บทกวีแห่งชีวิต
- รายละเอียด
- หมวด: LanDharma
บทกวีแห่งชีวิต
สมัยยังบวชใหม่ๆ ได้ขึ้นไปบำเพ็ญที่ภูกระดึงก่อนที่จะมีการประกาศเป็นอุทยานแห่งชาติไม่กี่ปี มีโยคีท่านหนึ่งได้ร่ายบทกวีให้ฟังโดยบอกว่าเป็น “บทกวีของผู้สันโดษฮั่นชานแห่งขุนเขายะเยือก” ฟังแล้วรู้สึกแปลกมาก ไม่เหมือนธรรมะที่เคยได้ฟังทั่วไป เพราะตลอดมาจะอ่านและศึกษาธรรมะตามหลักพุทธศาสนาเถรวาทมาโดยตรง เมื่อฟังแล้วรู้สึกใจสงบลึกซึ้งต่างจากบทกวีรักๆใคร่ๆหรือบทกวีที่เคยได้อ่านมาก่อน
หลายปีต่อมา มีแม่ชีท่านหนึ่งได้นำหนังสือแปลกๆเล่มหนึ่งมาถวาย บอกว่าเคยอ่านหนังสือเล่มนี้สมัยยังเรียนอยู่ที่มหาวิทยาลัย รู้สึกว่ามีส่วนช่วยประคับประคองใจให้สงบจนเรียนจบเป็นวิทยาศาสตรบัณฑิต มองดูแล้วก็พบว่าไม่เหมือนหนังสือธรรมะทั่วไป เป็นหนังสือเล่มเล็กๆ สันปกเป็นเชือกผูก หน้าปกเป็นสีเทา มีอักษรจีนอยู่กลางปก แล้วมีภาษาไทยอยู่ด้านล่าง อ่านว่า“ขุนเขายะเยือก” ทำให้หัวใจเย็นยะเยือกนึกถึงโยคีท่านนั้นขึ้นมาทันที
หนังสือเล่มนี้ผู้ถอดความจากภาษอังกฤษคือ “พจนา จันทรสันติ” ซึ่งได้กล่าวไว้ในคำปรารภตอนหนึ่งว่า “ฮั่นชานกวีนักพรต อาศัยอยู่บนขุนเขาเทียนไท้ซึ่งมีหิมะปกคลุมอยู่ชั่วนาตาปี เป็นตำนานอันลือเลื่องซึ่งเล่าขานกันสืบต่อมา ควบคู่กับฉือเต่ซึ่งเป็นที่รู้จักกันอย่างดีในหมู่พวกเซน ซึ่งบรรดาศิลปินหลายท่านในยุคหลังได้ถือเป็นแบบฉบับแห่งแรงบันดาลใจทางจิตวิญญาณ และได้วาดภาพทั้งสองขึ้นไว้..”
ทุกวันนี้พวกเราส่วนใหญ่มักมีอารมณ์ขุ่นมัวและมีเรื่องไม่สบายใจเกิดขึ้นแทบทุกวัน จึงอยากพาพวกเราย้อนกลับไปสัมผัสบทกวีของ “ผู้สันโดษฮั่นชาน แห่งขุนเขายะเยือก” ซึ่งมีชีวิตอยู่สมัยเมื่อหนึ่งพันปีมาแล้ว ซึ่งจะทำให้เห็นว่า ชีวิตคนเรานั้น แม้จะยุคโบราณหรือยุคปัจจุบัน ก็ไม่ค่อยมีอะไรแตกต่างกันในทางด้านความรู้สึกนึกคิดหรือทางจิตใจ หัวใจของเราจะได้เกิดความผ่อนคลายและสงบได้บ้างตามสมควร
ขุนเขายะเยือก บทที่ ๙
“...อายุคนมีไม่ถึงร้อยปี
แต่ถูกกดทับอยู่ด้วยความทุกข์นับพันปี
ยังไม่ทันที่จะเยียวยาความป่วยไข้ของตน
ก็ต้องแบกภาระหนักของลูกหลาน
ก้มลงดูต้นข้าวในนางอกงาม
แหงนดูผลหม่อนเติบโต
เมื่อภาระหนักนี้ได้จมหายไปก้นทะเลลึก
เมื่อนั้นจึงจะได้พักผ่อนสงบสักชั่วครู่...”
จะเห็นได้ว่าความทุกข์ของพวกเราทุกวันนี้ไม่ได้เป็นของใหม่ ผู้คนเมื่อพันปีมาแล้วก็มีความทุกข์คล้ายกัน
“...ข้าพเจ้ามักขุกเข็ญจนยาก
ในวันนี้นับว่าเข้าถึงก้นบึ้งแห่งความหนาวเห็บหิวโหย
ไม่ว่าจะทำอะไร ก็ดูผิดในสายของผู้อื่น
ไม่ว่าจะไปไหน ก็ถูกผลักไสปฏิเสธ
ข้าพเจ้าเดินไปตามทางด้วยฝีเท้าซวนเซ
นั่งอยู่กับชาวบ้านในขณะที่กระเพาะเจ็บปวดหิวโหย
ตั้งแต่สูญเสียเจ้าแต้มแมวเลี้ยงไป
ฝูงหนูก็เพ่นพ่านมาเลียบเคียงดูไหข้าวสาร..”
ไม่ทราบว่าจะยังมีใครที่เข้ามาอ่านธรรมะในนี้ มีความทุกข์ยากอดอยากปานฉะนี้บ้างหรือไม่..(ถ้ามี ช่วยบอกหน่อยนะ)
“...เสียงเพลงของนกเร้าใจให้เกิดความรู้สึกดื่มด่ำท่วมท้น
ในยามนี้ข้าพเจ้านอนเหยียดยาวในกระท่อม
ดอกเชอรี่ส่องประกายแดงจำรัส
ต้นหลิวโบกไหวกิ่งอ่อนโยน
อาทิตย์อุทัยค่อยโผล่พ้นจากยอดเขาสีน้ำเงิน
เมฆขาวก็ถูกกวาดออกไปจากผิวน้ำในสระมรกต
ใครเลยจะคิดว่าข้าพเจ้าได้ละทิ้งโลกอันแปดเปื้อน
มาอาศัยอยู่ทางใต้ของขุนเขายะเยือก..” ( บทกวีบทที่ ๒๙ )
ธรรมะหรือสัจธรรมนั้น มีวิธีถ่ายทอดหลากหลายวิธีด้วยกัน บางทีอยู่ในรูปแบบตามคัมภีร์ บางทีอาจผ่านทางบทกวีเพื่อนำกระแสธรรมจากจิตสู่จิตโดยตรง
หากใครก็ตามที่ได้อ่านบทกวีเหล่านี้ซาบซึ้ง โปร่ง ว่าง เบาสบาย ขอให้รู้ว่าขณะนั้นดวงจิตได้สัมผัสกับจิตเดิมแท้แล้วอย่างเป็นธรรมชาติ จิตในขณะนั้นมีความสมดุลดีอยู่แล้ว อย่าไปนั่งสมาธิอะไรอีก
หากใครอ่านแล้วยังไม่เข้าใจ แสดงว่าเป็นคนคร่ำเคร่งกับการนั่งสมาธิตามรูปแบบจนจิตตึงเครียดเกินไป ขอให้ผ่อนความรู้สึกออกรับรู้ธรรมชาติรอบกายให้มากขึ้น จิตจึงจะเกิดความสมดุล มีความเป็นกลาง จะเกิดความสงบอันลึกซึ้ง แล้วแสงสว่างแห่งปัญญาจะบังเกิดขึ้นมาเอง
คุรุอตีศะ
๘ มิถุนายน ๒๕๕๙