สมาธิรักษาโรค
- รายละเอียด
- หมวด: LanDharma
สมาธิรักษาโรค
ใครที่นั่งสมาธิลำบาก สุขภาพไม่อำนวย เป็นโรคกระดูกทับเส้น ปวดหลังเรื้อรังอะไรต่างๆ ที่ทำให้นั่งในท่าขัดสมาธิไม่ค่อยได้ หากเป็นคนที่ไม่ได้ร่ำรวยอะไรมากมาย ไม่มีเงินค่ารักษาพยาบาล และเป็นคนที่มีศรัทธาในวิธีรักษาโรคแบบโบราณ อยากให้ลองศึกษาวิธีการักษาโรคของพระมหาสีไพร อาภาธโรดู
ตามประวัติ พระมหาสีไพร ท่านเป็นคนขี้โรคตั้งแต่เด็ก รักษาเท่าไหร่ก็ไม่หาย สามวันดีสี่วันไข้ รักษาในโรงพยาบาลรวมแล้ว ๑๙ โรงพยาบาล รักษาโรคต่างๆที่รุมเร้ามาถึง ๓๐ ปี ก็ไม่มีอะไรดีขึ้น
จนกระทั่งมาค้นพบวิธีรักษาโรคด้วยวิธีตอกเส้นแบบโบราณ ใช้การทำสมาธิแบบผ่อนคลายและสมาธิแบบเคลื่อนไหว ช่วยเหลือผู้คนทุกเพศและวัย ทุกชนชั้นวรรณะ ได้ฝึกอบรมช่วยเหลือแล้วเป็นแสนคน
ใครที่สนใจ สามารถเข้าไปดูรายละเอียดในเว็บไซต์ของท่านได้ที่ www.sripai.com หรือที่ พระมหาสีไพร โทร. 081-006-0504
คนในยุคสมัยใหม่ ส่วนใหญ่นั่งเก้าอี้เรียนหนังสือตั้งแต่เด็ก ไม่ค่อยได้นั่งกับพื้นเหมือนคนรุ่นก่อน การนั่งเก้าอี้นั้น ตามหลักของวิชาโยคี พอเรานั่งลงบนเก้าอี้ ลมปราณตรงบริเวณสะโพกหรือตรงกระเบนเหน็บลมจะเดินได้เพียง ๖๐ เปอร์เซ็นต์ คือลมปราณจากช่วงบั้นเอวลงมาเลือดลมจะเดินติดขัด ไม่เป็นปกติ ความสามารถในการเดินลมปราณจะสูญเสียไปถึง ๔๐ เปอร์เซ็นต์จากการนั่งบนเก้าอี้
ดังนั้น คนสมัยนี้หากไม่มีการเคลื่อนไหวร่างกายเสียก่อนแล้วจึงนั่งสมาธิ จึงรู้สึกอึดอัดกระสับกระส่ายฟุ้งซ่าน เนื่องจากลมปราณติดขัดมาทั้งวัน เมื่อนั่งสมาธิจึงเต็มไปด้วยความคิดมากมาย สมาธิจึงไม่สามารถเกิดได้ เพราะจิตใจและร่างกายไม่ได้ผ่อนคลาย เส้นเอ็นในร่างกายก็ตึงเพราะจิตใจมักมีเรื่องให้ร้อนรน วิตกกังวลหรือเคร่งเครียดในแต่ละวัน
ยิ่งคนสมัยนี้ ชีวิตส่วนใหญ่มักอยู่กับสมาร์ทโฟนหรือคอมพิวเตอร์ มักอยู่กับอิริยาบถนั่งแทบตลอดเวลา ร่างกายไม่ค่อยเกิดการเคลื่อนไหวหรือได้ไม่ค่อยได้เดินเปลี่ยนอิริยาบถ
พระธุดงค์ท่านเดินจาริกด้วยความมีสติไปเรื่อยๆไม่รีบร้อน พอค่ำมาก็นั่งสมาธิ จิตของท่านจึงรวมได้ไว ผิดกับชีวิตของพวกเราทั้งหลาย มีแต่นั่งจ้องหน้าจอไม่ขยับ ความเจ็บป่วยมากมายจึงมาเยือน
สมัยที่ยังทำงานทางด้านกฎหมาย สมัยนั้นยังเป็นหนุ่มและไม่เคยรู้ ไม่มีใครสอนให้เห็นความสำคัญของการทำสมาธิแบบเคลื่อนไหว นั่งอยู่กับสำนวนกฎหมายเป็นตั้งๆทั้งวัน พอถึงที่พักก็ไปนั่งสมาธิอีกเพื่อหวังจะผ่อนคลาย แต่ก็สังเกตได้ว่าใจก็ไม่ค่อยเบาสบาย สุดท้ายโรคปวดหลังก็ติดตามมา
การนั่งสมาธิ ท่านจึงต้องให้มีการเดินจงกรมควบคู่ไปด้วย เหตุผลก็คือร่างกายจะได้มีความสมดุล จะเป็นการเกื้อกูลให้สมาธิเกิดได้ง่าย
ถ้าเป็นวัดป่าที่ไม่ได้ใช้วิธีพองยุบ ท่านก็จะใช้วิธีกวาดใบไม้เพื่อให้ลมปราณไหลเวียนทั่วร่างกาย พอเกิดความผ่อนคลาย ก็ไปฉันน้ำปานะ สรงน้ำ แล้วเข้าที่ภาวนาในยามค่ำคืน การกวาดใบไม้ของพระ จึงไม่ใช่แค่การทำความสะอาด แต่คือการทำสมาธิด้วยการกวาดใบไม้อันเป็นกิจส่วนรวม ซึ่งเป็นการภาวนาโดยการเคลื่อนไหวร่างกายอยู่ในตัว
สำหรับใครที่เป็นโรคปวดหลัง ขอแนะนำว่าอย่าไปนั่งสมาธิแบบนิ่งๆ เพ่งอารมณ์ หรือจดจ่อ เพราะจะยิ่งจะทำร่างกาย เส้นเอ็น ตึงเครียดหรือเป็นพังผืดเกาะติดตามกระดูกไขสันหลัง จงใช้สมาธิแบบผ่อนคลายธรรมชาติหรือสมาธิแบบเคลื่อนไหว จะทำให้อาการเจ็บปวดทุเลาลง
ใครที่มีจิตใจเป็นธรรมชาติ เป็นคนขี้เกรงใจคนอื่น มีหิริโอตตัปปะประจำใจ ควรทำสมาธิแบบเคลื่อนไหวหรือสมาธิแบบผ่อนคลายจะเป็นประโยชน์มากกว่า เพราะมีพื้นเดิมของใจที่ใสๆดีอยู่แล้ว
หากเรียนหนังสือ ก็จะเรียนหนังสือเก่ง จะเก็งข้อสอบด้วยตัวเองได้อย่างถูกต้อง หากเป็นหนุ่มสาว ก็จะมีจิตใจกระฉับกระกระเฉง มีอารมณ์แจ่มใส พร้อมทั้งมีสติรู้กาลเทศะอย่างเป็นไปเอง จะเป็นคนมีไหวพริบปฏิภาณในการคบหากับเพศตรงกันข้าม หากเป็นคนมีอายุ จะใจดีเบิกบานและมีเมตตากรุณา
หากใครสุขภาพไม่ดี ทำสมาธิก็ไม่มีความก้าวหน้า ลองหันมาทำสมาธิรักษาโรค อาจเป็นคำตอบของชีวิตอีกทางหนึ่ง ที่จะทำให้ชีวิตของเรามีความสุขทั้งทางร่างกายและทางจิตใจ
การออกกำลังกายแบบเล่นกีฬา จะได้ความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ แต่การทำสมาธิรักษาโรค จะทำให้ทั้งกายและดวงจิตมีความเข้มแข็ง
ด้วยเหตุนี้นับตั้งแต่โบราณกาลมา ท่านจึงมีวิชาโยคะเพื่อให้ฤาษีดาบสทั้งหลายได้ใช้สำหรับบริหารร่างกาย เพราะได้ออกกำลังกายแบบทำสมาธิฝึกลมปราณ เหล่าโยคีผู้บำเพ็ญทั้งหลายจึงมีอายุยืน ซึ่งเป็นศาสตร์ของผู้ฝึกสมาธิชั้นสูงที่มีมานับพันปี
ผู้ปฏิบัติธรรมที่ขี้โรค ควรทำสมาธิแบบรักษาโรคและผ่อนคลาย อย่าใช้ร่างกายหักโหม หรือบีบบังคับทรมานร่างกาย โดยคิดพยายามจะเอาชนะความเจ็บปวด ร่างกายเขาไม่รู้เรื่องหรอก เพราะนั่นเป็นเพียงใจที่คิดจะเอาอะไรให้ได้ดั่งใจ
แท้ที่จริงแล้ว ความสมดุลของร่างกายและจิตใจต่างหากคือประตูแห่งการบรรลุธรรม
คุรุอตีศะ
๑๐ มิถุนายน ๒๕๕๙