บอกว่า “ใครใคร่ค้าม้า ค้า” นั่นน่าจะบ่งบอกว่าเป็นสังคมที่สงบสุขและอยู่ดีกินดี


                    หากจะเรียกตามโวหารของคนสมัยนี้ ก็อาจจัดว่าเป็นสังคมที่เป็นเสรีประชาธิปไตย  พระเจ้าแผ่นดินปกครองไพร่ฟ้าแบบพ่อปกครองลูก ก็คือลักษณะการมีสิทธิมนุษยชนสากล ให้ความเสมอภาค ภราดรภาพ และเคารพในศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ แบบที่ผู้คนเรียกหากันในชื่อว่า “ประชาธิปไตย”


                   ผู้เขียนเห็นด้วยกับมุมมองของเดวิด อาร์ ลอย นักปรัชญาชาวอเมริกันที่กล่าวว่า “อุดมคติของพุทธศาสนานั้นไม่ใช่เรื่องของการเปลี่ยนแปลงสังคม แต่เป็นการเปลี่ยนแปลงตัวเองจากภายใน  ผ่านการเปิดเผยตัวตนและสภาวะที่แท้จริงของเราเอง” ซึ่งหมายถึง เมื่อจิตใจได้รับการขัดเกลาจนมีคุณภาพ มีประสิทธิภาพและดีงามแล้ว จะทำให้เกิดพลังสร้างสรรค์ มีการช่วยเหลือเกื้อกูล สังคมดีงามก็จะตามมา


                    หากหลักศีลธรรมของพระพุทธศาสนาจะได้ชื่อว่าสอบไม่ผ่านการเคารพหลักการประชาธิปไตยและหลักสิทธิมนุษยชนตามที่นักวิชาการท่านนั้นกล่าว  ก็เป็นเฉพาะระบบศีลธรรมในประเทศไทยหรือแถบถิ่นอุษาคเนย์นี้ที่อิงศาสนาพราหมณ์หรือฮินดูเป็นใหญ่  แต่คนไทยหรือผู้คนแถบถิ่นนี้ต่างพากันเข้าใจว่าเป็นหลักการทางพระพุทธศาสนาที่แท้มากกว่า

 
                   พระพุทธศาสนาที่แท้จะไม่สนใจพิธีกรรม  ไม่สนใจอิทธิปาฏิหาริย์หรือความศักดิ์สิทธิ์ (แม้ว่าบางสิ่งจะมีพลานุภาพและมีอยู่จริง) พระพุทธศาสนาจะไม่เชื่อพรหมลิขิต แต่จะศรัทธาในกฎแห่งกรรมหรือกฎแห่งเหตุและผลตามหลักวิทยาศาสตร์ จะไม่เน้นรูปแบบความเคร่งครัด แต่เน้นที่ความมีสติ รู้ ตื่น เบิกบาน


                    เมื่อศึกษาคำสอนของพระพุทธเจ้าที่เป็นเนื้อแท้ล้วนๆแล้ว  จะพบความจริงอันลึกซึ้งอย่างหนึ่งว่า พระพุทธศาสนาคือคำสอนที่สอนให้ทุกคนมีความรักความเมตตาต่อกัน ไม่ถือเชื้อชาติ เผ่าพันธุ์ วรรณะ ภาษา ไม่ให้ถือเขาถือเรา ไม่ให้มีการแบ่งแยกระหว่างมนุษย์ด้วยกัน


                    พระพุทธศาสนาเป็นคำสอนที่สอนให้เคารพสิทธิเสรีภาพผู้อื่น  ความเสมอภาค ภราดรภาพ มาเป็นเวลา ๒,๖๐๐ ปีมาแล้ว  เป็นคำสอนที่เป็นพื้นฐานแห่งสิทธิมนุษยชนและสังคมประชาธิปไตยที่ชาวตะวันตกกำลังเชิดชูและพยายามจะจัดระเบียบโลกใหม่ให้เป็นไปตามนั้นอยู่ในขณะนี้


                    พระพุทธศาสนา เมื่ออุบัติเกิดขึ้นมาในโลก ได้ทำลายระบบศักดินา ระบบชนชั้นวรรณะ มองมนุษย์ทุกคนว่ามีคุณค่าและมีศักด์ศรีเท่าเทียมกัน  เป็นคำสอนที่ยอมรับความเสมอภาคและสิทธิสตรี ยอมรับให้สตรีมีโอกาสเข้ามาบวชได้และยอมรับว่าสตรีก็สามารถบรรลุธรรมได้ ซึ่งเป็นแนวคิดหรือหลักการที่ไม่เคยมีมาก่อนในโลกก่อนจะมีการตรัสรู้ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

 
                     ดังนั้น เมื่อกล่าวในระดับสากล  พระพุทธศาสนาก็คือต้นเค้ากำเนิดของประชาธิปไตย และเป็นบิดาผู้ให้กำเนิดหลักสิทธิมนุษยชนสากล ซึ่งตั้งต้นมาจากสมัยพุทธกาล จนกระทั่งในยุคปัจจุบัน นักปราชญ์และนักวิทยาศาสตร์ทั้งหลายได้ช่วยกันเผยแพร่หลักการนี้ไปทั่วโลก โดยไม่จำเป็นต้องเอ่ยตรงๆถึง “เส้นทางแห่งการรู้แจ้งอันประเสริฐ” นี้ว่า เป็นคำสอนในพระพุทธศาสนา ด้วยประการฉะนี้

 

 

                                                                                    คุรุอตีศะ
                                                                         ๑๕  มิถุนายน  ๒๕๕๙